×

ส่งออกไทยจะเป็นอย่างไร ในวันที่ห่วงโซ่อุปทานโลกเปลี่ยนแปลง

26.03.2024
  • LOADING...
ส่งออก

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 1784 เรือสำเภาลำแรกที่ชื่อ Empress of China ออกเดินทางจากนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา มุ่งสู่นครกว่างโจว ประเทศจีน ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการค้าระหว่างสหรัฐฯ และดินแดนทางฝั่งตะวันออก ที่ยาวนานกว่า 240 ปีในปัจจุบัน

 

การค้าระหว่างประเทศขยายตัวต่อเนื่อง จนกระทั่งวันที่ 1 มกราคม 1995 ประเทศเศรษฐกิจสำคัญได้ร่วมกันก่อตั้งองค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) เพื่อเป็นเวทีให้ประเทศสมาชิกเข้าร่วมการเจรจาการค้า และกำหนดกฎระเบียบร่วมกัน หลังจากนั้นการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศก็ขยายตัวอย่างก้าวกระโดด โดยมูลค่าการค้าระหว่างประเทศต่อ GDP โลกเพิ่มขึ้นจากประมาณ 40% ในปี 1995 มาถึงเกือบ 60% ในปี 2005 เราเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ‘โลกาภิวัตน์’ (Globalization) (รูปที่ 1 สีม่วง)

 

ส่งออกไทย

มูลค่าการค้าโลกต่อ Nominal GDP

ภาพ: World Bank

 

แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์อธิบายว่า การค้าเสรีจะเอื้อให้แต่ละประเทศผลิตและส่งออกสินค้าที่ตน ‘เก่งกว่า’ คนอื่น กล่าวคือ ผู้ผลิตที่มีประสิทธิภาพจะสามารถผลิตและส่งออกได้มากขึ้นในราคาที่ถูกลง ก่อให้เกิดประโยชน์มากขึ้นต่อทั้งผู้ผลิตเอง ผู้ซื้อสินค้า และสังคมโดยรวม (Social Welfare) ตามลำดับ 

 

อย่างไรก็ตาม หลักคิดดังกล่าวตั้งอยู่บนสมมติฐานประการสำคัญที่ว่า กลไกการจัดสรรทรัพยากรและการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิต ทุน และแรงงาน สามารถ ‘เคลื่อนย้ายได้อย่างสมบูรณ์’ ทั้งระหว่างภาคการผลิตและระหว่างประเทศ เพื่อไปแสวงหาผลตอบแทนในรูปตัวเงินที่มากขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของประสิทธิภาพการผลิต 

 

แต่ในความเป็นจริงโครงสร้างทางเศรษฐกิจมักจะมีข้อจำกัดและต้นทุนของการจัดสรรทรัพยากร (ทั้งต้นทุนทางอ้อมและต้นทุนแอบแฝง) ปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะแรงงาน จึงไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างสมบูรณ์ ดังนั้นจึงมีผู้ที่ได้และเสียประโยชน์จากการค้าเสรี ผู้ที่ได้ประโยชน์มีโอกาสสะสมความมั่งคั่ง ขณะที่ผู้ที่เสียประโยชน์นับวันยิ่งอ่อนแอและเปราะบาง จึงนำมาซึ่งคำถามที่ว่า 

 

“โลกาภิวัตน์ดีจริงหรือไม่”

 

กระแสต่อต้านการค้าระหว่างประเทศจึงเริ่มก่อตัวขึ้นเมื่อคนส่วนใหญ่เคลือบแคลงใจกับประโยชน์ของการค้าเสรี ผู้ดำเนินนโยบายสาธารณะซึ่งเป็นตัวแทนของคนส่วนใหญ่จึงเริ่มดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้า กดดันให้ ‘กระแสโลกาภิวัตน์ชะลอตัว’ (รูปที่ 1 สีส้ม)

 

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความตึงเครียดทางการค้าได้ทวีความรุนแรงขึ้น เมื่อมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐฯ และจีนดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างกัน นับตั้งแต่ Donald Trump ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ สมัยแรกเมื่อเดือนมกราคม 2017 หลังจากนั้น Trump ได้มีการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนหลายครั้ง มีการดำเนินนโยบายกีดกันธุรกิจเทคโนโลยีของจีน รวมถึงมีปฏิสัมพันธ์กับไต้หวันมากขึ้น และเมื่อมองไปข้างหน้า สงครามการค้ามีแนวโน้มกลับมารุนแรงอีกครั้ง หาก Trump ชนะการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ ภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนอาจถูกปรับขึ้นไปสูงถึง 60%

 

กระแสการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้เกิด ‘การแบ่งขั้ว’ (Decoupling) ระหว่างประเทศที่ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ และจีน เราสามารถสังเกตเห็นได้จากรูปแบบการลงคะแนนเสียงในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มหลัก (รูปที่ 2) ได้แก่ 

 

  1. กลุ่มสีน้ำเงิน คือกลุ่มประเทศที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ เช่น ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร มีขนาดเศรษฐกิจรวมกันประมาณ 60% ของมูลค่า GDP โลก 
  2. กลุ่มสีแดง คือกลุ่มประเทศที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีน เช่น รัสเซีย อินเดีย และปากีสถาน มีขนาดเศรษฐกิจรวมกันประมาณ 24% ของมูลค่า GDP โลก
  3. กลุ่มสีขาว คือกลุ่มประเทศที่วางตัวเป็นกลาง หรือลงคะแนนเสียงให้ทั้งสองฝั่งสลับกันโดยไม่มีรูปแบบที่ชัดเจน เช่น ไทย และเวียดนาม 

 

ส่งออกไทย

กลุ่มประเทศแบ่งตามรูปแบบการลงคะแนนเสียงในการประชุม UNGA

ภาพ: United Nations, จัดกลุ่มโดยผู้เขียน

 

จากการแบ่งขั้ว เริ่มลุกลามไปยังการค้าระหว่างประเทศ ข้อมูลการค้าหลังปี 2015 ชี้ว่ากลุ่มสีน้ำเงินลดการนำเข้าสินค้าขั้นกลางจากกลุ่มสีแดงลงจาก 48.5% ของมูลค่าสินค้าขั้นกลางทั้งหมดในปี 2015 ลงมาอยู่ที่ 44.7% ในปี 2019 ขณะที่ในฝั่งของกลุ่มสีแดง สัดส่วนการนำเข้าสินค้าขั้นกลางจากฝั่งตรงข้ามยังอยู่ใกล้เคียงกับสัดส่วนในปี 2015 ไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นดั่งที่เคยปรากฏในช่วงก่อนหน้า (รูปที่ 3)

 

มูลค่าการนำเข้าสินค้าขั้นกลางต่อมูลค่ารวมของสินค้าขั้นกลางที่ใช้ในการผลิตทั้งหมด (%)

ภาพ: OECD Inter-Country Input-Output (ICIO) Tables, คำนวณโดยผู้เขียน

 

ในระยะต่อไป หากการแบ่งขั้วทางการค้าทวีความรุนแรงขึ้น เราอาจเห็นห่วงโซ่การผลิตโลกที่แบ่งตัวออกเป็นห่วงโซ่ขนาดเล็กลง 2 วง โดยแต่ละประเทศจะค้าขายกับคู่ค้าที่ไม่ได้มีจุดยืนทางการเมืองขัดแย้งกัน 

 

ในทางเศรษฐศาสตร์ หากทุกประเทศในโลกสามารถค้าขายกันได้อย่างเสรี ประเทศผู้นำเข้าจะเลือกจับคู่กับผู้ส่งออกที่มีประสิทธิภาพสูงสุด (ถูกสุด ดีสุด) บนห่วงโซ่การผลิตนั้น ดังนั้นจึงมีเพียงคนที่ ‘เก่งที่สุด’ ที่จะได้เข้าร่วมกิจกรรมการผลิตนั้น แต่หากห่วงโซ่การผลิตโลกแบ่งตัวออกเป็น 2 วง ประเทศผู้นำเข้าจะต้องเลือกผู้ส่งออกใหม่จากประเทศที่ไม่ได้มีจุดยืนทางการเมืองขัดแย้งกัน ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ที่เก่งที่สุด สิ่งดังกล่าวจึงเปิดโอกาสให้ ‘พระรอง’ มีโอกาสเข้าร่วมกับการสร้างมูลค่าเพิ่มบนห่วงโซ่การผลิตใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะประเทศสีขาวที่ไม่ได้มีจุดยืนขัดแย้งกับทั้งประเทศสีน้ำเงินและแดง หนึ่งในประเทศสีขาวที่น่าจะได้รับอานิสงส์จากการแบ่งตัวคือประเทศไทย

 

บทความฉบับนี้ประยุกต์โมเดลของ Melitz (2003) และ Acemoglu, Carvalho, Ozdaglar and Tahbaz-Salehi (2012) ผนวกเข้ากับตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต OECD Inter-Country Input-Output (ICIO) ในปี 2019 เพื่อจำลองการแบ่งตัวของห่วงโซ่การผลิตโลก โดยสมมติว่ากลุ่มสีน้ำเงินและกลุ่มสีแดงยุติการค้าระหว่างกันอย่างสมบูรณ์ ประเทศในกลุ่มสีน้ำเงินและสีแดงต้องหันกลับมา 1. พึ่งพาสินค้าขั้นกลางภายในประเทศ 2. นำเข้าจากประเทศในกลุ่มเดียวกัน หรือ 3. นำเข้าจากประเทศกลุ่มสีขาว (Trade Diversion) โดยจะเลือกประเทศผู้ส่งออกใหม่จากความสามารถในการผลิตและส่งออกโดยเปรียบเทียบ รูปที่ 4 แสดงโครงสร้างการผลิตโลกที่เปลี่ยนแปลงไป 

 

ส่งออกไทย

การเปลี่ยนแปลงของมูลค่าการค้าระหว่าง (กลุ่ม) ประเทศ

ภาพ: OECD Inter-Country Input-Output (ICIO) Tables, คำนวณโดยผู้เขียน

หมายเหตุ: รูปแสดงมูลค่าการส่งออกจาก (กลุ่ม) ประเทศแต่ละแถวไปยัง (กลุ่ม) ประเทศในแต่ละคอลัมน์ สีเขียวแสดงว่ามูลค่าการค้าเพิ่มขึ้น สีแดงแสดงว่ามูลค่าการค้าลดลง

 

รูปที่ 5 แสดงผลกระทบต่อการค้าภายในและการค้าระหว่างประเทศของเศรษฐกิจสำคัญ การแบ่งขั้วส่งผลลบต่อประเทศส่วนใหญ่ในกลุ่มสีแดงและสีน้ำเงิน ยกตัวอย่างเช่น ญี่ปุ่น อินเดีย และเกาหลีใต้ ที่ไม่สามารถส่งออกสินค้าไปยังประเทศในกลุ่มตรงข้ามได้ โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าขั้นกลาง ในทางตรงข้าม ประเทศในกลุ่มสีขาวจะได้รับอานิสงส์จากการค้าระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นกับประเทศทั้งสองกลุ่ม โดยเฉพาะเวียดนามที่ได้รับอานิสงส์อย่างมากจากความต้องการสินค้าขั้นกลางและสินค้าขั้นสุดท้ายจากทั้งสหรัฐฯ และจีน 

 

สำหรับไทย เราอยู่ในกลุ่มประเทศสีขาวที่จะได้รับอานิสงส์ของ Trade Diversion จากการแบ่งขั้วของห่วงโซ่การผลิตโลก โดยไทยจะได้รับประโยชน์จากการส่งออกสินค้าขั้นสุดท้ายมากกว่าสินค้าขั้นกลาง ซึ่งสะท้อนว่าไทยมีโอกาสที่จะหันมานำเข้าสินค้าขั้นกลางเพื่อผลิตและส่งออกเป็นสินค้าขั้นสุดท้ายมากขึ้น

 

การเปลี่ยนแปลงของมูลค่าการส่งออกและการค้าขายภายในประเทศ คิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP

ภาพ: OECD Inter-Country Input-Output (ICIO) Tables, คำนวณโดยผู้เขียน

หมายเหตุ: สีเขียวแสดงว่ามูลค่าเพิ่มขึ้น สีแดงแสดงว่ามูลค่าลดลง

 

คำถามที่สำคัญต่อมาคือ ไทยอยู่ในสถานะที่จะได้รับประโยชน์จากการแบ่งขั้วของห่วงโซ่การผลิตโลกมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับ 1. ความสามารถในการผลิตและส่งออกของอุตสาหกรรมไทยเทียบกับประเทศอื่นๆ และ 2. ความเข้มข้นของการแข่งขันภายในตลาดส่งออกนั้นๆ บทความฉบับนี้คำนวณดัชนีแสดงความสามารถในการผลิตและการส่งออกของไทยเทียบกับประเทศที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดในแต่ละตลาดส่งออก (แบ่งตามประเทศและอุตสาหกรรมปลายทาง) เปรียบเทียบกับดัชนี Herfindahl-Hirschman Index (HHI) ที่วัดการกระจุกตัวในตลาดส่งออก โดยใช้โครงสร้างการค้าหลังจากการแบ่งขั้วที่เกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ 

 

รูปที่ 6 ชี้ว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเป็นภาคการผลิตที่ไทยมีความสามารถในการผลิตและการส่งออกสูง ขณะที่ตลาดส่งออกไม่ได้แข่งขันสูงมาก ไทยจึงอาจอยู่ในสถานะที่จะได้รับประโยชน์จากการแบ่งขั้วการค้า สำหรับภาคการผลิตที่มีมูลค่าการส่งออกสูง เช่น อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์ทางทัศนศาสตร์ และการผลิตรถยนต์ อาจต้องเผชิญกับการแข่งขันที่เข้มข้นกว่า

 

ส่งออกไทย

ความสามารถในการผลิตและการกระจุกตัวในตลาดส่งออก จำแนกตามภาคการผลิต

ภาพ: OECD Inter-Country Input-Output (ICIO) Tables, คำนวณโดยผู้เขียน

หมายเหตุ: ขนาดของวงกลมแสดงมูลค่าการส่งออก 

 

มองไปข้างหน้า การแบ่งตัวของห่วงโซ่การผลิตโลกจะสร้างโอกาสทางการค้าอีกมหาศาล ไทยจะคว้าโอกาสไว้ได้ก็ต่อเมื่อวางแผนการผลิตและการเจรจาทางการค้าอย่างมี ‘ยุทธศาสตร์’ นั่นคือจะต้องเลือกภาคการผลิตและประเทศคู่ค้าที่มีโอกาสสูง ที่ไทยมีความสามารถในการผลิตและส่งออก และสามารถแข่งขันได้ในห่วงโซ่การผลิตใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายส่งเสริมการส่งออกจะต้องมียุทธศาสตร์เฉพาะที่เหมาะสมกับลักษณะและเงื่อนไข ‘เฉพาะตัว’ ของแต่ละภาคการผลิตและตลาดส่งออกแต่ละตลาด 

 

เราสามารถแบ่งภาคการผลิต-ตลาดส่งออก ออกเป็น 2 กลุ่มคือ

 

  1. ภาคการผลิตหรือตลาดส่งออกที่ไทยมีความสามารถในการผลิต แต่ต้องเผชิญการแข่งขันสูง การดำเนินนโยบายควรสนับสนุนให้ธุรกิจเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและบริหารต้นทุน เพื่อให้มีความพร้อมในการรองรับผลกระทบจากการแข่งขันที่รุนแรงต่อส่วนต่างกำไร นอกจากนี้ยังอาจสนับสนุนให้ธุรกิจสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าและการสร้างแบรนด์ เพื่อสร้างคุณค่าเฉพาะของสินค้าส่งออก
  2. ภาคการผลิตหรือตลาดส่งออกที่ไทยไม่ต้องเผชิญการแข่งขันสูง แต่ไม่ได้มีความสามารถในการผลิตและการส่งออก อุตสาหกรรมหรือตลาดประเภทนี้แม้จะไม่ได้รับแรงกดดันจากการแข่งขันมากนัก แต่อาจไม่ได้มีส่วนร่วมกับการสร้างมูลค่าบนห่วงโซ่การผลิตมากนัก การดำเนินนโยบายจึงควรให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อเพิ่มมูลค่าของอุตสาหกรรมบนตัวห่วงโซ่การผลิตเองเป็นหลัก 

 

การแบ่งตัวของห่วงโซ่การผลิตโลกเปรียบได้กับกระแสลมแรงที่กำลังเปลี่ยนทิศ หากเราสามารถปรับหันใบเรือไปจับทางลมที่กำลังเปลี่ยนทิศได้อย่างเหมาะสม มียุทธศาสตร์ อากาศก็จะกลายเป็นโอกาส 

 

สำหรับเศรษฐกิจไทย ลมเปลี่ยนทิศอาจเป็นโอกาสสำคัญที่ต้องรีบคว้าไว้ การกำหนดทิศทางใหม่และการปรับตัวโดยเร็วจะช่วยให้สำเภาไทยแล่นไปต่อได้ในเวทีโลก…

 

“The pessimist complains about the wind;

the optimist expects it to change;

the realist adjusts the sails.”

William Arthur Ward

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising