×

เปิดเหตุผล ‘สภา’ คว่ำข้อสังเกตรายงานนิรโทษกรรม คำพิพากษา ‘112’ สารตั้งต้นสู่ความแตกแยก

โดย THE STANDARD TEAM
24.10.2024
  • LOADING...

วันนี้ (24 ตุลาคม) ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 34 (สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่ 1) ซึ่งมี พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาคนที่ 1 เป็นประธานการประชุม วาระพิจารณาการลงมติโหวตจะรับข้อสังเกตรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม ซึ่งในท้ายที่สุด ที่ประชุมเสียงข้างมาก ‘ไม่เห็นชอบ’ ด้วยคะแนน 269 ต่อ 151 เสียง

 

ตามปกติการเสนอรายงานที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) นั้น เมื่อมีการพิจารณาหรือศึกษาแล้วเสร็จต่อสภาจะเปิดโอกาสให้สมาชิกอภิปราย แล้วถือเป็นการรับทราบโดยไม่ต้องลงมติ ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 129 แต่เมื่อเกิดความเห็นต่างกันอย่างมากในหมู่ สส. และมีข้อเสนอให้ตัดเนื้อหาในส่วนที่เป็นข้อสังเกตของ กมธ. ออก จึงต้องมีการลงมติ และในที่สุดที่ประชุมไม่เห็นชอบข้อสังเกต กมธ. ทำให้ข้อสังเกตตกไป โดยสภาจะส่งเฉพาะตัวรายงานให้ ครม. เท่านั้น

 

ย้อนกลับไปก่อนที่จะมีการลงมติ ทั้ง กมธ. และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนมากร่วมมีการอภิปราย ขอให้สมาชิกร่วมกันลงมติรับรายงานนิรโทษกรรมฉบับดังกล่าวนี้ ขณะเดียวกันก็มีสมาชิกหลายคนมีความกังวลใจว่า จะมีการนิรโทษกรรมเหมารวมสำหรับบุคคลที่ต้องคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วยหรือไม่

 

ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส. กทม. พรรคประชาชน ในฐานะ กมธ. อภิปรายสนับสนุนการนิรโทษกรรมทุกคดี ไม่มีข้อยกเว้นคดีใด ที่ผ่านมา กมธ. เชิญแกนนำเสื้อทุกสีมาให้ข้อมูลการนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 ทุกคนเห็นด้วยให้นิรโทษกรรมคดีมาตรา 112

 

แต่เหตุใด กมธ. ที่ไม่เห็นด้วยจึงมีปัญหา ไม่อยากให้ถ่วงการก้าวข้ามความขัดแย้งโดยทิ้งใครไว้ข้างหลัง มีกี่คนที่รู้ถึงรายละเอียดพฤติการณ์ความผิดของผู้มีคดีมาตรา 112 ว่าแต่ละคดีเป็นอย่างไร หลายคดียกฟ้อง หลายคดีเป็นคดีกลั่นแกล้งทางการเมือง บางคนเป็นผู้ป่วยจิตเวช คดีความผิดมาตรา 112 มีเป็นพันคดีไม่ใช่แค่หลักร้อย ขอให้เปิดใจให้โอกาสประชาชนที่มีคดีมาตรา 112 กลับมาใช้ชีวิตปกติเหมือนที่พวกท่านจับมือกันตั้งรัฐบาล

 

ขณะที่ ผศ.จันจิรา สมบัติพูลเจริญ​ ในฐานะรองประธานอนุ กมธ. คนที่ 3 ชี้แจงว่า รายงานฉบับดังกล่าวเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า เราควรที่จะต้องดำเนินการอย่างไรเมื่อมีคู่กรณีซึ่งเป็นองค์กรของรัฐและประชาชน ให้สามารถหันมาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องที่เห็นไม่ตรงกันได้

 

หากเรายังปล่อยให้สังคมไทยมีเงื่อนไขเหล่านี้ต่อไป เราจะเห็นการชุมนุมในอนาคตข้างหน้า ดังนั้นรายงานฉบับดังกล่าวนี้ต้องการเพียงแค่บรรเทาเงื่อนไขความขัดแย้งเหล่านี้เพื่อล้างมลทิน และออกมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการถูกดำเนินคดีอันเนื่องมาจากกิจกรรมทางการเมือง

 

ชัยธวัช ตุลาธน กมธ. วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร 

 

ส่วน ชัยธวัช ตุลาธน ในฐานะ กมธ. ชี้แจงว่า ตนเองเห็นความคิดเห็นของสมาชิกที่ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมรวมคดีมาตรา 112 ซึ่งเห็นว่าไม่ใช่เรื่องของการเมือง แต่เป็นเรื่องของความมั่นคง จึงไม่สามารถที่จะนิรโทษกรรมได้ หรือแม้แต่มีการสร้างความเข้าใจผิดว่า คดีมาตรา 112 นั้นไม่เคยได้รับการนิรโทษกรรมมาก่อน บางคนยังเห็นว่าหากมีการนิรโทษกรรมทุกกรณีอาจทำให้บ้านเมืองไม่มีขื่อไม่มีแป และการนิรโทษกรรมที่ต้องบรรลุวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความสมานฉันท์จะนำไปสู่ความแตกแยกอีก

 

ชัยธวัชยืนยันว่า คดีมาตรา 112 เป็นความขัดแย้งที่มีนัยแหลมคมทางการเมือง ถ้าไม่นิรโทษจะคลี่คลายความขัดแย้ง อย่างน้อยควรมีพื้นที่ให้ยอมรับได้คือ นิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 แบบมีเงื่อนไข ให้มีคณะกรรมการนิรโทษกรรมมาพิจารณารายละเอียด พฤติการณ์คดีความผิดมาตรา 112 เป็นรายกรณีว่าสมควรได้รับการนิรโทษกรรมหรือไม่ เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาพูดข้อเท็จจริง อะไรเป็นแรงจูงใจทางการเมืองให้ทำผิด รับฟังความเห็นต่าง ระหว่างการพิจารณาการนิรโทษกรรมก็ให้พักการดำเนินคดีไว้ก่อน โดยมีเงื่อนไขต้องให้หยุดการกระทำแบบใดบ้าง ไม่อยากให้คนเห็นต่างถูกมองว่าเป็นศัตรู

 

นอกจากนี้การนิรโทษกรรมไม่ใช่การยกเลิกกฎหมาย ไม่ยกเลิกฐานความผิด แต่การออกนิรโทษกรรมเป็นทางออกเพื่อสร้างความสมานฉันท์ ถ้าเรามองว่าการนิรโทษกรรมจะยิ่งเป็นการส่งเสริมให้คนกระทำผิด บ้านเมืองไม่มีกฎหมาย เราก็ไม่ควรมีการนิรโทษกรรมผู้ที่ถูกดำเนินคดีที่มีความผิดไหนเลย และอาจต้องทบทวนการอภัยโทษด้วย

 

“สำหรับท่านที่มีความจงรักภักดีและต้องการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ผมเองก็อยากจะชวนให้ท่านคิดในมุมกลับ ถ้าเรานิรโทษกรรมเกือบทุกข้อหายกเว้นคดีมาตรา 112 เราปรารถนาจะให้สังคมจำนวนหนึ่งคิดเห็นอย่างไรต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เราจึงต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดความรู้สึกที่อาจจะส่งผลกระทบทางลบต่อสถาบันได้ด้วย”

 

ชัยธวัชกล่าวต่อว่า ตนเองในฐานะ กมธ. ที่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมโดยรวมคดีมาตรา 112 ด้วยว่า มีข้อดีเพราะจะเป็นการฟื้นความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนกับสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมถึงส่งเสริมสถานะความเป็นกลางทางการเมืองของสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย

 

“ผมอยากให้ผู้ที่จงรักภักดีทุกท่านพิจารณาว่า การปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่สามารถบรรลุได้โดยการทำให้ประชาชนในราชอาณาจักรเป็นศัตรู หรือเป็นภัยคุกคามไม่ว่าพวกเขาจะมีความคิดเห็นทางการเมืองอย่างไร” ชัยธวัชกล่าว

 

จาตุรนต์ ฉายแสง สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย

แฟ้มภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

ขณะที่ จาตุรนต์ ฉายแสง สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ความขัดแย้งตลอด 20 ปีที่ผ่านมา และเมื่อไม่นานนี้มี สส. และประชาชนต่างร่วมกันเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อให้มีหารือกัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และศึกษากันอย่างจริงจังถ่องแท้ ดังนั้นเราควรเห็นชอบกับร่างรายงาน และเห็นชอบกับข้อสังเกตของ กมธ. เพราะโดยปกติแล้วการรายงานนั้นไม่มีการลงมติอยู่แล้ว

 

จาตุรนต์กล่าวต่อว่า ขอให้สภาตั้งสติ ตั้งหลักเรื่องการนิรโทษกรรม ควรตั้งคำถามคดีมาตรา 112 ว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมืองหรือไม่ ถ้าเห็นว่าเป็นเรื่องความขัดแย้งทางสังคม การเมือง ก็ต้องไปศึกษาจะมีกระบวนการทางกฎหมายอย่างไร ถ้ามีเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองและความขัดแย้งทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 เราจะแก้ปัญหาความขัดแย้งทางสังคมกันอย่างไร

 

“นี่ไม่ใช่เป็นวาระโอกาสที่พรรคการเมืองจะมาแข่งกันแสดงความจงรักภักดีว่า จะเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมก็แสดงว่าไม่จงรักภักดี ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมจะไม่จงรักภักดี…ผมพูดเรื่องนี้ในฐานะผมเป็นคนหนึ่งที่ได้อานิสงส์จากการนิรโทษกรรมในอดีตมาแล้วหลายครั้ง ครั้งแรกในคดี 6 ตุลาคม 2519 ก็มีคดีมาตรา 112 อยู่ด้วย แต่ไม่ได้หมายความว่านักศึกษาทำผิดมาตรา 112 แต่ถูกกลั่นแกล้งใส่ร้ายจึงได้รับการนิรโทษกรรม”

 

จาตุรนต์กล่าวต่อว่า กมธ. บางท่านที่กังวลว่าหากการนิรโทษกรรมแล้วอาจมีการกระทำผิดซ้ำ แต่ในประวัติศาสตร์ยังไม่เคยมีการกระทำผิดซ้ำ นอกจากการทำรัฐประหาร จึงไม่ต้องห่วงว่าประชาชนจะทำผิดซ้ำ รัฐสภาจึงควรแก้ความขัดแย้งในสังคมด้วยการนิรโทษกรรม จึงขอเสนอต่อสมาชิกร่วมกันลงมติเห็นชอบกับรายงาน และข้อสังเกตของรายงาน กมธ. คณะนี้

 

3 พรรคร่วมรัฐบาลย้ำ ไม่เอานิรโทษกรรม 112

 

ขณะที่ วิทยา แก้วภราดัย สส. บัญชีรายชื่อ และตัวแทนพรรครวมไทยสร้างชาติ อภิปรายว่า ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการพิจารณารายงานศึกษานิรโทษกรรม รัฐสภาชุดที่แล้วเคยตั้ง กมธ.ศึกษาแนวทางปรองดองและนิรโทษกรรม ให้มีการนิรโทษกรรมทุกคดี ยกเว้นคดีทุจริต คดีฆ่าคนตาย และคดีมาตรา 110 และ 112 รายงานดังกล่าวก็ผ่านความเห็นชอบสภา แต่ไม่เคยถูกแปรไปสู่การนิรโทษกรรมจริงๆ

 

ส่วนรายงานการพิจารณาแนวทางออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของ กมธ. ครั้งนี้มีความสับสนในตัวรายงาน ข้อสังเกตคือ กมธ. ไม่มีข้อยุติว่าจะนิรโทษกรรมหรือไม่นิรโทษกรรมคดีใดบ้าง ทุกอย่างไม่มีข้อสรุป

 

“ผมคิดว่าคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญค้ำคออยู่ ใครจะยกมือให้คดีมาตรา 112 เชิญครับ แล้วก็เตรียมไปเผชิญหน้ากันเอง” วิทยากล่าว

 

ส่วน จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส. บัญชีรายชื่อ ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นชอบรายงานและข้อสังเกตของ กมธ. เพราะเชื่อว่าปลายทางจะนำไปสู่ความแตกแยกครั้งใหญ่ในประเทศ เหมือนตอนผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย ถ้านำรายงานฉบับนี้ไปใช้เป็นสารตั้งต้นออกกฎหมายนิรโทษกรรมจะนำไปสู่ความแตกแยกในบ้านเมืองอีกครั้ง รายงานฉบับนี้ระบุทางเลือกนิรโทษกรรมมาตรา 112 ไว้ 3 ทาง หมายความว่าจะเลือกทางใดก็ได้

 

ขณะที่ข้อสังเกตของ กมธ. ข้อ 9.1 มีการระบุให้ ครม. ควรพิจารณารายงานของ กมธ. เป็นแนวทางตรากฎหมายนิรโทษกรรม แสดงว่าถ้ารัฐบาลจะเลือกนิรโทษกรรมมาตรา 112 หรือเลือกนิรโทษกรรมมาตรา 112 แบบมีเงื่อนไขก็ทำได้ และข้อ 9.5 ระบุว่า ระหว่างยังไม่มีการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ครม. ควรกำหนดนโยบายให้หน่วยงานรัฐในกระบวนการยุติธรรมไปดำเนินการตามกฎหมาย

 

จุรินทร์กล่าวอีกว่า เช่น ให้อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องตาม พ.ร.บ.องค์กรอัยการ ปี 2553 หรือให้ศาลเลื่อนจำหน่ายคดี ปล่อยตัวชั่วคราว อาจทำให้เกิดคำถามว่าเป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ รวมถึงข้อ 9.6 ให้คืนสิทธิทางการเมืองแก่ผู้ได้รับนิรโทษกรรม แสดงว่าเป็นการรวมการกระทำตามมาตรา 110 และมาตรา 112 ด้วย นำไปสู่ความแตกแยกครั้งใหญ่ในบ้านเมือง

 

“กระผมไม่เห็นด้วย และผมเชื่อว่าประชาชนคนไทยจำนวนมากก็ไม่เห็นด้วย เพื่อสร้างสังคมปรองดอง ไม่ให้มีจุดหมายปลายทางไปสู่ความขัดแย้งแตกแยกครั้งใหญ่ของประเทศ”

 

ขณะที่ แนน บุณย์ธิดา สมชัย สส. อุบลราชธานี ตัวแทนพรรคภูมิใจไทย ชี้แจงว่า ตนขอแสดงจุดยืนความชัดเจนของพรรคภูมิใจไทย เพราะรายงานฉบับนี้มีการตอบโต้กันเองไม่จบตั้งแต่ในห้องประชุม เมื่อเป็นรายงานก็ยังไม่มีความชัดเจน ไม่มีข้อสรุปว่าจะเอาแบบไหน ใช้อย่างไร

 

“พรรคภูมิใจไทยบอกแต่แรกว่า การนิรโทษกรรมดึงมาให้เป็นเรื่องการเมือง เรารับไม่ได้ การรับทราบรายงานในวันนี้ไม่ต้องโหวตเพราะเป็นการศึกษาเสร็จสิ้นแล้วส่งมาที่สภา พรรคภูมิใจไทยเห็นด้วยกับเนื้อหาในการทำรายงานของ กมธ.นิรโทษกรรม เพราะไม่มีการโหวต การรับทราบไม่ได้หมายความว่าเห็นด้วย”

 

ชูศักดิ์ ศิรินิล ในฐานะประธาน กมธ.นิรโทษกรรม กล่าวปิดท้ายในที่ประชุมว่า พวกเราตั้งสติว่าเรื่องดังกล่าวนี้เป็นรายงานไม่ใช่การเสนอกฎหมาย ไม่ใช่การพิจารณากฎหมาย ไม่ใช่การพิจารณาว่าจะทำอะไร หรือมาตราอะไร แต่นัยคือให้มีการยกโทษการกระทำทางการเมือง ที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองเมื่อปี 2548 ซึ่งไม่มีใครคัดค้านและไม่เห็นด้วยเป็นเอกฉันท์

 

ชูศักดิ์กล่าวอีกว่า ยังไม่ได้ฟันธงเรื่องนิรโทษกรรมมาตรา 112 หรือไม่ เป็นเพียงความเห็นกว้างๆ ที่เป็นประเด็นอ่อนไหว ยังมีความเห็นขัดแย้งอยู่ หากประเด็นใดที่ไม่มีข้อยุติ และทางออกของประเทศที่ดีที่สุด การรับรู้รับทราบข้อเท็จจริงทุกฝ่ายว่ามีความคิดเห็นอย่างไร การตรากฎหมายอะไรก็ตามท้ายที่สุด ถ้าไม่รับทราบข้อเท็จจริง ผลคือเราจะตรากฎหมายโดยไม่รอบคอบ ไม่ระมัดระวัง และจะเป็นปัญหาของสังคมในอนาคต

 

ส่วนตัวเชื่อว่ารายงานนี้เป็นประโยชน์สำหรับสมาชิกที่จะนำไปศึกษานำไปประกอบการพิจารณาของสภาว่า การตรากฎหมายนิรโทษกรรมควรคำนึงถึงอะไร และควรจะมีสาระสำคัญอย่างไร

 

เปิดมติ สส. เพื่อไทย 11 เห็นชอบ 4 งดออกเสียง

 

ทั้งนี้ รายงานของ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ซึ่ง กมธ. วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้วเมื่อเวลา 16.41 น. มีสมาชิกลงมติเห็นด้วย 151 เสียง ไม่เห็นด้วย 269 เสียง และงดออกเสียง 5 เสียง นอกจากนี้ยังพบว่ามีสมาชิกไม่ลงคะแนนอีก 68 คน

 

  • พรรคเพื่อไทย: เห็นชอบ 11, ไม่เห็นชอบ 115, งดออกเสียง 4, ไม่ลงคะแนน 12 รวม 142 เสียง 
  • พรรคประชาชน: เห็นชอบ 138, ไม่เห็นชอบ 0, งดออกเสียง 0, ไม่ลงคะแนน 5 รวม 143 เสียง 
  • พรรคภูมิใจไทย: เห็นชอบ 0, ไม่เห็นชอบ 65, งดออกเสียง 0, ไม่ลงคะแนน 4 รวม 69 เสียง 
  • พรรคพลังประชารัฐ: เห็นชอบ 0, ไม่เห็นชอบ 26, งดออกเสียง 0, ไม่ลงคะแนน 14 รวม 40 เสียง 
  • พรรครวมไทยสร้างชาติ: เห็นชอบ 0, ไม่เห็นชอบ 27, งดออกเสียง 0, ไม่ลงคะแนน 9 รวม 36 เสียง 
  • พรรคประชาธิปัตย์: เห็นชอบ 0, ไม่เห็นชอบ 13, งดออกเสียง 0, ไม่ลงคะแนน 12 รวม 25 เสียง 
  • พรรคชาติไทยพัฒนา: เห็นชอบ 0, ไม่เห็นชอบ 5, งดออกเสียง 0, ไม่ลงคะแนน 5 รวม 10 เสียง 
  • พรรคประชาชาติ: เห็นชอบ 0, ไม่เห็นชอบ 6, งดออกเสียง 1, ไม่ลงคะแนน 2 รวม 9 เสียง 
  • พรรคกล้าธรรม: เห็นชอบ 0, ไม่เห็นชอบ 3, งดออกเสียง 0, ไม่ลงคะแนน 0 รวม 3 เสียง 
  • พรรคชาติพัฒนา: เห็นชอบ 0, ไม่เห็นชอบ 3, งดออกเสียง 0, ไม่ลงคะแนน 0 รวม 3 เสียง 
  • พรรคไทรวมพลัง: เห็นชอบ 0, ไม่เห็นชอบ 2, งดออกเสียง 0, ไม่ลงคะแนน 0 รวม 2 เสียง 
  • พรรคประชาธิปไตยใหม่: เห็นชอบ 0, ไม่เห็นชอบ 0, งดออกเสียง 0, ไม่ลงคะแนน 1 รวม 1 เสียง 
  • พรรคครูไทยเพื่อประชาชน: เห็นชอบ 0, ไม่เห็นชอบ 1, งดออกเสียง 0, ไม่ลงคะแนน 0 รวม 1 เสียง 
  • พรรคเสรีรวมไทย: เห็นชอบ 0, ไม่เห็นชอบ 0, งดออกเสียง 0, ไม่ลงคะแนน 1 รวม 1 เสียง 
  • พรรคไทยสร้างไทย: เห็นชอบ 0, ไม่เห็นชอบ 3, งดออกเสียง 0, ไม่ลงคะแนน 3 รวม 6 เสียง 
  • พรรคเป็นธรรม: เห็นชอบ 1, ไม่เห็นชอบ 0, งดออกเสียง 0, ไม่ลงคะแนน 0 รวม 1 เสียง 
  • พรรคไทยก้าวหน้า: เห็นชอบ 1, ไม่เห็นชอบ 0, งดออกเสียง 0, ไม่ลงคะแนน 0 รวม 1 เสียง 

 

ทั้งนี้ 11 สส. ของพรรคเพื่อไทยลงมติเห็นชอบรับรายงานดังกล่าวนี้ ประกอบไปด้วย จาตุรนต์ ฉายแสง, จิตติพจน์ วิริยะโรจน์, ชูศักดิ์ ศิรินิล, ทศพร เสรีรักษ์, ประยุทธ์ ศิริพานิชย์, ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ, วิสุทธิ์ ไชยณรุณ, เชิดชัย ตันติศิรินทร์, ก่อแก้ว พิกุลทอง, สุธรรม แสงประทุม และ อดิศร เพียงเกษ

 

ส่วน 4 สส. ที่งดออกเสียงคือ ขัตติยา สวัสดิผล, ชญาภา สินธุไพร, ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช และ รังสรรค์ มณีรัตน์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X