×

สธ. เผยไทยพบโควิด HK.3 จริง แต่ยังไม่มีหลักฐานความรุนแรงเพิ่มขึ้น ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก โควิดกลายพันธุ์เป็นเรื่องปกติ

โดย THE STANDARD TEAM
30.08.2023
  • LOADING...
โควิด hk 3

วันนี้ (30 สิงหาคม) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ นพ.อาชวินทร์ โรจนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข แถลงข่าวอัปเดตสถานการณ์การเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิดในประเทศไทย และโอมิครอน HK.3 

 

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับเครือข่ายห้องปฏิบัติการ ติดตามการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์เชื้อโควิด พบเชื้อไวรัสมีการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง สำหรับสายพันธุ์ที่องค์การอนามัยโลกติดตามใกล้ชิดในปัจจุบัน ได้แก่ 

 

สายพันธุ์ที่เฝ้าระวัง หรือ Variants of Interest (VOI) 3 สายพันธุ์ดังนี้

  • XBB.1.5
  • XBB.1.16
  • EG.5

 

สายพันธุ์ที่ต้องจับตามอง หรือ Variants Under Monitoring (VUM) 7 สายพันธุ์ ดังนี้

  • BA.2.75
  • BA.2.86 
  • CH.1.1
  • XBB
  • XBB.1.9.1
  • XBB.1.9.2
  • XBB.2.3

 

สถานการณ์ภาพรวมทั่วโลกจากฐานข้อมูลกลาง GISAID รอบสัปดาห์ที่ 26-30 (เดือนกรกฎาคม 2566) พบ XBB.1.16 และ EG.5 เป็นสายพันธุ์ในกลุ่ม VOI ที่พบมากที่สุด ทั้งสองสายพันธุ์มีสัดส่วน 21.1% โดยมีรายงานพบ XBB.1.16 จาก 101 ประเทศ และพบ EG.5 จาก 50 ประเทศ โดย EG.5 มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นถึงสองเท่าในรอบหนึ่งเดือน ปัจจุบันยังไม่พบมีรายงานการเพิ่มความรุนแรงของโรค 

 

อย่างไรก็ตาม จากความได้เปรียบในการเติบโตและคุณลักษณะหลบภูมิคุ้มกัน จึงมีความเป็นไปได้ว่า EG.5 จะเพิ่มมากขึ้น และกลายเป็นสายพันธุ์หลักในระดับประเทศหรือทั่วโลก ในขณะที่ XBB.1.5 พบรายงานจาก 121 ประเทศทั่วโลก ซึ่งมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง

 

สำหรับประเทศไทย สถานการณ์โดยรวมในปัจจุบันพบว่า XBB.1.16 เป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาด โดยในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 14-27 สิงหาคม 2566 ผลการถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อก่อโรคโควิด จำนวน 116 ราย พบส่วนใหญ่ 96.55% เป็นสายพันธุ์ลูกผสมกระจายทุกเขตสุขภาพ สายพันธุ์ XBB.1.16 พบสัดส่วนมากที่สุด (38.79%) ถัดมาคือ XBB.1.9.1 (14.66%), XBB.2.3 (16.38%), XBB (10.34%) และ EG.5.1 พบสัดส่วน 6.90% 

 

ในประเทศไทยพบระหว่างเดือนเมษายน-กรกฎาคม 2566 จำนวน 8 ราย และในเดือนสิงหาคม 2566 พบเพิ่มจำนวน 7 ราย (ปัจจุบันพบสายพันธุ์ EG.5.1 แล้วจำนวน 15 ราย) 

 

ในขณะที่ XBB.1.5 พบ 2.59% และพบสายพันธุ์ XBB.1.9.2 อื่นๆ นอกเหนือจาก EG.5.1 6.90% ข้อมูลจากห้องปฏิบัติการแสดงให้เห็นว่าสัดส่วนของ EG.5.1 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สำหรับ XBB.1.5 พบในสัดส่วนลดลง

 

นพ.ศุภกิจกล่าวต่อว่า สำหรับสายพันธุ์ HK.3 (XBB.1.9.2.5.1.1.3) มีต้นตระกูลมาจาก EG.5.1 มีการกลายพันธุ์บนส่วนหนามสองตำแหน่งติดกันคือ L455F และ F456L ในภาพรวมทั่วโลกมีรายงานพบ HK.3 จำนวน 127 ราย จาก 12 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย, แคนาดา, จีน, เดนมาร์ก, เยอรมนี, ญี่ปุ่น, สิงคโปร์, เกาหลีใต้, สเปน, สวีเดน, สหรัฐอเมริกา และไทย พบไวรัสที่มีการกลายพันธุ์ใน 2 ตำแหน่งดังกล่าวทั้งหมด 3 ราย แต่มีเพียง 2 รายที่จัดเป็น HK.3 โดยผู้ติดเชื้อทั้ง 2 ราย เป็นครอบครัวเดียวกัน ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้รายงานฐานข้อมูลกลาง GISAID เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2566

 

สำหรับข้อสงสัยเกี่ยวกับความได้เปรียบในการเติบโตของ HK.3 ที่มีความสามารถในการแพร่ได้เร็วกว่า XBB.1.16 ที่เป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดของประเทศไทยในปัจจุบันถึง 95% และหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้มากขึ้น ขอชี้แจงว่า การคำนวณเปอร์เซ็นต์อาจมีความคลาดเคลื่อน เนื่องจากจำนวนข้อมูลมีจำกัด ประกอบกับทั่วโลกมีรายงานตรวจพบ HK.3 เพียง 127 รายเท่านั้น จาก 12 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย ซึ่งมีจำนวนน้อยมาก และยังไม่มีหลักฐานที่ส่งผลต่อความรุนแรงของโรคเพิ่มขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และเครือข่ายห้องปฏิบัติการจะเฝ้าระวังและติดตามอย่างใกล้ชิด

 

ส่วนสายพันธุ์ BA.2.86 เป็นสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน BA.2 และองค์การอนามัยโลกให้เป็นสายพันธุ์ที่ต้องจับตามอง (VUM) หากนำไปเปรียบเทียบกับ XBB.1.5 และ XBB.1.16 ที่เป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในปัจจุบัน จะพบความแตกต่างถึง 36 ตำแหน่ง โดยมีรายงานในฐานข้อมูล GISAID แล้ว 21 ราย พบใน 7 ประเทศ คือ เดนมาร์ก, สวีเดน, โปรตุเกส, อิสราเอล, สหรัฐอเมริกา, แอฟริกา และอังกฤษ ขณะนี้ยังไม่พบในประเทศไทย ขณะที่ Dr.Leshan Wannigama และทีมนักวิจัยจุฬาฯ ได้ถอดรหัสพันธุกรรมตัวอย่างไวรัสจากน้ำเสียที่เก็บในกรุงเทพมหานคร ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2566 ในเฉพาะส่วน S-Gene (ไม่ใช่ทั้งตัวไวรัส) แล้วนำไปเทียบกับ BA.2.86 ทั้ง 9 ตัวอย่างที่รายงานใน GISAID พบว่าสอดคล้องกัน ทั้งนี้ ยังไม่พบข้อมูลที่บ่งชี้ว่ามีการเพิ่มความรุนแรง หลบภูมิคุ้มกัน หรือแพร่เร็วขึ้นกว่าสายพันธุ์อื่นแต่อย่างใด

 

“จึงขอให้ประชาชนอย่าเพิ่งตระหนกตกใจเกินไป สำหรับเชื้อโควิดกลายพันธุ์เป็นเรื่องปกติ ขอให้มั่นใจว่ากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และหน่วยงานทางการแพทย์ของไทยมีบุคลากร ความรู้ ความสามารถ จะสามารถตรวจพบ ได้อย่างแน่นอน ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และเครือข่ายห้องปฏิบัติการยังคงเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในผู้ติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต สำหรับการป้องกันตนเองตามมาตรการสาธารณสุขยังใช้ได้กับทุกสายพันธุ์” นพ.ศุภกิจกล่าวทิ้งท้าย

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising