×

ข้อเสนอด้านการต่างประเทศไทย: ปัญหาการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ใหม่

17.08.2023
  • LOADING...
การต่างประเทศไทย

“เราอาจมีความจำเป็นในการจัดกลุ่มทางภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ หรือไม่ก็ต้องมีความเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ใหญ่”

 

John Keegan

นักประวัติศาสตร์ทหารชาวอังกฤษ

 

หมายเหตุผู้เขียน:

บทความนี้เขียนเสร็จเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2023 ซึ่งเป็นวันที่ 533 ของสงครามยูเครน สงครามมีแนวโน้มที่จะขยายตัวมากขึ้นจากปฏิบัติการทางทหารทั้งของรัสเซียและยูเครน ขณะเดียวกันปัญหาในพื้นที่ส่วนอื่นของโลกก็มีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งในแอฟริกาและตะวันออกกลาง เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่างสองมหาอำนาจใหญ่คือ จีนและสหรัฐอเมริกา ยังคงมีปัญหาเกิดขึ้นต่อเนื่อง และมีเรื่องใหม่ๆ เข้ามาเป็นประเด็น

 

แม้รัฐบาลใหม่ที่กรุงเทพฯ จะยังไม่เกิดขึ้น แต่ก็หวังว่าบทความนี้จะช่วยจุดประเด็นนำร่องในข้อถกแถลงเรื่อง ‘ทิศทางการต่างประเทศไทยของรัฐบาลใหม่’ โดยไม่จำเป็นต้องรอการมาของรัฐบาลใหม่หรือรอรัฐมนตรีคนใหม่แล้วเราจึงเปิดการถกแถลง เพราะวันนี้สถานการณ์บนเวทีระหว่างประเทศเคลื่อนตัวไปข้างหน้าไม่หยุด… เป็นการเคลื่อนที่มีความซับซ้อนมากขึ้นไม่หยุด

 

การเคลื่อนตัวของสถานการณ์โลกเช่นนี้ไม่เคยคอยใคร และไม่เคยคอย ‘รัฐไทย’ ด้วย!

 

โหมโรง

 

ความเป็นไปของสังคมการเมืองโลกในยุคปัจจุบันเห็นได้ชัดเจนถึงการที่ปัจจัยระหว่างประเทศ หรือที่เราเรียกกันว่า ‘ปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์’ (Geopolitical Factor) นั้นเป็นสิ่งที่มีผลกระทบต่อการเมืองภายในของรัฐต่างๆ เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในความเป็น ‘รัฐเล็ก’ ที่ไม่ได้มีอำนาจและอิทธิพลบนเวทีสากลมากนัก ผลกระทบของปัจจัยระหว่างประเทศจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย บางทีอาจไม่ต่างกันที่ก่อนหน้านี้ นักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศล้วนตั้งข้อสังเกตถึงผลกระทบของปัจจัย ‘โลกาภิวัตน์’ (Globalization) ที่มีต่อรัฐต่างๆ บนเวทีโลก…ฉันใดฉันนั้น

 

ปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ หรือโดยความหมายของสถานการณ์โลกคือ ‘การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์’ (Geopolitical Competition) ของรัฐมหาอำนาจใหญ่ มีความหมายโดยตรงของสภาวะการเมืองโลกที่เป็น ‘สงครามเย็น’ (The Cold War) ซึ่งอาจเรียกโดยนัยของเวลาว่าเป็น ‘สงครามเย็นใหม่’ เนื่องจากเป็นสงครามเย็นของศตวรรษที่ 21 ส่วนสงครามเย็นในศตวรรษที่ 20 นั้นอาจเรียกว่าเป็น ‘สงครามเย็นเก่า’ เนื่องจากสงครามเย็นชุดนี้ได้จบไปแล้วในช่วงปลายของศตวรรษที่ 20 และสิ้นสุดลงอย่างสมบูรณ์ด้วยการล่มสลายของสหภาพโซเวียตรัสเซียในปี 1991 (พ.ศ. 2534)

 

ดังนั้นการหวนคืนของสงครามเย็นในยุคปัจจุบันจึงเป็นปัจจัยระหว่างประเทศที่สำคัญ และเป็นหัวข้อที่นักเรียนในสาขายุทธศาสตร์และสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต้องให้ความสนใจ

 

กล่าวนำ

 

สำหรับประเทศไทยในบริบทระหว่างประเทศนั้น การเมืองโลกที่มีความเป็นสงครามเย็นใหม่ย่อมมีผลกระทบโดยตรงต่อการเมืองไทย ดังเช่นที่เราได้เห็นมาแล้วในยุคสงครามเย็นเก่าที่ความเข้มข้นของการต่อสู้ของรัฐมหาอำนาจใหญ่ได้ส่งผลกระทบต่อการเมืองภายในอย่างมาก

 

เพราะฉะนั้นในสภาวะปัจจุบันที่ความขัดแย้งของรัฐมหาอำนาจใหญ่เห็นชัดในมิติต่างๆ โดยเฉพาะ ‘ปัญหาสงครามยูเครน’ ที่เป็นภาพสะท้อนของความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับโลกตะวันตกในบริบททางภูมิรัฐศาสตร์ยุโรป และ ‘ความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวัน’ เป็นภาพสะท้อนถึงความขัดแย้งระหว่างจีนกับโลกตะวันตกในบริบทของเอเชีย ซึ่งปรากฏการณ์เหล่านี้คือภาพของความเป็นสงครามเย็นใหม่ที่มีความชัดเจนบนเวทีโลก ยิ่งเมื่อเวลาผ่านไป ความเป็นสงครามเย็นเช่นนี้ก็ดูจะทวีความเข้มข้นมากขึ้นตามไปด้วย

 

ภาพรวมที่ไม่ต่างจากเดิมก็คือ สงครามเย็นครั้งนี้ยังเป็นภาวะการต่อสู้ระหว่าง ‘โลกตะวันออก vs. โลกตะวันตก’ หรืออาจเรียกในแบบเดิมว่า East-West Conflict ถ้าเช่นนั้นแล้ว รัฐบาลใหม่ที่กรุงเทพฯ จะกำหนดทิศทางการต่างประเทศไทยท่ามกลางความผันผวนจากการแข่งขันในการเมืองโลกครั้งนี้อย่างไร

 

ในภาวะของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐมหาอำนาจใหญ่เช่นนี้ เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘นโยบายต่างประเทศ’ เป็นหนึ่งในความท้าทายสำคัญของรัฐบาลกรุงเทพฯ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ขวานิยมตะวันออก!

 

หากเริ่มต้นพิจารณานโยบายต่างประเทศไทยจากมิติการเมืองภายในแล้ว น่าสนใจอย่างมากว่า หนึ่งในประเด็นสำคัญที่มีการหยิบยกขึ้นมาเป็นแรงขับเคลื่อนของกลุ่มปีกขวาไทยในมุมมองที่มีต่อปัญหาในการเมืองโลกปัจจุบันคือ การสร้าง ‘เรื่องบอกเล่า’ (Narrative) ผ่านเรื่องของนโยบายต่างประเทศ การเปิดประเด็นที่เริ่มด้วยมุมมองของฝ่ายขวาไทย เนื่องจากปีกนี้เป็นกลุ่มอำนาจทางการเมืองที่ยึดกุมอำนาจนำในการกำหนดนโยบายต่างประเทศมาอย่างยาวนาน มุมมองของกลุ่มการเมืองนี้จึงเป็นแรงขับเคลื่อนของทิศทางนโยบายต่างประเทศไทยมาโดยตลอด

 

อันเป็นที่รับทราบกันมาระยะหนึ่งแล้วว่า กลุ่มอนุรักษนิยม หรือ ‘ฝ่ายขวาไทย’ ในปัจจุบัน มีชุดความคิดใหม่ทางด้านนโยบายต่างประเทศ ‘แตกต่างอย่างมาก’ จากชุดความคิดในยุคสงครามเย็นเก่า ซึ่งมีความชัดเจนที่ต้องการเห็นประเทศไทยยืนกับฝ่ายตะวันตกอย่างใกล้ชิด และกลัวว่ารัฐบาลสหรัฐอเมริกาจะทอดทิ้งประเทศไทย หรือกังวลว่าวอชิงตันจะปล่อยให้รัฐบาลกรุงเทพฯ ต้องเผชิญกับการคุกคามของฝ่ายคอมมิวนิสต์อย่างโดดเดี่ยว ฉะนั้น ‘เรื่องเล่า’ ที่สำคัญของฝ่ายขวาในยุคสงครามเย็น จึงเป็นเรื่อง ‘ความน่ากลัว’ ของลัทธิคอมมิวนิสต์ ที่รัฐบาลไทยจำเป็นต้องเข้าร่วมเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงกับฝ่ายตะวันตก

 

แต่ในยุคนี้ปีกขวาที่มีทั้งชนชั้นนำ ผู้นำทหาร และขบวนอนุรักษนิยมทั้งหลาย เกิดภาวะ ‘พลิกจุดยืน’ กลายเป็นฝ่ายที่ต่อต้านสหรัฐฯ พร้อมกับเรียกร้องให้ไทยเข้าไปใกล้ชิดกับจีนและรัสเซีย นอกจากนี้ยังมีการประดิษฐ์วาทกรรมต่างๆ เพื่อโฆษณาชวนเชื่อสนับสนุนให้รัฐบาลไทยดำเนิน ‘นโยบายต่อต้านตะวันตก’ โดยมีเรื่องเล่าที่ต่างจากเดิม เรื่องเล่าชุดใหม่นี้ชี้ให้เห็นถึงความไม่ถูกต้องในแบบต่างๆ ของสหรัฐฯ และโลกตะวันตก และไทยต้องไม่เป็นพันธมิตรกับตะวันตก

 

ลักษณะเช่นนี้ดูจะเป็น ‘ความย้อนแย้ง’ กับอดีตของตัวเองอย่างยิ่ง เนื่องจากในยุคสงครามเย็น ใครที่แสดงความใกล้ชิดกับจีนหรือแสดงการสนับสนุนรัสเซีย ไม่เพียงจะถูกมองว่าเป็นพวก ‘แนวร่วมคอมมิวนิสต์’ เท่านั้น หากยังอาจถูกจับกุมคุมขังในข้อหามี ‘การกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์’ อีกด้วย หรือที่กล่าวกันในยุคนั้นว่า เพียงเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจพบหนังสือของประธานเหมาจากสำนักพิมพ์ปักกิ่งในบ้าน ก็เป็นหลักฐานเพียงพอที่จะจับกุมในข้อหา ‘ฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์’ ได้แล้ว 

 

โลกความมั่นคงไทยในปัจจุบันดูจะ ‘กลับหัวกลับหาง’ ไปหมด โดยเฉพาะหลังการยึดอำนาจในปี 2014 (พ.ศ. 2557) แล้ว ผู้นำรัฐประหารไทยแสดงออกอย่างชัดเจนที่จะปรับยุทธศาสตร์เป็นแบบ ‘ไกลตะวันตก-ใกล้ตะวันออก’ คำอธิบายในเบื้องต้นก็คือ รัฐมหาอำนาจตะวันออก ทั้งจีนและรัสเซียไม่มีท่าทีวิจารณ์การยึดอำนาจในไทย ทั้งยังแสดงอาการ ‘โอบอุ้ม’ การจัดตั้งรัฐบาลทหารที่กรุงเทพฯ อีกด้วย การแสดงออกเช่นนี้บ่งบอกอย่างชัดเจนว่า ปักกิ่งและมอสโกเป็น ‘พันธมิตรรัฐประหาร’ สำหรับรัฐบาลทหารที่กรุงเทพฯ

 

ข้อห่วงใยทางยุทธศาสตร์

 

ท่าทีต่อการรัฐประหารไทยของมหาอำนาจฝ่ายตะวันออกเช่นนี้ แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากมหาอำนาจฝ่ายตะวันตกที่ไม่ตอบรับกับรัฐบาลทหาร ทั้งยังมีท่าทีในเชิงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ซึ่งว่าที่จริงรัฐบาลของฝ่ายตะวันตก ‘ไม่ยอมรับ’ การยึดอำนาจตั้งแต่ครั้งก่อนที่เกิดขึ้นในปี 2006 (พ.ศ. 2549) แล้ว ดังเป็นที่รับรู้กันของเวทีการเมือง-การทูตมาโดยตลอดว่า รัฐบาลของประเทศประชาธิปไตยนั้นไม่เคยเห็นด้วยกับการยึดอำนาจที่กรุงเทพฯ และต้องการเห็นการเมืองไทยเป็นประชาธิปไตย มีนิติรัฐ และสังคมมีความเป็นเสรีนิยม

 

แต่การจะกดดันรัฐบาลไทยก็มี ‘ข้อห่วงใยทางยุทธศาสตร์’ เพราะหากรัฐบาลตะวันตกกดดันรัฐบาลกรุงเทพฯ อย่างเช่น การใช้มาตรการคว่ำบาตรในแบบที่กระทำกับรัฐบาลทหารเมียนมาแล้ว มาตรการดังกล่าวอาจกลายเป็นแรงผลักให้รัฐบาลไทยต้องวิ่งไปหาการสนับสนุนจากจีนและรัสเซียมากขึ้น อันอาจกลายเป็นการเปิดโอกาสอย่างดีให้ปักกิ่งแทรกตัวเข้ามาขยายอิทธิพลจีนในไทยมากขึ้น ในทางกลับกัน ฝ่ายอำนาจนิยมในสังคมไทยก็ใช้เงื่อนไขเช่นนี้ในการปกป้องตัวเองจากกระแสโลก

 

ด้วยเงื่อนไขเช่นนี้ ผู้นำทหารไทยรู้ดีว่าการรัฐประหารที่กรุงเทพฯ จะไม่เคยเจอกับ ‘ไม้แข็ง’ จากเวทีสากล และแรงกดดันจากโลกตะวันตกก็ไม่หนักหน่วงมากนัก และไม่อาจทำให้รัฐบาลทหารที่กรุงเทพฯ ล้มลงได้แต่อย่างใด จนอาจกล่าวได้ว่า การลงโทษของเวทีระหว่างประเทศต่อรัฐบาลทหารไทยมักจะเป็น ‘ไม้นวม’ มากกว่า ‘ไม้แข็ง’ อันกลายเป็นโอกาสอย่างดีสำหรับการคงอยู่ของรัฐบาลทหาร ดังจะเห็นได้ว่าหากเปรียบเทียบภาพระหว่างไทยกับเมียนมาแล้ว รัฐบาลทหารกรุงเทพฯ ไม่เคยต้องเผชิญกับการคว่ำบาตรอย่างจริงจังแต่อย่างใด (น่าสนใจว่าถ้าเกิดการคว่ำบาตรต่อรัฐประหารไทยจริงๆ แล้ว รัฐบาลทหารไทยจะดำรงอยู่ได้จริงหรือไม่?) 

 

ว่าที่จริงแล้วการกดดันของตะวันตกต่อรัฐบาลรัฐประหารในปี 2014 ไม่ได้รุนแรงมาก และไม่ต่างจากการยึดอำนาจในครั้งก่อนๆ หากแต่การปลุก ‘กระแสขวาจัด’ ที่ดำเนินต่อเนื่องในสังคมไทยมาตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร 2006 นั้น ทวีความเข้มข้นขึ้นเป็นลำดับ หรือที่เปรียบในเชิงภาพลักษณ์คือ ขวาไทยก้าวจาก ‘กระแสเสื้อเหลือง’ ไปเป็นขวาจัดมากขึ้นด้วย ‘กระแสนกหวีด’ จนไม่เหลือความเป็น ‘อนุรักษนิยมกระแสหลัก’ (Mainstream Conservative) เพราะคนพวกนี้ขยับจุดยืนไปสู่การเป็น ‘อนุรักษนิยมสุดโต่ง’ หรือเป็นฝ่าย ‘ขวาจัด’ ไปแล้ว 

 

(อนุรักษนิยมกระแสหลัก มีความหมายถึง ปีกขวาที่มีอุดมการณ์แบบอนุรักษนิยม แต่ก็ยอมรับต่อกระบวนการเมืองแบบรัฐสภา และไม่ยอมรับการเข้าสู่อำนาจด้วยการรัฐประหาร)

 

ลัทธิสุดโต่ง

 

หากพิจารณาคู่ขนานกับการเมืองในโลกตะวันตกที่กระแสขวาปรากฏตัวชัดเจนทั้งในยุโรปและในสหรัฐฯ แล้ว จะเห็นถึงความเป็น ‘ขวาสุดโต่ง’ หรือที่เรียกในสำนวนการเมืองปัจจุบันคือ เป็นพวก ‘Far Right’ เช่น ตัวแบบความสุดโต่งของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หรือบรรดาปีกขวาจัดในยุโรป เช่น ในฝรั่งเศส หรือในเยอรมนี เป็นต้น ปีกขวาจัดไทยก็มีลักษณะสุดโต่งไม่แตกต่างกันใน 3 ประการหลัก คือ ‘เชื่อสุดโต่ง-คิดสุดโต่ง-ทำสุดโต่ง’ และไม่เหลือพื้นที่ตรงกลางสำหรับรองรับความเห็นที่แตกต่าง ซึ่งเป็น ‘ลัทธิสุดโต่ง’ (Extremism) ในทางการเมืองนั่นเอง

 

อย่างไรก็ตาม ความสุดโต่งของฝ่ายขวาในสังคมไทยและสังคมตะวันตกมีความเหมือนกันคือ รังเกียจประชาธิปไตยและมองประชาธิปไตยว่าเป็นต้นตอของปัญหาทั้งปวง ส่วนต่างของขวาจัดไทยในประเด็นนี้คือ ความเกลียดชังประชาธิปไตย ทำให้พวกเขาไม่ชอบรัฐตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐฯ และประเทศตะวันตก ที่มีท่าทีชูประเด็นเรื่องประชาธิปไตย นิติรัฐ และไม่สนับสนุนรัฐบาลทหารกรุงเทพฯ ที่เป็น ‘อำนาจนิยม’ ซึ่งภาวะของความสุดโต่งเช่นนี้พาให้พวกเขามีทัศนะแบบ ‘ต่อต้านสหรัฐฯ’ ดังเช่นทัศนะที่เห็นได้จากการโพสต์ของคนในกลุ่มนี้ที่มองเห็นสหรัฐฯ ในแบบที่เป็น Ugly American แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากยุคสงครามเย็นครั้งก่อนที่สหรัฐฯ ได้รับการยอมรับจากกลุ่มปีกขวาว่ามีสถานะเป็น ‘ผู้ปกป้องคุ้มครอง’ ไทย และความมั่นคงไทยจะขาด ‘ปัจจัยอเมริกัน’ ไม่ได้เป็นอันขาด หรือโดยนัย สหรัฐฯ คือ Protector สำหรับความอยู่รอดของไทยที่ต้องเผชิญกับปัญหาภัยคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์

 

ผลพวงของกระแสขวาจัดเช่นนี้นำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลทหารหลังรัฐประหาร 2014 ซึ่งมีทิศทางยุทธศาสตร์ของนโยบายแบบ ‘มุ่งตะวันออก’ ด้วยการพาประเทศเข้าไปใกล้ชิดกับรัฐมหาอำนาจตะวันออก (ผู้เขียนอยากขอเรียกนโยบายเช่นนี้ว่าเป็น ‘Look East Policy’) ซึ่งก็ดูจะสอดรับกับอารมณ์ความรู้สึกของบรรดาปีกขวาที่เป็นฝ่ายต่อต้านตะวันตกเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ตัวอย่างเช่น การจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์จากจีนเป็น ‘สัญลักษณ์’ ทางการเมืองและความมั่นคงที่สำคัญ เพื่อบอกให้เวทีโลกรู้ว่า รัฐบาลไทยขยับตัวเป็น ‘รัฐผู้ใกล้ชิด’ กับมหาอำนาจตะวันออก และกองทัพไทยพร้อมที่จะ ‘ใช้อาวุธ’ ของฝ่ายตะวันออกมากขึ้นในอนาคต

 

เนื่องจากการจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์สมรรถนะสูงชุดใหญ่ของไทยจากค่ายตะวันออก ย่อมต้องถือเป็นการ ‘ส่งสัญญาณทางยุทธศาสตร์’ ในตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และในทางกลับกัน จีนเองก็ใช้ ‘อาวุธ’ ที่รัฐบาลทหารไทยต้องการ เป็นเครื่องมือในการดำเนินความสัมพันธ์กับรัฐบาลกรุงเทพฯ จนเกิดสภาวะที่อาจเรียกว่าเป็น ‘การทูตอาวุธ’ (Arms Diplomacy) ไม่ต่างกับในระยะเวลาต่อมาที่จีนใช้วัคซีนเป็นเครื่องมือทางการทูตในช่วงการระบาดของโควิดคือ เป็น ‘การทูตวัคซีน’ (Vacine Diplomacy) 

 

การต่างประเทศไทย

ภาพ: Khanthachai C / Shutterstock

 

หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ใหม่

 

นอกจากนี้ท่าทีของมหาอำนาจตะวันตกของเวทีสากลต่อรัฐประหารกรุงเทพฯ ได้กลายเป็นการเปิด ‘ช่องว่าง’ ให้มหาอำนาจตะวันออก เช่น จีนขยายอิทธิพลในไทยได้มากขึ้น และผู้นำไทยคิดด้วยความหวังแบบง่ายๆ ว่า จีนจะเข้ามาเป็น ‘หุ้นส่วนหลักทางยุทธศาสตร์’ (Strategic Partner) แทนที่อเมริกัน เพราะผู้นำในปีกอนุรักษนิยมสุดโต่งของไทยในระดับต่างๆ ล้วนแสดงท่าที ‘ชื่นชมจีน’ พร้อมกับ ‘ชื่นชอบรัสเซีย’ โดยเชื่อเอาเองง่ายๆ ว่า อนาคตของกรุงเทพฯ แขวนอยู่กับปักกิ่งเท่านั้น หรือเชื่อแบบง่ายๆ ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนจะช่วยต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทย โดยไม่ตระหนักในอีกด้านถึงการขยายอิทธิพลเชิงลบของจีนในไทย

 

อย่างไรก็ตาม ผู้นำไทยดูไม่ตระหนักในความเป็นจริงว่า เศรษฐกิจจีนไม่สามารถเติบโตได้ตลอดเวลา และที่น่ากังวลคือ จีนอาจกำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจที่จะเกิดในอนาคตอันใกล้ หรือทั้งหมดนี้คือการขับเคลื่อนของ ‘เรื่องเล่าทางเศรษฐกิจ’ (Economic Narrative) ที่กล่าวถึง การเติบโตอย่างรวดเร็วทันใจของจีน จนจีนกำลังจะเป็น ‘มหาอำนาจอันดับ 1 ของโลก’ หรือเป็นการบอกเล่าเรื่องราวของ ‘The Rise of China’ ในขณะที่ภาพของสหรัฐฯ คือการถดถอยของเศรษฐกิจอเมริกาและปัญหาทางสังคมในรูปแบบต่างๆ เช่น การเหยียดผิว ความรุนแรงที่มาจากปัญหาสีผิว การจัดการที่ด้อยประสิทธิภาพในยุคโควิด เป็นต้น อันเป็นภาพที่ถูกเปรียบเทียบ เพื่อชี้ให้เห็นถึงการตกต่ำของสหรัฐฯ หรือเป็นเรื่องเล่าของ ‘The Fall of America’ 

 

ความเชื่อเช่นนี้ทำให้ผู้นำไทยจากรัฐประหาร 2014 จนถึงการกำเนิดของ ‘รัฐบาลสืบทอดอำนาจ’ หลังการเลือกตั้ง 2019 (พ.ศ. 2562) จึงไม่เปิดใจมอง ‘ปัญหาการขยายอิทธิพลจีน’ ในไทยอย่างรอบด้าน ดังจะเห็นได้ว่า ยิ่งนานวันอิทธิพลของจีนยิ่งขยายตัวมากขึ้น ทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ ความมั่นคง และการขยายตัวของอาชญากรรมจีนด้วย จนดูเหมือนวันนี้รัฐไทยมีสภาพเป็น ‘รัฐพึ่งพา’ (Dependent State) ของจีนไปโดยปริยาย โดยเฉพาะความหวังที่จะได้นักท่องเที่ยวจากจีน ภาวะเช่นนี้ส่งผลให้การตัดสินใจในนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงจะต้องถือเอา ‘ปัจจัยจีน’ เป็นส่วนสำคัญของการพิจารณา ซึ่งมีนัยถึงการให้น้ำหนักแก่ปัจจัยจีนในกระบวนการกำหนดนโยบายของรัฐไทย

 

ภาวะเช่นนี้อาจถูกตีความว่า ไทยดำเนินนโยบายแบบ ‘เกรงใจจีน’ (หรือฝ่ายที่วิจารณ์ อาจเรียก ‘นโยบายกลัวจีน’) โดยเฉพาะในระยะที่ผ่านมานั้นนโยบายของรัฐบาลปักกิ่งมีความ ‘แอตเซอร์ทีฟ’ (Assertive Policy) มากขึ้น ถ้าทำอะไรไม่ถูกใจแล้วจีนอาจใช้อำนาจกดดันทางเศรษฐกิจ หรือมีการคุกคาม / ลงโทษ ต่อการ ‘ไม่ยืนข้างจีน’ จึงทำให้ผู้นำไทยมีท่าที ‘เอาใจจีน-เกรงใจจีน’ อยู่เสมอ ทั้งยังเชื่อใน ‘วาทกรรมบ้านพี่เมืองน้อง’ ว่า ‘ไทย-จีนไม่ใช่อื่นไกล เป็นพี่น้องกัน’ (หรือการยอมรับว่า ‘ไทยเป็นน้อง จีนเป็นพี่’) อีกทั้งตัวอย่างภาษากายของผู้นำไทยต่อผู้นำจีนในช่วงการประชุม APEC 2022 เป็นคำยืนยันที่ดีในเรื่องนี้

 

ชื่นชอบจีน-ชื่นชมรัสเซีย

 

ในสภาวะการเปลี่ยนจุดยืนของฝ่ายขวาจัด จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ฝ่ายขวาไทยที่มีนัยถึงรัฐบาลไทยก่อนการเลือกตั้ง 2023 (พ.ศ. 2566) จะแสดงตนเป็น ‘แนวร่วมสงคราม’ ของรัสเซีย อีกทั้งบรรดานักเคลื่อนไหวปีกขวามีการสร้าง ‘เรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์’ (Historical Narrative) ว่า รัสเซียไม่เคยคุกคามสยาม หรือกษัตริย์รัสเซียเคยมีไมตรีอย่างดีกับกษัตริย์สยามในยุคอาณานิคม และเป็นปัจจัยที่ช่วยสยามในช่วงเวลาดังกล่าวพ้นจากการคุกคามของเจ้าอาณานิคมตะวันตก เป็นต้น เรื่องเล่าเช่นนี้มีพลังอย่างยิ่งในหมู่มวลชนฝ่ายขวา และกลายเป็นความเชื่อที่สำคัญในหมู่ชนปีกขวาไทย

 

ดังนั้นผลจากเรื่องเล่าและมุมมองดังกล่าว ไทยจึงควรสนับสนุน ‘ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร’ (Special Military Operation) ของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน จนดูเหมือนรัฐบาลกรุงเทพฯ ได้ละเลยความเป็นจริงของการสังหารหมู่ การข่มขืน การทำลายเป้าหมายพลเรือนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการเสียชีวิตของคนเป็นจำนวนมาก ตลอดจนการโจมตีเป้าหมายพลเรือนอย่างไม่จำแนก ทั้งยังรวมถึงชาวยูเครนจำนวนมากที่วันนี้ได้กลายเป็น ‘ผู้ลี้ภัยสงคราม’ ไปโดยปริยาย เป็นต้น 

 

การดำเนินนโยบายไทยต่อปัญหาสงครามยูเครนจึงกลายเป็นภาพสะท้อนว่า นโยบายต่างประเทศของรัฐบาลกรุงเทพฯ ละเลย ‘ปัญหามนุษยธรรม’ และทอดทิ้ง ‘หลักของการไม่ใช้กำลัง’ ในความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ดังเช่นที่เห็นเป็นรูปธรรมในกรณียูเครน ไม่ต่างกับที่ไทยถูกกล่าวหาว่า ดำเนินนโยบายแบบละเลยต่อปัญหามนุษยธรรมและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกรณีเมียนมามาแล้ว จนนำไปสู่ข้อวิจารณ์ว่า นโยบายไทยขาด ‘ความกล้าหาญทางด้านจริยธรรม’ ที่จะยืนกับฝ่ายที่ถูกต้องและถูกกระทำบนเวทีโลก เพียงเพื่อ ‘เอาใจ’ จีนและรัสเซีย ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวแล้วข้างต้น

 

สำหรับปัญหาในเอเชีย ฝ่ายขวาจัดไทยซึ่งรวมถึงทหารบางส่วนก็มีความเห็นไปในทางที่สอดรับกับจีน โดยมองว่าสหรัฐฯ และฝ่ายตะวันตกเป็น ‘ภัยคุกคามสำคัญ’ ต่อเอเชียและต่อไทย หรืออาจกล่าวได้ว่า ผู้นำขวาไทยส่วนหนึ่งมีทัศนะที่เป็น ‘Threat Perception’ ในแบบเดียวกับมุมมองของปักกิ่ง ผลเช่นนี้ทำให้ฝ่ายขวาไทย ‘สมาทานวาทกรรมจีน’ และไม่ต้องการให้ไทยมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับฝ่ายตะวันตก โดยเฉพาะการมีแนวคิดต่อต้าน ‘ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก’ (The Free and Open Indo-Pacific) และตอบรับอย่างดีกับแนวทาง ‘ความริเริ่มแถบและเส้นทาง’ (Belt and Road Initiative: BRI) ของจีน และไม่สนใจแม้ผลกระทบด้านความมั่นคงจากข้อผลักดันในการตัดคอคอดกระของจีน และการขยายฐานทัพเรือที่เมืองเรียมของจีนในกัมพูชา หรือปัญหาการขยายตัวของ ‘ทุนอาชญากรรม’ (ทุนสีเทา) ทั้งในเรื่องของบ่อน แก๊งคอลเซ็นเตอร์ การค้ามนุษย์ และยาเสพติดรอบแนวชายแดนไทย เป็นต้น

 

ข้อสอบใหญ่

 

นโยบาย ‘มุ่งตะวันออก’ ของรัฐบาลฝ่ายขวาไทยที่ดำเนินมาตั้งแต่รัฐประหาร 2014 ดูจะเป็นการละเลยต่อ ‘หลักการความยืดหยุ่น’ ด้านการต่างประเทศ ที่ไทยควรต้องมีความสัมพันธ์กับรัฐมหาอำนาจทั้งหมดในระดับที่เหมาะสม และต้อง ‘รักษาระยะ’ ของความสัมพันธ์นี้ให้ได้ เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติของไทย แต่ ‘มิใช่’ เดินด้วยแนวคิดว่า ไทยจะดำเนินนโยบายแบบ ‘Balance of Power’ กับรัฐมหาอำนาจ เพราะทั้งในทางทฤษฎีและปฏิบัติ มีแต่รัฐมหาอำนาจใหญ่เท่านั้นที่จะสร้าง Balance of Power ระหว่างกัน ส่วนรัฐเล็กย่อมไม่อยู่ในสถานะที่จะกระทำการเช่นนั้นได้แต่อย่างใด

 

ในสภาวะของสงครามเย็นใหม่ การรักษา ‘ระยะต่อ-ระยะห่าง’ ในความสัมพันธ์กับรัฐมหาอำนาจใหญ่จะเป็น ‘ข้อสอบใหญ่’ ของรัฐบาลใหม่ที่กรุงเทพฯ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การต่างประเทศจะเป็นประเด็นหนึ่งที่สำคัญสำหรับอนาคตของประเทศไทย และอย่างน้อย 2 ประเด็นใหญ่ที่รอคำตอบจากรัฐบาลใหม่ คือ 

 

  1. ไทยจะร่วมโหวตประณามรัสเซียต่อปัญหาสงครามยูเครนบนเวทีสหประชาชาติ หรือจะ ‘ปิดปากเงียบ’ ด้วยการไม่ออกเสียงดังเช่นที่เป็นมา 
  2. ไทยจะมีบทบาทอย่างที่ควรจะเป็นในการแก้ปัญหาวิกฤตเมียนมา หรือจะ ‘ปิดตา’ ไม่รับรู้กับความรุนแรงและผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์ในเมียนมา

 

แต่กระนั้นก็คาดหวังว่ารัฐบาลไทยในอนาคตจะไม่ต้องเผชิญกับปัญหานี้ ในขณะที่ปัญหาการใช้กำลังในกรณีพิพาทจีน-ไต้หวันที่จะเป็นแรงกดดันอย่างมากต่อรัฐต่างๆ ในเอเชีย ซึ่งก็ได้แต่หวังว่าปัญหานี้จะเป็นเพียง ‘วิกฤต’ ที่ไม่กลายเป็น ‘สงคราม’

 

ในอีกด้านหนึ่งของปัญหาคือ หากเกิดการปรับทิศทางของนโยบายต่างประเทศไทยแล้ว รัฐบาลใหม่จะต้องอธิบายกับสังคมให้ได้ เพราะในช่วงที่ผ่านมาการปลุกกระแสขวามาพร้อมกับการปลุก ‘กระแสต้านตะวันตก’ และสนับสนุน ‘กระแสนิยมตะวันออก’ จนผู้คนในสังคมหลายส่วนคล้อยตามไปกับ ‘กระแสขวา’ ของนโยบายต่างประเทศไทยในทิศทางดังกล่าวอย่างมาก อันทำให้รัฐบาลในอนาคตจะต้องชี้แจงทำความเข้าใจกับสังคมว่า การปรับทิศทางบางส่วนของนโยบายนั้นไม่ใช่การพาประเทศไปสู่ความขัดแย้งใหญ่

 

การต่างประเทศไทย

ภาพ: กระทรวงการต่างประเทศ / Facebook

 

อนาคตและความท้าทาย

 

ฉะนั้นความท้าทายใน 3 ประการ คือ 

 

  1. การปรับทิศทางของนโยบายต่างประเทศ
  2. การอธิบายกับสังคมภายในให้เข้าใจ
  3. การสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจกับรัฐมหาอำนาจทุกฝ่าย

 

3 สิ่งนี้เป็นโจทย์เบื้องต้นที่สำคัญของรัฐบาลใหม่ที่กรุงเทพฯ และไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลในอนาคตก็จะต้องแก้ปัญหาความท้าทายใน 3 ประเด็นดังกล่าวให้ได้ ซึ่งแน่นอนว่าการดำเนินการผ่านกระบวนการกำหนดนโยบายที่รัฐบาลใหม่ (รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่) จะต้องผลักดันให้ออกมาเป็นตัวนโยบาย เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ (Policy Implementation) ให้เป็นจริงขึ้นนั้นไม่ง่ายแน่นอน แต่ก็เป็นภารกิจที่รอการมาของ ‘รัฐมนตรีบัวแก้ว’ คนใหม่อย่างปฏิเสธไม่ได้

 

ดังนั้นท่ามกลางความผันผวนของการเมืองโลก อันเป็นผลจากการขับเคลื่อนของสถานการณ์สงครามเย็นใหม่ หลักการสำคัญสำหรับรัฐบาลใหม่ที่กรุงเทพฯ คือ นโยบายต่างประเทศไทยจะต้อง ‘ระวังระยะต่อ-รักษาระยะห่าง’ ในความสัมพันธ์กับรัฐมหาอำนาจบนเวทีโลกให้ได้ และการรักษาระยะเช่นนี้จะต้องดำเนินการด้วย ‘ความยืดหยุ่น’ เพื่อตอบสนองต่อผลประโยชน์แห่งชาติของไทยให้ได้มากที่สุด 

 

ว่าที่จริงข้อเสนอทั้งหมดนี้มีแต่เพียงประการเดียวคือ ถึงเวลาที่รัฐบาลไทย / รัฐมนตรีต่างประเทศไทย ต้อง ‘คิดใหม่’ เพื่อการกำหนด ‘นโยบายใหม่’ อันจะสามารถใช้รองรับกับ ‘สถานการณ์ใหม่’ ของสงครามเย็นทั้งในโลกและในภูมิภาค ที่นับวันจะมี ‘ความซับซ้อนใหม่’ เข้ามาเป็นความท้าทายแบบไม่สิ้นสุด!

 

ภาพปก: Photo Veterok / Shutterstock, ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม / THE STANDARD, ศวิตา พูลเสถียร / THE STANDARD

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising