×

5 ประเด็น เงินเฟ้อ ที่ควรรู้ เตรียมพร้อมรับมือวิกฤตอาหาร เลี่ยงก่อหนี้ใหม่

22.07.2022
  • LOADING...
เงินเฟ้อ

สถานีโทรทัศน์ Al Jazeera จัดทำบทความพิเศษ รวบรวมเรียบเรียงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ เงินเฟ้อ ที่เกิดขึ้นในทั่วโลกอยู่ในเวลานี้ โดยระบุว่าภาวะเงินเฟ้อในขณะนี้อยู่ในระดับที่สูงจนน่าปวดใจ แถมยังขยับขึ้นอย่างรวดเร็วจนหลายประเทศตั้งรับไม่ทัน 

 

ประเด็นแรก: เงินเฟ้อ คืออะไร? 

เงินเฟ้อก็คือการที่ของแพงขึ้น ทำให้เงินจำนวนเท่าเดิมที่จ่ายออกไปแต่กลับได้ของในปริมาณที่น้อยลง ซึ่งโดยปกติของจะแพงก็ต่อเมื่อดีมานด์สูงกว่าซัพพลาย 

 

สำหรับสถานการณ์ในขณะนี้ ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าเป็น Perfect Storm ที่มีหลายปัจจัยหนุนให้เงินเฟ้อพุ่ง ทั้งเรื่องของการขาดแคลนสินค้า เพราะผลิตไม่ได้ส่งไม่ทันเนื่องจากการะบาดของไวรัสโควิด ทำให้โรงงานและท่าเรือต้องปิดตัวลงชั่วคราว 

 

ขณะเดียวกัน หลายประเทศทั่วโลกก็กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการอัดฉีดเงินเข้าระบบ กระตุ้นการบริโภค ช่วยพยุงภาคธุรกิจ ทำให้คนมีกำลังซื้อในช่วงที่ของมาเติมไม่ทัน ดังนั้น บริษัทหลายแห่งจำเป็นต้องขึ้นราคาสินค้าเพื่อป้องกันของขาดตลาด

 

แต่ทั้งนี้ สถานการณ์โควิดยังไม่ทันจะคลี่คลายดี รัสเซียก็ก่อสงครามกับยูเครนดันราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์รวมถึงธัญพืชอย่างข้าวสาลี ตลอดจนปุ๋ย ให้แพงขึ้นไปอีก ดันต้นทุนการผลิตให้สูงขึ้น ซึ่งหมายความว่าหากผู้คนยังคงมีรายได้เท่าเดิม ก็จะไม่สามารถเดินทางไปทำงาน กินอาหารได้อิ่มท้อง หรือมีกำลังจ่ายค่าไฟในช่วงหน้าหนาวที่กำลังจะมาถึง 

 

บรรดานักเศรษฐศาสตร์ยอมรับว่า ไม่สามารถคาดการณ์ได้เลยว่าวงจรเงินเฟ้อในครั้งนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อใด

 

ประเด็นที่ 2: ใครได้รับผลกระทบมากที่สุด 

รายงานระบุว่า ภาวะเงินเฟ้อในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นประเทศร่ำรวยหรือยากจนต่างก็ได้รับผลกระทบที่แสนสาหัสกันไปคนละแบบ แต่ท้ายที่สุด คนที่เดือดร้อนที่สุดก็คืนคนจนรายได้น้อย และประเทศที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานมหาศาลเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 

 

ประเด็นที่ 3: ทำไมพลังงานจึงขาดแคลนหนักและแพงหูฉี่?

นักวิเคราะห์อธิบายว่าจริงๆ แล้ว การระบาดของไวรัสโควิดในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ก็ทำให้กระบวนการแปรรูปน้ำมันดิบมาเป็นน้ำมันเพื่อใช้ในการบริโภคอย่างดีเซลหรือเบนซิลต้องหยุดชะงักไป ปริมาณน้ำมันสำรองจึงไม่มีเติมเพิ่ม ดังนั้น เมื่อหลายประเทศผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ความต้องการใช้กลับมา แต่โรงงานกลั่นยังไม่กลับมา น้ำมันที่สำรองไว้จึงมีน้อยลง ราคาจึงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอยู่แล้ว แถมยิ่งมาเจอสงครามรัสเซีย-ยูเครนซ้ำเติมทำให้สถานการณ์น้ำมันซึ่งถือเป็นต้นทุนแฝงในทุกกระบวนการผลิตสินค้าและบริการยิ่งแพงขึ้น

 

นักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่า อาจจะต้องใช้เวลาอย่างน้อยจนถึงปี 2023 กว่าที่กำลังการผลิตของโรงกลั่นน้ำมันจะกลับมาตอบสนองความต้องการบริโภคของตลาดได้อย่างเต็มรูปแบบ ส่วนภาวะการขาดแคลนและแนวโน้มความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่จะตึงเครียดมากขึ้นในปัจจุบันทำให้พลังงานมีราคาแพงขึ้น นำไปสู่ราคาที่สูงขึ้นสำหรับทุกสิ่ง เนื่องจากโลกขณะนี้ยังคงพึ่งพาการใช้น้ำมันและก๊าซ 

 

ประเด็นที่ 4: ภาวะเงินเฟ้อกำลังก่อความเสี่ยงวิกฤตด้านอาหาร 

โดยราคาธัญพืชเวลานี้พุ่งทะลุเพดานเนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนได้ขัดขวางการเก็บเกี่ยวและการส่งออกจากรัสเซียและยูเครน โดยการผลิตของทั้งสองประเทศรวมกันคิดเป็น 1 ใน 4 ของข้าวสาลีทั่วโลก รวมถึงอีก 80% ของการส่งออกน้ำมันดอกทานตะวัน

 

ยิ่งไปกว่านั้น ความแห้งแล้งตั้งแต่ปีที่แล้วในอเมริกาใต้ส่งผลกระทบต่อการเก็บเกี่ยวถั่วเหลืองและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งการขาดแคลนก็ทำให้ต้องขึ้นราคา แถมราคาปุ๋ยยังพุ่งสูงขึ้น เนื่องจากประเทศผู้ส่งออกปุ๋ยรายใหญ่ของโลกอย่างรัสเซียเจอมาตรการคว่ำบาตร จนตัดผลกำไรของเกษตรกร

 

World Food Program หรือโครงการอาหารโลกระบุว่า สถานการณ์ข้างต้นทำให้ประชากรราว 50 ล้านคนใน 45 ประเทศทั่วโลกตกอยู่ในภาวะอดอยาก และนับตั้งแต่เกิดโควิดระบาดมีประชากรราว 345 ล้านคนทั่วโลกต้องประสบกับภาวะขาดแคลนอาหาร โดยแอฟริกาได้รับผลกระทบหนักเป็นพิเศษ เนื่องจากต้องซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและอาหารมากกว่าขายจากภายนอก ซึ่งรายงานระบุว่าประเทศในแอฟริกาต้องควักเงินจ่ายมากกว่า 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปีในการซื้อน้ำมัน ข้าวสาลี และน้ำมันพืช

 

ประเด็นที่ 5: รัฐบาลและประชาชนควรทำอย่างไร 

ในแง่ของรัฐ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อเป็นทางเลือกหนึ่งที่พอจะทำได้อยู่ในเวลานี้ แต่นักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักยอมรับว่าการขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้กิจกรรมทางธุรกิจลดลง และด้วยการจ้างงานและเงินเดือนที่สูงขึ้น ซึ่งไม่ได้รับความนิยมทางการเมือง การไปไกลเกินไปอาจทำให้เกิดภาวะถดถอยหรือการเติบโตในเชิงลบ

 

ส่วนประชาชนคนทั่วไป การใช้เงินให้คุ้มค่า เลือกซื้อสินค้าที่จำเป็น และตัดสินค้าฟุ่มเฟือยออกไป ดูจะเป็นแนวทางปฏิบัติตามมาตรฐานที่ดีที่สุดในเวลานี้ หาทางเก็บออมเงินให้มากที่สุด เช่น ปลูกผักในสวนกินเอง ใช้ไมโครเวฟที่ประหยัดพลังงานมากกว่าเตาอบ ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีระบบขนส่งสาธารณะราคาไม่แพงก็ให้เลิกใช้รถยนต์ชั่วคราว เงินก่อหนี้ด้วยการกู้เงิน และเร่งชำระหนี้บัตรเครดิตก่อนที่อัตราดอกเบี้ยจะสูงขึ้นอีก จัดทำบัญชีครัวเรือนเพื่อกำจัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไป 

 

ผู้เชี่ยวชาญแนะว่าตราบใดที่ยังไม่รู้ว่าเงินเฟ้อจะกินเวลาลากยาวไปถึงเมื่อไร การประหยัดและเก็บสำรองเงินสดให้มากขึ้นก็เป็นการช่วยให้ตัวเองมีทางรอดได้มากขึ้น 

 

อ้างอิง: 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising