×

อ่านแนวคิดและวิธีการทำงาน หมอประสิทธิ์-ชัชชาติ-นครินทร์ บนเวที Siriraj Hackathon

12.07.2022
  • LOADING...
Siriraj Hackathon

วานนี้ (11 กรกฎาคม) คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และสโมสรนักศึกษาแพทย์ศิริราช จัดงาน Siriraj Hackathon Open House ณ ห้องประชุมราชปนัดดาสิรินธร อาคารศรีสวรินทิรา โรงพยาบาลศิริราช ร่วมพูดคุยถึงการเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรมด้านสุขภาพ ที่จะเสริมสร้างความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น โดยมีผู้ร่วมบรรยายได้แก่ 

  • รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.)​​ 
  • ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล 
  • รศ.นพ.เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช 
  • ณรงค์ชัย ลิมป์ปิยาภิรมย์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Cariva
  • ศ.พญ.ธนัญญา บุณยศิรินันท์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
  • นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และบรรณาธิการบริหาร THE STANDARD 

 

‘โควิด’ สถานการณ์ที่ไม่คาดคิด แต่รอดจากวิกฤตเพราะทุกคนช่วยคิด

 

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา กล่าวเปิดงานและเล่าถึงภาพรวมนวัตกรรมสุขภาพในปัจจุบัน โดยกล่าวว่าการแพร่ระบาดของโควิดเป็นสถานการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้นมาก่อน แต่ที่ผ่านมาเราสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้ด้วยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน สำหรับ Siriraj Hackathon เป็นกิจกรรมเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต ด้วยการค้นหาไอเดียภายใต้เวลาที่จำกัด เพื่อแก้ไขปัญหาจากสถานการณ์จำลองที่ไม่สามารถคาดเดาได้ 

 

“ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นหลายเรื่องราวที่ไม่คิดว่ามันจะเกิดแล้วมันก็เกิด คงไม่มีใครคิดว่าโรคระบาดจะเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ โจทย์เหล่านี้เป็นโจทย์ที่บ่อยครั้งเกิดขึ้นในขณะที่เราไม่ได้เตรียมการ และมีช่วงระยะเวลาสำหรับแก้ไขปัญหาที่สั้นมาก ตอนนั้นโลกเราไม่มีมาตรการในการจัดการเลย แล้วปีแรกที่เราไม่มีวัคซีนเราอยู่รอดได้อย่างไร มีการระดมสมองช่วยกันคิดอย่างไร ซึ่งคำตอบไม่ใช่เพราะใครคนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่เพราะหมอ วิศวกร หรือแค่นักวิชาการอย่างเดียว แต่เป็นการร่วมจากหลายภาคส่วน เราสามารถนำคนจากหลากหลายรุ่น หลากหลายความคิด หลากหลายความชำนาญมาร่วมมือกัน แม้จะมีโจทย์ยากๆ ผมก็เชื่อว่าเราจะแก้มันได้ และกิจกรรม Hackathon นี้เองคือการจำลองเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตเหล่านั้น” ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์กล่าว

 

‘คำตอบแรกอาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกที่สุด’ ชัชชาติถอดบทเรียนจากสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ แนะฟังให้มาก อย่าหลงรักคำตอบแรก

 

ด้าน ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ถอดบทเรียนจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. สู่การวางแผนใน Hackathon โดยเสริมว่าการทำงานเป็นทีมให้ประสบความสำเร็จต้องอาศัยทั้งกลยุทธ์จาก CEO และกลวิธีจาก Manager ในส่วนของ Hackathon นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้สำเร็จได้ภายใต้เวลาที่จำกัด แต่ตนเชื่อว่ากิจกรรมจะจุดประกายไอเดียสำหรับพัฒนาต่อได้แน่นอน

 

สำหรับหัวใจสำคัญของ Hackathon ชัชชาติกล่าวว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาจำเป็นต้องแตกต่างจากโมเดลธุรกิจเดิม (Disruption) และสามารถขยายต่อไปได้ (Scale) พร้อมทั้งแนะนำหลักคิดสู่การทำงานให้สำเร็จผ่าน 3 คำถาม

  • เราเชี่ยวชาญในเรื่องที่จะทำหรือเปล่า
  • สิ่งที่ทำยัง Relevant กับโลกหรือเปล่า
  • คุณยังสนุกกับสิ่งที่ทำอยู่หรือเปล่า 

 

คำถามแรก ชัชชาติกล่าวว่า เราจำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญในเรื่องที่จะทำให้เทียบเท่ากับคนที่อยู่ในแวดวงนั้นๆ เสียก่อน โดยยกตัวอย่างการลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ว่าตนเองไม่ใช่คนที่มีความรู้ลึกซึ้งเกี่ยวกับ กทม. และเมือง จึงต้องอ่านหนังสือและหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อเสริมความรู้ของตัวเองก่อน ในขณะเดียวกันก็หาคนที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ มาร่วมทีม

 

“3 ปีก่อนผมถามทีมงานว่ารู้เรื่องเมืองดีหรือยัง รู้เรื่องระบายน้ำเท่ากับเจ้าหน้าที่ กทม. หรือยัง เจ้าหน้าที่ กทม. มี 8 หมื่นคน แต่ละคนเชี่ยวชาญในเรื่องแตกต่างกัน ถ้าเราจะแก้ปัญหาการระบายน้ำ อย่างน้อยก็ต้องรู้ให้เท่าเขาก่อน แน่นอนว่าผมไม่เชี่ยวชาญ เราก็แก้ไขด้วยการหาคนมาร่วมทีม ถามข้อสงสัย หาความรู้เพิ่ม เราต้องปรับความรู้ให้ไม่น้อยกว่าคนที่อยู่ในแวดวงนั้น” ชัชชาติกล่าว

 

สำหรับคำถามที่สอง ชัชชาติมองว่าการเมืองเป็นสเปกตรัม การเมืองที่แบ่งเป็นสองฝั่งอาจไม่ตอบโจทย์โลกในยุคปัจจุบัน ตนจึงเลือกลงสมัครในนามอิสระพร้อมดึงคนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมทีม เพื่อสร้างทีมที่ประกอบด้วยคนจากหลากหลายรุ่น (Multi-Generation Team) เพราะเชื่อว่าพวกเขามีไอเดียที่ตอบโจทย์โลกปัจจุบันได้อย่างแท้จริง อย่างไอเดียการหาเสียงรูปแบบใหม่ โดยเปลี่ยนแผ่นพับเล่านโยบายเป็นหนังสือพิมพ์ที่ประยุกต์ใช้ได้ แม้บางคนจะนำไปห่อดอกไม้ แต่เขาจะเห็นนโยบายของตนผ่านตา

 

คำถามสุดท้าย ชัชชาติย้ำว่าการทำงานต้องสนุก มีความสุข และมีความหวังงานถึงจะไปต่อได้ และเป็นสิ่งที่ตนต้องการให้ทีมงานตนมีเช่นเดียวกัน ชัชชาติเล่าถึงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งที่เดินไปปราศรัยตามจุดต่างๆ ใน กทม. ว่ามีบรรยากาศสนุกสนาน และเป็นวิธีหาเสียงที่แปลกใหม่ ทำให้สื่อหลายสำนักเลือกทำข่าวตน ซึ่งชัชชาติย้ำว่าความแปลกใหม่เองก็เป็นหัวใจที่ Start-up เช่นกัน

 

นอกจากการมีกลยุทธ์ที่ดีแล้ว กลวิธีก็เป็นอีกสิ่งสำคัญในการทำ Hackathon โดยชัชชาติได้แนะนำ 5 วิธีปฏิบัติ ได้แก่

  • Clear Coherent Action Plan กลยุทธ์จำเป็นต้องมีแผนปฏิบัติที่ชัดเจน
  • Platform Revolution สร้างแพลตฟอร์มที่ช่วยแก้ไขปัญหา ยกตัวอย่าง Traffy Fondue ช่วยลดขั้นตอนการส่งเรื่องร้องเรียน ทำให้ปัญหาถูกแก้ไขได้เร็วยิ่งขึ้น
  • Collaboration การร่วมมือซึ่งกันและกัน ชัชชาติกล่าวว่ามีหลายนโยบายที่สำเร็จลุล่วงได้ด้วยการช่วยเหลือจากหลายภาคส่วน เช่น การจัดดนตรีในสวน กรุงเทพกลางแปลง ปลูกต้นไม้ล้านต้น ดังนั้นจึงต้องมีการจับมือกันระหว่างองค์กร
  • Product Age vs. Brand Age การสร้างแบรนด์ไม่สำคัญเท่าผลิตภัณฑ์ หรือผลลัพธ์ที่ดีแล้วได้รับการบอกต่อ
  • Walk the Talk ลงพื้นที่พูดคุยเพื่อให้ทราบถึงข้อมูลเชิงลึก และพูดคุยกับผู้ประสบปัญหาโดยตรง

 

“อย่าไปหลงรักคำตอบแรก หลายครั้งเรามีคำตอบแรกเข้ามาในใจแล้วหลงรักมัน จนกระทั่งเราไม่ยอมเปลี่ยนใจ เพราะฉะนั้นต้องฟังให้เยอะ เพราะคำตอบแรกอาจะไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องที่สุด” ชัชชาติฝากถึงผู้เข้าร่วมงาน Hackathon

 

‘ความคิดดี แต่สื่อสารไม่ดี’ สิ่งที่ต้องการทำก็จะมีประสิทธิภาพลดลง

 

นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และบรรณาธิการบริหาร THE STANDARD ได้เล่าถึงบทเรียนสำคัญจากการทำงานในแวดวงสื่อว่า การสื่อสารเป็นเครื่องมือที่สำคัญไม่แพ้ทักษะในการรักษาของแพทย์

 

“ปี 2018 มีสถิติที่น่าสนใจบอกว่า การกระทำที่อาจจะผิดต่อหน้าที่หรือมีความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลเกือบ 30% เกี่ยวข้องกับเรื่องการสื่อสารที่ผิดพลาด (Communication Failures) ซึ่งส่งผลเสีย ทำให้คนเสียชีวิตกว่า 1,744 ราย เกิดมูลค่าความเสียหายในภาพรวมกว่า 1.7 พันล้านบาท ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าเรื่องหนึ่งที่สำคัญมากก็คือการสื่อสาร ถือเป็นอีกทักษะหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กับ Hard Skill ที่เก่งด้านการแพทย์ การสื่อสารถือเป็นหน้าที่หลักของทุกคนที่ควรจะฝึกไว้ เพราะมีความคิดดีแค่ไหน แต่ถ้าไม่สามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ศักยภาพของสิ่งที่เราทำมันก็จะลดน้อยถอยลงไปค่อนข้างมาก” นครินทร์กล่าว

 

นอกจากนี้ นครินทร์กล่าวว่า สิ่งสำคัญของการสื่อสารคือการเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์สื่อและพฤติกรรมผู้บริโภค สำหรับภูมิทัศน์สื่อในโลกปัจจุบันที่มีหลากหลายช่องทางให้ติดตามข่าวสาร และความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละช่องทางก็แตกต่างกันไปนั้น 

 

นครินทร์กล่าวว่า เราต้องปรับตัวไปตามช่องทางที่ต้องการสื่อสารเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด สำหรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปนครินทร์ย้ำว่า Health Communication is Empathetic Communication การสื่อสารเรื่องสุขภาพต้องอาศัยความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจ เพราะอำนาจในการสื่อสารอยู่ที่คนฟัง

 

นครินทร์ได้แนะนำเทคนิคในการสื่อสารผ่านสูตร ABCDEF2 ที่ต้องตอบให้ได้ เพื่อจะทำให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ได้แก่

  • Action เราต้องการการตอบรับแบบไหนจากผู้รับสาร
  • Audience เราต้องการสื่อสารกับใคร ปรับการสื่อสารให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย
  • Benefit ผู้รับสารจะได้ประโยชน์อะไร
  • Big Idea เราต้องการจะสื่อสารอะไร
  • Context บริบทของสถานการณ์ที่กำลังสื่อสาร
  • Character เราเป็นแบบไหน เหมาะกับสื่อสารในเรื่องนั้นๆ หรือเปล่า
  • Directions เทคนิคในการเล่า ซึ่งนครินทร์แนะนำให้เล่าเรื่องเป็นเส้นตรง ไม่จำเป็นต้องซับซ้อน
  • Differentiate เราแตกต่างจากคนอื่นๆ อย่างไร
  • Empathy & Engage สร้างการรับฟังและเข้าใจซึ่งกันและกัน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม
  • Feeling > Fact คนจำเรื่องราวได้มากกว่าข้อมูลข้อเท็จจริง

 

ณรงค์ชัย ลิมป์ปิยาภิรมย์ กล่าวปิดท้ายจากการเสวนาในหัวข้อ ‘นวัตกรรมด้านระบบสุขภาพ: เทคโนโลยีจะช่วยหมอได้อย่างไร’ ว่า การสร้างนวัตกรรมต้องอาศัยการเปิดใจ และเปิดกว้างในการคิดหาวิธีการแก้ปัญหา กิจกรรม Hackathon ในครั้งนี้นับเป็นโอกาสอันดีที่ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้าง และต่อยอดนวัตกรรมทางการแพทย์ได้ จึงอยากให้ทุกคนคว้าโอกาสในการเข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมนี้ไว้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising