×

เมื่อศาลสูงสหรัฐฯ ต้องตีความมาตรา 230 กับคดีพิพาท Google ที่อาจพลิกโฉมโลกอินเทอร์เน็ตที่เรารู้จัก

27.02.2023
  • LOADING...
SCOTUS

ในวันอังคารนี้ (28 กุมภาพันธ์) ศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกาจะเริ่มพิจารณาคดีที่มีชื่อว่า Gonzalez v. Google ซึ่งใจความหลักของคดีคือการตีความข้อกฎหมายที่เรียกว่า Section 230 ว่ามีขอบข่ายในการปกป้องบริษัทในอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตมากแค่ไหน และผลคำตัดสินในคดีนี้อาจจะเปลี่ยนโฉมหน้าอุตสาหกรรมนี้ไปโดยสิ้นเชิง

 

 

กฎหมายมาตรา 230 (Section 230) คืออะไร 

 

ในช่วงต้นทศวรรษ 90 ที่อินเทอร์เน็ตกำลังก่อร่างสร้างตัว ชาวอเมริกันต่างก็ตื่นเต้นกับเทคโนโลยีนี้มาก โดยที่ทุกคนมองว่านี่คือการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหม่ ทุกคนมองถึงโอกาสทางเศรษฐกิจอันจะเกิดจากการเชื่อมคนทุกคนบนโลกไว้ด้วยกัน แต่อย่างไรก็ดีชาวอเมริกันกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะผู้ที่มีแนวคิดแบบอนุรักษนิยมมองเทคโนโลยีใหม่นี้ด้วยสายตาเป็นกังวล เพราะพวกเขามองว่าอินเทอร์เน็ตเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ยังไร้กฎหมายควบคุม ซึ่งอาจจะทำให้เนื้อหาในอินเทอร์เน็ตเต็มไปด้วยสิ่งที่ผิดศีลธรรมทั้งเรื่องเพศ ความรุนแรง และยาเสพติด

 

ในที่สุดกลุ่มอนุรักษนิยมก็ได้ผลักดันให้วุฒิสภาออกกฎหมายที่มีชื่อว่า Communication Decency Act of 1996 ซึ่งร่างกฎหมายนั้นเน้นไปที่การควบคุมเนื้อหาโป๊เปลือย โดยระบุให้การอัปโหลดหนังโป๊หรือภาพโป๊เปลือยเป็นความผิดตามกฎหมาย 

 

แต่อย่างไรก็ดี เมื่อร่างกฎหมายได้ลงมาพิจารณาที่สภาล่างหรือสภาผู้แทนราษฎร ส.ส. 2 คนคือ คริสโตเฟอร์ คอกซ์ และ รอน ไวเดน ได้ออกความเห็นว่าการออกบทลงโทษคนโพสต์อย่างเดียวไม่น่าจะเพียงพอ กฎหมายควรจะสนับสนุนให้ Internet Service Provider (ISP) หรือเจ้าของเว็บไซต์กำจัดเนื้อหาลามกอนาจารออกไปจากแพลตฟอร์มของตัวเอง เพราะก่อนหน้านี้ศาลเคยตัดสินไว้ว่า ISP และเจ้าของเว็บไซต์ สามารถถูกฟ้องร้องได้ถ้าเนื้อหาในแพลตฟอร์มของตัวเองผิดกฎหมาย เช่น หมิ่นประมาท หลอกลวง ค้ายาเสพติด ถ้า ISP หรือเจ้าของเว็บไซต์ตัดสินใจมีส่วนร่วมในการเซ็นเซอร์ตัวคอนเทนต์ในเว็บไซต์ (พูดง่ายๆ คือ ISP สามารถถูกฟ้องเป็นจำเลยร่วมกับยูสเซอร์ที่เป็นผู้โพสต์ข้อความผิดกฎหมายได้ ถ้า ISP ตัดสินใจลงไปจัดการกับข้อเนื้อหาด้วยตัวเอง แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้า ISP ตัดสินใจไม่ยุ่งกับเนื้อหาเลยก็จะไม่สามารถถูกฟ้องเป็นจำเลยร่วมได้)

 

คอกซ์และไวเดนอยากให้ ISP สามารถจัดการกับเนื้อหาลามกอนาจารได้โดยไม่ต้องกังวลกับการฟ้องร้อง พวกเขาจึงแก้ไข Communication Decency Act และเพิ่มบทบัญญัติ (Provision) ที่เรียกว่า Section 230 หรือมาตรา 230 ซึ่งระบุว่าต่อไปนี้ ISP และเจ้าของเว็บไซต์ไม่ต้องรับผิดชอบกับเนื้อหาที่ยูสเซอร์มาโพสต์ในเว็บไซต์ของตัวเองเลย เพื่อให้ ISP และเจ้าของเว็บไซต์มีความสบายใจที่จะออกมาตรวจตราเนื้อหาของตัวเองและเซ็นเซอร์เนื้อหาที่ผิดกฎหมาย

 

 

ต้นกำเนิดอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ต

 

อย่างไรก็ตาม ในปีต่อมา (1997) ศาลสูงสุดก็ได้หยิบยกกฎหมายนี้ไปพิจารณาแล้วตัดสินว่ากฎหมายห้ามเผยแพร่สื่อลามกอนาจารในอินเทอร์เน็ตของ Communication Decency Act นั้นขัดรัฐธรรมนูญข้อที่หนึ่งว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ศาลตัดสินว่าการถ่ายทำและเผยแพร่สื่อลามกอนาจารที่นักแสดงเป็นผู้ใหญ่และให้ความยินยอม (Consent) ถือเป็นเสรีภาพในการแสดงออกที่รัฐจะมาห้ามมิได้

 

แต่อย่างไรก็ดี Section 230 นั้นไม่ได้ถูกตีตกไปด้วย และมันก็กลายเป็นกฎหมายที่สำคัญที่สุดในโลกไซเบอร์ เพราะมันเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โลกอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียเกิดขึ้นมาได้ในยุคทศวรรษ 2000 เพราะไม่เช่นนั้นบริษัทอย่าง Facebook คงถูกฟ้องร้องล้มละลายในฐานะจำเลยร่วมในคดีหมิ่นประมาท (ที่มีอยู่แทบทุกวันที่เราเห็นในข่าว) หรือเพจรีวิวอย่าง Tripadvisor และ Yelp ก็คงจะเกิดไม่ได้เพราะบริษัทคงจะถูกฟ้องร้องเป็นจำเลยร่วมทุกๆ ครั้งที่มีรีวิวปลอม 

 

 

คดี Gonzalez v. Google สำคัญอย่างไร

 

อย่างไรก็ดี โลกอินเทอร์เน็ตนั้นหมุนไปเร็วมาก จนทำให้ 20 ปีให้หลัง ศาลสูงสุดของสหรัฐฯ จะต้องออกมาตีความขอบข่ายของมาตรา 230 กันใหม่ในคดีที่มีชื่อว่า Gonzalez v. Google

 

คดีนี้เกิดจากญาติของชาวอเมริกันที่มีชื่อว่า โนเฮมิ กอนซาเลซ ฟ้องร้องบริษัท Google ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ YouTube โดยพวกเขากล่าวหาว่า YouTube ได้ใช้อัลกอริทึมในการแนะนำวิดีโอที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรุนแรงและความเกลียดชังจนนำไปสู่การก่อการร้ายในกรุงปารีสเมื่อปี 2015 ซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิตของเหยื่อหลายรายรวมถึงกอนซาเลซ

 

ฝ่ายญาติของกอนซาเลซพยายามจะตีความว่าการปกป้อง ISP ของ Section 230 นั้นไม่ได้ครอบคลุมถึงการ ‘แนะนำ’ เนื้อหาไปด้วย กล่าวคือฝ่ายญาติพยายามตีความว่า YouTube / Google ต้องรับผิดชอบต่ออัลกอริทึมของตน ในขณะที่ทนายของ YouTube / Google พยายามที่จะตีความว่า มาตรา 230 ควรจะต้องครอบคลุมถึงอัลกอริทึมในการแนะนำเนื้อหา เพราะการแนะนำเนื้อหาเป็นการดำเนินธุรกิจตามปกติของโลกไซเบอร์ยุคปัจจุบัน (ที่มีเนื้อหาใหม่ๆ ในระบบวันละนับล้าน) ซึ่งถ้า Section 230 ไม่ปกป้อง ISP ในแง่นี้ก็เหมือนกับกฎหมายไม่ได้ปกป้องอุตสาหกรรมเลย

 

 

คำตัดสินยังออกได้ทั้งสองหน้า

 

คดี Gonzalez v. Google จะเป็นคดีแรกในรอบ 20 กว่าปีที่ศาลสูงสุดสหรัฐฯ ได้หยิบกฎหมายมาตรา 230 มาพิจารณา ทำให้เราไม่อาจทราบได้เลยว่าศาลจะตัดสินออกไปในทางไหน เพราะตุลาการเกือบทุกคนไม่เคยให้ความเห็นกับกฎหมายนี้มาก่อน จะยกเว้นก็แต่ตุลาการสายอนุรักษนิยมอย่าง คลาเรนซ์ โทมัส ที่เคยออกมาให้ความเห็นเป็นนัยๆ ในปี 2020 ว่า กฎหมายมาตรา 230 ไม่ควรปกป้องบริษัทอินเทอร์เน็ตมากกว่าที่เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งถ้าตุลาการสายอนุรักษนิยมอีกอย่างน้อย 4 คนมีความเห็นเหมือนกับโทมัส ก็อาจจะทำให้โลกไซเบอร์หลังปี 2023 เปลี่ยนไปตลอดกาล เพราะบรรดาเว็บไซต์ต่างๆ อาจจะไม่สามารถแนะนำเนื้อหาให้พวกเราได้อีกต่อไป

 

ภาพ: Illustration by Idrees Abbas/SOPA Images / LightRocket via Getty Images

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising