×

SCB CIO คาด Fed ขึ้นดอกเบี้ยคุมเงินเฟ้อปีนี้สูงถึง 1.75% มองหุ้นไทย-เวียดนามเป็นที่หลบภัยเด่นในกลุ่ม EMs

22.02.2022
  • LOADING...
กำพล อดิเรกสมบัติ

SCB CIO ประเมิน Fed ขึ้นดอกเบี้ย 0.5% ในเดือนมีนาคมนี้ ขณะที่ทั้งปีอาจขึ้นสูงถึง 1.75% เร็วและแรงกว่าที่เคยคาดไว้ ชี้หุ้นไทย-เวียดนามเป็นที่หลบภัยเด่นในกลุ่ม EMs พร้อมปรับมุมมองต่อน้ำมันเป็นเชิงบวกมากขึ้น หลังปัญหาขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนส่อแววยืดเยื้อ

 

กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี และมีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปีแต่ยังอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารกลางหลัก รวมถึงการฟื้นตัวของตลาดแรงงานทำให้ธนาคารกลางหลัก เช่น ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed), ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และล่าสุดธนาคารกลางยุโรป (ECB) ทยอยส่งสัญญาณขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง

 

จากปัจจัยดังกล่าว SCB CIO จึงได้ปรับมุมมองการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed Fund Rates) ในปี 2022 โดยคาดว่าจะมีการปรับขึ้น 175 bps (จากเดิม 100 bps) เป็นการปรับขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกเป็นหลัก (Front-Loaded Rate Hikes) และมีโอกาสที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย 50 bps ในการประชุม Fed ระหว่างวันที่ 15-16 มีนาคมนี้ ขณะที่ในยุโรปตลาดเริ่มมีการปรับคาดการณ์การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและทำ QE Taper โดยคาดว่าจะเสร็จสิ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2022

 

สำหรับปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนยังเป็นปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวัง แม้โอกาสการเกิดสงครามเต็มรูปแบบค่อนข้างตํ่า แต่ความตึงเครียดมีแนวโน้มยืดเยื้อ อาจจะมีผลกระทบช่วงสั้นจากมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มถูกนำมาใช้จะตกอยู่กับตลาดการเงินรัสเซีย กลุ่มธนาคารยุโรปที่มีการปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจในรัสเซีย และเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้ราคาพลังงานอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง

 

ส่วนทางด้านตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้นมีการรับรู้ (Priced-In) ดอกเบี้ยขาขึ้นไปบ้างแล้ว แต่ยังรอความชัดเจนเพิ่มเติมจากธนาคารกลางหลัก โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรเร่งตัวขึ้นเร็วกว่าอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่แท้จริง (Real Yields) เร่งตัวสูงขี้น แต่ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด

 

ทั้งนี้ จากแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายขาขึ้นทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นเร่งตัวขึ้นเร็วกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว ส่งผลให้ Yield Curve ในหลายประเทศเริ่มมีความชันลดลง (Flattening) ส่วนผลประกอบการของหุ้นขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ ที่ประกาศออกมายังคงมีแนวโน้มเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ผลประกอบการของบริษัทขนาดเล็กเริ่มมีสัญญาณชะลอตัวลง

 

กำพลกล่าวอีกว่า ภายใต้ภาวะดังกล่าว SCB CIO แนะนำให้ทยอยสะสมหุ้นสหรัฐฯ และยุโรป ส่วนตลาดหุ้นเวียดนามและไทยเป็นที่หลบภัยที่ดี ปรับมุมมองทองคำเป็น Neutral และน้ำมันเป็น Slightly Positive เพื่อ Hedge เงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วจาก Fed ผลตอบแทนสินทรัพย์เสี่ยงมีแนวโน้มชะลอตัวลงและมีความผันผวนมากขึ้น ทำให้การลงทุนควรเป็นลักษณะ Selective Buy

 

โดยนักลงทุนที่รับความผันผวนได้ยังเน้นให้ลงทุนในตลาดหุ้นมากกว่าตลาดพันธบัตร เนื่องจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น โดยตลาดพันธบัตรควรเน้นลงทุนตราสารหนี้ระยะสั้นที่มี Duration น้อยกว่า 2 ปี และเลี่ยงการลงทุนในตราสารหนี้เอเชีย High Yield ที่มีหุ้นกู้จีน High Yield รวมถึงตราสารหนี้ยุโรป High Yield โดยเฉพาะกลุ่มธนาคารที่อาจได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน

 

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในตลาดหุ้นแนะนำให้ทยอยสะสมในช่วงที่ตลาดหุ้นมีการปรับตัวลดลง (Buy On Dip) แม้ตลาดหุ้นส่วนใหญ่จะได้รับผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยที่รวดเร็ว โดยเชื่อว่าหุ้นในตลาดยุโรปและสหรัฐฯ ในกลุ่ม Quality Growth และ Value มีแนวโน้มฟื้นตัวได้เร็วกว่าหุ้นกลุ่มอื่นๆ โดยเน้นหุ้นที่มี Pricing Power สูง มีงบดุลแข็งแกร่ง และมี Valuation ที่สมเหตุสมผล สอดคล้องกับศักยภาพการเติบโตของผลกำไร 

 

ขณะที่ตลาดหุ้นเวียดนามและไทยมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจำกัดจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ขึ้นช้ากว่าเศรษฐกิจที่คาดการณ์ว่าผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และเป็นตลาดที่มีหุ้นกลุ่ม Tech และ Growth ค่อนข้างน้อย จึงเป็นที่หลบภัยที่ดี เหมาะสำหรับการลงทุนในช่วงเวลานี้

 

สำหรับนักลงทุนมั่งคั่งระดับสูง การลงทุนใน Private Asset เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการลงทุนและลดความผันผวนให้กับพอร์ตโดยรวมได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ในช่วงที่ตลาดเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ เช่น ตลาดหุ้นไทย การลงทุนใน Structure Note KIKO (ตราสารอนุพันธ์ที่อ้างอิงกับราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์) เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีได้

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising