×

สมศักดิ์เป็นตัวแทนรัฐบาล เสนอกฎหมายสมรสเท่าเทียมต่อสภา ระบุเราใช้เวลากับเรื่องนี้มานานพอแล้ว ขอแรง สส. ทุกคนช่วยโหวตให้สำเร็จ

โดย THE STANDARD TEAM
21.12.2023
  • LOADING...
สมศักดิ์ เทพสุทิน

วันนี้ (21 ธันวาคม) การประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาญัตติด่วน ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ สาระสำคัญคือการรับรองสิทธิทางกฎหมายในการสมรสของผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQIA+ ซึ่งร่างกฎหมายนี้รู้จักกันในชื่อร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม

 

ที่ประชุมสภายังได้นำร่างพระราชบัญญัติทำนองเดียวกันอีก 3 ฉบับ พิจารณาร่วมกันไป คือ

 

  1. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดย ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ กับคณะเป็นผู้เสนอ

 

  1. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดย อรรณว์ ชุมาพร กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 11,611 คน เป็นผู้เสนอ

 

  1. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดย สรรเพชญ บุญญามณี สส. พรรคประชาธิปัตย์ กับคณะ เป็นผู้เสนอ (ซึ่งยังไม่ได้บรรจุระเบียบวาระ แต่ผ่านการตรวจสอบแล้วไม่พบข้อบกพร่อง)

 

สำหรับร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่เสนอโดย ครม. มี สมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำเสนอหลักการให้ที่ประชุมรับทราบ 

 

สมศักดิ์กล่าวว่า การเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้เพศใดก็ตาม สามารถหมั้นและสมรสกันได้ ซึ่งจะทำให้มีสิทธิและหน้าที่ รวมถึงสถานะทางครอบครัวเท่าเทียมกับคู่สมรสชาย-หญิงในปัจจุบันทุกประการ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของสถาบันครอบครัวที่สอดคล้องกับบริบทสังคมในปัจจุบัน

 

สมศักดิ์ระบุเหตุผลของการเสนอกฎหมายฉบับนี้คือ สถาบันครอบครัวเป็นหน่วยสำคัญในการพัฒนาสังคมและการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน แต่การก่อตั้งครอบครัวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จำกัดเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิง ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบันที่มีการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวระหว่างบุคคลที่มีเพศเดียวกันโดยกำเนิด โดยมีการอุปการะเลี้ยงดูและมีความสัมพันธ์ในด้านอื่นๆ ไม่แตกต่างไปจากคู่สมรสที่เป็นชายและหญิง

 

โดยร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมของ ครม. มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. จำนวน 74 มาตรา ดังนี้ 

 

  1. แก้ไขคำว่าชาย-หญิง สามี-ภรรยา เป็นบุคคลผู้หมั้น ผู้รับหมั้น และแก้ไขคำว่าสามี-ภรรยา เป็นคู่สมรส เพื่อให้มีความหมายครอบคลุมทุกเพศ 

 

  1. แก้ไขบทบัญญัติให้ชัดเจนขึ้น ในกรณีที่ลักษณะทางธรรมชาติใช้เฉพาะชาย-หญิง โดยกำเนิดเท่านั้น เช่น บทบัญญัติเกี่ยวกับการมีครรภ์ จะบัญญัติให้ชัดเจนว่า ใช้เฉพาะการสมรสระหว่างชาย-หญิงเท่านั้น รวมถึงเพิ่มเหตุฟ้องหย่าให้สอดคล้องกับลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกัน 

 

  1. กำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนกฎหมายและความรับผิดชอบให้สอดคล้องกับร่างพระบัญญัติที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมแล้วภายใน 180 วัน

 

  1. การเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นการเสนอเพื่อแก้ไขกฎหมายเดิมเท่านั้น ไม่ได้เป็นการเสนอร่างกฎหมายใหม่ กฎหมายฉบับนี้จึงไม่กระทบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี, ยะลา, นราธิวาส และสตูล ซึ่งได้ยกเว้นการใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 โดยให้นำกฎหมายอิสลามมาใช้แทนในส่วนของครอบครัวและมรดก รวมถึงสอดคล้องกับหลักกฎหมายเฉพาะยกเว้นกฎหมายทั่วไป โดยมีการบัญญัติเรื่องดังกล่าวในมาตรา 66 ของร่างกฎหมายฉบับนี้

 

  1. สรุปผลการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายฉบับนี้ กระทรวงยุติธรรมได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม – 14 พฤศจิกายน 2566 จำนวนทั้งสิ้น 15 วัน รับฟังความคิดเห็นในรูปแบบออนไลน์ และประชุมร่วมกันกับผู้นำทางศาสนา และหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่กรุงเทพฯ และทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ผลการรับฟังความเห็นสะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 96.6 เห็นด้วยกับร่างกฎหมายนี้

 

สมศักดิ์กล่าวถึงประโยชน์ของร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่เสนอโดย ครม. ดังนี้

 

  1. เป็นการยืนยันเจตนารมณ์และนโยบายของรัฐบาลในการเคารพและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน โดยการปรับปรุงกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมเพื่อเป็นหลักประกันว่า บุคคลทุกคนจะได้รับสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ ตลอดจนส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีด้านสิทธิมนุษยชนแก่ประเทศไทย สร้างการยอมรับ และความเชื่อถือจากประชาคมระหว่างประเทศ

 

  1. เป็นเครื่องมือทางกฎหมายในการจัดการกับความสัมพันธ์ทางครอบครัว และขจัดปัญหาที่อาจเกิดภายในครอบครัวที่หลากหลายทางเพศ เช่น การที่ไม่สามารถจัดการทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกัน สิทธิในการเป็นทายาทโดยธรรม สิทธิในการจัดการแทนผู้เสียหาย และสิทธิในการตัดสินใจเกี่ยวกับรักษาพยาบาล

 

  1. เป็นเครื่องมือช่วยสร้างกระบวนการเรียนรู้ทางสังคม ให้ทุกภาคส่วนได้รู้จัก เข้าใจ และให้ความเคารพในความแตกต่าง และเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันในสังคมด้วยความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกันและกันต่อไป

 

“การพิจารณาในวันนี้มีกฎหมายถึง 4 ฉบับของรัฐบาล ของพรรคก้าวไกล พรรคประชาธิปัตย์ และภาคประชาชน เราใช้เวลามาเนิ่นนานตั้งแต่สมัยรัฐบาลที่แล้ว กฎหมายยังไม่แล้วเสร็จ จึงขอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกภาคส่วน ทุกพรรค ได้ช่วยกันผ่านกฎหมายฉบับนี้ โดยอย่าคิดว่าเป็นกฎหมายของพรรคใดพรรคหนึ่ง เราควรร่วมใจกันทำกฎหมายให้สำเร็จเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคม และเราใช้เวลาเรื่องนี้มาพอสมควรแล้ว” สมศักดิ์กล่าวทิ้งท้าย

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising