×

พ่อค้าแม่ค้าหวั่น การจัดระเบียบ ‘สตรีทฟู้ด’ ของผู้ว่าฯ กทม. อาจ ‘ขโมยแหล่งรายได้อันมีค่า’ ไป

12.09.2022
  • LOADING...
สตรีทฟู้ด

เมืองหลวงของไทยที่ขึ้นชื่อเรื่องแผงขายอาหารข้างทางและกลิ่นหอมที่ยั่วยวนให้ทุกคนที่เดินผ่านเกิดอาการหิว แต่ในอีกทางหนึ่งนี้ก็เป็นปัญหามาอย่างยาวนานและหลากหลายเรื่องราว จนผู้ว่าฯ คนล่าสุดอย่าง ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ต้องการลุกขึ้นมาจัดระเบียบ

 

รายงานของ Nikkei Asia ระบุว่า ชัชชาติไม่ต้องการให้มีผู้ค้าที่ไร้มารยาทบนทางเท้า และเปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้กลายเป็นโอเอซิสกลางเมืองที่นักท่องเที่ยวจะหลั่งไหลเข้ามา แต่กระนั้นเขาก็ถูกกดดันให้เคลื่อนไหวอย่างระมัดระวังเช่นกัน 

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 


 

ก้อย เจ้าของร้านราเมนวัย 52 ปีในย่านธุรกิจของกรุงเทพฯ ที่พลุกพล่าน กล่าวว่าเขากังวลว่าตัวเองอาจสูญเสียลูกค้าประจำ ซึ่งเขาเปิดร้านมาเป็นเวลากว่า 5 ปี ดึงดูดพนักงานออฟฟิศจำนวนมากในช่วงพักกลางวัน แต่กฎใหม่ทำให้เขาอาจต้องย้ายร้านหนีจากลูกค้าไป

 

ตามแผนของชัชชาติ ซึ่งเปิดเผยเมื่อเดือนกรกฎาคม คือการตั้งแผงขายอาหารในหลายโซนที่กรุงเทพมหานครเป็นผู้กำหนด และเรียกเก็บค่าเช่าราคาต่ำ ตลอดจนตั้งใจที่จะรวบรวมพวกเขาในตลาดกลางแจ้งเหมือน ‘ศูนย์หาบเร่’ ที่มีชื่อเสียงของสิงคโปร์ โดยชัชชาติกล่าวว่าเขาต้องการให้พ่อค้าแม่ค้าจัดหาอาหารราคาถูกให้กับคนกรุงเทพฯ ต่อไป แต่เขาตั้งใจที่จะ ‘ทำความสะอาด’ เมืองหลวงด้วย

 

ในประเทศไทย สามารถซื้อข้าว ก๋วยเตี๋ยว ต้มเลือดหมู หมูตุ๋น และอาหารไทยอื่นๆ ได้ในราคาประมาณ 50 บาท ซึ่งการหาร้านอาหารที่ให้บริการอาหารในราคาใกล้เคียงกันนั้นเป็นเรื่องยากในเมืองหลวง ดังนั้นแผงลอยริมถนนจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับชาวกรุงเทพฯ จำนวนมาก

 

เหล่านี้เองทำให้สตรีทฟู้ดหรืออาหารริมทางเมืองไทยมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก จนสื่อหลายสำนักไม่ว่าจะเป็น Forbes, Telegraph, CNN หรือแม้แต่ Time Out จัดอันดับยกให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่มีอาหารริมทางที่ดีที่สุด เนื่องจากรสชาติอร่อยมีให้เลือกรับประทานหลายชนิด กระจายอยู่ตามแหล่งชุมชนต่างๆ ทำให้หาซื้อได้ง่าย มีขายตลอดเวลา

 

การหาซื้อได้ง่ายทำให้ Euromonitor ประเมินว่า มูลค่าตลาดอาหารสตรีทฟู้ดโดยรวมในประเทศไทยปี 2562 มีมูลค่าราว 2.76 แสนล้านบาท และเพิ่มเป็น 3.4 แสนล้านบาท ขึ้นเฉลี่ย 5.3% ต่อปี จากร้านค้ามากกว่า 1 แสนร้านทั่วประเทศ

 

แต่ในขณะที่หลายคนมองว่าแผงขายอาหารมีเสน่ห์และจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต แต่มีอีกหลายคนที่ไม่ได้ชื่นชอบ เพราะการตั้งร้านบนทางเท้าได้เข้ามากีดขวางการเดิน สร้างปัญหาขยะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ โดยเฉพาะการเทเศษอาหารลงในท่อระบายน้ำทำให้อุดจน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ว่าฯ กทม. ต้องการแก้ไขปัญหาโดยด่วน

 

กระนั้นเรื่องนี้ก็อาจไม่ง่ายนักพ่อค้าแม่ค้าจำนวนมากมาจากจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ยากจน อย่างเจ้าของร้านวัย 43 ปีที่ขายหมูปิ้งบอกว่า สามีของเธอยังทำงานอยู่ที่บ้าน แต่ตัวเองมาขายของในกรุงเทพฯ ซึ่งทำรายได้กว่า 2 แสนบาท ครึ่งหนึ่งของรายได้ต่อปีของทั้งคู่ ดังนั้นทำให้เธอมองว่าการจัดระเบียบนั้นอาจ ‘ขโมยแหล่งรายได้อันมีค่า’ ไปจากเธอ

 

ด้านเจ้าของรถเข็นผัดไทยบนถนนข้าวสารบอกว่า ไม่ต้องการให้รถเข็นถูกจัดระเบียบด้วย เพราะ “สิ่งที่นักท่องเที่ยวต่างชาติกำลังมองหาคืออาหารข้างทาง” เธอกล่าว “ไม่มีอะไรอื่นอีกแล้ว”

 

ต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ชัชชาติกล่าวว่า กทม. กำลังจะจัดกลุ่มสตรีทฟู้ดเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. ตลาดในชุมชนคือตลาดในชุมชนที่อยู่มานานหลายสิบปี, 2. ตลาดในเมืองสำหรับคนทำงานออฟฟิศ และ 3. ตลาดนักท่องเที่ยว

 

ช่วงแรกจะเน้นตลาดในเมืองและตลาดนักท่องเที่ยว อาจเป็นถนนสุขุมวิทหรือสีลม โดยเลือกพื้นที่นำร่อง 2-3 จุด เพื่อเป็นบทเรียน Sandbox ก่อนที่จะขยายไปจุดอื่นต่อไป 

 

นอกจากนี้หนึ่งในแผนการจัดระเบียบคือการเข้มงวดเรื่องร้านค้าหาบเร่-แผงลอย ที่ทิ้งขยะ-น้ำมันลงท่อระบายน้ำ โดยทาง กทม. ปรับสูงสุด 10,000 บาท และให้ผู้ที่แจ้งจับรับเงินรางวัลครึ่งหนึ่ง

 

ภาพ: Anusak Laowilas / NurPhoto via Getty Images

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X