×

ทีมวิจัยต่างชาติพบเอ็นไซม์กลายพันธุ์ย่อยสลายพลาสติกได้

19.04.2018
  • LOADING...

ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติสามารถสร้างเอ็นไซม์กลายพันธุ์ที่ย่อยสลายขวดพลาสติกได้โดยบังเอิญ การค้นพบนี้อาจช่วยคลี่คลายปัญหามลภาวะที่เกิดจากพลาสติกทั่วโลก เพราะหลังจากนี้เราอาจสามารถนำขยะพลาสติกทั้งหมดมารีไซเคิลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

งานวิจัยใหม่นี้มาจากการต่อยอดการค้นพบแบคทีเรียที่ย่อยสลายพลาสติกตามธรรมชาติที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2016 โดยปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์สามารถอธิบายโครงสร้างของเอ็นไซม์กลายพันธุ์ใหม่ชื่อ PETase ซึ่งสร้างจากแบคทีเรีย Ideonella sakaiensis โดยเอ็นไซม์ดังกล่าวมีคุณสมบัติในการย่อยสลายพลาสติกประเภท PET (Polyethylene Terephthalate) ซึ่งเป็นส่วนประกอบในขวดพลาสติก

 

ศาสตราจารย์จอห์น แม็กกีแฮน แห่งมหาวิทยาลัยพอร์ตสมัธ ในสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมวิจัยเปิดเผยว่า พวกเขาได้ทำการทดลองเพื่อดูวิวัฒนาการของเอ็นไซม์ ซึ่งผลปรากฏว่ามันสร้างโมเลกุลที่ดีกว่าในการย่อยสลาย PET หรือพูดง่ายๆ ก็คือได้เอ็นไซม์ PETase ที่ถูกปรับปรุงให้ดีขึ้น ซึ่งถือเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่

 

ผลการศึกษาซึ่งตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ Proceedings of the National Academy of Sciences ระบุว่า เอ็นไซม์กลายพันธุ์นี้ใช้เวลาเพียงไม่กี่วันในการเริ่มต้นย่อยสลายพลาสติก เร็วกว่าการย่อยสลายตามธรรมชาติในมหาสมุทรซึ่งใช้เวลานานหลายร้อยปี แต่กระนั้นคณะนักวิจัยคาดหวังว่าจะสามารถเร่งกระบวนการย่อยสลายให้เร็วขึ้น และเพิ่มวัสดุอื่นๆ เข้าไปด้วย

 

“สิ่งที่เราคาดหวังก็คือการใช้เอ็นไซม์นี้เปลี่ยนขยะพลาสติกให้กลับไปเป็นส่วนประกอบดั้งเดิม เพื่อที่ว่าเราจะสามารถรีไซเคิลให้กลับมาเป็นพลาสติกที่ใช้ได้อีกครั้ง” ศาสตราจารย์แม็กกีแฮนกล่าว “นั่นหมายความว่าเราไม่จำเป็นต้องขุดหาน้ำมันเพิ่ม และแน่นอน มันจะช่วยลดปริมาณพลาสติกในสิ่งแวดล้อม”

 

ทั้งนี้จากสถิติพบว่า ใน 1 นาทีจะมีการจำหน่ายขวดพลาสติกราว 1 ล้านขวดทั่วโลก แต่มีเพียง 14% ที่ถูกนำมารีไซเคิล ขณะที่ขยะจำนวนมากถูกทิ้งลงทะเล ซึ่งสร้างมลภาวะแก่สิ่งแวดล้อม อีกทั้งทำอันตรายต่อสัตว์น้ำ นอกจากนี้อนุภาคของพลาสติกยังอาจสะสมอยู่ในอาหารทะเลที่มนุษย์บริโภคเข้าไปด้วย

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising