×

เศรษฐกิจไทยพร้อมหรือไม่? หากรัฐบาลใหม่ปรับขึ้น VAT เป็น 10% ตามคำแนะนำจาก World Bank

30.05.2023
  • LOADING...
เศรษฐกิจไทย

ในรายงาน ‘การประเมินรายได้และรายจ่ายภาครัฐของประเทศไทย: การส่งเสริมอนาคตที่ทั่วถึงและยั่งยืน’ ของธนาคารโลก (World Bank) ชี้ให้เห็นว่า โครงสร้างรายได้จากการจัดเก็บภาษีไทยในช่วงหลาย 10 ปีที่ผ่านมาเฉลี่ยอยู่ที่ 16% ต่อ GDP เท่านั้น นับว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศที่มีโครงสร้างเศรษฐกิจคล้ายกัน ทั้งกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก-แปซิฟิกและกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางในระดับสูง ตามภาพที่ 1

 

นอกจากนี้การจัดเก็บภาษีของไทยในช่วงหลาย 10 ปีที่ผ่านมาปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับรายได้ของประเทศที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

ทั้งนี้ โดยทั่วไปแล้วประเทศที่มีรายได้สูงขึ้นก็ควรจัดเก็บภาษีต่อ GDP สูงขึ้นเช่นเดียวกัน

 

 

จากการประเมิน Structural Tax Gap หรือโอกาสของไทยในการเพิ่มจัดเก็บภาษี เมื่อเปรียบเทียบระหว่างรายได้การจัดเก็บที่แท้จริง (Actual Tax Collection) และศักยภาพในการเก็บภาษี (Potential Tax Collection) พบว่า เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่มีโครงสร้างเศรษฐกิจคล้ายกับไทย (ทั้งขนาดเศรษฐกิจ, จำนวนประประชากร, การจ้างงาน และเศรษฐกิจนอกระบบ) พบว่า ประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีของไทยอยู่ในระดับที่ ‘ค่อนข้างต่ำ’ สะท้อนให้เห็นว่า ไทยก็ยังมีโอกาสที่จะเพิ่มการจัดเก็บภาษี (Estimated Structural Tax Gap) อีกถึง 5.6% ต่อ GDP ตามการประเมินของ World Bank

 

โดย World Bank ยังได้เสนอมาตรการการปฏิรูปภาษีของประเทศไทย โดยยึดหลักใช้เครื่องมือภาษี เนื่องจากมองว่าไทยยังมีความสามารถในการจัดเก็บได้อีกมาก ได้แก่

 

  1. การขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) โดย World Bank มองว่า ไทยสามารถขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มกลับมาที่ 10% ได้พร้อมยกเลิกการยกเว้นต่างๆ

 

  1. การขยายฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และลดเงื่อนไขการลดหย่อนภาษีและการหักค่าใช้จ่าย ซึ่งส่วนใหญ่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มผู้มีรายได้สูงมากกว่าผู้มีรายได้น้อย

 

  1. การขยายการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเป็นภาษีบนความมั่งคั่ง โดย World Bank ยังประเมินว่า การจัดเก็บภาษีที่ดินจะเป็นเครื่องมือที่สําคัญสําหรับการเพิ่มรายได้ของรัฐบาลท้องถิ่น และเป็นการกระจายอํานาจสู่ท้องถิ่นมากขึ้น

 

 

ไทยเก็บ VAT ได้ต่ำกว่าเพื่อน ทั้งๆ ที่ประสิทธิภาพการจัดเก็บสูง

 

ปัจจุบันประเทศไทยกําหนดภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax) หรือ VAT ซึ่งเป็นการเก็บภาษีจากการขายสินค้าหรือการให้บริการในแต่ละขั้นตอนการผลิตและจำหน่ายสินค้าหรือบริการ ทั้งที่ผลิตภายในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศอยู่ที่ 7% หรือลดจากอัตราภาษี VAT ตามกฎหมายที่ 10% 

 

ทั้งนี้ ประเทศไทยอัตรา VAT ที่แท้จริงอยู่ที่ 10% มาตั้งแต่ปี 2535 แต่เมื่อปี 2540 ได้มีการออกพระราชกฤษฎีกาลดอัตราภาษี VAT ซึ่งจะพิจารณาต่อในทุกๆ 2 ปี เหลือที่ 7% เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนในช่วงที่ประเทศเจอวิกฤตเศรษฐกิจการเงิน หรือวิกฤตต้มยำกุ้ง หลังจากนั้นตลอด 20 ปีที่ผ่านมาเราจึงเห็น 7% มาตลอดจนถึงปัจจุบัน แทนที่จะเป็น 10% อย่างที่ควรจะเป็น

 

โดย World Bank ชี้ให้เห็นว่า การเก็บ VAT ของไทยอยู่ในระดับที่ ‘มีประสิทธิภาพ’ หรือจัดเก็บภาษี VAT ได้ประมาณ 85% ของฐานภาษีเลยทีเดียว

 

อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บ VAT ของไทยยังถือว่าต่ำเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก-แปซิฟิกด้วยกัน สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาการจัดเก็บ VAT ของไทยอยู่ที่ ‘อัตราที่ต่ำ’ แม้การจัดเก็บภาษีจะ ‘มีประสิทธิภาพ’

 

 

โดยอัตรา VAT ที่ 7% ของไทยยังต่ำเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางในระดับสูงด้วยกันที่เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 15% แต่ใกล้เคียงกับกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางในระดับต่ำอย่างเมียนมาและศรีลังกามากกว่า

 

อีกปัจจัยที่ทําให้การเก็บ VAT ของไทยค่อนข้างต่ำมาจากเรื่องของฐานภาษีที่ค่อนข้างแคบ สะท้อนมาจากการบริโภคของไทยที่เติบโตช้าและเศรษฐกิจนอกระบบที่ยังมีอยู่มาก

 

ความคิดเห็นของ World Bank ยังสอดคล้องกับ ศุภวุฒิ สายเชื้อ อดีตที่ปรึกษาทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย และที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงิน เกียรตินาคินภัทร (KKP) ซึ่งมองว่า การขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT กลับไปที่ระดับ 10% ซึ่งเป็นระดับที่แท้จริงของไทย คือแนวทางการขึ้นภาษีโดยให้มีผลกระทบต่อการลงทุนน้อยที่สุด โดยทุกๆ 1% ที่ปรับขึ้น จะช่วยให้รัฐมีรายได้เพิ่ม 8 หมื่นล้านบาท และสามารถจัดเก็บได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย อย่างไรก็ตาม แนวทางนี้มักจะไม่เป็นที่นิยมทางการเมือง  

 

แนะขึ้น VAT พร้อมออกมาตรการปกป้องผู้มีรายได้น้อย เพื่อสร้างความเป็นธรรม

 

World Bank จึงมีข้อเสนอให้รัฐบาลพัฒนาระบบชำระภาษีให้ง่ายขึ้น ผ่านการนําระบบดิจิทัลเข้ามาใช้ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับผู้เสียภาษี โดยเฉพาะในกลุ่ม SMEs ให้เกิดความง่ายในการจ่ายภาษีมากขึ้น

 

สำหรับแนวทางลดผลกระทบต่อกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีหน้าที่ต้องชำระภาษีเช่นเดียวกัน World Bank เสนอให้เพิ่มภาษี พร้อมกับการออกมาตรการปกป้องทางสังคมที่ตรงจุดไปที่ผู้มีรายได้น้อย ซึ่งทําให้นโยบายภาษีโดยรวมมีความเป็นธรรมขึ้น

 

เศรษฐกิจไทยพร้อมหรือไม่? หากรัฐบาลใหม่ปรับขึ้น VAT

 

ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า การปรับขึ้น VAT กลับไปสู่ระดับ 10% รัฐบาลไทยควรต้องดูจังหวะให้ดี โดยไม่ควรปรับขึ้นขณะที่เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนและมีความเสี่ยงเยอะ ถ้าจะปรับควรปรับในช่วงที่เศรษฐกิจปกติ 

 

โดยกลุ่มที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวไม่ครบทุกภาคส่วน นอกจากนี้ปัจจุบันกำลังซื้อคนไทยยังถูกกดดันด้วยเงินเฟ้อ ซึ่งถึงแม้จะชะลอตัวในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา แต่ก็ยังอยู่ในระดับสูงอยู่ ขณะที่ต้นทุนราคาพลังงานต่างๆ เช่น น้ำมันและค่าไฟฟ้า ก็ยังแพงอยู่

 

ณัฐพรยังแนะนำด้วยว่า หากรัฐบาลต้องการปรับ VAT ขึ้นไป เพื่อลดความเสี่ยงทางการคลัง ควรต้องเตรียมความพร้อมให้กับผู้ที่จะได้รับผลกระทบ โดยอาจทำได้ผ่านการกำหนดช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน เช่น การออกมาตรการช่วยเหลือชั่วคราว 3-6 เดือน เพื่อให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบได้ปรับตัว 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising