×

ตลท. เตรียมเปิดตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลกลางปีหน้า เพิ่มทางเลือกนักลงทุนและโอกาสระดมทุนภาคธุรกิจ

19.11.2021
  • LOADING...
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยประกาศความพร้อมเดินหน้าสู่การเป็นตลาดทุนดิจิทัลเต็มรูปแบบในปีหน้า เตรียมจับมือพันธมิตร คิวบิกซ์ ดิจิทัล แอสเสท (Kubix) ออกโทเคนดิจิทัลตัวแรกเสิร์ฟผู้ลงทุนในเดือนกุมภาพันธ์ และเปิดตลาดรองซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทยภายในไตรมาส 2-3 หวังเพิ่มโอกาสระดมทุนให้กับภาคธุรกิจและสร้างทางเลือกแก่นักลงทุนที่มองหาผลิตภัณฑ์การลงทุนรูปแบบใหม่

 

กิตติ สุทธิอรรถศิลป์ ผู้ช่วยผู้จัดการ สายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ให้สัมภาษณ์ทีมข่าว THE STANDARD WEALTH ว่าจากนโยบายของ ตลท. ในการก้าวสู่การเป็นตลาดทุนดิจิทัลเต็มรูปแบบทั้งในด้านการอำนวยความสะดวกเพื่อให้เกิดการพัฒนาสินค้าและการสร้างตลาดรองสำหรับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น คาดว่าสินทรัพย์ประเภทโทเคนดิจิทัล (Digital Token) ตัวแรกที่ ตลท. จะออกโดยผ่าน บริษัท คิวบิกซ์ ดิจิทัล แอสเสท จำกัด (Kubix) ซึ่งเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่โดย กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) ในฐานะพันธมิตรของ ตลท. จะสามารถดำเนินการได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 นี้ จากนั้นภายในช่วงปลายไตรมาส 2 หรือต้นไตรมาส 3 ก็คาดว่าจะสามารถเปิดตลาดรองสำหรับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลได้

 

“ในเดือนกุมภาพันธ์หรือภายในไตรมาสแรกปีหน้า เราจะออกโทเคนในตลาดแรกก่อน โทเคนอันแรกที่เราออกจะดำเนินการโดยพันธมิตรของเราคือคิวบิกซ์ จากนั้นเราก็จะเปิดตลาดรองการซื้อขายในช่วงปลายไตรมาส 2 หรืออย่างช้าจะเป็นต้นไตรมาส 3 ถือเป็นตลาดรองสินทรัพย์ดิจิทัลที่ดำเนินการโดยตลาดหลักทรัพย์ จากตอนนี้มีตลาดรองของเอกชนแล้ว 7 แห่ง”

 

ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้อนุญาตให้มีการจัดตั้งศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) แล้วทั้งสิ้นจำนวน 7 ราย ประกอบด้วย

 

  1. บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด (BITKUB)
  2. บริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (Satang Pro)
  3. บริษัท หั่วปี้ (ประเทศไทย) จำกัด (Huobi) (คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีคำสั่งระงับให้บริการและเพิกถอนใบอนุญาต)
  4. บริษัท อีอาร์เอ็กซ์ จำกัด (ERX)
  5. บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด (Zipmex)
  6. บริษัท อัพบิต เอ็กซ์เชนจ์ (ประเทศไทย) จำกัด (Upbit)
  7. บริษัท จีเอ็มโอ-แซด.คอม คริปโทนอมิคซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (Z.comEX)

 

กิตติกล่าวว่า จากเป้าหมายดังกล่าว ตลท. จะจัดตั้ง บริษัท ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย จำกัด ซึ่งจะอยู่ภายใต้กลุ่มตลาดหลักทรัพย์ มุ่งการพัฒนาแพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัลครบวงจร โดยจะครอบคลุมตั้งแต่การเชื่อมต่อกับระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัลในตลาดแรก (Initial Coin Offering Portal หรือ ICO Portal) ทุกรายที่มีผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของผู้ลงทุนและผู้ระดมทุน จนถึงการซื้อขายเปลี่ยนมือในตลาดรองคือศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล

 

รวมไปถึงการให้บริการกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Wallet) เก็บรักษาโทเคนดิจิทัล เพิ่มช่องทางใหม่สำหรับผู้ต้องการระดมทุน และเป็นการสร้างโอกาสการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกให้กับผู้ลงทุน 

 

“สินทรัพย์ดิจิทัลแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มคริปโตเคอร์เรนซี(Cryptocurrency) เราไม่มีนโยบายจะเชื่อมโยงการลงทุนกับสินทรัพย์กลุ่มนี้ เพราะมีการเก็งกำไรสูง ไม่มีสินทรัพย์อะไรมาหนุน คงไม่เหมาะสมหากจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ลักษณะนี้

 

กับอีกกลุ่มคือดิจิทัลโทเคน ซึ่งจะแยกได้เป็นโทเคนเพื่อการลงทุน (Investmen Token) และยูทิลิตี้โทเคน (Utility Token) เราจะเป็นตลาดรองของสินค้ากลุ่มนี้โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เป็นตัวกลางไปหาสินค้า หรือผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) จากผู้ที่ต้องการระดมทุน”

 

ทั้งนี้สำนักงาน ก.ล.ต. ได้ให้ความเห็นชอบผู้ทำหน้าที่เป็น ICO Portal แล้ว จำนวน 7 ราย ประกอบด้วย

 

  1. บริษัท ลองรูท (ประเทศไทย) จำกัด (Longroot)
  2. บริษัท ที-บ็อกซ์ (ไทยแลนด์) จำกัด (T-BOX)
  3. บริษัท เอ็กซ์สปริง ดิจิทัล จำกัด (XSpring Digital)
  4. บริษัท บิเธิร์บ จำกัด (BiTherb)
  5. บริษัท คิวบิกซ์ ดิจิทัล แอสเสท จำกัด (Kubix) ยังไม่เริ่มประกอบธุรกิจ
  6. บริษัท แฟรคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (Fraction) ยังไม่เริ่มประกอบธุรกิจ
  7. บริษัท โทเคน เอกซ์ จำกัด (Token X)

 

กิตติกล่าวด้วยว่า เบื้องต้นยังไม่สามารถประเมินได้ว่าตลาดรองสินทรัพย์ดิจิทัลไทยจะเติบโตมากน้อยแค่ไหน แต่หากไม่ดำเนินการก็จะถูกดิสรัปต์ ขณะที่ในต่างประเทศ เช่น สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี และตลาดส่วนใหญ่ในยุโรปได้มีการจัดตั้งตลาดดังกล่าวแล้ว

 

ขณะที่ในส่วนของ ตลท. มีเป้าหมายหลักเพื่อเพิ่มทางเลือกในการระดมทุนให้กับภาคธุรกิจ ตลอดจนเพิ่มโอกาสการลงทุนลงทุนในผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้กับผู้ลงทุน

 

ข้อมูลของสำนักงาน ก.ล.ต. (ณ วันที่ 12 พฤศจิกายน) ระบุว่าตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลทั่วโลก มีมูลค่าตามมาร์เก็ตแคป (Market Cap) อยู่ที่ 2.87 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยกว่า 43.27% มาจาก Bitcoin 

 

ทั้งนี้พบว่าสินทรัพย์ดิจิทัลให้ผลตอบแทนสูงกว่าเมื่อเทียบกับหลักทรัพย์ ทองคำ และน้ำมัน โดยราคาสินทรัพย์ดิจิทัลยังมีความเสี่ยงและความผันผวนที่ค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับราคาหุ้นไทย (SET Index) ซึ่งในสัปดาห์ที่ผ่านมาให้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นอยู่ที่ +12.20% 

 

อย่างไรก็ตาม กิตติกล่าวว่า ด้วยเทคโนโลยีในการเก็บรักษาดิจิทัลโทเคนด้วยการเข้ารหัสจะทำให้เกิดการดิสรัปต์ขบวนการหลังการซื้อขายทั้งในส่วนของศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ คัสโตเดียน (Custodian) และการเป็นนายทะเบียน

 

สำหรับ คิวบิกซ์ ดิจิทัล แอสเสท ถือเป็นพันธมิตรรายแรกที่ร่วมมือกับ ตลท. ในการพัฒนาสินค้าและการสร้างตลาดรองสำหรับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งในอนาคตอาจจะมีพันธมิตรรายอื่นๆ ตามมาได้ เพราะตลาดหลักทรัพย์ยังเปิดกว้างในเรื่องนี้ 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising