×

คิดงานไม่ออก ไอเดียไม่พุ่ง ลองอาบน้ำดูสิ! ทำความรู้จัก ‘Shower Effect’ ความคิดสร้างสรรค์ที่มาจากการอาบน้ำ

02.12.2022
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 MIN READ
  • Shower Effect มีอีกชื่อเรียกคือ ‘Shower Power’ เป็นการพูดถึงผลลัพธ์อันไม่คาดคิดที่ได้จากการอาบน้ำ ซึ่งพลังความสร้างสรรค์ดังกล่าวไม่ได้มาจากตัวน้ำแต่อย่างใด หากแต่มาจาก ‘กิจกรรมอาบน้ำ’ ของเรา รวมถึงอุณหภูมิของน้ำที่อาบก็มีส่วนส่งผลต่อกระบวนการคิดด้วยเช่นกัน
  • การเพ่งสมาธิในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากไปเป็นศัตรูที่น่ากลัวที่สุดของความครีเอทีฟ และให้คำแนะนำคือใครก็ตามที่รู้ตัวว่ากำลังไอเดียตันควรไปพักเบรกด้วยการทำอย่างอื่น เพราะการปล่อยจิตให้ลอยละล่องอย่างอิสระย่อมดีกว่าให้เดินในทางเดินมืดๆ เบียดๆ แคบๆ
  • แม้จะฟังดูดี แต่การอาบน้ำเป็นเพียงโอกาสและกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดไอเดียได้เพียงเท่านั้น อาจไม่ใช่วิธีการันตีว่าจะคิดไอเดียออกเสมอไปในทุกครั้ง เนื่องจากสภาพจิตใจ กะจิตกะใจ ความรู้กับข้อมูลที่สั่งสมมา เดดไลน์ และอื่นๆ ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องพิจารณาร่วมด้วยเช่นกัน

เคยไหมที่คิดงานเท่าไรก็คิดไม่ออก รู้สึกถึงความหมดสิ้นหนทาง หรือวนลูปอยู่แต่ความคิดเก่าๆ เดิมๆ หาคำตอบเรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่าไรก็มีแต่จะทำให้ยิ่งเครียด 

 

แต่พอไปเดินเล่น นอนพัก ออกกำลังกาย ฟังเพลง ทำโน่นทำนี่ หรือแค่อาบน้ำเท่านั้นจู่ๆ ไอเดียเข้าท่าและคำตอบที่ต้องการ (หรือบียอนด์กว่านั้น) ก็บังเกิดขึ้นในหัวอย่างไม่ได้ตั้งใจ? หรือปิ๊งไอเดียได้แม้กระทั่งฝัน ง่วง หรือขณะมึนเมา?

 

เรื่องนี้เกี่ยวพันกับวิทยาศาสตร์ว่าด้วยความครีเอทีฟกับการปล่อยจิตให้เป็นอิสระ และสองสิ่งนี้ตอบคำถามได้ว่าทำไมจากงานวิจัยหนึ่งพบตัวเลข 72% ของผู้คนถึงได้ไอเดียสุดเข้าท่าและเจ๋งๆ จากกิจกรรมที่ต้องทำประจำ แต่ไม่นึกว่าจะให้อะไรเรามากไปกว่านั้นอย่างการอาบน้ำ ที่มีชื่อเรียกว่า ‘Shower Effect’ 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

Shower Effect พลังครีเอทีฟแห่งการอาบน้ำ

Shower Effect มีอีกชื่อเรียกคือ ‘Shower Power’ เป็นการพูดถึงผลลัพธ์อันไม่คาดคิดที่ได้จากการอาบน้ำ ซึ่งพลังความสร้างสรรค์ดังกล่าวไม่ได้มาจากตัวน้ำแต่อย่างใด หากแต่มาจาก ‘กิจกรรมอาบน้ำ’ ของเรา รวมถึงอุณหภูมิของน้ำที่อาบก็มีส่วนส่งผลต่อกระบวนการคิดด้วยเช่นกัน

 

โดยตามหลักวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาได้อธิบายสาเหตุที่เราปิ๊งไอเดียระหว่างอาบน้ำไว้คร่าวๆ ดังนี้

 

  • ความรู้สึกผ่อนคลาย การอาบน้ำเป็นกิจกรรมที่ทำให้ผ่อนคลาย เกิดความสบายใจ และพึงพอใจ ไปจนถึงบรรเทาอาการและทำให้ลืมความเครียดความกังวลไปได้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออาบน้ำร้อน) ซึ่งความผ่อนคลายนี้จะทำให้เรารู้สึกปลอดภัย และปล่อยให้กลไกทางด้านจิตใจทำงานอย่างอิสระ ลอยละล่อง และออกเดินทางไปยังกระแสความคิดต่างๆ โดยไม่ถูกตีกรอบ
  • เป็นการใช้จิตใต้สำนึกในการคิด เมื่อเราผ่อนคลาย จิตใต้สำนึกจะทำงานแทนจิตรู้สำนึกในการแก้ปัญหาหรือทำการคิดในเชิงสร้างสรรค์ โดยกระบวนการนี้จัดอยู่ในช่วงเวลาของการ ‘ฟักไข่ไอเดีย (Incubation Period)’ ที่เป็นการเซ็ตปัญหาที่ต้องการแก้ไข หรือเซ็ตคำถามไว้ในสมอง จากนั้นถอยออกมาจากการทำงานตรงหน้าเพื่อปล่อยให้จิตใต้สำนึกทำงานในแบ็กกราวด์ราวกับรันโปรแกรมทิ้งไว้ และการทำแบบนี้มีแนวโน้มที่จะคิดไอเดียออกอย่างแตกต่าง หรือมองปัญหาที่ตั้งไว้ในมุมมองที่ไม่เหมือนเดิม
  • สิ่งแวดล้อมที่ไม่ถูกใครตัดสิน การอาบน้ำเป็นกิจกรรมส่วนตัวที่มักจะกระทำคนเดียว ในสถานที่ปิด ฉะนั้นจะไม่มีใครมาหัวเราะต่อความคิดที่เราปิ๊งจากการอาบน้ำไม่ว่ามันจะตลกหรือไร้สาระแค่ไหน เพราะไม่มีใครได้ยินมันนอกจากเราได้ยินจากเสียงในหัวตัวเอง หรืออันที่จริงแม้แต่ตัวเราเองก็ยังตัดสินไอเดียเหล่านั้นของตัวเองน้อยกว่าที่ลงมือจด เขียน หรือพูดออกมาด้วยซ้ำ และเมื่อสมองของเราไม่ได้ซีเรียสว่าไอเดียไหนคือไอเดียจริงจังหรือไอเดียขำๆ จึงเกิดแนวโน้มว่าจะมีไอเดียเจ๋งๆ ที่แม้แต่ตัวเราก็นึกไม่ถึงผุดออกมาระหว่างนี้
  • ไม่ได้ทำอย่างอื่นนอกจากอาบน้ำ ตอนนั่งทำงานกับโต๊ะทำงาน มีความเป็นไปได้ที่เราอาจถูกรบกวนจากสิ่งรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นคนใกล้ตัวชวนคุย สายโทรเข้าบนหน้าจอโทรศัพท์ โซเชียลมีเดีย อีเมล ไลน์ และอีกมากมาย การอาบน้ำทำให้มีแต่เราที่โป๊เปลือยกับน้ำที่ปะทะร่างและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเท่านั้น ทำให้ในทางปฏิบัติแล้วการอาบน้ำอาจไม่ต่างกับการปลีกวิเวกไปนั่งสมาธิในถ้ำน้ำตกเหมือนหนังจีนสักเรื่องเท่าไรนัก และเมื่อขาดสิ่งยั่วยวนให้เสียสมาธิ สมองเราจะสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ และมีสมาธิมากขึ้นในแบบที่ไม่ได้ตั้งใจมากเกินไป
  • ปริมาณ Dopamine สารที่ทำให้เรามีสมาธิมากขึ้น กระฉับกระเฉงขึ้น อันเกิดมาจากการอาบน้ำหรือกิจกรรมอื่นๆ ที่ทำให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย การอาบน้ำทำให้ Dopamine ไหลเวียนได้ดี และแทนที่จะคิดออกสู่ด้านนอก ความคิดของเราจะมุ่งเข้าสู่ด้านในมากขึ้น ถูกเบี่ยงเบนโดยสิ่งเร้ารอบตัวน้อยลง

 

 

การศึกษาและงานวิจัยน่าสนใจ ที่ช่วยให้เข้าใจการปรากฏการณ์ Shower Effect

John Kounios ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเดร็กเซล ผู้แต่งร่วมหนังสือ ‘The Eureka Factor: Aha Moments, Creative Insight, and the Brain’ กล่าวว่า มีสองเส้นทางจะทำให้มนุษย์คนหนึ่งแก้ไขปัญหาได้ เส้นทางแรกคือ ‘เชิงวิเคราะห์ (Analytical)’ หรือการที่เราจะคิดหาทางออกอย่างตั้งใจ และทดลองหาหนทางนั้นอย่างมีแบบแผน มีขั้นตอน และอีกเส้นทางคือ ‘การเห็นแจ้ง (Insight)’ ที่ทางแก้ปัญหาจะมาในรูปของการที่จู่ๆ ก็เกิดไอเดียในหัวอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย 

 

การเกิดขึ้นของไอเดียรูปแบบนี้เขาเรียกมันว่า ‘อะฮ่า! โมเมนต์ (Aha! Moment)’ ที่มักเกิดจากความคิดอันไม่ปะติดปะต่อเท่าไรนัก

 

จากการทดลองของศาสตราจารย์ John Kounios ผู้ร่วมทดลองที่แก้ไขปัญหาด้วยวิธีแบบเห็นแจ้งจะมีการทำงานของสมองใหญ่ส่วนกลีบขมับขวา (Right Temporal Lobe) มากเป็นพิเศษ สมองส่วนนี้เชื่อมโยงกับส่วนอื่นๆ อีกมากมาย และมันเกี่ยวข้องกับสัมผัสและไอเดียที่แปลกใหม่ ในขณะที่อีกแบบจะเป็นการใช้สมองส่วนหน้า (Frontal Lobe) ในการแก้ปัญหา

 

นอกจากนี้สมองส่วน Temporal Lobe ยังเป็นส่วนเดียวกับที่ทำให้เราเข้าใจความหมายเชิงเปรียบเปรย สัญลักษณ์ หรือเก็ตมุกตลกอีกด้วย ซึ่งความเข้าใจในสิ่งเหล่านี้ต้องพึ่งพากระบวนการที่ให้เข้าใจเรียกง่ายๆ ว่า ‘การขาดหายของความคิดก่อนจะอ๋ออย่างนี้นี่เอง’ ที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า ‘Mental Leap’ หรือ ‘Brain Blink’ และกระบวนการนี้จะเกิดขึ้นได้จากการที่คลื่นอัลฟาพวยพุ่งเป็นพิเศษในสมองส่วนหลัง และมันทำการปิดการทำงานด้านภาพ และการรับรู้ข้อมูลใดๆ ราวกับเรากำลังหลับตาหรือเบือนหน้าหนีจากสิ่งตรงหน้าอยู่

 

ทำให้ก่อนที่จะเกิดความเห็นแจ้ง Brain Blink จะตัดทุกสิ่งทุกอย่างที่หันเหความสนใจเรา และทำให้เราขาดการรับรู้เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมชั่วคราว และในช่วงเวลานั้นเราจะสามารถโฟกัสไปที่ความคิดภายในอย่างเต็มที่ และจิตใต้สำนึกของเรายังทำหน้าที่ใช้ไอเดียกับความรู้ที่มีที่บรรจุเก็บอยู่ในสมองมาประมวล และก่อให้เกิดเป็นไอเดียไปด้วยพร้อมๆ กัน 

 

การใช้สมองส่วน Temporal Lobe ไปกับการหาคำตอบอย่างคิดวิเคราะห์ทำให้เราเต็มไปด้วยข้อมูล และอาจเกิดอาการเครื่องแฮงก์ได้ การไปเดิน ออกกำลังกาย อาบน้ำ จึงช่วยให้หลั่งทั้งสาร Dopamine และ Endorphin ฮอร์โมนแห่งความสุข ทำให้เราคิดบวกมากขึ้น หรือคิดแบบไร้กรอบได้มากขึ้นโดยไม่เครียด เพราะหากเครียดเราจะมองหนทางอย่างแคบราวกับถูกตีกรอบด้วยอุโมงค์แห่งวิสัยทัศน์ที่ทั้งแคบและมืด (Mental Tunnel Vision)

 

อีกหนึ่งการวิจัยค้นคว้าเป็นของ Zac Irving ผู้ทำการศึกษาและเป็นอาจารย์สอนด้านปรัชญาแห่งวิทยาศาสตร์ความรับรู้ที่มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย โดยงานวิจัยของ Zac ระบุอย่างน่าสนใจว่า การเพ่งสมาธิในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากไปเป็นศัตรูที่น่ากลัวที่สุดของความครีเอทีฟ และให้คำแนะนำคือใครก็ตามที่รู้ตัวว่ากำลังไอเดียตันควรไปพักเบรกด้วยการทำอย่างอื่น เพราะการปล่อยจิตให้ลอยละล่องอย่างอิสระย่อมดีกว่าให้เดินในทางเดินมืดๆ เบียดๆ แคบๆ

 

แต่ถึงอย่างนั้น จากการวิจัยเรื่องการโฟกัสและความคิดอิสระของ Zac Irving ก็ได้ข้อสรุปว่า ความคิดสร้างสรรค์ที่ดีไม่เพียงแต่จะมาจากการปล่อยจิตให้อิสระเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการบาลานซ์ให้ดีระหว่างความคิดอิสระและความคิดแบบโฟกัส เพราะหากโฟกัสมากเกินไปก็เครียดและคิดไม่ออก ในขณะเดียวกันหากปล่อยให้อิสระมากเกินไป ก็อาจกลายเป็นเบื่อจากกิจกรรมที่ทำจนถูกรบกวนด้วยความเบื่อ และเกิดอาการสมองโล่ง ไม่เกิดไอเดียได้เช่นกัน

 

ส่วนทางด้าน Ron Friedman นักจิตวิทยาผู้แต่งหนังสือ The Best Place to Work: The Art and Science of Creating an Extraordinary Workplace กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “ผมได้ทำการรีเสิร์ชเรื่องการอาบน้ำ และได้ทำงานวิจัยหลายชิ้น สิ่งที่ค้นพบคือคนส่วนใหญ่รู้สึกว่าตัวเองครีเอทีฟตอนอาบน้ำ มากกว่าช่วงเวลาในที่ทำงาน นั่นพอจะบอกอะไรได้เกี่ยวกับวิธีการคิดและความคิดสร้างสรรค์ 

 

“คุณต้องสร้างพื้นที่นั้นให้กับชีวิตคุณ และพื้นที่ที่ว่ามักเกิดขึ้นเมื่อคุณอาบน้ำ มันคือหนึ่งในช่วงเวลาไม่กี่ช่วงที่เราไม่ได้ถูกผูกติดอยู่กับอุปกรณ์และเทคโนโลยี แต่เป็นช่วงเวลาที่ทำให้เรามีพื้นที่แบบเอ็กซ์ตร้าที่จะหาความเชื่อมโยงกันระหว่างไอเดียและความรู้ที่มี และถ้าเราไม่ให้เกิดสิ่งนี้ในชีวิต มันก็ยากที่จะเวิร์ก” 

 

 

การใช้ประโยชน์จากไอเดียระหว่างอาบน้ำ

ได้รู้จัก Shower Effect กันไปแล้ว และเข้าใจการเกิดขึ้นและดำเนินไปของพลังแห่งการอาบน้ำกันไปแล้ว แต่หากใช้ประโยชน์จากมันไม่ได้เต็มที่ ก็เหมือนเจไดในภาพยนตร์ Star Wars ที่มีพลัง Force แกร่งกล้า แต่ไม่สามารถกวัดแกว่งดาบและใช้พลังนั้นได้อย่างเต็มที่

 

ต่อไปนี้คือคำแนะนำว่าควรทำอย่างไรดีหากจะ Take Advantage จากไอเดียที่ได้จากการอาบน้ำเหล่านี้

 

เหนื่อยก็พักอาบน้ำ หากตัดเรื่องผลพลอยได้เหล่านี้ออกไป การตื่นมาอาบน้ำ การร้อนแล้วอาบน้ำ หรือการกลับมาแล้วอาบน้ำก่อนทำอย่างอื่น ขั้นต้นช่วยให้รู้สึกสบายตัวพอที่จะมานั่งทำงานอย่างมีสมาธิและรู้สึกรีแล็กซ์ขึ้นได้ ส่วนที่ได้กล่าวไปก็เป็นเรื่องดีเช่นกัน ถ้าหากก่อนอาบน้ำเราจะบังเอิญอะฮ่า! คิดอะไรบางอย่างออกได้ 

 

มีอะไรใกล้ตัวไว้ให้จด ไอเดียจากการอาบน้ำพวยพุ่งพอๆ กับน้ำที่ไหลออกจากฝักบัว แต่ถ้าหากเราปล่อยไหลมากๆ มันก็อาจไหลลงท่อไปตลอดกาล ฉะนั้นหลักการเดียวกันกับการคิดไอเดียออกในทุกๆ สถานการณ์ เป็นเรื่องดีถ้าเรามีอะไรไว้ให้จดบันทึกใกล้ตัว อาจเป็นการปิดน้ำแล้วบันทึกไว้ในโทรศัพท์มือถือที่เอาเข้าไปฟังเพลงหรือพอดแคสต์ระหว่างอาบน้ำ ไวต์บอร์ด หรือโน้ตบุ๊ก ถึงสองอย่างหลังดูจะยากที่เอาเข้าไปไว้ในห้องน้ำก็ตาม

นำปัญหาเข้าห้องน้ำไปด้วย ก่อนอาบน้ำลองเซ็ตปัญหาเอาไว้ในสมอง และปล่อยใจให้ไปตามกระแสความคิด จากนั้นกระทำการขัดสีฉวีวรรณร่างกายตัวเอง โดยปล่อยให้สมองส่วนจิตใต้สำนึกทำงานอัตโนมัติในแบ็กกราวด์

 

สร้างสภาพแวดล้อมที่น่าพึงพอใจ ในเมื่อเรื่องนี้เป็นเรื่องของความรู้สึกผ่อนคลายสบายอารมณ์ และไอเดียจะเกิดขึ้นได้ถ้าเรารู้สึกผ่อนคลาย ความพึงประสงค์ของสภาพแวดล้อมก็เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นรูป กลิ่น หรือเสียง โดยอาจเปิดเพลงคลอไปด้วย ใช้สบู่กลิ่นหอม หรือมีห้องน้ำในสภาพที่สะอาดและเป็นระเบียบ น่ามอง หรือน่าอยู่ชนิดที่อยู่เป็นชั่วโมงหรือทั้งวันก็ยังได้ สิ่งเหล่านี้คือการลงทุนที่ดีต่อใจ ต่อให้ไม่เกี่ยวข้องกับความคิดเชิงสร้างสรรค์ก็ตาม

 

อาบน้ำนานสักหน่อยไม่ใช่เรื่องผิด ในเมื่อการอาบน้ำเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องผิดหากจะแช่ตัวในอ่างหรือยืนอาบน้ำนานกว่าปกติที่เคย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรู้สึกได้ว่าไอเดียกำลังไหล หรือความคิดเข้าท่ากำลังจะมา การกระทำอื่นก็อาจเป็นการขัดจังหวะให้คิดสร้างสรรค์อย่างไม่ปะติดปะต่อ และไอเดียจบลงตรงนั้นได้ (แต่ก็อยากให้ระวังเรื่องค่าน้ำด้วยนะ)

 

 

ไม่เพียงแค่อาบน้ำ 

แม้จะฟังดูดี แต่การอาบน้ำเป็นเพียงโอกาสและกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดไอเดียได้เพียงเท่านั้น อาจไม่ใช่วิธีการันตีว่าจะคิดไอเดียออกเสมอไปในทุกครั้ง เนื่องจากสภาพจิตใจ กะจิตกะใจ ความรู้กับข้อมูลที่สั่งสมมา เดดไลน์ และอื่นๆ ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องพิจารณาร่วมด้วยเช่นกัน เพราะ Shower Effect เป็นดั่ง Magic Moment ในการถ่ายภาพหรือถ่ายทำภาพยนตร์ ที่ใช่ว่าจะ Force ให้มันเกิดขึ้นเสมอได้ แต่ต้องอาศัยองค์ประกอบต่างๆ และจังหวะที่พอเหมาะพอเจาะ

 

ซึ่งหากมองอีกแง่ การอาบน้ำเป็นการทำสมาธิอย่างไม่รู้ตัวอย่างหนึ่ง และเป็นการใช้ช่วงเวลาชีวิตแต่ละวันอย่าง Productive ทำให้ถึงแม้บทความนี้จะโฟกัสไปที่การอาบน้ำ และการศึกษาวิจัยชี้ว่าการอาบน้ำให้ผลดีต่อความคิดสร้างสรรค์ แต่ดังที่ได้กล่าวไปในช่วงต้นบทความว่า Shower Power ไม่ได้เป็นเพียง Power เดียว แต่เป็นเพียงแขนงหนึ่งของวิธีการปล่อยจิตให้คิดอย่างอิสระตามกระแสความคิด

 

ฉะนั้นหากไม่ต้องการอาบน้ำบ่อยๆ หรือวันนี้อาบไปแล้ว ยังมีวิธีการอีกมากมายที่จะจำลองทุกอย่างให้อยู่ในเงื่อนไขเดียวกัน เช่น ไปเดินเล่นแถวๆ นั้น นอนพิงนอนแผ่มองเพดาน ไปนวด ทำสมาธิ หรือนั่งโต๊ะทำงานทำการจดบันทึกเพื่อคิดทบทวนไอเดียว่ามีอะไรอยู่ ถึงไหนแล้ว ขาดอะไร ต้องการไอเดียอะไรเพิ่ม รวมไปถึงสร้างสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้น่าอยู่ดูผ่อนคลายในทุกๆ ด้าน และขจัดสิ่งเบี่ยงเบนความสนใจให้พ้นพื้นที่นั้น เพื่อสร้างพื้นที่ที่เหมาะสมในการคิดและทำงานอย่างโฟลวๆ ขึ้นมา 

 

ทั้งหมดนี้อาจต่างที่กระบวนการ แต่ยังคงไว้ซึ่งผลลัพธ์และคอนเซปต์เดียวกันกับการอาบน้ำ คือสร้างความผ่อนคลายให้กับร่างกายและจิตใจ ที่จะช่วยบู๊ตสมองให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างที่เรานึกไม่ถึง 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X