×

รวมพลังอาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติ ทีมนักศึกษาวิทยาลัยสารพัดช่างตราด แชมป์แกะสลักหิมะนานาชาติ ประจำปี 2019 ที่เมืองฮาร์บิน สาธารณรัฐประชาชนจีน

โดย THE STANDARD TEAM
08.11.2019
  • LOADING...
การแข่งขันแกะสลักหิมะนานาชาติ

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • เรื่องราวของ 4 นักศึกษาจากวิทยาลัยสารพัดช่างตราด ผู้รวมตัวกันเป็นดรีมทีมตัวแทนประเทศไทยในการเข้าร่วมการแข่งขันแกะสลักหิมะนานาชาติ พวกเขามุ่งมั่นฟันฝ่าอุปสรรค ผ่านบททดสอบแห่งความพยายาม จนคว้าและรักษาตำแหน่งแชมป์สมัยที่ 10 ให้กับประเทศไทยได้สำเร็จ เป็นตัวอย่างของ ‘อาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติได้อย่างน่าชื่นชม

“ความสำเร็จเกิดจากหัวใจที่รักและมุ่งมั่น” คำกล่าวนี้ย่อมเป็นจริงอย่างที่สุด ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างของผู้ที่ประสบความสำเร็จมาแล้วมากมาย และเมื่อเหล่าคนผู้มีความรักตั้งใจจริงได้มาร่วมทีมกัน แม้จะมีอุปสรรคขวางกั้นอยู่ตรงหน้า หากพวกเขาไม่ย่อท้อ หัวใจที่มุ่งมั่นทุกดวงย่อมช่วยกันประคับประคองนำพากันก้าวผ่านพ้นอุปสรรคจนคว้าความสำเร็จได้ในที่สุด ดังเช่นเรื่องราวความสำเร็จของ ทีมนักศึกษาวิทยาลัยสารพัดช่างตราด อาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติ ผู้คว้าแชมป์จากการแข่งขันแกะสลักน้ำแข็งนานาชาติ ประจำปี 2019 ณ เมืองฮาร์บิน สาธารณรัฐประชาชนจีน มาได้ถึง 3 รางวัล นับได้ว่าเป็นความสำเร็จอันไม่ธรรมดา ซึ่งนักศึกษาอาชีวะกลุ่มนี้ได้สร้างชื่อเสียงให้กับทั้งสถาบันการศึกษาของพวกเขา และประเทศไทยของเราได้อย่างเต็มภาคภูมิ 

 

และนี่เองคือสาเหตุที่ THE STANDARD อยากจะพาทุกคนไปร่วมสนทนากับพวกเขา ซึ่งน้องๆ ทีมนักศึกษาวิทยาลัยสารพัดช่างตราด ได้แก่ โจ๊ก-ธวัชชัย​ สนธิพิน หัวหน้าทีม, น้ำ-พรรณนิภา​ นามวิชัย,​ น้ำฝน-น้ำฝน​ จันทร์จรูญ และ เพียว-ชโยทิต​ สุขสวัสดิ์​ ซึ่งทั้ง 4 คนล้วนเป็นนักศึกษาแผนกวิชาการโรงแรม ของวิทยาลัยสารพัดช่างตราด 

 

การแข่งขันแกะสลักหิมะนานาชาติ

อาจารย์รุ่งนภา​ อุดมชลปราการ (กลาง)

ล้อมรอบด้วยทีมนักศึกษาวิทยาลัยสารพัดช่างตราด 

 

ก่อนอื่นเราได้ขอให้อาจารย์ที่ปรึกษาของน้องๆ อาจารย์รุ่งนภา​ อุดมชลปราการ​ เป็นผู้เล่าถึงความเป็นมาของดรีมทีมแชมป์แกะสลักน้ำแข็งทีมนี้กันก่อน 

รุ่งนภา: ในแต่ละปีสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จะคัดเลือกตัวแทนนักเรียนอาชีวะจากแต่ละสถาบันเพื่อส่งไปแข่งขันในงาน International Collegiate Snow Sculpture Contest อยู่แล้ว ซึ่งแต่ละสถาบันอาชีวศึกษาทั่วประเทศก็จะคัดเลือกนักศึกษาจากสถาบันของตน และส่งทีมตัวแทนมาร่วมแข่งขันกันเพื่อรับการคัดเลือกเป็นตัวแทนของประเทศ โดยปีนี้น้องๆ จากวิทยาลัยสารพัดช่างตราดของเราก็ได้รับเลือก เป็นตัวแทนไปแข่งในระดับนานาชาติ และได้แชมป์กลับมาจากการแข่งขันแกะสลักน้ำแข็งนานาชาติ ประจำปี 2019 ณ เมืองฮาร์บิน สาธารณรัฐประชาชนจีน แต่ระหว่างทางกว่าจะได้รับคัดเลือก และเข้าร่วมแข่งขันชิงชัยจนได้แชมป์มาไม่ใช่เรื่องง่ายๆ นะคะ น้องๆ ทุกคนต้องผ่านการฝึกซ้อมกันหนักมาก ซึ่งเป็นแบบทดสอบจิตใจที่เข้มแข็งของพวกเขาได้เป็นอย่างดี

 

หลังจากเกริ่นเล่าถึงความเป็นมาแล้ว รุ่งนภายังชี้ถึงจุดประสงค์ของการที่วิทยาลัยสารพัดช่างตราดจัดกิจกรรมส่งเสริมให้นักศึกษาเข้าร่วมการประกวดแข่งขันแกะสลักน้ำแข็งด้วยว่า การแข่งขันอันเป็นกิจกรรมนอกหลักสูตรเช่นนี้ ย่อมสร้างเสริมประสบการณ์ให้กับน้องๆ ได้อย่างมากมายชนิดที่ไม่สามารถหาได้ภายในชั้นเรียน ซึ่งกว่าน้องๆ กลุ่มนี้จะได้รับคัดเลือกพวกเขาต้องผ่านการฝึกฝนเพื่อพัฒนาความสามารถอย่างจริงจังอยู่นานหลายเดือน อันได้แก่การ ฝึกวาดรูปนานหนึ่งเดือน หัดแกะสลักโฟมอีกหนึ่งเดือน จึงจะขยับขึ้นไปหัดแกะสลักน้ำแข็งซึ่งจะใช้เวลาในการฝึกอีกอย่างน้อยหนึ่งเดือน ซึ่งตอนที่เริ่มโครงการนี้ขึ้นมา มีนักศึกษาเข้าร่วมฝึกอบรมอยู่หลายสิบคน ทว่าด้วยระยะเวลาของกระบวนการฝึกและคัดเลือกที่ยาวนานไม่ต่ำกว่าสามเดือน ทั้งยังต้องฝึกซ้อมทุกวันหลังเลิกเรียน ไม่เว้นวันหยุดเสาร์อาทิตย์ จึงมีคนที่ท้อและสละสิทธิ์ไประหว่างทาง นอกจากนี้ด้วยจำนวนของสมาชิกทีมที่ส่งไปได้อย่างจำกัดนั้นจึงต้องคัดเลือกเฉพาะคนที่มีแวว และเห็นว่ามี ใจทุ่มเทพัฒนาฝีมืออย่างจริงจังไม่ย่อท้อเท่านั้น จนในที่สุดน้องๆ ทั้ง 4 คนก็ผ่านการคัดเลือกมาร่วมทีมเดียวกัน 

 

การแข่งขันแกะสลักหิมะนานาชาติ

อาจารย์รุ่งนภาเล่าถึงจุดประสงค์และความสำเร็จของทีม

 

เมื่อได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนระดับประเทศ ทั้ง 4 คนยิ่งซุ่มฝึกซ้อมอย่างหนักขึ้นเพื่อให้พร้อมสำหรับไปแข่งขันต่อในเวทีระดับนานาชาติ นั่นคือการแข่งขันแกะสลักหิมะนานาชาติ ครั้งที่ 11 ประจำปี 2019 (The 11th International Collegiate Snow Sculpture Contest 2019) ที่เมืองฮาร์บิน สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งในระหว่างที่แข่งนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะน้องๆ ต้องเผชิญความกดดันสูง ในฐานะที่เป็นตัวแทนของประเทศไทย ซึ่งต้องชิงชัยกับประเทศอื่นๆ อีกกว่า 50 ประเทศทั่วโลก แถมที่ผ่านมานั้นประเทศไทยของเราเคยคว้าแชมป์ในงานนี้ติดต่อกันมาแล้วถึง 9 ปี ทุกคนจึงอยากจะทำเพื่อรักษาชื่อเสียงอย่างต่อเนื่องให้กับประเทศ 

 

ความกดดันตรงนี้เองที่ถือว่าเป็นทั้งอุปสรรคและแรงบันดาลใจของเด็กๆ ทั้ง 4 คน โดย โจ๊ก-ธวัชชัย สนธิพิน ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมเล่าให้เราฟังว่า 

โจ๊ก: สถานการณ์ในตอนที่ไปแข่งกันนั้น พวกเรารู้สึกกดดันกันมากครับ คือเราหวังว่าอย่างน้อยที่สุดก็ต้องได้มาสักรางวัลหนึ่ง เมื่อรู้สึกกดดันมากอย่างนั้นก็เลยมองสถานการณ์นี้ว่ามันเหมือนเรากำลังติดถ้ำกันอยู่เลย ก็เลยเกิดนึกถึงภาพเหตุการณ์ที่ทีมหมูป่าอะคาเดมี 13 ชีวิตติดถ้ำหลวง ซึ่งเป็นเหตุการณ์โด่งดังไปทั่วโลก” 

 

จากไอเดียตั้งต้นของน้องๆ บวกกับคำแนะนำของอาจารย์ที่ปรึกษาของทีมอีกท่านหนึ่งคือ อาจารย์เกริกไกร นนทลักษณ์ จึงเกิดเป็นผลงานแกะสลักน้ำแข็งชุด ‘Rescue Mission Rivets Thamluang Caves In Chiangrai Thailand’ สื่อผ่านภาพนักประดาน้ำที่โผล่ขึ้นมาเหนือน้ำภายในถ้ำ และพบกับทีมหมูป่าอะคาเดมีทั้ง 13 ชีวิต งานประติมากรรมน้ำแข็งที่สูงถึง 5 เมตรชิ้นนี้ มีความยากและท้าทายมากตรงที่มีรายละเอียดจำนวนมาก แถมยังต้องทำเป็นซุ้มอุโมงค์ภายในถ้ำ ส่วนด้านบนก็เป็นลวดลายอ่อนช้อยที่สื่อถึงความเป็นไทย ซึ่งถ้าทำออกมาไม่ได้สัดส่วนก็จะเสี่ยงต่อการถล่มพังเอาได้

 

การแข่งขันแกะสลักหิมะนานาชาติ

ธวัชชัย​ สนธิพิน, ​พรรณนิภา​ นามวิชัย​, ​  

น้ำฝน​ จันทร์จรูญ และ ชโยทิต​ สุขสวัสดิ์​ 

(เรียงลำดับจากซ้าย)

 

นอกจากนี้เรื่องสภาพอากาศที่หนาวเย็น ยังถือเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคที่สำคัญของดรีมทีมอาชีวะผู้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยทีมนี้ 

โจ๊ก:นอกจากความกดดันจากความคาดหวังที่สูงมากแล้ว ด้วยข้อจำกัดของระยะเวลาที่พวกเราต้องสร้างชิ้นงานให้เสร็จในเวลาเพียงแค่ 3 วัน แล้วยังมีความกดดันจากสภาพอากาศหนาวเย็นติดลบ ซึ่งเป็นอุปสรรคที่สำคัญของพวกเราที่ไม่คุ้นเคยกับอากาศหนาวเย็นขนาดนี้อีกด้วยครับ

 

นักศึกษาที่ได้รับเลือกทั้ง 4 คนต้องทำงานแข่งกับเวลา ภายใต้สภาพอากาศที่หนาวเย็นกว่า -20 องศาเซลเซียส ชนิดที่เรียกได้ว่าระหว่างที่ทำงานไปแล้วหากเกิดมีเหงื่อออกมือแล้วถุงมือก็จะแข็ง และมีละอองน้ำแข็งมาเกาะที่ขนตา อีกทั้งพวกเขายังต้องทำงานกลางแจ้งตลอดทั้งวัน ตั้งแต่เช้าตรู่จนถึงเวลา 20.00 น. ทว่าโชคดีที่ก่อนจะเดินทางไปฮาร์บินนั้น ได้มีโปรแกรมให้ฝึกออกกำลังฟิตซ้อมร่างกายกันให้แข็งแรงก่อน เพื่อที่จะเผชิญกับสภาพอากาศอันหนาวเย็นเช่นนั้นได้ ประกอบกับการวางแผนการทำงานที่ดี และแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน จึงทำให้ผลงานลุล่วงสำเร็จได้ 

 

น้ำ-พรรณนิภา​ นามวิชัย​ สมาชิกอีกคนของดรีมทีมจากวิทยาลัยสารพัดช่างตราด  เล่าให้เราฟังถึงสถานการณ์อันน่าตื่นเต้นระหว่างการแข่งขัน 

น้ำ:  “ทีแรกเราก็กลัวกันว่างานจะไม่เสร็จค่ะ เพราะรายละเอียดของงานชิ้นนี้เยอะมาก และเรายิ่งใจเสียเพราะระหว่างที่ทำไปชิ้นงานของทีมที่อยู่รอบๆ ก็เกิดถล่มกันขึ้นมา ก็เลยกลัวกันว่างานของเราที่ทำเป็นซุ้มถ้ำจะถล่มพังลงมาบ้างหรือเปล่า ทุกๆ เย็นระหว่างการแข่งขันทั้ง 3 วัน เราจะต้องมาประชุมกันแล้ววางแผนแบ่งหน้าที่กันว่าพรุ่งนี้เราจะต้องทำอะไรต่อ เพื่อให้ผลงานเสร็จทันเวลา ซึ่งพวกเราทุกคนก็ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และทำหน้าที่ของตัวเองกันอย่างดีที่สุด เพราะเราทุกคนล้วนมีจุดมุ่งหมายอย่างเดียวกันนั่นคืออยากชนะการแข่งขันเพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย

 

การแข่งขันแกะสลักหิมะนานาชาติ

การแข่งขันแกะสลักหิมะนานาชาติ

ผลงานแกะสลักน้ำแข็งชุด

 Rescue Mission Rivets Thamluang Caves In Chiangrai Thailand

 

สมาชิกคนอื่นๆ ยังช่วยกันเล่าให้เราฟังอีกว่า เมื่อหมดเวลาการแข่งขันแม้ว่าทีมของน้องๆ จะไม่สามารถทำงานได้สำเร็จเต็ม 100% ตามที่ตั้งใจเอาไว้ จึงทำให้รู้สึกผิดหวังกันไม่น้อย ทว่าเมื่อถึงเวลาประกาศผลรางวัลจริงๆ แล้ว ผลงานแกะสลักน้ำแข็งชุด ‘Rescue Mission Rivets Thamluang Caves In Chiangrai Thailand’ จากทีมวิทยาลัยสารพัดช่างตราด ในฐานะตัวแทนจากประเทศไทย ก็โดดเด่นพอที่จะได้รับรางวัลใหญ่ถึง 3 รางวัล ได้แก่ รางวัลสุดยอดความคิดสร้างสรรค์ดีเด่น (Best Creative Awards), รางวัลศิลปินยอดเยี่ยม (Artist Awards) รวมถึงรางวัลใหญ่ที่สุดของการแข่งขัน นั่นก็คือ รางวัลชนะเลิศ (Top Grade Awards) ซึ่งมอบให้กับทีมที่ทำคะแนนรวมได้สูงสุด 

 

การแข่งขันแกะสลักหิมะนานาชาติ

 

เมื่อถามน้องๆ ถึงความรู้สึกที่ชนะการแข่งขันระดับนานาชาติ สมาชิกทั้ง 4 จากสาขาการโรงแรมของวิทยาลัยสารพัดช่างตราด ต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันว่ารู้สึกดีใจมาก ประสบการณ์ที่ได้รับจากการฝึกซ้อมและการแข่งขันในครั้งนี้ช่างเป็นประสบการณ์อันแสนมีค่าสำหรับเยาวชนอย่างพวกเขา ซึ่งได้มอบทั้งความสามารถในการแกะสลัก ที่แต่ละคนสามารถนำไปใช้ต่อยอดในอาชีพของตัวเองได้ เพราะแผนกจัดเลี้ยงของโรงแรมนั้นย่อมต้องการความสามารถของพวกเขาแน่นอนอยู่แล้ว อีกทั้งประสบการณ์การทำงานจริงและทำงานร่วมกับผู้อื่นจนชนะเลิศการแข่งขันระดับนานาชาติ ก็ย่อมจะเป็นเกียรติประวัติชั้นดีให้กับพวกเขาต่อไปได้ในอนาคต ที่สำคัญอีกอย่างคือความรู้สึกภาคภูมิใจซึ่งสามารถพิสูจน์ให้ทุกคนได้เห็นว่า เด็กอาชีวะอย่างพวกเขาก็เป็นอาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติ ผู้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยได้สำเร็จ 

 

คิดอย่างไรที่ตัวเองเลือกเรียนสายอาชีวะ THE STANDARD ยิงคำถาม และ เพียว-ชโยทิต​ สุขสวัสดิ์​​ สมาชิกอีกคนของทีมเป็นผู้ให้คำตอบ  

เพียว:ผมรู้สึกดีใจและคิดถูกจริงๆ ครับที่เลือกเรียนสายอาชีวะ เพราะเราสามารถเรียนทั้งภาคทฤษฎี และฝึกปฏิบัติควบคู่กันไปได้ด้วย เราได้ประสบการณ์ในการทำงานก่อนที่จะออกไปทำงานจริง และนอกจากการเรียนในหลักสูตรแล้ว ทางวิทยาลัยก็ส่งเสริมให้มีกิจกรรมนอกหลักสูตรอีกมากมาย ที่จะช่วยให้เราได้ฝึกฝนและพัฒนาศักยภาพของตัวเอง เหมือนกับการที่ส่งพวกเราไปเป็นตัวแทนของสถาบันและตัวแทนของประเทศไทยมาร่วมในการแข่งขันครั้งนี้ ผมว่าการเรียนอาชีวะนั้นให้โอกาสกับผมมากมายเลยครับ” 

 

เมื่อคุยและได้ฟังเรื่องราวแห่งความมุ่งมั่นของน้องๆ กลุ่มนี้แล้ว เราอดไม่ได้ที่จะถามพวกเขาเกี่ยวกับ หนังสั้นชุด ชงด้วยเลิฟเสิร์ฟด้วยรัก ของมูลนิธิเอสซีจี ซึ่งเป็นเรื่องราวของคนที่เรียนสายอาชีวะเช่นเดียวกับพวกเขา สำหรับประเด็นนี้ น้ำฝน​ จันทร์จรูญ เป็นผู้ให้คำตอบกับเราได้อย่างน่าประทับใจ

 

 

น้ำฝน:หนังสั้นชุดนี้ เป็นแรงบันดาลใจที่ดีมาก และมีความคล้ายกันกับชีวิตของเด็กอาชีวะอย่างพวกเรามากเลยค่ะ คือตัวเอกของหนังชุดนี้เขาใฝ่ฝันอยากเป็นบาริสต้า และเนื้อหาของหนังก็แสดงให้เห็นว่า ยิ่งรัก ก็ยิ่งต้องพยายามคือเวลาที่เรามุ่งมั่นจะทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ก็ต้องมีความพยายามฮึดสู้เพื่อประสบความสำเร็จตรงนั้นให้ได้ค่ะ ก็เหมือนกับเวลาที่แม้จะรู้สึกท้อเมื่อเจอกับความกดดันหรืออุปสรรค แต่พวกเราก็พยายามจนก้าวข้ามผ่าน และชนะการแข่งขันจนได้ในที่สุด

 

จากการที่มูลนิธิเอสซีจีมีส่วนสำคัญในชีวิตของนักเรียนหลายคน รู้สึกอย่างไรที่องค์กรนี้มองเห็นความสำคัญ และให้การสนับสนุนการเรียนอาชีวะ

โจ๊ก:ดีใจครับ คือพวกเรารู้สึกว่ามูลนิธิเอสซีจี เป็นองค์กรที่ให้โอกาสคนครับ ซึ่งโอกาสที่เขาให้นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญจริงๆ สำหรับเด็กอาชีวะอย่างพวกเรา เพราะนักศึกษาบางคนเขาก็อาจจะเรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ แต่ทางมูลนิธิเอสซีจีก็หยิบยื่นโอกาสตรงนี้ให้กับเด็กอาชีวะ” 

 

อยากจะให้ฝากอะไรกับผู้อ่านที่อาจจะกำลังเลือกเส้นทางชีวิตของตัวเองกันอยู่

เพียว:อยากจะให้ลองเลือกในสิ่งที่ตัวเองรัก แล้วมุ่งไปครับ แล้วก็อยากจะบอกว่าสถาบันอาชีวะศึกษานั้นเป็นมากกว่าวิทยาลัยครับ คือมันก็เหมือนบ้านหลังใหญ่แล้วเราก็มีครอบครัวที่ใหญ่ ซึ่งเขาพร้อมที่จะสนับสนุนเราให้ได้เรียนรู้ฝึกฝนและเติบโต แต่สิ่งที่สำคัญนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะขวนขวายเอาเองด้วยขนาดไหนครับ แต่อย่างแรกเลยก็คือ อยากให้ลองตอบคำถามตัวเองก่อนครับว่าจริงๆ แล้วเราชอบอะไร เราอยากเป็นอะไรในอนาคต

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

FYI
  • มูลนิธิเอสซีจี เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนา คนโดยมุ่งเน้นที่เด็กและเยาวชนเป็นหลัก จึงได้จัดทำโครงการ อาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติเพื่อมอบทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และเลือกเรียนต่อในสายอาชีพ ได้แก่ ประเภทวิชาอุตสาหกรรม เกษตรกรรม อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และคหกรรม เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนเลือกเรียนในสิ่งที่ตนชอบและถนัด โดยทุนนี้เป็นทุนให้เปล่า ไม่มีภาระผูกพันต้องใช้คืน ทั้งนี้นักเรียนทุนอาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติ โดยมูลนิธิเอสซีจี จะได้รับการส่งเสริมทั้งด้านศักยภาพ ความรู้ ตลอดจนการพัฒนาตนเองให้เป็นทั้งคน เก่งและดีอีกด้วย      
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising