×

ย้อนรอย… ก่อนที่จะมีผ้าอนามัย

27.09.2019
  • LOADING...
ผ้าอนามัย

HIGHLIGHTS

2 Mins. Read
  • ปัจจุบันผู้หญิงมีประจำเดือนมากเดือนกว่าสมัยร้อยปีก่อนเป็นอย่างมาก เนื่องด้วยผู้หญิงปัจจุบันเริ่มมีประจำเดือนเร็วตั้งแต่อายุ 12-13 ปี ขณะที่สมัยก่อนเริ่มมีตอน 15-16 ปี สมัยนี้มีลูกน้อยคน ขณะที่สมัยก่อนมีลูกมาก เพราะไม่มีการคุมกำเนิด การตั้งครรภ์และการให้นมลูก 1 คนจะทำให้ไม่มีประจำเดือนนานเกือบ 2 ปี 
  • ผ้าอนามัยใช้แล้วทิ้งเกิดขึ้นในปี 1880 โดยเบนจามิน แฟรงคลิน ผู้คิดค้นคอนเซปต์ของ ‘ผ้าอนามัย’ เป็นคนแรกเพื่อซับเลือดทหารในสงคราม 

หมอมักจะได้ยินผู้หญิงบ่นว่า ‘เกิดเป็นผู้หญิงนั้นลำบากเหลือแสน’ ส่วนเหตุผลที่ลำบากก็เพราะมีประจำเดือนนั่นเองที่ทำให้ผู้หญิงไม่สบายเนื้อไม่สบายตัวในวันแดงเดือดของเดือน ไปไหนมาไหนก็ลำบาก ออกกำลังกายก็เป็นกังวล

 

แต่รู้ไหมคะว่าปัจจุบันผู้หญิงเรามีประจำเดือนมากเดือนกว่าสมัยร้อยปีก่อนเป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้หญิงปัจจุบันเริ่มมีประจำเดือนเร็วตั้งแต่อายุ 12-13 ปี ขณะที่สมัยก่อนเริ่มมีตอน 15-16 ปี สมัยนี้มีลูกน้อยคน ขณะที่สมัยก่อนมีลูกมาก เพราะไม่มีการคุมกำเนิด การตั้งครรภ์และการให้นมลูก 1 คนจะทำให้ไม่มีประจำเดือนนานเกือบ 2 ปี ทั้งผู้หญิงปัจจุบันมีโอกาสไม่แต่งงาน รักเพศเดียวกัน อยู่เป็นโสด แต่งงานแล้วไม่มีลูกมากกว่าผู้หญิงสมัยก่อน

 

ผ้าอนามัย

Photo: sexinfo.soc.ucsb.edu

 

แต่การจัดการกับประจำเดือนในสมัยนี้ง่ายดายกว่าสมัยก่อนยิ่งนัก เพราะเรามีผ้าอนามัยหลากหลายชนิดให้เลือก ทั้งแบบสวมใส่ภายนอก สอดใส่ภายใน มีผ้าอนามัยแบบห่วง แบบแผ่นคาดกับชั้นใน สำหรับวันมาน้อย วันมามาก มีปีก ไม่มีปีก มีการซึมซับสูง เพราะมีเจลซึมซับอยู่ภายใน หรือจะแบบถ้วยซิลิโคนสอดใส่ช่องคลอดเพื่อรับเลือดแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เป็นการรักษ์โลก ไม่เพิ่มขยะมีพิษที่ทำให้โลกร้อน ทั้งมีการคุมกำเนิดโดยใช้ฮอร์โมนหลายวิธีที่ทำให้ประจำเดือนมาน้อยหรือไม่มา เช่น การฉีด การกิน การฝังห่วงอนามัย 

 

ส่วนผ้าอนามัยที่ใช้แล้วทิ้งนั้นเกิดขึ้นในปี 1880 ซึ่งผู้หญิงในปัจจุบันต้องขอบคุณเบนจามิน แฟรงคลิน (Benjamin Franklin) ที่คิดค้นคอนเซปต์ของ ‘ผ้าอนามัย’ เป็นคนแรก โดยทำผ้าที่สามารถใช้แล้วทิ้งเพื่อซับเลือดทหารในสงคราม รวมถึงการซับประจำเดือน ต่อมาจึงมีการนำมาจำหน่ายทางการค้าเป็นเรื่องเป็นราวนั่นเอง

 

ผ้าอนามัย

Photo: www.mum.org

 

ก่อนที่จะมีผ้าอนามัยจำหน่าย ผู้หญิงเราจัดการกับประจำเดือนอย่างไร

หนังสือ Flow: The Cultural Story of Menstruation ที่เขียนโดยสองสตรี เอลิสซา สไตน์ (Elissa Stein) และซูซาน คิม (Susan Kim) ได้เล่าเรื่องราวในประวัติศาสตร์ไว้ว่า “เมื่อผู้หญิงเมื่อมีประจำเดือน เพื่อไม่ให้เปรอะเปื้อนก็ต้องหาแผ่นอะไรที่สามารถซึมซับได้มารองไว้ ส่วนใหญ่เป็นของใกล้ตัวจากธรรมชาติ นำสิ่งนั้นมาโยงลอดผ่านขา ใช้เชือกร้อยผูกมัดไว้กับเอว” หนังสือนี้ยังย้อนรอยถึงความสร้างสรรค์ของผู้หญิงในแต่ละชาติอีกด้วยดังนี้

 

  • ผู้หญิงสมัยอียิปต์ใช้เยื่อไม้ปาปิรุส (Papyrus) 
  • ผู้หญิงกรีกและโรมันใช้ผ้าสำลี (Lint) พันรอบแกนไม้เล็กๆ
  • ผู้หญิงญี่ปุ่นใช้กระดาษนุ่มๆ เช่น กระดาษสา
  • ผู้หญิงพื้นเมืองอเมริกัน (Native American) ใช้ผิวหนังควายห่อหุ้มด้วยหญ้ามอส
  • ผู้หญิงไทยนิยม ‘ขี่ม้า’ นั่นคือใช้ผ้าขี้ริ้วหรือผ้าซิ่นเก่านุ่มทบพันหลายชั้นลอดระหว่างขา คาดด้วยเข็มขัดหรือเชือก นอกจากนั้นยังใช้เสื้อผ้าเก่า ผ้าขี้ริ้ว ผ้าฝ้าย ขนสัตว์ ผ้าทอ ไหมพรมถัก หญ้าแห้ง มาเป็นแผ่นซึมซับ

 

แม้ปัจจุบันโลกมีวิวัฒนาการไปไกล ผ้าอนามัยมีหลายหลากชนิดให้เลือก หาซื้อง่าย สวมใส่สะดวกสบาย แต่ผ้าอนามัยยังมีราคาแพงจนมีคำพูดที่ว่า “From rags to riches?” ดังนั้นการใช้วัสดุธรรมชาติรองรับประจำเดือนแบบโบราณอาจจะมีคนกลุ่มหนึ่งยังคงปฏิบัติอยู่มาจนถึงปัจจุบัน เพราะนอกจากไม่สิ้นเปลืองแล้วยังนำไปซักมาใช้ใหม่ เป็นการลดขยะ ลดโลกร้อน รักษ์โลกมาแต่ไหนแต่ไรนั่นเอง

 

อ่านเรื่อง เหวี่ยงก่อนมีประจำเดือน โทษ PMS ได้ไหม? มีวิธีป้องกันหรือบรรเทาอย่างไร ได้ที่นี่

 

ภาพเปิด: วรพรรณ จำปาไชยศรี

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • Flow: The Cultural Story of Menstruation by Elissa Stein & Susan Kim
  • Bardis, Panos D. “Contraception in Ancient Egypt” Indian Journal of the History of Medicine. Vol.12, No. 2. Indian Journal of the History of Medicine: India, 1967. Date Accessed 15 October 2018
  • Kennedy, Pagan. “The Tampon of the Future: [Op-Ed]” New York Times. New York Times: New York, 03 April 2016. Date Accessed: 16 October 2018.
  • “History of Tampons and Tampax.” About Tampax. Procter & Gamble, 2014. Web.
  • Kennedy, Pagan. “The Tampon of the Future: [Op-Ed]” New York Times. New York Times: New York, 03 April 2016. Date Accessed: 16 October 2018
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X