×

เสรีรวมไทยเลือก ‘มังกร ยนต์ตระกูล’ เป็นเลขาธิการพรรคคนใหม่ เสรีพิศุทธ์มองเสนอชื่อพิธาโหวตเป็นนายกฯ กี่ครั้งก็ได้

โดย THE STANDARD TEAM
15.07.2023
  • LOADING...
เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส

วันนี้ (17 กรกฎาคม) พรรคเสรีรวมไทยจัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ครั้งที่ 2/2566 ที่โรงแรมริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ โดยเป็นการประชุมเพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการบริหาร 2 ตำแหน่ง คือ รองหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค โดย วิรัตน์ วรศสิริน เลขาธิการพรรคที่ลาออก และได้รับการเลื่อนไปเป็นรองหัวหน้าพรรค และเสนอให้ มังกร ยนต์ตระกูล ผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อ ขึ้นเป็นเลขาธิการพรรค ส่วนตำแหน่งกรรมการบริหารอื่นๆ ยังคงเป็นเช่นเดิม

 

พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส. บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย กล่าวเปิดการประชุมว่า ขอให้กำลังใจกับสมาชิกพรรค กรรมการบริหารพรรค และผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคทุกคนที่สอบตก หลังพรรคเสรีรวมไทยได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อเพียง 1 คน ยอมรับว่ามันเป็นเรื่องกระแสที่คนไทยอยากได้อย่างนี้ 

 

“ผมขอแสดงความเสียใจในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม แต่ขอให้ทุกคนอย่าเสียใจ เพราะการเลือกตั้งครั้งหน้าต้องเปลี่ยน แต่ครั้งนี้ประชาชนต้องการแบบนี้ และเชื่อว่าสมาชิกพรรคมีความรู้ความสามารถ เช่น ผมเข้าไปทำหน้าที่ ส.ส. ครั้งที่แล้วและพบว่า ส.ส. บางคนไม่มีคุณภาพ เอาแต่ผลประโยชน์ของตัวเองและผลประโยชน์ของพรรค ไม่เห็นแก่ผลประโยชน์ของประเทศชาติและส่วนรวม ซื้อ-ขายตำแหน่งยิ่งกว่าข้าราชการเสียอีก” พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ กล่าว

 

พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ ยังกล่าวถึงการเรียกประชุมสมาชิกรัฐสภาเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 19 กรกฎาคม เป็นครั้งที่ 2 หลังจากพรรคก้าวไกลต้องหารือกับพรรคเพื่อไทยหลังการลงมติครั้งแรกไม่ผ่าน ล่าสุดสมาชิกรัฐสภาบางคนระบุว่า การที่พรรคก้าวไกลจะเสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งนั้นจะดำเนินการไม่ได้ เพราะญัตตินี้ไม่ผ่านความเห็นชอบของสมาชิกรัฐสภาไปแล้ว และมีกระแสข่าวว่า หากมีการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนอื่นประกบก็จะเสนอชื่อพิธาได้อีก

 

พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ กล่าวว่า จะเสนอชื่อแคนดิเดต 1-3 ชื่อก็ได้ทั้งนั้น เพราะไม่มีข้อบังคับของการประชุมระบุไว้ เช่น จะเสนอชื่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือพิธาอีกก็ได้ เพราะข้อบังคับที่อ้างนั้นมันเกี่ยวกับข้อบังคับการประชุมเท่านั้น คนละเรื่องกับการเลือกนายกรัฐมนตรี ดังนั้นเวลาอ่านหนังสือควรอ่านทั้งเล่มแล้วค่อยมาพูดกัน ไม่ใช่อ่านแค่ข้อบังคับข้อที่ 41 ข้อเดียว แต่จะเถียงกันเช่นใดก็อยู่ที่อำนาจของประธานรัฐสภาว่าจะอนุญาตหรือไม่

 

เมื่อถามว่า ส.ส. และ ส.ว. น่าจะหารือเรื่องนี้กันหนักและอาจลงมติไม่ได้ พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ กล่าวว่า หากตนเป็นประธานรัฐสภาจะไม่ให้หารือ เพราะพูดกันไปหมดแล้ว การลงมติวันที่ 13 กรกฎาคม คือการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี แต่กลับเป็นการอภิปรายประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แทน 

 

“ผมเห็นว่าในการโหวตรอบที่ 2-3 สามารถเสนอชื่อพิธาได้ เพราะไม่ได้ถูกตัดสิทธิอะไร และช่วงเวลาก่อนที่จะถึงวันโหวตครั้งต่อไปก็เป็นเวลาที่พรรคก้าวไกลจะต้องไปเจรจารวบรวมเสียง ส.ว. แต่ยอมรับว่าโอกาสของพรรคก้าวไกลมีไม่มาก ส่วนใหญ่ปิดกั้นตัวเอง ยกมาตรฐานสูง เชื่อว่าในการโหวตวันที่ 19 กรกฎาคม พรรคเพื่อไทยจะไม่เสนอชื่อแข่ง แต่ยังเปิดให้พรรคก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรี สนับสนุนกันเต็มที่ จะลงมติรอบที่ 2, 3 หรือ 4 ก็ได้ และไม่ต้องมีการอภิปรายแล้ว เมื่อเปิดประชุมก็ให้ลงมติได้เลย โหวตเลย”

 

เมื่อถามว่า ส่วนจะมีการเปลี่ยนรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีหรือไม่นั้น พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลจะต้องหารือกันร่วมกับพรรคอื่นๆ ใน 8 พรรคจัดตั้งรัฐบาล ส่วนพรรคก้าวไกลจะถอยหรือไม่เพื่อให้พรรคเพื่อไทยจะเสนอชื่อ เศรษฐา ทวีสิน หรือ แพทองธาร ชินวัตร นั้น แม้จะเปลี่ยนเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย เชื่อว่าพรรคเพื่อไทยก็ยังคงจับมือกับพรรคก้าวไกล เนื่องจากมีการประกาศมาตลอด จะเสียคำพูดได้อย่างไร หากเสียคำพูดก็คบกันไม่ได้

 

“จุดยืนของพรรคคือ พร้อมร่วมกับทุกพรรคจัดตั้งรัฐบาล ยกเว้นพรรคเผด็จการหรือพรรครวมไทยสร้างชาติ ไม่เอา พล.อ. ประยุทธ์ แต่ยอมรับว่าจับมือกับ พล.อ. ประวิตร ได้ ยืนยันว่าตนไม่ใช่คนที่จะปิดกั้นตัวเอง” พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ กล่าว

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising