×

ถ้ำหลวง ปรากฏการณ์ปราบเซียนงานข่าวไทย

09.07.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • ปรากฏการณ์ถ้ำหลวงคือข่าวท้องถิ่นในประเทศ ที่กลายไปเป็นข่าวระดับโลกที่ทุกสำนักข่าวทั่วโลกให้ความสนใจ ด้วยลักษณะข่าวที่คล้ายกับ Reality TV มีความลุ้นระทึก และรวมทีมงานมือหนึ่งของโลกมาไว้ในที่เดียวกัน
  • ปรากฏการณ์ข่าวถ้ำหลวงสะท้อนให้เห็นว่า คนที่เร็วที่สุดและเข้าถึงข้อมูลในพื้นที่มากที่สุด อาจจะไม่ใช่ผู้ชนะในเกมนี้
  • ข่าวถ้ำหลวง คือความท้าทายสำนักข่าวของไทย ทั้งในแง่จุดยืนและความเป็นมืออาชีพ ซึ่งเป็นบทพิสูจน์ความแข็งแกร่งของสื่อไทย

ถ้ำหลวงเป็นปรากฏการณ์ข่าวที่คล้ายกับ Reality TV ซึ่งที่มีองค์ประกอบข่าวครบ น่าติดตาม มีการรายงานเป็นระยะๆ ด้วย ‘Breaking News’ ซึ่งมีเนื้อหาเป็นเรื่องของภัยธรรมชาติผสมผสานกับตัวแสดงที่เหมาะที่ควรแก่การเล่าเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น ทีมฟุตบอล เด็กและเยาวชนคุณภาพ รวมถึงความลุ้นระทึกที่ต้องติดตามในเนื้อข่าวเพื่อเอาใจช่วยผู้ประสบภัยทั้ง 13 คน ภายใต้การทำงานของทีมช่วยเหลือตัวท็อปที่รวมเอามือหนึ่งของโลกเข้ามาไว้ด้วยกัน ทำให้ปรากฏการณ์ถ้ำหลวงที่ควรเป็นข่าวท้องถิ่นในประเทศ เขยิบขึ้นกลายเป็นข่าวระดับโลก ซึ่งทุกสำนักข่าวให้ค่าแก่การรายงานแบบตามติดทุกระยะ

 

 

จากปรากฏการณ์นี้ ทำให้เราสามารถแบ่งชั้นของข้อมูลข่าวสารที่ประดังประเดเข้ามาในการรับรู้ของผู้รับสารออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ด้วยกัน คือ

 

1) ข้อมูลจากสำนักข่าวมืออาชีพ ที่ส่งคนลงพื้นที่ หาข่าวจริงจัง นำเสนอในทุกสื่อทั้งสื่อดั้งเดิมแบบทีวีและหนังสือพิมพ์ และสื่อใหม่ในโลกออนไลน์

 

2) ข้อมูลจาก Online influencer ซึ่งได้แก่พวกเพจต่างๆ ทั้งที่เป็นเพจทั่วไปและเพจที่ตั้งตัวเป็นสำนักข่าว โดยกลุ่มนี้จะไม่ลงพื้นที่หาข่าวเอง แต่จะรวบรวมและเช็กข่าวเพื่อเผยแพร่ข่าวอีกต่อหนึ่ง เช่น เพจ MThai หรือ เพจอีเจี๊ยบ เลียบด่วน เป็นต้น

 

3) ข้อมูลจากคนทั่วไปพวก User generated content (UGC) ซึ่งทั้งสามกลุ่มนี้ต่างมีบทบาทในการให้ข้อมูลและความคิดเห็นกับเหตุการณ์นี้ โดยจะพบว่าด้วยความล้นหลามของข้อมูล ประกอบกับการทำงานแข่งกับเวลา ทำให้สำนักข่าวหลายๆ แห่งมีความผิดพลาดจนกลายเป็นต้นตอของ Fake news และถูกปรามาสและลดทอนความน่าเชื่อถือในโลกออนไลน์

 

ปรากฏการณ์ข่าวถ้ำหลวงจึงสะท้อนให้เห็นว่า คนที่เร็วที่สุดและเข้าถึงข้อมูลในพื้นที่มากที่สุด อาจจะไม่ใช่ผู้ชนะในเกมนี้ เนื่องจากในโลกโซเชียลนั้น ถึงคุณจะผลิตข่าวได้เร็วกว่าคนอื่น แต่ข่าวคุณไม่เข้าถึง (Reach) ผู้ชมคนอ่าน คนเขาก็ไม่เห็นข่าวของคุณอยู่ดี เนื่องจากในสื่อสังคมออนไลน์การส่งข่าวสารไม่ได้เป็นเส้นตรงตามเวลาการออกอากาศ (Linear program) แต่มันส่งข่าวเป็นใยแมงมุม ซึ่งจะมีศูนย์รวม (Hub) ที่ทำหน้าที่กระจายข้อมูลอยู่

 

 

ดังนั้นเกมนี้จึงไม่อยู่ที่ความเร็ว แต่อยู่ที่ว่าข่าวของคุณจะไปอยู่ในวงโคจรของ Hub ที่เป็นศูนย์กลางข้อมูลข่าวสารนั้นๆ หรือไม่ ซึ่งเมื่อมีข้อมูลล้นหลามแต่เต็มไปด้วย ข่าวปลอม (Fake news) เหมือนในสถานการณ์นี้ ก็ทำให้เป็นโอกาสของสำนักข่าวที่มีการตรวจเช็กข้อมูลอย่างถี่ถ้วนได้เกิดในปรากฏการณ์นี้ อย่างเช่นกรณีของสำนักข่าว MThai ที่ใช้การเช็กข่าวและทวิตเตอร์ก่อร่างสร้างตัวเป็น Hub ของข่าวถ้ำหลวงได้ในชั่วข้ามคืนตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน (ตามกราฟ)

 

นอกจากนี้ จากการสืบค้นของ Thoth zocial ที่ชี้ให้เห็นว่าในการทำข่าวร้อนที่เป็น Breaking news เช่นนี้ Twitter คือผู้ชนะในฐานะแพลตฟอร์มที่กระจายข่าวได้เร็วและกว้างที่สุด

 

แต่ในทางกลับกัน ปรากฏการณ์นี้ก็บอกเราเช่นกันว่า ผู้ชมคนอ่านก็ยังต้องการงานข่าวมืออาชีพมาเล่าเรื่องเชิงลึก แบบเก็บรายละเอียดที่ครบจบกระบวนความ ซึ่งสื่อโทรทัศน์สามารถทำงานนี้ได้โดยไม่ต้องไปแข่งกับข่าวในทวิตเตอร์หรือกลุ่มคนทั่วไปที่เป็น UGC ในการเล่าเรื่องแบบเป็นช่วงๆ อัปเดตสถานการณ์ตลอดเวลา

 

ดังจะเห็นได้จากการเล่าเรื่องของรายการทอล์กในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งนำมาใส่ซับและโพสต์โดยเพจ ‘ญี่ปุ่นเบาเบา’ จนกลายเป็นเพจเฟซบุ๊กยอดนิยมอันดับ 2 หลังจากการพบตัว 13 คนแล้ว ซึ่งสื่อญี่ปุ่นที่เพจนี้เอามาแชร์ได้วิเคราะห์สถานการณ์ถ้ำหลวงกันครึ่งค่อนชั่วโมง ด้วยรายละเอียดที่ถี่ยิบ แบบค่อยเป็นค่อยไป พร้อมบทวิเคราะห์ถึงทางเลือกในการนำทั้ง 13 ชีวิตออกจากถ้ำ ด้วยกรณีศึกษาของภัยพิบัติในอดีตและความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญเรื่องถ้ำ ซึ่งนอกจากจะให้ข้อมูลที่ครบถ้วน ไม่ทำให้สังคมสับสนแล้ว ยังสร้างการเรียนรู้ให้กับผู้ชมไปในตัวอีกด้วย

 

ข่าวถ้ำหลวง คือความท้าทายสำนักข่าวของไทย ทั้งในแง่จุดยืนและความเป็นมืออาชีพ เพราะหากไม่ตั้งสติให้ดีพอ แล้วลงไปหาข่าวดราม่าตามชาวเน็ตก็อาจต้องพ่ายแพ้ให้กับพวก UGC ที่เร็วและแรงกว่า แต่ครั้นจะหันไปทำข่าวร้อนแข่งกันที่ความเร็วก็อาจสร้าง Fake news เสียเครดิตตัวเองเข้าไปอีก

 

แถมเมื่อทำแล้วยังเข้าถึงคนไม่เท่าพวก Hub ทั้งหลายที่มีฐานผู้ชมคนอ่านกระจุกตัวอยู่มากกว่า ข่าวที่ทำมาก็คงจะหายสาบสูญไปในกระแสสื่อสังคมออนไลน์แบบไม่มีใครเคยได้เห็น ซ้ำยังจะถูกเปรียบเทียบมาตรฐานการทำงานกับสำนักข่าวระดับโลกที่ลงมารุมทำข่าวกันที่เชียงรายด้วยทักษะและทุนที่เหนือกว่าอีก

 

ดังนั้นถ้ำหลวงจึงไม่ใช่แค่บทพิสูจน์ความแข็งแกร่งของผู้ประสบภัยทั้ง 13 คนเท่านั้น แต่มันคือเครื่องพิสูจน์ความมืออาชีพของงานข่าวในประเทศว่าจะนำเสนอข่าวนี้อย่างไรให้ต่างจากไทยมุงทั่วๆ ไป

 

ภาพประกอบ: Pantitra H. / Tanya S.

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising