×

‘การบินไทย’ เตรียมลงนามขอสินเชื่อจากแบงก์เอกชน 2.5 หมื่นล้านบาทสิ้นปีนี้ เพิ่มสภาพคล่องทำธุรกิจปีหน้า หนุน EBITDA ขยายตัว

01.11.2021
  • LOADING...
การบินไทย

การบินไทยแถลงความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ โดยระบุว่า ช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาที่บริษัทเน้นการบริหารจัดการต้นทุนทางการเงิน ลดค่าใช้จ่ายนั้น สามารถดำเนินการตามแผนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่ในช่วงสิ้นปีนี้ถึงต้นปีหน้า การบินไทยจะลงนามในสัญญาการขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ รวมวงเงิน 25,000 ล้านบาท ซึ่งจะรองรับการดำเนินธุรกิจในปี 2565 

 

วันนี้ (1 พฤศจิกายน) บมจ.การบินไทย หรือ THAI ได้แถลงข่าว เรื่อง ความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย โดย ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ THAI และ ธีรัชย์ อัตนวานิช ประธานคณะกรรมการเจ้าหนี้ THAI พร้อมทั้งคณะกรรมการผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ ได้ร่วมกันให้ข้อมูล 

 

ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย หรือ THAI กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับเจ้าหนี้เดิมและธนาคารพาณิชย์ของไทย เพื่อดำเนินการขอสินเชื่อวงเงิน 25,000 ล้านบาท โดยเบื้องต้นจะหารือกับเจ้าหนี้เดิมก่อน เพื่อให้เจ้าหนี้เดิมจัดกลุ่มในการให้สินเชื่อแก่บริษัท คาดว่าจะได้ข้อสรุปและลงนามในสัญญาการขอสินเชื่อในเดือนธันวาคม 2564 หรือเดือนมกราคม 2565 และเมื่อลงนามในสัญญาขอสินเชื่อแล้ว การบินไทยก็จะสามารถเบิกใช้เงินกู้ได้ทันที ทั้งนี้ เพื่อเสริมสภาพคล่องในการดำเนินกิจการ 

 

นอกจากนี้ยังมีโอกาสจากการได้รับเงินลงทุนหรือเงินซื้อหุ้นเพิ่มทุนจากภาครัฐ (กระทรวงการคลัง) อีกราว 25,000 ล้านบาท ซึ่งหากภาครัฐใส่เงินลงทุนหรือซื้อหุ้นเพิ่มทุน (ราคาใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่ 2.54 บาทต่อหุ้น) เต็มวงเงินนี้ จะทำให้มีสัดส่วนถือหุ้นในการบินไทยเพิ่มเป็นไม่เกิน 40% 

 

อย่างไรก็ตาม ภาครัฐอาจต้องใช้เวลาในการพิจารณาการลงทุนอย่างรอบคอบ และน่าจะได้ข้อสรุปและแจ้งแก่การบินไทยก่อนการลงนามสัญญาขอสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์ในปลายปีนี้ และหากรัฐตัดสินใจลงทุนเพิ่มหรือใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุน การบินไทยน่าจะได้รับเงินลงทุนจากรัฐในช่วงกลางปีหน้า 

 

ดร.ศิริ กล่าวว่า วงเงินสินเชื่อนี้จะรองรับการทำธุรกิจของการบินไทยได้ในปีหน้า และเชื่อว่าสัญญาณผลประกอบการน่าจะดีขึ้นตามลำดับ เนื่องจากการบินไทยหารายได้ได้มากขึ้น ขณะที่ต้นทุนทางการเงินมีความยืดหยุ่นขึ้นหลังจากดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการมาตลอดตั้งแต่ปีที่แล้ว ประกอบกับอุตสาหกรรมการบินน่าจะเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติอย่างต่อเนื่อง ทำให้รายได้จากการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้นเช่นกัน 

 

“ด้วยเงินกู้ 25,000 ล้านบาท และภาระค่าใช้จ่ายลดลง ที่สำคัญคือ รายได้เพิ่มขึ้น แม้จะไม่มากนัก รวมทั้งเที่ยวบินเพิ่มขึ้นไม่มากนัก แต่ต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ยืดหยุ่นขึ้นจะเป็นตัวช่วยของการบินไทยอย่างมาก เพราะทำให้เรามีขีดความสามารถในการทำ EBITDA ที่สูงกว่าต้นทุน และจะมีส่วนต่างเพียงพอที่จะเลี้ยงบริษัท และในปีถัดๆ ไป เมื่อรายได้เพิ่ม แต่รายจ่ายไม่เพิ่มมากนัก ส่วนต่างก็เขย่งตัวเพิ่มขึ้น ก็เชื่อว่าจะทำให้การบินไทยไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ได้ แต่เรื่องออกจากแผนฟื้นฟูยังไม่ขอพูดถึง เพราะยังมีเรื่องต้องทำอีกมาก”​  

 

ด้าน ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กล่าวถึงรายละเอียดความคืบหน้าของแผนฟื้นฟูกิจการว่า ในภาพรวมระยะเวลากว่า 1 ปี THAI มีความคืบหน้าในการดำเนินการตามกระบวนการฟื้นฟูกิจการ มีการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย การปรับโครงสร้างและขนาดองค์กร และเพิ่มการหารายได้ กำหนดวิสัยทัศน์และพันธกิจใหม่ ได้แก่ สายการบินคุณภาพสูงที่ให้บริการเต็มรูปแบบ ด้วยความแข็งแกร่งของอัตลักษณ์ความเป็นไทย เชื่อมโยงประเทศไทยสู่ทั่วโลก และสร้างผลกำไรที่ดีอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีพันธกิจ 4 ด้าน คือ 

 

  1. สร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า 
  2. ความเป็นเลิศด้านการพาณิชย์ 
  3. ต้นทุนที่แข่งขันได้ 
  4. ผู้นำด้านปฏิบัติการบิน และได้ดำเนินโครงการปฏิรูปธุรกิจ (Transformation Initiatives) ที่พัฒนาจากการระดมสมองของพนักงานทุกระดับกว่า 400 โครงการ ซึ่งส่งผลให้สามารถลดค่าใช้จ่ายได้เป็นมูลค่า 44,800 ล้านบาทต่อปี เปรียบเทียบกับปริมาณการผลิตที่ใกล้เคียงกับปี 2562 ค่าใช้จ่ายจำนวนดังกล่าวคิดเป็น 77% ของเป้าหมายที่กำหนดไว้

 

ในแผนปฏิรูปธุรกิจมีโครงการสำคัญๆ ครอบคลุมด้านต่างๆ และส่งผลให้ปรับลดต้นทุนการดำเนินงานได้อย่างมีนัยสำคัญ เช่น

 

  • ด้านบุคลากร 16,000 ล้านบาท 
  • ด้านประสิทธิภาพฝูงบินและการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 12,000 ล้านบาท
  • การเจรจาปรับปรุงสัญญาเช่าเครื่องบินและซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ 11,300 ล้านบาท 
  • ด้านการปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดซื้อจัดจ้าง 1,100 ล้านบาท 
  • ด้านการปรับปรุงกระบวนการปฏิบัติการบิน 719 ล้านบาท 
  • ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพฝ่ายช่าง 802 ล้านบาท 
  • และด้านอื่นๆ 3,200 ล้านบาท

 

โดย THAI ได้รับความร่วมมือจากพนักงานทุกระดับเป็นอย่างดีในการสมัครใจเข้าร่วมรับการกลั่นกรองในโครงการปรับโครงสร้าง ลดขนาดองค์กร ปรับเปลี่ยนสภาพการจ้างและโครงสร้างค่าตอบแทนบุคลากร โครงการลาหยุดโดยไม่รับเงินเดือน (Leave without Pay) รวมถึงโครงการร่วมใจจากองค์กร (Mutual Separation Plan) ซึ่งมีพนักงานที่เสียสละเข้าร่วมโครงการรวมกว่า 6,000 คน เมื่อเปรียบเทียบกับในปี 2562 มีจำนวนบุคลากรรวมแรงงานภายนอกจำนวน 29,500 คน ปัจจุบันบริษัทฯ มีพนักงานทั้งสิ้น 14,900 คน ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายบุคลากรลดลงจากเดือนละกว่า 2,600 ล้านบาทต่อเดือน เหลือกว่า 600 ล้านบาทต่อเดือน จำนวนผู้บริหารทุกระดับลดลงในสัดส่วน 35% ส่งผลให้ประสิทธิภาพและความคล่องตัวในการทำงานสูงขึ้น

 

จากจำนวนพนักงานที่ลดลง ทำให้บริษัทสามารถกระชับพื้นที่ทำงานในส่วนของสำนักงานใหญ่และพื้นที่สำนักงานสาขาในต่างจังหวัด สามารถนำพื้นที่ว่างและไม่ได้ใช้งานมาหาประโยชน์ในการสร้างรายได้และเสริมสภาพคล่อง ทั้งโดยการให้เช่าและจำหน่าย อาทิ การให้เช่าอาคารสำนักงานใหญ่ การจำหน่ายอาคารและที่ดินสำนักงานหลักสี่ หลานหลวง ภูเก็ต และที่ดินเปล่าในจังหวัดเชียงใหม่

 

นอกจากนี้ THAI ยังได้ยกระดับระบบประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรใหม่ ยกเลิกและปรับลดสิทธิประโยชน์ของผู้บริหารและพนักงาน อาทิ ยกเลิกสิทธิบัตรโดยสารกรรมการบริษัทฯ และพนักงานเกษียณ การจ่ายภาษี สิทธิการปรับชั้นโดยสาร (Upgrade) พนักงาน ค่าพาหนะผู้บริหาร ค่ารักษาพยาบาล โดยปรับให้เป็นไปตามสิทธิประกันสังคม เงินชดเชยวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ใช้ไม่หมดภายในระยะเวลาที่ระเบียบฯ กำหนด (Vacation Compensation) ปรับเปลี่ยนโครงสร้างค่าตอบแทนรวมถึงหลักเกณฑ์การคำนวณค่าทำงานล่วงเวลา ลดสิทธิบัตรโดยสารพนักงาน เป็นต้น 

 

ในส่วนการปรับโครงสร้างหนี้ บริษัทขยายเวลาการชำระหนี้ออกไป 5-7 ปี โดยการพักชำระหนี้ เงินต้นและดอกเบี้ย 2-3 ปี ปรับลดภาระหนี้ในส่วนดอกเบี้ยตามภาระผูกพันเดิมเหลือ 1.5% ปรับลดภาระผูกพันตามสัญญาเช่า/เช่าซื้อเครื่องบิน และเพิ่มทางเลือกในการชำระหนี้ ตามกรอบการดำเนินการที่ได้ระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ

 

THAI มีแผนปลดระวางเครื่องบินที่มีอายุการใช้งานมาเป็นระยะเวลานาน มีอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงสูงเพื่อจำหน่ายจำนวน 42 ลำ ยกเลิกสัญญาเช่าและเช่าซื้อจำนวน 16 ลำ จะทำให้บริษัทฯ มีฝูงบินรวม 58 ลำ โดยรวมถึงฝูงบิน A320 ซึ่งสายการบินไทยสมายล์เช่าดำเนินการ 20 ลำ ซึ่งฝูงบินปัจจุบันมีความทันสมัย ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ มีประสิทธิภาพการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงสูง เป็นผลให้บริษัทฯ สามารถลดต้นทุนด้านการบริหารฝูงบินและค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงได้ถึงปีละ 12,000 ล้านบาทเมื่อบินในปริมาณการผลิตใกล้เคียงปี 2562 และแบบเครื่องบินในฝูงบินของบริษัทฯ ลดลงจาก 9 แบบ เหลือ 4 แบบ 

 

ในเดือนตุลาคม 2564 บริษัทมีรายได้จากการดำเนินงานสูงสุดนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดเมื่อเดือนเมษายน 2563 สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการฟื้นฟูของธุรกิจการบิน โดยระหว่างเดือนเมษายน 2563 – ตุลาคม 2564 บริษัทมีรายได้จากเที่ยวบินขนส่งสินค้าทางอากาศรวมกว่า 10,000 ล้านบาท มีรายได้จากหน่วยธุรกิจการบินในการให้บริการลูกค้ากว่า 80 สายการบิน เป็นเงินรวม 4,800 ล้านบาท และมีแผนงานขยายธุรกิจ Master Franchise ร้าน Puff & Pie ไปทั่วประเทศ

 

จากความมุ่งมั่นในการหารายได้และการหาประโยชน์จากทรัพย์สินรองที่ไม่ได้ใช้งาน บริษัทฯ ขาดทุนจากการดำเนินงานในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 เป็นเงิน 3,973 ล้านบาท เมื่อรวมรายการครั้งเดียวทางบัญชี ทำให้บริษัทมีกำไรสุทธิ 11,121 ล้านบาท ดีขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปี 2563 เป็นเงิน 39,151 ล้านบาท ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการได้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการและแผนปฏิรูปธุรกิจ ตลอดจนบริหารจัดการสภาพคล่องอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นผลให้บริษัทฯ มีกระแสเงินสดสำหรับการดำเนินธุรกิจอย่างเพียงพอต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 เป็นต้นมา 

 

เพื่อร่วมขับเคลื่อนการเปิดประเทศตามนโยบายรัฐบาล บริษัทได้ปรับเพิ่มเส้นทางบินที่ให้บริการเริ่มตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2564 – 26 มีนาคม 2565 โดยภายในไตรมาสที่ 1/65 จะมีเส้นทางบินในทวีปเอเชีย 19 จุดบิน ทวีปยุโรป 9 จุดบิน ทวีปออสเตรเลีย 1 จุดบิน และภายในประเทศโดยสายการบินไทยสมายล์ 14 จุดบิน ด้วยบริการเต็มรูปแบบ (Full Services) อาทิ ศูนย์บริการลูกค้าทางโทรศัพท์ตลอด 24 ชั่วโมง ห้องรับรองพิเศษ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สื่อสาระบันเทิงบนเครื่องบิน บริการเลือกอาหารล่วงหน้าสำหรับชั้นธุรกิจในเที่ยวบินระหว่างประเทศ กาแฟและเครื่องดื่มรายการพิเศษ นิตยสารและหนังสือพิมพ์ระบบดิจิทัล ทั้งนี้ พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินได้รับวัคซีนโควิดครบทุกคน พร้อมมาตรฐานความเป็นเลิศด้านสุขอนามัย (Hygiene Excellence) ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising