×

คลังเผยเริ่มจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาท รอบแรก 8 เมษายนนี้ โดยจะมีการแจ้งข้อมูลผ่าน SMS หรืออีเมล

โดย THE STANDARD TEAM
07.04.2020
  • LOADING...
เราไม่ทิ้งกัน

ธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจ่ายเงินตามมาตรการเยียวยา 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ให้กับแรงงานนอกระบบประกันสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 โดยยืนยันว่า การคัดกรองผู้ที่มีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยาต้องเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจริงเท่านั้น เช่น กลุ่มคนขับรถแท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ จะดูจากข้อมูลใบอนุญาตขับขี่สาธารณะ ซึ่งระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI จะตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นกับกรมการขนส่งทางบกว่าเป็นจริงหรือไม่ หากผู้ประกอบอาชีพอิสระจะดูช่องทางที่ประกอบอาชีพ และได้รับผลกระทบอย่างไร 

 

ล่าสุดมีผู้ลงทะเบียนขอรับสิทธิ์กว่า 24 ล้านคน มีผู้ขอยกเลิกเกือบ 3 แสนคน โดยระบบจะเริ่มแจ้งผลทั้งผู้ผ่านและไม่ผ่านการคัดเลือกในวันที่ 8 เมษายนนี้ ผ่านช่องทาง SMS หรืออีเมล โดยผู้ที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกจะเริ่มได้รับเงินเยียวยาในวันเดียวกัน โดยกระทรวงการคลังจะทยอยจ่ายตามลำดับผลการคัดกรอง และไม่มีการกำหนดโควตาว่าจะจ่ายวันละกี่คน เนื่องจากการตรวจสอบคัดกรองแต่ละคนใช้เวลาไม่เท่ากัน 

 

โดยกระทรวงการคลังยังคงเปิดรับลงทะเบียน จึงฝากเตือนผู้สนใจลงทะเบียนว่า ขณะนี้มีมิจฉาชีพหลอกลวงขอข้อมูลผู้ลงทะเบียนผ่าน LINE ขอยืนยันว่า มาตรการนี้ไม่มีการขอข้อมูล หรือสอบถามผู้ลงทะเบียนเพิ่มเติมผ่าน LINE ขอให้ประชาชนมั่นใจว่าจะได้รับการดูแลจากภาครัฐอย่างเต็มที่ 

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับกลุ่มที่ไม่เข้าเงื่อนไขตามมาตรการคือ นักเรียน นักศึกษา แรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 แต่ภาครัฐมีมาตรการเยียวยาอย่างต่อเนื่อง ส่วนเกษตรกร ภาครัฐกำลังจะมีมาตรการเยียวยาเฉพาะ นอกจากนี้ ยังมีบางกลุ่มที่ได้รับผลกระทบบ้าง แต่ยังพอทำงานหรือประกอบอาชีพได้ อาทิ คนขายของออนไลน์ โปรแกรมเมอร์ คนงานก่อสร้าง ซึ่งกลุ่มนี้เป็นผู้ที่ยังมีความยืดหยุ่นในการทำงาน สามารถประกอบอาชีพต่อไปได้ ก็จะทยอยออกมาตรการช่วยเหลือตามลำดับต่อไป

 

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ได้ที่ thestandard.co/coronavirus-coverage

และอัปเดตทุกความเคลื่อนไหวของโรคโควิด-19 ได้ที่ www.facebook.com/thestandardth

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising