วันนี้ (7 กันยายน) การประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมจำนวน 4 ฉบับ โดย เสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายว่าตนไม่เห็นด้วยทั้ง 4 ร่าง แต่มีความเห็นต่างกับสมาชิกที่เห็นด้วยกับบางร่าง ทำให้เห็นว่า ส.ว. เรามีอิสระ ไม่ได้ถูกครอบงำหรือถูกสั่งการ และไม่ได้มาชดใช้หนี้ใครอย่างที่ถูกกล่าวหา ที่ไม่เห็นด้วยไม่ใช่เพราะถูกกล่าวหาและถูกด่าทอตั้งแต่เมื่อวานนี้ทั้งวัน แต่ไม่เห็นด้วยอย่างสมเหตุสมผลที่คิดว่าไม่ควรจะผ่านการพิจารณาทั้ง 4 ร่าง
เสรีอภิปรายต่อไปว่า คนเราถ้าถูกกดดัน ด่าทอ ต่อว่า ใส่ร้ายป้ายสี ย่อมจะไม่พึงพอใจ แต่ตนแยกแยะ อดทนฟังสิ่งที่ท่านสมาชิกที่บอกว่าเป็นผู้ทรงเกียรติได้เสนอความเห็นไปในทำนองใส่ร้ายป้ายสีวุฒิสภาทั้งวัน และวันนี้ยังมีประปราย จะไม่นำมาเป็นสาระของการตัดสินใจ
แต่ถ้าตนพูด ท่านก็กรุณามีความอดทนและรับฟังในสิ่งที่ตนพูดให้เข้าใจกระจ่างชัด ซึ่งประเด็นที่ตามมาตรา 272 เป็นข้อเสนอที่ถูกให้เหตุผลว่า ส.ว. ในชุดปัจจุบันไม่มีคุณสมบัติที่จะเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะไม่ได้มาจากประชาชน ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จึงไม่สมควรจะทำหน้าที่เหล่านี้ แต่จริงๆ แล้ว ส.ว. นี้มาตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้เลือกมา นี่คือความเป็นจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ แต่การที่เป็น ส.ว. ตนก็เคยผ่านการเลือกตั้ง เป็น ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 มาแล้ว แต่รัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดให้มาแบบนี้ มาตามการทำประชามติ เราก็ต้องมาแบบนี้ สิ่งที่ส่วนใหญ่พูดก็มาจากพรรคก้าวไกลว่า ส.ว. ไม่ได้มาจากประชาชน
ทำให้ อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นประท้วงว่า เราไม่ได้มีปัญหากับรัฐธรรมนูญโดยตรง แต่เรามีปัญหากับที่มาของรัฐธรรมนูญที่มาจากรัฐประหาร ขออย่าให้มาก้าวล่วงพรรคของเรา ขอให้ถอนคำพูด
ขณะที่ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมในขณะนั้น วินิจฉัยโดยขอให้เสรีอย่าเอ่ยชื่อพรรค เสรีจึงอภิปรายต่อว่า สิ่งที่ท่านกล่าวถึง ส.ว. ทั้ง 250 คน ท่านได้พูดถึงมาตลอด แต่พอพูดถึงพรรคก้าวไกลท่านก็ประท้วง ตนไม่เคยลุกขึ้นประท้วงท่านเลย ตนมีมารยาทพอที่จะรับฟังให้จบและรู้ว่าอะไรควร-ไม่ควร แต่ที่ท่านเสนอแก้ไขมาตรา 272 โดยให้เหตุผลว่า ส.ว. ไม่ได้เลือกมาจากประชาชน เป็น ส.ว. ที่สืบทอดอำนาจมา แต่ตนมาจากรัฐธรรมนูญปี 2560
“ผมมาจากรัฐธรรมนูญปี 2560 แต่สมาชิกที่พูดจาให้ร้ายป้ายสี เดิมทีมาจากพรรคอนาคตใหม่ แต่พรรคถูกยุบ จริงๆ แล้วสมาชิกที่อยู่ในพรรคต้องพ้นจากการเป็น ส.ส. เพราะพรรคถูกยุบ แต่ด้วยอานุภาพของรัฐธรรมนูญปี 2560 ท่านจึงสามารถมาอยู่พรรคก้าวไกลได้ ถามว่าที่ผ่านมาพรรคก้าวไกลเคยได้สัก 1 เสียงที่มาจากประชาชนหรือไม่ ไม่เคยเลย แสดงว่าท่านก็มาจากรัฐธรรมนูญปี 2560 เหมือนกัน” เสรีกล่าว
ด้าน ณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นประท้วงสั้นๆ ว่า “หมดหนี้ คสช. แล้วลาออกมาลงเลือกตั้งแข่งกันดีกว่า”
ขณะที่อมรัตน์ก็ลุกขึ้นประท้วงเช่นกันว่า แบบนี้หรือที่เรียกว่าตัวเองมีวุฒิภาวะ สมควรหรือไม่ที่ประชาชนจะรังเกียจคนที่มาเป็น ส.ว. ประธานที่ประชุมบอกแล้วไม่ให้เอ่ยชื่อพรรค ก็ยังจะพูด ประธานเตือนอะไรแล้วก็ยังไม่เคารพกฎ เป็นตัวอย่างที่เลว จากนั้นอมรัตน์ได้เดินออกจากห้องประชุมทันที
ทำให้เสรีลุกขึ้นท้วงว่า มีสมาชิกว่าตนว่าเลว ประธานได้ยินหรือไม่ พรเพชรจึงกล่าวตอบว่า ตนไม่ได้ยิน ตนมึนแล้ว เอาเป็นว่าขอวินิจฉัย ถ้าพูดว่าเลว ก็ต้องถามว่าพูดจริงหรือไม่ แต่มีเจ้าหน้าที่มาบอกว่าอมรัตน์ได้เดินออกจากห้องประชุมไปแล้ว เขาไม่ปฎิเสธ เดินไปไหนแล้วไม่ทราบ ตนเคยเป็นผู้พิพากษามาก่อน ถ้าไม่ได้ยินด้วยตัวเองก็ไม่สามารถวินิจฉัยได้ว่าผิดหรือถูก ตนไม่ได้ยินเพราะทุกคนพูดสวนขึ้นมาพร้อมกัน
จากนั้นพรเพชรได้กล่าวว่า ทุกคนในที่นี้มาจากรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน ดังนั้นอย่าไปพูดถึงอีก จะมาด้วยวิธีการใด อย่าไปพูดซ้ำ อย่าไปพูดถึง แต่เมื่อมาอยู่ในรัฐสภาแล้วก็ต้องร่วมมือกันทำงานให้สำเร็จ
ด้าน รังสิมันต์ โรม ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นประท้วงประธานด้วยว่า ประธานต้องวินิจฉัยให้เด็ดขาด ไม่เช่นนั้นการประชุมจะไม่ราบรื่น เถียงกันไปมา จะอภิปรายประเด็นอะไรต้องให้ชัด ไม่ใช่มาโจมตีพรรคก้าวไกลและพรรคอนาคตใหม่
ขณะที่ กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. ลุกขึ้นประท้วงว่า มีการถ่ายทอดสด และมีสมาชิกได้พูดคำว่าเลว ฉะนั้นถ้าด่ากันแล้วเดินออกจากห้องเดี๋ยวตนด่าบ้าง
พรเพชรชี้แจงว่า จะให้เจ้าหน้าที่ถอดเทปและรายงานมา เพราะตนไม่ได้ยินจริงๆ ไม่ใช่โกหก ถ้าใครพูดก็ต้องให้คนพูดถอนคำพูด จากนั้นได้ให้เสรีอภิปรายต่อ