×

รถยนต์ไฟฟ้าเจาะมาตรการสนับสนุน EV ทางเลือกใหม่สำหรับอนาคต

09.09.2022
  • LOADING...

วิกฤตภาวะโลกร้อน มลพิษทางอากาศ เช่น ฝุ่น PM2.5 และราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น ล้วนเป็นปัจจัยเร่งให้รัฐบาลกำหนดนโยบายผลักดันให้อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าเกิดขึ้นในประเทศไทย หน่วยงานรัฐบาลต่างๆ ภายใต้มติคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร กรมการขนส่งทางบก ฯลฯ ได้มีการปรับปรุงระเบียบเพื่อรองรับและส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) 

 

มาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ของไทย

สืบเนื่องจากมติคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2564 และ 1/2565 ซึ่งมีมติเห็นชอบมาตรการสนับสนุนทางภาษีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV Tax Incentive Package) และได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ทำให้ไม่นานมานี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อันได้แก่ กระทรวงการคลัง และกรมสรรพสามิต ได้ประกาศใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการสนับสนุนดังกล่าว (ระหว่าง พ.ศ. 2565-2568) ทั้งนี้ โดยมุ่งกระตุ้นความต้องการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าซึ่งขับเคลื่อนด้วยแบตเตอรี่ (BEV) โดยใช้มาตรการราคาเพื่อให้ราคายานยนต์ BEV และยานยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในทั่วไปอยู่ในช่วงราคาเดียวกัน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


กฎหมายและเอกสารอ้างอิง:

 

  1. ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่สำเร็จรูป ลงวันที่ 22 เมษายน 2565
  2. ประกาศกรมสรรสามิต เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับสิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ลงวันที่ 21 มีนาคม 2565
  3. มติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อมติคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2564 และ 1/2565 เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565

 

 

มาตรการสนับสนุนปัจจุบันครอบคลุมยานยนต์ BEV ทั้งหมด 3 ชนิด ได้แก่ รถยนต์โดยสารส่วนบุคคล รถจักรยานยนต์ และรถกระบะ และสามารถแบ่งประเภทมาตรการสนับสนุน คือ มาตรการยกเว้นหรือลดหย่อนอากรขาเข้าแก่รถยนต์ BEV ทั้งคัน (แบบ CBU) ที่นำเข้ามาเพื่อทดลองตลาด มาตรการลดหย่อนภาษีสรรพสามิต และการให้เงินอุดหนุนโดยกรมสรรพสามิต ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้  

 

1. มาตรการยกเว้นหรือลดหย่อนอากรขาเข้าแก่รถยนต์ BEV ทั้งคัน (แบบ CBU) ที่นำเข้ามาเพื่อทดลองตลาด

 

ภายใต้ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่สำเร็จรูปที่นำเข้ามาทั้งคัน รถยนต์ BEV ทั้งคัน (แบบ CBU) ไม่เกิน 10 ที่นั่ง ที่นำเข้ามาเพื่อทดลองตลาด จะได้รับสิทธิยกเว้นหรือลดหย่อนอากรขาเข้าในอัตราที่ต่างกันไป ขึ้นอยู่กับการใช้สิทธิความตกลงการค้าเสรี (FTA) เพื่อการนำเข้านั้น โดยมีรายละเอียดดังนี้  

 

1.1 สำหรับรถยนต์ BEV ทั้งคัน (แบบ CBU) ซึ่งมีแบตเตอรี่สำเร็จรูปที่มีขนาดตั้งแต่ 10 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป และมีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท ให้ได้รับการลดอัตราอากรหรือยกเว้นอากร ดังต่อไปนี้

  • (ก) ถ้าใช้สิทธิ FTA แล้ว ยังมีอัตราอากรที่ต้องชำระน้อยกว่า 20% จะได้รับการยกเว้นอากร
  • (ข) ถ้าใช้สิทธิ FTA แล้ว ยังมีอัตราอากรที่ต้องชำระมากกว่า 20% จะได้รับการลดอัตราอากรลงอีก 40%
  • (ค) ถ้าไม่ได้ใช้สิทธิ FTA เพื่อการนำเข้าแล้ว จะได้รับการลดอัตราอากรลงเหลือ 40% (จากเดิม 80%)

 

1.2 สำหรับรถยนต์ BEV ทั้งคัน (แบบ CBU) ซึ่งมีแบตเตอรี่สำเร็จรูปที่มีขนาดตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป และมีราคาขายปลีกแนะนำมากกว่า 2 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 7 ล้านบาท ให้ได้รับการลดอัตราอากรหรือยกเว้นอากร ดังต่อไปนี้

  • (ก) ถ้าใช้สิทธิ FTA แล้ว ยังมีอัตราอากรที่ต้องชำระน้อยกว่า 20% จะได้รับการยกเว้นอากร
  • (ข) ถ้าใช้สิทธิ FTA แล้ว ยังมีอัตราอากรที่ต้องชำระมากกว่า 20% จะได้รับการลดอัตราอากรลงอีก 20%
  • (ค) ถ้าไม่ได้ใช้สิทธิ FTA เพื่อการนำเข้าแล้ว จะได้รับการลดอัตราอากรลงเหลือ 60% (จากเดิม 80%)

 

2. มาตรการลดหย่อนภาษีสรรพสามิต โดยลดจาก 8% เป็น 2% สำหรับรถยนต์ BEV และ 0% สำหรับรถกระบะ ทั้งนี้ จะต้องปฏิบัติตามที่กรมสรรพสามิตประกาศเงื่อนไขไว้

 

3. การให้เงินอุดหนุนโดยกรมสรรพสามิต

 

ตามที่กรมสรรพสามิตได้ออกประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับสิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2565 สามารถสรุปการได้เงินอุดหนุนของรถยนต์โดยสารส่วนบุคคล รถจักรยานยนต์ และรถกระบะ ได้เป็นแผนภาพข้างล่าง ดังนี้

 

 

กฎหมายอ้างอิง:

 

ประกาศกรมสรรสามิต เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับสิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ลงวันที่ 21 มีนาคม 2565

 

ในส่วนของเงินอุดหนุนนี้สามารถขอรับได้ทั้งเพื่อ BEV ที่ผลิตในไทยและนำเข้ามาจากต่างประเทศ ยกเว้นรถกระบะ BEV ที่จะได้เงินอุดหนุนก็ต่อเมื่อผลิตในไทยเท่านั้น ทั้งนี้ ผู้ผลิตและนำเข้ารถยนต์ BEV ทั้งคัน (แบบ CBU) ในระหว่างปี 2565-2566 จะต้องผลิตคืนในอัตรา 1 ต่อ 1 ภายในปี 2567 โดย

 

  • ผลิตยานยนต์ในรูปแบบใดก็ได้ ถ้าเป็นการขอเพื่อรถยนต์ BEV ทั้งคัน (แบบ CBU) ซึ่งมีแบตเตอรี่สำเร็จรูปที่มีขนาดตั้งแต่ 10 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป และมีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท
  • ผลิตยานยนต์ในรูปแบบเดียวกับที่นำเข้ามา ถ้าเป็นการขอเพื่อรถยนต์ BEV ทั้งคัน (แบบ CBU) ซึ่งมีแบตเตอรี่สำเร็จรูปที่มีขนาดตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป และมีราคาขายปลีกแนะนำมากกว่า 2 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 7 ล้านบาท 

 

ทั้งนี้ อาจขอขยายกำหนดเวลาผลิตคืนได้จนถึงสิ้นปี 2568 แต่จะต้องรับภาระการผลิตคืนมากขึ้นเป็นอัตรา 1 ต่อ 1.5 

 

นอกจากนี้ ยังต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขสัดส่วนการใช้วัตถุดิบในประเทศ ซึ่งเป็นไปตามประกาศกรมสรรพสามิต วันที่ 21 มีนาคม 2565 

 

อย่างไรก็ตาม สิทธิตามมาตรการส่งเสริมดังกล่าวอาจถูกเพิกถอนได้หากละเมิดข้อกำหนดภายใต้ประกาศที่เกี่ยวข้อง เช่น การปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยต่อรถที่ได้รับสิทธิโดยไม่ขออนุญาต หรือการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการผลิตคืน ซึ่งจะนำไปสู่โทษทางภาษีต่างๆ ตั้งแต่ค่าภาษีอากร ค่าปรับ เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม ที่กำหนดภายใต้กฎหมายศุลกากรและกฎหมายสรรพสามิต รวมถึงการเรียกคืนเงินอุดหนุน และการยึดหรือบังคับวงเงินประกัน 

 

ดังนั้น ผู้ประกอบการควรศึกษาเงื่อนไขและข้อกำหนดเพื่อการได้รับสิทธิตามมาตรการสนับสนุนทั้งหลาย เพื่อระงับความเสี่ยงจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่อาจเกิดขึ้นได้

 

ในส่วนของกรมการขนส่งทางบกนั้น ครม. ได้เห็นชอบการลดภาษีประจำปีสำหรับรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว โดยกำหนดให้ลดอัตราภาษีประจำปีสำหรับรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว ที่จดทะเบียนระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2565 – 30 กันยายน 2568 ลง 80% ตามอัตราภาษีประจำปี เป็นระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่จดทะเบียน

 

ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจในการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการลดปริมาณการปลอยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และปริมาณ PM2.5 ในอากาศ ตลอดจนช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศ 

 

จากมาตรการสนับสนุนของภาครัฐต่างๆ ที่จะจูงใจนักลงทุนให้เข้ามาผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งก็เป็นไปตามเทรนด์ของผู้ผลิตในต่างประเทศ เช่น ในยุโรป รถยนต์นั่งที่ผลิตส่วนใหญ่เป็นรถยนต์ไฟฟ้า และจะไม่มีการผลิตรถยนต์สันดาปในอนาคต ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบยานยนต์ในประเทศจะไม่มีชิ้นส่วน CKD ที่จะนำมาผลิตเป็นรถยนต์สันดาปภายในในประเทศในอนาคต อย่างไรก็ดี การที่จะจูงใจให้ผู้ใช้รถสันดาปภายในในประเทศ ซึ่งในปัจจุบันมีกว่า 41 ล้านคัน มาใช้รถยนต์ไฟฟ้า อาจไม่สามารถใช้มาตรการภาษีเพื่อลดต้นทุนการผลิตเพียงอย่างเดียว ภาครัฐอาจต้องดูแลปัจจัยอื่นที่มีผลในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค เช่น โครงสร้างพื้นฐานการผลิตไฟฟ้า สถานีชาร์จไฟฟ้า ระบบการกำจัดหรือนำมาใช้ใหม่ของแบตเตอรี่ที่ใช้แล้ว เป็นต้น ดังนั้น จึงเป็นเรื่องท้าทายของรัฐบาลในการกำหนดนโยบายรัฐ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising