×

ประเด็นร้อนเศรษฐกิจไทย ดอกเบี้ยไทยควรอยู่ตรงไหน แล้วแบงก์พาณิชย์ค้ากำไรเกินควรจริงหรือไม่?

08.01.2024
  • LOADING...
เศรษฐกิจไทย

หนึ่งในประเด็นร้อนเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยเวลานี้คือ ประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องของ ‘ดอกเบี้ย’ ซึ่งเป็นการตั้งคำถามจากฝั่งที่มองว่าอัตราดอกเบี้ยของไทยในเวลานี้สูงเกินไป และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นนี้ก็ทำให้ธุรกิจอย่างธนาคารพาณิชย์ (Banking) เป็นผู้ได้ประโยชน์ 

 

ในมุมกลับกันก็มีมุมมองจากฝั่งที่เชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยของไทยในเวลานี้เป็นระดับที่เหมาะสมแล้ว โดยเฉพาะจากผู้กำหนดนโยบายอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เช่นเดียวกับความสามารถในการทำกำไรของแบงก์ที่อาจจะไม่ได้สูงนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

 

เมื่อพูดถึงเรื่องดอกเบี้ย เราคงต้องตั้งต้นกันที่ ‘ดอกเบี้ยนโยบาย’ ซึ่งเป็นสิ่งที่แบงก์ต่างๆ ใช้เป็นหนึ่งในปัจจัยเพื่อพิจารณากำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก ซึ่งในมุมมองของ ธปท. ที่มีหน้าที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เชื่อว่าตัวเลข 2.50% คือระดับที่เหมาะสมแล้วกับสถานการณ์ตอนนี้

 

แบงก์ชาติมีมุมมองต่ออัตราดอกเบี้ยที่ 2.50% อย่างไร?

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวย้ำมาตลอดว่า ระดับดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันที่ 2.50% เป็นระดับที่เหมาะสมและ Neutral กล่าวคือ ไม่ได้เพิ่มแรงสนับสนุนและไม่ได้ฉุดรั้งเศรษฐกิจ พร้อมมองว่าในปี 2567 การคงอัตราดอกเบี้ยในระดับดังกล่าวก็เหมาะสมต่อเศรษฐกิจ 

 

โดยในงาน Monetary Policy Forum ครั้งที่ 4/2023 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ภูริชัย รุ่งเจริญกิจกุล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวอธิบายว่า “การคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ Neutral ก็เป็นกลยุทธ์ในการบริหารความเสี่ยงประเภทหนึ่ง เวลาเศรษฐกิจเผชิญความเสี่ยงทั้งสองด้าน” พร้อมยืนยันว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยไม่ได้เผชิญความเสี่ยงต่ำเพียงด้านเดียว แต่มีทั้งสองด้าน

 

นอกจากนี้ ก่อนหน้านี้ ธปท. กล่าวย้ำมาตลอดว่า ปัจจัยสำคัญๆ ที่จะมีน้ำหนักต่อการพิจารณาดอกเบี้ย คือ

 

  1. ต้องเอื้อให้เศรษฐกิจเติบโตได้ในระดับศักยภาพในระยะยาว โดยระดับศักยภาพ (Potential GDP Growth) ปัจจุบันของไทยอยู่ที่ราว 3-4% 
  2. ต้องดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1-3% ได้อย่างยั่งยืน
  3. ดอกเบี้ยจะต้องไม่ไปสร้างปัญหาเชิงโครงสร้าง หรือก่อให้เกิดความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจ เช่น กระตุ้นให้คนก่อหนี้เกินควรจนนำไปสู่ปัญหาหนี้ครัวเรือน

 

UOB มองอัตราดอกเบี้ยดุลยภาพไทยอยู่ที่ 1-1.50% เท่านั้น

 

ก่อนหน้านี้ Enrico Tanuwidjaja นักเศรษฐศาสตร์ Global Economics and Market Research, UOB Group เคยแสดงความเห็นกับ THE STANDARD WEALTH ว่า อัตราดอกเบี้ยดุลยภาพ (Equilibrium Interest Rate) ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อและการเติบโตตามศักยภาพของเศรษฐกิจไทย อยู่ที่ 1-1.50% บนสมมติฐานที่ว่า ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจ (Potential GDP Growth) อยู่ระหว่าง 3-4% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ต่ำกว่า 2%

 

“อัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 1-1.50% สำหรับประเทศไทย ผมคิดว่าเป็นระดับที่ดีมาก เพื่อรองรับการเติบโตและยังรักษาอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่เป็นบวกไว้ด้วย” Enrico Tanuwidjaja กล่าว

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของประเทศไทยเป็นบวกอยู่เล็กน้อย หลังกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่าอัตราเงินเฟ้อเดือนธันวาคม 2566 ติดลบ 0.83%

 

เมื่อช่วงกลางปีที่แล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เคยออกมาให้ความเห็นว่า เมื่อเศรษฐกิจของไทยมีการฟื้นตัวจากวิกฤตโควิดและกลับสู่ระดับศักยภาพแล้ว อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงก็ควรจะกลับมาเป็นบวก เนื่องจากการกดให้อัตราดอกเบี้ยของประเทศอยู่ในระดับต่ำนานเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของ GDP ในระยะยาว และเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับระบบสถาบันการเงิน

 

‘พิพัฒน์’ มองดอกเบี้ย 2.50% สูงเกินไป

 

ในมุมมองของ พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า หากถามว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปัจจุบันสูงเกินไปหรือไม่ คงต้องดูว่าอะไรคือเป้าหมายของ ธปท. 

 

อย่างธนาคารกลางสหรัฐฯ​ (Fed) มีเป้าหมายคือการคุมเงินเฟ้อไม่ให้เกิน 2% จึงเห็นการขึ้นดอกเบี้ยไปจนถึง 5% แต่เป้าหมายของ ธปท. เป็นแบบ Flexible Inflation Targeting 

 

“เป้าหมายของแบงก์ชาติเยอะเกินไป อย่างการพยายามใช้ดอกเบี้ยเพื่อคุมหนี้ครัวเรือน หรือการคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นในอนาคต แต่วันนี้เงินเฟ้อแค่ 0.60% ถ้าเงินเฟ้อไม่เพิ่มขึ้นในอีก 2 ปีหลังจากนี้ ดอกเบี้ยที่ 2.50% ก็ไม่ต่ำนะ” 

 

หากพิจารณาเงินเฟ้อของไทยปัจจุบันที่ 0.60% เป็นระดับที่ต่ำกว่าเงินเฟ้อเป้าหมาย 1-3% ของ ธปท. เพราะฉะนั้น ธปท. ควรจะลดดอกเบี้ยได้แล้ว หากย้อนไปดูปี 2558-2562 เงินเฟ้อของไทยอยู่ที่ 0.60-0.70% ขณะที่ดอกเบี้ย 1.50% วันนี้เงินเฟ้อเท่าเดิม 0.60-0.70% แต่ดอกเบี้ยเราอยู่ที่ 2.50% 

 

แบงก์ไทยค้ากำไรเกินควรหรือไม่?

 

หากดูจากกำไรสุทธิของหุ้นกลุ่มแบงก์ของไทยตั้งแต่ปี 2562 จนถึง 9 เดือนของปี 2566 พบว่า

 

  • ปี 2562 กำไรสุทธิ 213,016.14 ล้านบาท ROE 9.89% 
  • ปี 2563 กำไรสุทธิ 144,972.04 ล้านบาท ROE 6.26% 
  • ปี 2564 กำไรสุทธิ 188,229.20 ล้านบาท ROE 7.68% 
  • ปี 2565 กำไรสุทธิ 205,762.57 ล้านบาท ROE 7.89% 
  • 9 เดือน ปี 2566 กำไรสุทธิ 186,558.57 ROE 8.52% 

 

แหล่งข่าววงการตลาดทุนเปิดเผยว่า โดยธรรมชาติแล้วแบงก์ก็เป็นหนึ่งในธุรกิจซึ่งมีเป้าหมายที่ต้องสร้างการเติบโตของกำไร ส่วนคำถามที่ว่ากำไรของแบงก์มากเกินไปหรือไม่ ส่วนตัวมองว่า “แบงก์มีอัตรากำไรสูง แต่กำไรต่ำ” 

 

ความสามารถในการทำกำไรของแบงก์สามารถดูได้จากสิ่งที่เรียกว่า อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย หรือ Net Interest Margin (NIM) ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ราว 3.50% 

 

สาเหตุที่ NIM ของแบงก์ไทยค่อนข้างสูงเกิดจากการแข่งขันที่อาจจะน้อยเกินไป จะเห็นว่าแบงก์ต่างชาติมีข้อจำกัดในการทำธุรกิจในไทยค่อนข้างมาก เช่น จำนวนสาขา และผู้ถือหุ้น 

 

อีกเหตุผลที่สำคัญคือ ต้นทุนความเสี่ยงของสินเชื่อ (Credit Cost) ที่สูงเกินจริง อย่างเช่น ในบรรดาคนวัยทำงาน 40 ล้านคน มีเพียง 10 ล้านคนที่มีข้อมูลยืนยันเกี่ยวกับฐานะการเงิน ทำให้การปล่อยสินเชื่อส่วนใหญ่ต้องอาศัยหลักประกัน แต่การเรียกหลักประกันมักทำได้ค่อนข้างช้า ทำให้แบงก์ต้องเผื่ออัตรากำไรไว้ก่อน

 

อีกประเด็นหนึ่งเป็นเรื่องของประสิทธิภาพ ซึ่งที่ผ่านมาแต่ละแบงก์จำเป็นต้องลงทุนในทรัพยากรที่ซ้ำซ้อนกัน เช่น ตู้ ATM ในสถานที่สาธารณะ หรือการแบ่งปันข้อมูลบางอย่างระหว่างกันที่น้อยเกินไป 

 

“โดยสรุปแล้วอาจบอกได้ยากว่าแบงก์มีกำไรสูงเกินไปหรือไม่ แต่สิ่งสำคัญคือภาครัฐต้องส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม และปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งจะนำไปสู่กำไรที่เหมาะสมของแบงก์ในท้ายที่สุด” 

 

ส่วนประเด็นที่บอกว่าแบงก์มีกำไรต่ำ เพราะหากพิจารณาจากกำไรประมาณ 2 แสนล้านบาท จะเห็นว่าผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) ของกลุ่มแบงก์อยู่ที่ราว 8.50-9% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าความคาดหวังของการลงทุนในหุ้นซึ่งมักจะอยู่ที่ 10% เป็นอย่างน้อย และหากเทียบกับยุครุ่งเรือง กลุ่มแบงก์เคยมี ROE ถึง 12.50% 

 

NIM คำนวณอย่างไร?

 

NIM เป็นสิ่งที่บางคนอาจจะเข้าใจสับสนกับสิ่งที่เรียกว่า ‘ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก’ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย​ (ธปท.) อธิบายไว้ว่า ตามหลักสากล หากเราต้องการคำนวณว่า NIM เป็นเท่าใด จะหาได้จากการนำ ‘รายได้ดอกเบี้ย’ หักลบด้วย ‘รายจ่ายดอกเบี้ย’ และนำไปหารด้วย ‘สินทรัพย์เฉลี่ย’ 

 

จากข้อมูลล่าสุด ณ ไตรมาส 3/2566 ของ 6 ธนาคารขนาดใหญ่ในไทย NIM ของแต่ละธนาคารเป็นดังนี้

 

เศรษฐกิจไทย

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising