×

บทสรุป 9 ปี คดีฟ้องร้อง ‘วินด์ เอนเนอร์ยี่’ ศาลอังกฤษสั่งชดใช้ 3 หมื่นล้านบาท จับตา! ตำนานบทใหม่ในมือตระกูลกิตติอิสรานนท์

03.08.2023
  • LOADING...
คดี วินด์ เอนเนอร์ยี่

เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา ศาลพาณิชย์ของอังกฤษมีคำตัดสินให้ ณพ ณรงค์เดช อดีตผู้ถือหุ้นของ วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง (WEH) และพวกรวม 14 คน จ่ายค่าเสียหายรวมประมาณ 900 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 3 หมื่นล้านบาท ให้แก่ นพพร ศุภพิพัฒน์ ผู้ก่อตั้ง และอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ WEH 

 

บทสรุปคดีฟ้องร้องหุ้น WEH 

คดีความดังกล่าวดำเนินมาอย่างยาวนานถึง 9 ปี หลังจากที่นพพรฟ้องร้องจำเลยทั้งหมดว่าสมคบกันชักจูงให้เขาขายหุ้น WEH ให้ด้วยราคาที่ต่ำกว่ามูลค่า โดยมูลค่าหุ้นที่นพพรได้รับจากการขายอยู่ที่ 176 ล้านดอลลาร์ ต่ำกว่ามูลค่าหุ้นในเวลานั้นที่ 872 ล้านดอลลาร์ และปัจจุบันหุ้นดังกล่าวมีมูลค่าถึง 1.6 พันล้านดอลลาร์ 

 

หลังคำตัดสินใจดังกล่าว ดูเหมือนว่าคดีความที่ยืดเยื้อมานานคงจะได้บทสรุปไปแล้ว อย่างน้อยที่สุดก็โดยกระบวนการยุติธรรมของอังกฤษ 

 

อย่างไรก็ตาม ประเดช กิตติอิสรานนท์ หนึ่งในบุคคลที่ถูกฟ้องร้องในคดีนี้ และเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ของ WEH ในปัจจุบัน เปิดเผยถึงผลการตัดสินในครั้งนี้ว่า ไม่มีผลผูกพันกับศาลไทยที่จะต้องปฏิบัติตามศาลอังกฤษที่มีคำพิพากษาไว้ หากจะให้มีผลผูกพันตามกฎหมายไทย ต้องยื่นฟ้องกันใหม่ในประเทศไทยเท่านั้น

 

ขณะที่ ณัฐพศิน เชฎฐ์อุดมลาภ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ WEH ในปัจจุบัน ออกมาเปิดเผยเช่นกันว่า ผลการพิพากษาตัดสินจะออกมาเป็นอย่างไรก็เป็นเรื่องของตัวบุคคล และยืนยันว่าไม่ได้มีผลกระทบใดๆ ทั้งสิ้นต่อธุรกิจ การดำเนินธุรกิจ และการบริหารงานของ WEH 

 

WEH ในมือของตระกูลกิตติอิสรานนท์ 

ปัจจุบัน WEH มีหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่คือ บริษัท ธนา พาวเวอร์ วัน จำกัด (TONE) บริหารงานโดยบุคคลในตระกูลกิตติอิสรานนท์คือ นันทิดา กิตติอิสรานนท์ และกำธร กิตติอิสรานนท์

 

อย่างไรก็ตาม TONE อยู่ระหว่างการทำธุรกรรมขายหุ้น WEH ให้กับ บมจ.ณุศาศิริ (NUSA) ในสัดส่วน 26.65% ของหุ้นทั้งหมดของ WEH ซึ่งมูลค่าของการซื้อขายหุ้นในครั้งนี้อยู่ที่ราว 1.17 หมื่นล้านบาท โดย NUSA จะชำระราคาหุ้นด้วยการออกหุ้นเพิ่มทุนให้กับ TONE เป็นการตอบแทน และภายหลังจากการขายหุ้นดังกล่าว TONE จะปิดกิจการและโอนหุ้น NUSA ที่ได้รับมาทั้งหมดให้แก่ผู้ถือหุ้นตามสัดส่วนการถือหุ้น 

 

หนึ่งในประเด็นที่ต้องติดตามสำหรับอนาคตของ WEH ซึ่งในอดีตถูกคาดหมายว่าจะเป็นหนึ่งในบริษัทที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยผ่านการขายหุ้น IPO แต่ล่าสุดดูเหมือนว่าธุรกิจของ WEH จะเข้ามาอยู่ภายใต้ NUSA ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้วในขณะนี้ 

 

แท้จริงแล้ว NUSA ไม่ได้เพิ่งตัดสินใจที่จะเข้าลงทุนใน WEH แต่ถือหุ้นอยู่ก่อนแล้ว 7.12% จากการเข้าลงทุนเมื่อเดือนมกราคม 2565 คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 3.54 พันล้านบาท ทำให้ภายหลังการซื้อหุ้น WEH เพิ่มเติมในครั้งที่สองนี้ จะทำให้ NUSA มีสัดส่วนการถือหุ้นใน WEH เพิ่มขึ้นเป็น 33.77% 

 

การซื้อหุ้นทั้งสองครั้งของ NUSA ทำให้เกิดการตั้งข้อสังเกตโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะเข้าข่ายการเข้าจดทะเบียนโดยอ้อม (Backdoor Listing) และเข้าข่ายถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการหรือไม่ เพราะหากนำมูลค่าการลงทุนทั้งสองครั้งในหุ้น WEH มารวมกัน จะเป็นมูลค่าที่สูงเกินกว่า 100% ของสินทรัพย์ที่มีตัวตน

 

อย่างไรก็ตาม NUSA ชี้แจงว่า ธุรกรรมครั้งแรกมูลค่า 3.54 พันล้านบาท คิดเป็น 49.80% ของสินทรัพย์รวมของ NUSA ขณะที่การลงทุนในครั้งที่สองมูลค่า 1.17 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 99.90% ของสินทรัพย์ที่มีตัวตนของ NUSA 

 

การทำธุรกรรมครั้งที่สองเป็นเวลาห่างจากครั้งแรก 1 ปี 5 เดือน 27 วัน ซึ่งไม่ได้อยู่ในกรอบ 6 เดือน จึงไม่เข้าข่ายครอบงำกิจการ อีกทั้งผู้ขายหุ้น WEH ให้กับบริษัทในครั้งแรกและครั้งที่สองก็แตกต่างกันคือ ผู้ถือหุ้นรายย่อยและนิติบุคคลตามลำดับ 

 

แม้ TONE จะยอมปล่อยมือจาก WEH ไปให้กับ NUSA แต่สำหรับตระกูลกิตติอิสรานนท์อาจเป็นเหมือนกับการเปลี่ยนมือที่ใช้ถือครองเท่านั้น เพราะนันทิดา และกำธร กิตติอิสรานนท์ ก็เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ของ NUSA ซึ่งจะมีสัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 16.6% และ 16.29% ภายหลังการทำธุรกรรมครั้งนี้ 

 

แนวโน้มธุรกิจของ WEH

ณัฐพศิน ซีอีโอของ WEH เปิดเผยว่า ผลประกอบการของ WEH ในครึ่งปีแรกของปี 2566 มีรายได้ 5.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 25% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 2.86 พันล้านบาท จากการดำเนินงานโรงไฟฟ้าทั้งหมด 717 เมกะวัตต์ 

 

“ล่าสุดบริษัทได้รับงานโครงการใหม่อีก 2 โครงการจากภาครัฐ ซึ่งมีกำลังการผลิตรวมราว 170 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ บริษัทยังได้จับมือกับบริษัทชั้นนำของโลกในการพัฒนาโครงการในอนาคต ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการเตรียมการและจะมีการประกาศในอนาคตอันใกล้นี้” 

 

สำหรับกำลังการผลิตไฟฟ้า 717 เมกะวัตต์ มาจากโครงการ 8 แห่ง ประกอบด้วย

 

  1. โรงไฟฟ้าพลังงานลม FKW กำลังผลิต 103.5 MW เริ่มผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์ (COD) ปี 2555
  2. โรงไฟฟ้าพลังงานลม KR2 กำลังผลิต 103.5 MW เริ่ม COD ปี 2556
  3. โรงไฟฟ้าพลังงานลม WTB กำลังผลิต 60 MW เริ่ม COD ปี 2559
  4. โรงไฟฟ้าพลังงานลม T1 กำลังผลิต 90 MW เริ่ม COD ปี 2561
  5. โรงไฟฟ้าพลังงานลม T2 กำลังผลิต 90 MW เริ่ม COD ปี 2561
  6. โรงไฟฟ้าพลังงานลม T3 กำลังผลิต 90 MW เริ่ม COD ปี 2561
  7. โรงไฟฟ้าพลังงานลม NKS กำลังผลิต 90 MW เริ่ม COD ปี 2561
  8. โรงไฟฟ้าพลังงานลม T4 กำลังผลิต 90 MW เริ่ม COD ไตรมาส 1/62

 

สำหรับปี 2565 WEH มีรายได้รวม 4.16 พันล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 3.77 พันล้านบาท ส่วนปี 2564 มีรายได้รวม 4.09 พันล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 3.55 พันล้านบาท 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising