×

ตรวจการบ้านผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ การบริหารกรุงเทพฯ ในวงรอบ 2 ปีผ่าน 22 เป้าหมาย

22.05.2024
  • LOADING...

วันที่ 22 พฤษภาคม 2567 ถือเป็นการครบรอบ 2 ปีของการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นับเป็นการเดินทางมาถึงครึ่งทางของผู้ว่าฯ คนที่ 17 ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’

 

ต้องยอมรับว่าในห้วงแรกของการชนะการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ผ่านเวลามาจนถึงการรับตำแหน่งในช่วงเทอมแรก (1 ปี) กระแสความนิยมจากประชาชนในตัวของ ‘ผู้ว่าฯ ที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี’ มีมากถึงขั้นที่ว่า การขยับตัวหรือการเอ่ยถึงเรื่องใดก็ตาม กลายเป็นที่พูดถึงและสร้างการจดจำให้สังคมไปในตัว

 

แต่เมื่อเวลาผ่านไป ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลของความเคยชินหรือความลงตัว กระแสของผู้ว่าฯ คนที่ 17 นี้อาจไม่ได้แมสเท่าเมื่อก่อน จนทำให้ใครหลายคนต้องนึกว่าผู้ว่าฯ ทำอะไรบ้าง?

 

THE STANDARD รวบรวมข้อมูลแผนงานที่ ‘ได้ทำ กำลังทำ และวางแผนที่จะทำ’ ของกรุงเทพมหานครในยุคการนำของผู้ว่าฯ ชัชชาติ ไว้ดังไปต่อนี้

 

นโยบายวันหาเสียง ที่วันนี้ไม่ได้ไปต่อ

 

จาก 226 นโยบายในการหาเสียงผู้ว่าฯ กทม. เมื่อปี 2565 จนถึงปัจจุบันปี 2567 กทม. ได้เริ่มดำเนินการทั้งหมดแล้ว ยกเว้นบางโครงการที่ไม่ได้ดำเนินการเนื่องจากติดปัญหา 

 

– นโยบายที่ 022 ‘ลดรถ ลดติด ด้วยจอดแล้วจร’ กทม. ไม่สามารถหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการพัฒนาอาคารจอดรถได้

 

– นโยบายที่ 069 ‘ร่วมกับเอกชนในการจัดหาแท็บเล็ตให้นักเรียนใช้ในช่วง Study from Home’ เนื่องจากขณะนี้โรงเรียน กทม. ไม่ได้อยู่ในช่วง Study from Home และ กทม. ได้เริ่มโครงการ Digital Classroom จัดหาแล็ปท็อปให้นักเรียนทุกคนในชั้นเรียน โดยได้เริ่มนำร่องไปแล้ว 17 โรง และกำลังขยายไปอีก 111 โรง


– นโยบายที่ 103 ‘พัฒนาห้องสมุดและการเรียนรู้เคลื่อนที่’ กทม. ประเมินและคิดว่า แนวคิดห้องสมุดเคลื่อนที่ไม่มีความต้องการจากประชาชน และ กทม. ได้ไปพัฒนาบ้านหนังสือที่มีกระจายอยู่ในชุมชนให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้นแทน

 

เป้าหมาย 22 ประเด็นในปี 2567 ที่กำลังทำ

 

  1. การพัฒนาถนนสวย ตั้งเป้า 131.50 กิโลเมตร ดำเนินการแล้ว 83.74 กิโลเมตร (คิดเป็น 63.68%)

 

  1. ปลูกต้นไม้ ตั้งเป้า 200,000 ต้น ดำเนินการแล้ว 198,505 ต้น (คิดเป็น 99.25%)

 

  1. เพิ่มสวน 15 นาที ตั้งเป้า 162 แห่ง ดำเนินการแล้ว 99 แห่ง (คิดเป็น 61.11%)

 

4.1 ปรับปรุงทางเท้า ตั้งเป้า 322.11 กิโลเมตร ดำเนินการแล้ว 4.33 กิโลเมตร (คิดเป็น 1.34%) 

 

4.2 ขีดสีตีเส้นทางจักรยาน / ทางเดินในซอยย่อย ตั้งเป้า 655 ทาง ดำเนินการแล้ว 168.63 ทาง (คิดเป็น 25.70%)

 

  1. ติดตั้ง / ซ่อม ไฟฟ้าส่องสว่าง ตั้งเป้า 32,078 ดวง ดำเนินการแล้ว 23,029 ดวง (คิดเป็น 71.79%)

 

  1. ติดตั้ง / ซ่อม ไฟฟ้าส่องสว่างริมคลอง ตั้งเป้า 8,056 ดวง ดำเนินการแล้ว 2,988 ดวง (คิดเป็น 37.09%)

 

  1. ยกเลิก / ยุบรวม พื้นที่หาบเร่แผงลอยนอกจุดผ่อนผัน ตั้งเป้า 109 แห่ง ดำเนินการแล้ว 80 แห่ง (คิดเป็น 73.39%)

 

  1. จัดหาพื้นที่เอกชนหรือพัฒนา Hawker Center รองรับผู้ค้าหาบเร่ ตั้งเป้า 28 แห่ง ดำเนินการแล้ว 25 แห่ง (คิดเป็น 89.28%)

 

  1. แก้ไขจุดเสี่ยงน้ำท่วม ตั้งเป้า 127 จุด ดำเนินการแล้ว 91 จุด (คิดเป็น 71.65%)

 

  1. แก้ปัญหาจุดจราจรฝืด ตั้งเป้า 185 แห่ง ดำเนินการแล้ว 111 แห่ง (คิดเป็น 60.00%)

 

11.1 แก้ไขจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ ตั้งเป้า 125 แห่ง ดำเนินการแล้ว 67 แห่ง (คิดเป็น 53.60%)

 

11.2 แก้ไขจุดเสี่ยงอาชญากรรม ตั้งเป้า 348 แห่ง ดำเนินการแล้ว 240 แห่ง (คิดเป็น 68.97%)

 

  1. ปรับปรุง / พัฒนา ลานกีฬา ตั้งเป้า 161 แห่ง ดำเนินการแล้ว 78.30 (คิดเป็น 48.63%)

 

  1. ปรับปรุง / พัฒนา บ้านหนังสือ ตั้งเป้า 45 แห่ง ดำเนินการแล้ว 42.2 แห่ง (คิดเป็น 93.78%)

 

  1. ปรับปรุง / พัฒนา ศูนย์เด็กเล็ก ตั้งเป้า 99 แห่ง ดำเนินการแล้ว 54 แห่ง (คิดเป็น 54.55%)

 

  1. ปรับปรุงกายภาพโรงเรียน ตั้งเป้า 277 แห่ง ดำเนินการแล้ว 193.50 แห่ง (คิดเป็น 69.86%)

 

16.1 จัดเก็บขยะให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุม (คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ (%) ของอาคารและหลังคาเรือนในเขตที่สามารถจัดเก็บขยะได้มากกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์) ตั้งเป้า 100% ดำเนินการแล้ว 60.81%

 

16.2 ปริมาณขยะเศษอาหารที่คัดแยกได้ภายใต้โครงการ ‘ไม่เทรวม’ ตั้งเป้า 109,200 ตันต่อปี ดำเนินการแล้ว 45,048.36 ตันต่อปี (คิดเป็น 41.25%)

 

  1. พัฒนาฐานข้อมูลออนไลน์ชุมชน เช่น ข้อมูลกลุ่มเปราะบาง ข้อมูลอุปกรณ์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ฯลฯ ตั้งเป้า 4,017 ชุมชน ดำเนินการแล้ว 2,646.40 แห่ง (คิดเป็น 65.88%)

 

  1. ส่งเสริมการใช้งบประมาณ 200,000 บาทต่อชุมชน ตั้งเป้า 337,040,000 บาท ดำเนินการแล้ว 19,125,033.94 บาท (คิดเป็น 5.67%)

 

  1. ส่งเสริมการใช้งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพ สปสช. ตั้งเป้า 274,375,768.00 บาท ดำเนินการแล้ว 130,210,654.90 บาท (คิดเป็น 47.46%)

 

  1. พัฒนามาตรฐานการบริการประชาชน (คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ (%) จำนวนคำขอที่เขตสามารถให้บริการได้ภายในกรอบเวลาตามคู่มือประชาชน) ตั้งเป้า 100% ดำเนินการแล้ว 88.84%

 

  1. ขุดลอกท่อ ตั้งเป้า 4,260.43 กิโลเมตร ดำเนินการแล้ว 2,648.83 กิโลเมตร (คิดเป็น 62.17%)

 

  1. ขุดลอกคลอง / เปิดทางน้ำไหลคลอง ตั้งเป้า 2,422.07 กิโลเมตร ดำเนินการแล้ว 2,200.54 กิโลเมตร (คิดเป็น 90.85%)

 

หมายเหตุ: ข้อมูล ณ เดือนพฤษภาคม 2567

 

แผนอนาคตอันใกล้ 2 เรื่องใหญ่ของกรุงเทพฯ

 

ปัญหาหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวถูกแบ่งเป็นหลายส่วน โดยส่วนที่ กทม. ได้ชดใช้หนี้ไปแล้วเป็นส่วนของ E&M หรือตัวระบบ วงเงินประมาณ 23,000 ล้านบาท ขณะนี้ยังเหลือส่วนของ O&M หรือค่าเดินรถที่อยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลปกครอง วงเงินประมาณ 27,000 ล้านบาท

 

สิ่งที่ กทม. อยู่ระหว่างการดำเนินการคือ ออกแบบการบริหารจัดการรถไฟฟ้าหลังปี 2572 ที่หมดสัมปทานของส่วนไข่แดง (ใจกลางเมือง) และจะเป็นการจ้างเดินรถทั้งหมด กทม. พยายามวางแผนหาทางลดต้นทุนในการจ้างเดินรถ เพื่อให้ค่าโดยสารของประชาชนลดลงให้ได้มากที่สุด

 

อีกหนึ่งปัญหาที่ไม่อาจเลี่ยงคือ เรื่องฝุ่น PM2.5 ที่เป็นปัญหาสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ ในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ แม้จะมีความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน แต่ กทม. ในฐานะเจ้าบ้าน ต้องแบกเรื่องรับปัญหาเต็มๆ ซึ่งเรื่องนี้ กทม. ได้วางแผนจัดสรรไว้ 3 ส่วน

 

  1. การแจ้งเตือน: โครงการนักสืบฝุ่น สืบหาแหล่งกำเนิดของฝุ่น PM2.5 ที่หนักและเบา พัฒนาระบบพยากรณ์ที่มีความแม่นยำสูง สามารถคาดการณ์ฝุ่นได้ล่วงหน้า 3 วัน

 

  1. กำจัดต้นตอ: ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายมอบโปรโมชันและส่วนลดเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องและไส้กรองอากาศ การตรวจแหล่งกำเนิดฝุ่นต่างๆ เช่น โรงงานซีเมนต์ โรงงานอุตสาหกรรม และการตั้งจุดตรวจรถควันดำ จัดหาเครื่องอัดฟางให้เกษตรกรที่หนองจอก 

 

  1. การป้องกันปัญหาสุขภาพของประชาชน: โครงการห้องเรียนปลอดฝุ่น ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน (ศูนย์เด็กเล็ก) และเด็กอนุบาล 1,740 ห้องเรียน เปิดศูนย์โรคระบบทางเดินหายใจและคลินิกมลพิษทางอากาศใน 6 โรงพยาบาล เพื่อดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น

 

จนถึงวันนี้ผ่านมา 2 ปีแล้ว ชาว กทม. อยากประเมินให้คะแนนผู้ว่าฯ คนที่ 17 นี้เท่าไร และคุณยังคิดอยู่หรือไม่ว่า เขาคือผู้ว่าฯ ที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising