×

ไทยไม่ยอมตกขบวน! ญี่ปุ่นทุ่ม 150 ล้านล้านเยน ดึงยักษ์ใหญ่ มิตซุย-มิตซูบิชิ ลุยศึกษาไฮโดรเจน-แอมโมเนียสะอาดบนพื้นที่ กฟผ. หวังรุกพลังงานสีเขียวเต็มรูปแบบ

29.11.2023
  • LOADING...

กุญแจสำคัญสู่การบรรลุเป้าหมาย Carbon! รัฐบาลญี่ปุ่นโดย METI ทุ่ม 150 ล้านล้านเยน จับมือ กฟผ. และยักษ์ใหญ่พลังงานญี่ปุ่น เดินหน้าศึกษาและพัฒนาการผลิตเชื้อเพลิงไฮโดรเจนและแอมโมเนียสะอาดบนพื้นที่ศักยภาพ กฟผ. เพิ่มเสถียรภาพผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดสู่พลังงานสีเขียวเต็มรูปแบบ 

 

เมื่อพูดถึงพลังงานสะอาด ช่วงทศวรรษนี้คงหนีไม่พ้นเทรนด์พลังงานที่ทั่วโลกต่างเหยียบคันเร่งไปกับการลงทุนด้าน EV เพราะโลกกำลังเปลี่ยนผ่านพลังงานดั้งเดิมสู่พลังงานทางเลือกใหม่ๆ อย่างไฮโดรเจน แม้วันนี้อาจยังไม่ทำเงินมากนัก เพราะต้นทุนและต้องอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูง แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทศวรรษต่อจากนี้พลังงานไฮโดรเจนจะเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทำให้เห็นหลายๆ ประเทศทุ่มการลงทุนไฮโดรเจน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าตลาดอย่างญี่ปุ่น หรือแม้แต่รัฐบาลอินเดีย สหรัฐอเมริกา เพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซียก็เร่งส่งเสริม หากประเทศไหนช้า ไม่แน่ว่าอีกไม่นานอาจต้องตกขบวน

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

รายงานข่าวระบุว่า รัฐบาลญี่ปุ่น, 3 บริษัทญี่ปุ่น ได้แก่ ชิโยดะ คอร์ปอเรชั่น (CYD) หรือ มิตซุย, โอ.เอส.เค.ไลน์ส จำกัด (MOL) และบริษัท มิตซูบิชิ (ประเทศไทย) จำกัด (MCT) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาไฮโดรเจนสะอาดบนพื้นที่ของ กฟผ. โดยดำเนินการภายใต้ MOU โครงการผลิตไฮโดรเจนและแอมโมเนียสะอาดจากพลังงานหมุนเวียน 

 

ทั้งนี้ การร่วมมือครั้งนี้ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (METI) มอบทุนให้ กฟผ. ศึกษาและพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานในต่างประเทศ ขยายโอกาสทางธุรกิจทั้งในไทยและต่างประเทศ รวมถึงศึกษาโครงสร้างพื้นฐานด้านห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การผลิต การขนส่ง การจัดเก็บ และการประมาณต้นทุนเชื้อเพลิงไฮโดรเจนและแอมโมเนียสะอาด 

 

นะชิดะ คะสุยะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย กล่าวว่า รัฐบาลญี่ปุ่นมองว่าตลาดไฮโดรเจนเป็นทั้งตลาดอุตสาหกรรมใหม่ที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้และสร้างงานของโลก รวมถึงยังเป็นกุญแจสำคัญสู่การบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ภายในปี 2050 ความร่วมมือนี้จึงสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของทั้งรัฐบาลญี่ปุ่นและไทยที่ต้องการเปลี่ยนแปลงไปสู่พลังงานสะอาด 

 

โดยตั้งเป้าหมายการลงทุนไว้กว่า 150 ล้านล้านเยน สำหรับการวิจัยและสำรวจศักยภาพเชิงพาณิชย์ของพลังงานไฮโดรเจน ด้วยความร่วมมือของทั้งสองประเทศ จะเป็นตัวเร่งและเตรียมพร้อมในการสร้างห่วงโซ่คุณค่าไฮโดรเจนทั้งในภูมิภาคอาเซียนและระดับโลกต่อไปในทศวรรษหน้า 

 

ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน ระบุว่า ประเทศไทยในฐานะสมาชิกของประชาคมโลกและเอเชียมีความมุ่งมั่นเดินหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งไทยโดยกระทรวงพลังงานพร้อมเดินหน้าส่งเสริมลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคพลังงานทุกวิถีทาง

 

“การศึกษาความเป็นไปได้ของห่วงโซ่คุณค่าไฮโดรเจนสะอาดของ กฟผ. จาก METI ที่คาดว่าแล้วเสร็จภายในปี 2024 จะมีส่วนช่วยผลักดันแผนการพัฒนาไฮโดรเจน ซึ่งนอกจากจะทำให้เป้าหมายลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สำเร็จแล้ว ยังช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเกิดความยืดหยุ่นด้านพลังงาน เป็นผลประโยชน์ร่วมกันในระยะยาว” 

 

จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการธุรกิจเกี่ยวเนื่อง รักษาการผู้ว่าการ กฟผ. เปิดเผยว่า กฟผ. ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทย และเป็นแนวหน้าในการพัฒนาโครงการพลังงานทดแทนของประเทศมาโดยตลอด ได้นำไฮโดรเจนเชื้อเพลิงพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาใช้ประโยชน์ในการผลิตไฟฟ้า 

 

ทั้งนี้ ความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยเร่งการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเชื้อเพลิงไฮโดรเจนและแอมโมเนียสะอาด เปิดมิติใหม่ในการยกระดับมาตรฐานโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน เพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานสะอาด ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมาย EGAT Carbon Neutrality โดยทุนสนับสนุนนี้จะช่วยพัฒนาต่อยอดโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานบนพื้นที่ศักยภาพที่พร้อมรองรับการพัฒนาของ กฟผ. ด้วยองค์ความรู้และเทคโนโลยีของญี่ปุ่น เพื่อร่วมสร้างความแข็งแกร่งด้านพลังงานที่ยั่งยืน ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ 

 

‘ไฮโดรเจน’ บรรจุในโรดแมปแผนพลังงานชาติ

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทย สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน วางโรดแมปแผนพลังงานชาติ เพื่อพาประเทศไทยสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 ประกอบด้วย 5 แผน ได้แก่ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP), แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP), แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP), แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan)

 

ภายใต้แผนดังกล่าว ไทยมีเป้าหมายมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนตาม 5 แนวทางหลัก ได้แก่

 

  • การเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน 
  • การผลิตและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ 
  • การเปลี่ยนผ่านพลังงานฟอสซิลเป็นพลังงานไฟฟ้าแบบที่ใช้เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ 
  • การใช้พลังงานไฮโดรเจนซึ่งเป็นกรีนเทคโนโลยี 
  • การใช้เทคโนโลยีการกักเก็บคาร์บอน (CCS)
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising