×

เกิดอะไรขึ้นกับโครงสร้างประชากรไทย เมื่อคุณภาพชีวิตหาย ผู้สูงวัยล้น มีรายได้แค่ 6,975 บาท/เดือน ต่ำกว่าเส้นความยากจน

25.05.2024
  • LOADING...

อัตราผู้สูงวัยอาจล้นประเทศไทยในอีกไม่ช้า? นี่อาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุฉุดรั้งการบริโภคและการเติบโตของเศรษฐกิจไทยหรือไม่ หลังพบข้อมูลว่าโครงสร้างประชากรไทยเปลี่ยนแปลง อัตราการเกิดลดลง สวนทางอัตราผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น

 

ที่สำคัญจำนวนผู้สูงอายุราว 34% ของประเทศ มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน (Poverty Line) โดยกระจุกตัวที่ภาคการเกษตรซึ่งมีรายได้เฉลี่ยเพียง 6,975 บาทต่อเดือน

 

มากไปกว่านั้นภาคธุรกิจขนาดกลางและย่อม หรือ SMEs นับวันยิ่งเสี่ยงถดถอย เนื่องจากการจ้างงานสูง แต่สร้างรายได้ต่ำ ซึ่งประเด็นนี้มีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก เพราะอะไร?

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานบทวิเคราะห์ว่า ประเทศไทยพึ่งพาการบริโภคในสัดส่วนที่สูงขึ้น และฐานประชากรในอนาคตอาจมีกำลังซื้อจำกัด เสี่ยงต่อการบริโภคในประเทศที่มีแต่จะโตช้ามากไปเรื่อยๆ ไทยต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มรายได้และคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน รวมถึงดึงคนและแรงงานต่างชาติที่มีทักษะและมีศักยภาพเข้ามา เพื่อเพิ่มการบริโภคในประเทศ

 

ภาวะการบริโภคของไทยมีแนวโน้มลดลงจากในอดีต

 

หากลงลึกถึงรายละเอียดจะพบว่าวันนี้โครงสร้างประชากรไทยเปลี่ยนไป ทั้งจากจำนวนประชากรที่เริ่มลดลง และการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมสูงวัยขั้นสุดยอด (Super-Aged Society) ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทย 3 ด้านหลัก ได้แก่

 

  • การขาดแคลนแรงงานในระดับรุนแรงขึ้น
  • การบริโภคในประเทศโตช้าลง
  • ภาระทางการคลังเพิ่มขึ้น

 

เนื่องจากไทยพึ่งพาการบริโภคในประเทศในสัดส่วนสูงขึ้น แต่การเติบโตกลับมีแนวโน้มชะลอลงจากปัจจัยฉุดทางด้านเศรษฐกิจและกำลังซื้อ โดยในปี 2023 มีสัดส่วนอยู่ที่ 58% ของ GDP เพิ่มขึ้นจากเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมาที่มีสัดส่วน 53% สวนทางกับประเทศอื่นๆ เช่น สิงคโปร์ ที่กำลังจะเป็นสังคมสูงวัยขั้นสุดยอดไล่เลี่ยกับไทย แต่มีแนวโน้มพึ่งพาการบริโภคในประเทศลดลงจาก 37% เหลือเพียง 31% หรือแม้แต่เวียดนามและอินโดนีเซีย ที่กำลังจะเข้าสู่สังคมสูงวัย ก็เริ่มเห็นสัดส่วนการพึ่งพาการบริโภคในประเทศลดลงเช่นกัน สะท้อนให้เห็นว่าประเทศเหล่านี้ต้องพึ่งพาอาศัยแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้านอื่นๆ เข้ามาเสริม

 

แรงงานไทยผลิตภาพต่ำ ทำงานในธุรกิจที่มีค่าตอบแทนน้อย ผู้สูงวัย 5.1 ล้านคน อยู่ในภาคเกษตรถึง 59%

 

ไม่เพียงแค่นั้น ในช่วงที่ผ่านมาการบริโภคในประเทศของไทยเติบโตชะลอลงจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจที่กระทบกำลังซื้อ ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้นจากราคาสินค้าและบริการแพงขึ้น รวมถึงภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ดังนั้นวันข้างหน้าหากจำนวนประชากรไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จะฉุดการบริโภคในประเทศให้ขยายตัวช้าลงอีก

 

“โครงสร้างประชากรไทยเปลี่ยนแปลงชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่รายได้ประชากรมีความไม่แน่นอนตามสถานการณ์เศรษฐกิจ การบริโภคที่อาจลดลงจากทั้งผู้สูงอายุที่ใช้จ่ายน้อยลงและจำนวนประชากรน้อยลง จะยิ่งส่งผลลบต่อการบริโภคในประเทศ”

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อฐานประชากรไทยในอนาคตมีกำลังซื้อจำกัด ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุไทยที่จะกลายเป็นฐานประชากรที่สำคัญมีรายได้น้อย เห็นได้จากผู้สูงอายุไทยกว่า 34% มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่าเส้นความยากจน

 

“ในบรรดาผู้สูงอายุที่ยังทำงานทั้งหมด 5.1 ล้านคน พบว่า 3.7 ล้านคน ประกอบอาชีพในภาคเกษตร (59%) และภาคการค้า (14%) ซึ่งมีค่าจ้างเฉลี่ยต่ำกว่าอาชีพอื่นๆ ส่งผลกดดันการบริโภคของผู้สูงอายุไทย”

 

แรงงานไทยมีผลิตภาพต่ำ ส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในธุรกิจที่ค่าตอบแทนน้อย

 

ผลิตภาพแรงงานไทยมีการขยายตัวเฉลี่ยต่อปีค่อนข้างต่ำอยู่ที่ราว 1.5% (CAGR 2014-2022) และส่วนใหญ่ประกอบอาชีพอยู่ในธุรกิจที่มีค่าตอบแทน/รายได้ต่ำ โดยเฉพาะในภาคเกษตรที่ผลิตภาพแรงงานน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับภาคธุรกิจอื่นๆ แต่กลับมีสัดส่วนแรงงานที่ทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมนี้สูงถึงราว 30% ของจำนวนผู้มีงานทำทั้งหมด

 

ขณะที่แรงงานภาคเกษตรมีรายได้เฉลี่ยเพียง 6,975 บาทต่อเดือนเท่านั้น ส่งผลให้แรงงานกลุ่มนี้มีความสามารถในการบริโภคจำกัด

 

ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องหันมาให้ความสำคัญ

 

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ‘การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเป็นความท้าทายเร่งด่วน’ ที่ไทยต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงที่การบริโภคในประเทศจะชะลอตัวลง ด้วยการเพิ่มรายได้ของประชาชนให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น โดยการปรับโครงสร้างการผลิต ควบคู่กับการพัฒนาทักษะแรงงานให้รองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

 

แม้ว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ที่มีการใช้เทคโนโลยีเข้มข้นและบริการที่มีมูลค่าสูง เช่น อุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์, เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ แผงวงจร PCB/PCBA) และอุตสาหกรรมดิจิทัล จะมีแนวโน้มเติบโตขึ้น แต่การลงทุนส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวอยู่แค่ผู้ประกอบการหรือนักลงทุนรายใหญ่

 

ในขณะที่ผู้ประกอบการ SMEs อีกจำนวนมากยังต้องรอการช่วยเหลือหรือเร่งผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากภาครัฐ ทั้งนี้ถ้าพิจารณาโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศพบว่า “ผู้ประกอบการ SMEs รวม 3.18 ล้านราย หรือคิดเป็นสัดส่วน 99.5% ของผู้ประกอบการทั้งหมด (3.2 ล้านราย) มีสัดส่วนการจ้างงานสูงถึง 71% แต่กลับสร้างรายได้ให้กับประเทศคิดเป็นสัดส่วนเพียง 35% ของ GDP เท่านั้น และมีแนวโน้มที่การสร้างรายได้อาจลดลงจากการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากการขยายตลาดของรายใหญ่”

 

จำนวนผู้ประกอบการ การจ้างงาน และ GDP ของภาคธุรกิจ

 

รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณภาครัฐและวางแผนโครงสร้างพื้นฐาน

 

โดยการดึงชาวต่างชาติที่มีกำลังซื้อหรือแรงงานต่างชาติที่มีทักษะสูงเข้ามา เพื่อสร้างรายได้ เพราะหากดูตัวเลขปี 2023 ชาวต่างชาติใช้จ่ายหรือบริโภคในประเทศ 5% ของ GDP ทยอยฟื้นตัวกลับไปสู่ช่วงก่อนโควิดที่ 11%

 

ดังนั้นการดึงดูดชาวต่างชาติให้เข้ามาใช้จ่ายในประเทศมากขึ้น รวมถึงกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่มีทักษะสูง (High-Skilled Labor) ย่อมสำคัญ

 

อย่างไรก็ดี ภาครัฐควรส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในประเทศรักษามาตรฐานของสินค้า ควบคู่ไปกับการควบคุมและดูแลชาวต่างชาติที่ทำงานในไทย (Expat) รวมถึงชาวต่างชาติที่มาพำนักระยะยาวในไทย (Long Stay)

 

ท้ายที่สุดบทวิเคราะห์สรุปว่า ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการออกแบบนโยบาย (Policy Design) ว่าจะทำอย่างไรให้มีผลกระทบกับคนในประเทศน้อยที่สุด ในขณะที่ไทยยังได้ประโยชน์จากการเข้ามาลงทุนหรือใช้จ่ายของชาวต่างชาติเพิ่มขึ้น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising