×

นอนดึก ตื่นสาย ใครว่าเป็นคนขี้เกียจ วิทยาศาสตร์อธิบายเหล่านกฮูก

26.03.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • เรามักจะคิดว่าคนตื่นเช้าคือคนที่มีวินัย บังคับตัวเองให้ตื่นเช้าได้ จึงน่าจะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตได้ดีกว่าคนตื่นสาย เพราะคนตื่นสายคือสัญลักษณ์ของความขี้เกียจ
  • แต่นักวิทยาศาสตร์กลับพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า ไม่ว่าจะเป็นคนในเชื้อชาติไหน ระดับการศึกษาแบบไหน หรือนับถือศาสนาอะไร กลุ่มคนที่มีความฉลาดหรือสติปัญญาเหนือกว่ามักจะเป็นคนที่นอนดึกตื่นสาย
  • นักชีววิทยาที่ศึกษาเรื่องวงจรการนอนหลับของคนบอกว่า เรื่องสำคัญกว่าการไปบอกว่านอนดึกตื่นสายดีกว่านอนเร็วตื่นเช้า (หรือกลับกัน) ก็คือการ ‘หา’ ให้ได้ว่า แล้วเราเป็นคนแบบไหน ระหว่างพวก Early Birds หรือ Night Owls

ใครๆ ก็บอกว่าคนขยันจะต้องตื่นแต่เช้าเป็น Early Birds ดีกว่าเป็น Night Owls ใช่ไหมครับ

 

ตัวอย่างของคนที่ตื่นเช้าแล้ว (ดูเหมือน) จะได้ดี มีเยอะมาก อย่างเช่น ทิม คุก (Tim Cook) ก็ให้สัมภาษณ์ว่า เขาตื่นนอนตอนตีสามสี่สิบห้า (โหย! เช้ามาก!) จน USA Today เอามาพาดหัวว่า ทิม คุก ยังตื่นเช้าขนาดนั้น คุณก็ควรจะตื่นเช้าเหมือนเขาด้วย เป็นการบ่งบอกเป็นนัยว่า การตื่นเช้านั้นเป็นเรื่องดี เพราะทิม คุก เป็นคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต เราจึงควรเอาเยี่ยงอย่าง

 

แต่มันเป็นอย่างนั้นสำหรับทุกคนจริงหรือเปล่า

 

เรามักจะคิดว่าคนตื่นเช้าคือคนที่มีวินัย บังคับตัวเองให้ตื่นเช้าได้ จึงน่าจะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตได้ดีกว่าคนตื่นสาย เพราะคนตื่นสายคือสัญลักษณ์ของความขี้เกียจ

 

แต่บทความนี้ของ inc.com (ดูบทความได้ที่นี่) เล่าถึงการสำรวจของนักจิตวิทยาอย่างคุณซาโตชิ คานาซาวะ ซึ่งเป็นนักวิจัยของ London School of Economics

 

คุณซาโตชิสงสัยแบบเดียวกันนั่นแหละครับ ว่าคนตื่นเช้าตื่นสายนี่ แบบไหนดีกว่ากัน

 

เขาเลยออกแบบการสำรวจ เพื่อดูว่าแบบแผนการนอนของเด็กๆ ที่มีความสัมพันธ์แบบ Correlation กับความฉลาดหรือสติปัญญา (ซึ่งไม่ได้แปลว่าสองอย่างนี้เป็นเหตุเป็นผลต่อกันโดยตรงนะครับ แต่มันมีความสัมพันธ์กัน) โดยในตอนแรกเริ่ม เขาสัมภาษณ์วัยรุ่นจากโรงเรียนไฮสคูล 80 แห่ง และโรงเรียนมัธยม 52 แห่ง เป็นจำนวนรวม 20,745 คน แล้วก็เก็บข้อมูลชุดนี้เอาไว้ก่อน คือดูว่าใครเป็นคนชอบนอนดึกตื่นสายหรือนอนเร็วตื่นเช้า

 

แล้วถัดจากนั้นมาอีก 5 ปี เขาก็ไปสำรวจในคนกลุ่มเดิมอีกหน ซึ่งก็แน่นอนว่าคงจะไปตามหาคนให้ครบสองหมื่นกว่าคนไม่ได้หมดหรอกนะครับ สรุปก็คือ เขาได้เจอกับคนกลุ่มเดิม 15,197 คน แล้วก็ถามถึงรูปแบบการนอนอีก แต่คราวนี้ดูด้วยว่ามีหน้าที่การงานอะไรอย่างไร

 

เขาพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า ไม่ว่าจะเป็นคนในเชื้อชาติไหน ระดับการศึกษาแบบไหน หรือนับถือศาสนาอะไร กลุ่มคนที่มีความฉลาดหรือสติปัญญาเหนือกว่า มักจะเป็นคนที่นอนดึกตื่นสาย (ซึ่งก็ต้องเน้นไว้ตรงนี้อีกหนนะครับว่า มันไม่ใช่ ‘เหตุผล’ ตรงๆ แบบ Causation แต่เป็นแค่ ‘สหสัมพันธ์’ หรือ Correlation เท่านั้น)

 

นอกจากการสำรวจนี้แล้ว ยังมีการวิจัยลึกลงไปใน ‘สมอง’ ของคนที่นอนดึกตื่นสายกับคนตื่นเช้าด้วย โดยเป็นงานวิจัยของมหาวิทยาลัย Liege (ดูรายละเอียดได้ที่นี่) ซึ่งนักวิจัยที่นำทีมโดย Christina Schmidt และ Philippe Peigneux ได้หาอาสาสมัคร 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งเป็นพวกนอนดึกตื่นสาย (มากๆ) 15 คน กับอีกกลุ่มหนึ่งเป็นพวกตื่นเช้า (มากๆ) 16 คน แล้วก็จับมาวัดกิจกรรมทางสมองเป็นเวลานานหนึ่งชั่วโมงครึ่งหลังจากตื่นขึ้นมา แล้วก็วัดอีกหนเมื่อตื่นขึ้นมาแล้ว 10.5 ชั่วโมง

 

เขาบอกว่า การวัดหลังตื่นขึ้นมานั้นไม่ได้แสดงให้เห็นว่าสมองของคน 2 กลุ่มนี้ต่างกันเท่าไร แต่หลังผ่านไป 10.5 ชั่วโมงแล้วต่างหาก ที่คนที่นอนดึกตื่นสายแสดงให้เห็นว่ายังมีปฏิกิริยาตอบสนองอะไรต่างๆ ได้ไว และอยู่ในภาวะตื่นตัวมากกว่าคนที่ตื่นเช้า

 

คำถามก็คือ ถ้าอย่างนั้นแปลว่าเราควรจะ ‘นอนดึก ตื่นสาย’ ดีกว่าไหม เพราะมันจะทำให้เราฉลาดกว่า แถมยังตื่นตัวมากกว่า ซึ่งก็แปลว่าจะต้องทำให้อะไรๆ ในชีวิตดีกว่าพวกตื่นเช้าตรู่แน่ๆ

 

แหม! ใครหนอมาคอยปลุกให้เราตื่นแต่เช้าอยู่ได้!

 

แต่นั่นไม่ใช่ข้อสรุปหรอกนะครับ เพราะข้อสรุปที่สำคัญกว่าก็คือข้อสรุปที่ว่า มนุษย์เราแต่ละคนมีพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับวงจรการนอนไม่เหมือนกัน

 

นักวิทยาศาสตร์รู้มานานแล้วว่า มนุษย์เรามีทั้งพวกที่ ‘นอนดึก ตื่นสาย’ และ ‘นอนเร็ว ตื่นเช้า’ ซึ่งเรื่องนี้สำคัญมากต่อความอยู่รอดของมนุษย์

 

สำคัญอย่างไรน่ะเหรอครับ มันสำคัญก็เพราะเกี่ยวข้องกับกระบวนการวิวัฒนาการของมนุษย์ด้วย

 

Sabrina Stierwalt นักวิทยาศาสตร์จาก Scientific American (ดูได้ที่นี่) บอกว่ามนุษย์เราเรียนรู้รูปแบบการนอน (Sleep Patterns) ที่แตกต่างกันไปในแต่ละคนมาตั้งแต่ยังเป็นมนุษย์ถ้ำกันอยู่โน่นแน่ะครับ

 

เธอบอกว่าในสมัยก่อนโน้น แต่ละกลุ่มของมนุษย์ต้องมีคนคอยตื่นคอยนอนผลัดกันเฝ้าระวังภัยอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นก็เลยมีคนที่ต้องสลับกันตื่นสลับกันนอนอยู่เสมอ แถมมนุษย์สมัยก่อนโน้นก็ไม่ได้นอนติดต่อกัน 8 ชั่วโมง 10 ชั่วโมงเหมือนปัจจุบันด้วย เราอาจจะนอนสัก 4-5 ชั่วโมง แล้วก็ตื่นขึ้นมาทำกิจกรรมบางอย่าง ก่อนจะนอนต่อ ทำให้รูปแบบการนอนของแต่ละคนไม่เหมือนกัน โดยในแต่ละวัย มนุษย์เองจะมีรูปแบบการนอนเปลี่ยนแปลงไปด้วย เช่น วัยรุ่นมักจะนอนดึกตื่นสายมากกว่าคนสูงวัย ซึ่งทั้งหมดนี้ถูกกำหนดโดยนาฬิกาชีวภาพที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา

 

นักชีววิทยาแห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดอย่าง Katharina Wulff ที่ศึกษาเรื่องวงจรการนอนหลับของคนบอกว่า เรื่องสำคัญกว่าการไปบอกว่านอนดึกตื่นสายดีกว่านอนเร็วตื่นเช้า (หรือกลับกัน) ก็คือการ ‘หา’ ได้ให้ว่าแล้วเราเป็นคนแบบไหน

 

เป็นพวก Early Birds หรือเป็น Night Owls

 

คนบางคนก็ทำงานตอนกลางคืนได้ดีกว่า บางคนก็ชอบตื่นมาทำงานตอนเช้าตรู่ แล้วก็มีคนที่อยู่ตรงกลางระหว่างนั้น เราจึงจำเป็นต้องค้นหาว่า นาฬิกาชีวภาพของเราทำงานอย่างไรกันแน่

 

เขาบอกว่าคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตมีทุกแบบนั่นแหละ อย่างเช่น ซีอีโอของบริษัทซีร็อกซ์อย่าง Ursula Burns เป็นคนตื่นเช้า ชอบทำงานตอนเช้า แต่ผู้ร่วมก่อตั้ง Reddit อย่าง Alexis Ohanian กลับเป็นคนที่นอนดึก ชอบทำงานตอนดึกๆ

 

เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นการ ‘หา’ ให้พบว่า ตัวของเราเป็นอย่างไร แล้วจากนั้นก็ต้องหางาน หรือหาวิธีทำงานให้สอดคล้องกับตัวตนทางชีวภาพของเราด้วย

 

โชคร้ายที่สังคมส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีวิธีทำงานที่เรียกว่า Flextime หรือการยืดหยุ่นเวลา ดังนั้นจึงมีคนจำนวนมากที่ต้องรีบตื่นไปทำงานตั้งแต่ 8 โมงเช้าทั้งที่ยังไม่ตื่นเต็มที่เนื่องจากเป็นพวกนกฮูก ซึ่งถ้าเราต้องทำงานที่ ‘ฝืน’ ต่อนาฬิกาชีวภาพในตัวเรานานๆ บางคนก็อาจเกิดการปรับเปลี่ยนได้ แต่บางคนก็อาจสร้างความเครียดมหาศาลให้ตัวเองได้เหมือนกัน

 

เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ก็อย่ารีบไปวิพากษ์วิจารณ์ตัดสินใครว่าเป็นพวกนอนตื่นสายแปลว่าขี้เกียจ หรือตื่นแต่เช้าเชียว ขยันน่าดู อะไรทำนองนี้นะครับ เพราะที่จริงแล้วเรื่องของการนอนตื่นเช้าตื่นสายนั้นมันซับซ้อนกว่าที่คุณคิด

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X