×

เรียนรู้ความสำคัญของการจัดการพื้นที่ผ่าน ‘Sand Box’ องค์กรในฝันจากซีรีส์ Start-Up

27.11.2020
  • LOADING...
เรียนรู้ความสำคัญของการจัดการพื้นที่ผ่าน ‘Sandbox’ องค์กรในฝันจากซีรีส์ Start-Up

ในยุคที่ทุกคนไม่กลัวที่จะเดินทางออกตามหาความฝันและพยายามทำมันให้เป็นจริงได้ ‘Start-Up’ ได้กลายมาเป็นซีรีส์ในดวงใจของคนทำงานและวัยรุ่นนักฝันให้กลับมามีไฟอีกครั้งหนึ่ง หลังจากผ่านวิกฤตของโลกต่างๆ นานามาตลอดทั้งปี

 

Sand Box

 

ซีรีส์เรื่องนี้จำลองภาพเส้นทางการทำงานภายในสวรรค์ของวงการเทคโนโลยีโลกอย่าง ‘ซิลิคอนแวลลีย์’ โดยเล่าเรื่องผ่านมุมมองอุดมคติของหนุ่มสาวเกาหลี ตั้งแต่กระบวนการปั้นความฝันจากในหัว สู่การเดินทางทำความฝันให้กลายเป็นความจริง อีกส่วนสำคัญที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามีส่วนช่วยให้ไอเดียสร้างสรรค์พุ่งกระฉูด นั่นคือการจัดสรรพื้นที่การทำงานอย่างสร้างสรรค์ผ่านองค์ประกอบของพื้นที่ว่างเท่าเทียมกับพื้นที่ทำงาน รายล้อมด้วยสีสันสดใส พื้นที่ในซิลิคอนแวลลีย์ฉบับเกาหลีที่มีชื่อว่า ‘Sand Box’ 

 

แทบจะทุกตอนของซีรีส์ เราได้เห็นฉากนางเอกนอนหลับในพื้นที่ส่วนกลาง นั่งบนอัฒจันทร์ที่เต็มไปด้วยผู้คนบอกรักและสวมกอดกันและกัน ไปจนถึงดาดฟ้า พื้นที่ที่ซีอีโอซอดัลมีและนัมโดซานใช้เวลาร่วมกัน เราตั้งข้อสังเกตว่าทุกพื้นที่ที่ว่ามาเปรียบเหมือนพื้นที่ที่ไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าใช้ทำอะไร แต่พื้นที่นี้ล่ะที่เป็นเบื้องหลังในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนทำงาน เราจึงอยากชวนคุณมาสำรวจความสำคัญของแต่ละส่วนไปพร้อมๆ กัน 

 

01 ห้องอเนกประสงค์สู่พื้นที่ยืดหยุ่น

 

ห้องโถงโล่งที่ใช้เป็นพื้นที่แข่งขันแฮกกาธอน (Hackathon)

 

เมื่อก่อนเราน่าจะเคยชินกับคำว่าห้องอเนกประสงค์กันบ้าง บางที่เป็นห้องกว้างๆ ที่จะใช้จัดงานอะไรก็ได้ ในขณะที่บางที่เป็นโถงกลางลานโล่งๆ หลายองค์กรอาจมองว่าถูกทิ้งร้าง เปลืองพื้นที่ แต่เอาเข้าจริงเมื่อต้องจัดงานอะไรก็ต้องมาง้อตรงนี้ทุกที

 

ในงานออกแบบสถาปัตยกรรมยุคก่อนมักเน้นเรื่องอรรถประโยชน์เป็นหลัก พูดง่ายๆ ก็คือหากจะต้องสร้างอาคารสำนักงานสักหนึ่งหลัง ทุกมุมของพื้นที่จะต้องเกิดประโยชน์สูงสุดด้วยการใส่ฟังก์ชันกับห้องต่างๆ ให้เต็ม ไม่ให้สูญเสียพื้นที่ไปโดยเปล่าประโยชน์ เพราะสำหรับการออกแบบสำนักงานแล้ว พื้นที่ที่ถูกทิ้งให้ว่างเปล่าก็เท่ากับรายได้ที่สูญเสียไปโดยใช่เหตุ

 

อัฒจันทร์ Sand Box 

 

การมาถึงของโมเดลการทำงานแบบสตาร์ทอัพในซิลิคอนแวลลีย์เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ผู้คนมองเห็นรูปแบบการทำงานใหม่มากกว่าการนั่งอยู่กับโต๊ะเพียงอย่างเดียว ไลฟ์สไตล์ที่ทุกพื้นที่เป็นห้องทำงานกลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงกันมากในช่วงสิบปีที่ผ่านมาว่าเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้กับพนักงาน นำมาสู่การสร้าง Negative Space หรือพื้นที่ว่าง ที่บางสำนักงานกินพื้นที่มากกว่าครึ่งหนึ่งของพื้นที่นั่งทำงานแบบเดิม

 

แล้วพื้นที่ว่างเปล่าไร้ฟังก์ชันแบบนี้สร้างประโยชน์อะไรให้กับคนทำงานได้บ้างล่ะ แน่นอนว่าเรื่องจิตใจต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง จะทำงานให้ได้ดีก็ต้องมีร่างกายและจิตใจที่พร้อมก่อน พื้นที่เหล่านี้จึงยากที่จะถูกนิยามว่าเป็นอะไรกันแน่ จะเป็นอัฒจันทร์เอาต์ดอร์ที่เชื่อมต่อกับธรรมชาติ พื้นที่โล่งที่วางชุดโต๊ะเก้าอี้เต็มไปหมด หรือพื้นที่ที่วางของเล่นอุปกรณ์กีฬา ไม่สำคัญว่าจะนิยามมันว่าอะไร แค่พื้นที่นี้ยืดหยุ่นสำหรับพฤติกรรมและความชอบของคนที่ต่างกันเท่านั้นก็พอ

 

02 พฤติกรรมสร้างรูปแบบการใช้งานพื้นที่

 

Menlo Park ออฟฟิศของ Facebook
ภาพ: Courtesy of Facebook 

 

แนวคิดการสร้างพื้นที่ในปัจจุบันจึงเน้นที่ความเข้าใจในพฤติกรรมการใช้งานของผู้คนในพื้นที่ที่แตกต่างกันไป คำตอบที่ทำงานได้ดีที่สุดสำหรับโจทย์นี้จึงเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานสามารถออกแบบรูปแบบการใช้พื้นที่ได้ตามความต้องการในเวลานั้นๆ

 

ยกตัวอย่างงานออกแบบของ แฟรงก์ เกห์รี ที่ออกแบบ Menlo Park สำหรับ Facebook ซึ่งนับว่าเป็นอาคารสำนักงานแบบเปิดขนาดใหญ่ที่สุดในโลกบนพื้นที่กว่า 4.3 แสนตารางฟุต อาคารแห่งนี้ถูกเปิดออกเพื่อต้อนรับสภาพแวดล้อมตลอดทั้งปีของแคลิฟอร์เนีย โดยเน้นที่การออกแบบเส้นทางเดินเป็นหลัก แล้วค่อยดึงฟังก์ชันของพื้นที่ทำงานหลายๆ แบบมาเป็นพื้นที่ระหว่างทาง ปิดท้ายด้วยหลังคาที่ทำหน้าที่เป็นสวนไปในตัว จะใช้พื้นที่ตรงไหนทำอะไรก็ได้ตามใจผู้ใช้งาน แต่ทั้งหมดยึดพื้นฐานที่การสร้างสุขลักษณะและคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นเรื่องสำคัญ

 

Menlo Park ออฟฟิศของ Facebook
ภาพ: Courtesy of Facebook

 

ตัดภาพกลับมาที่ Sand box ในซีรีส์ที่พวกเราคุ้นเคย หากสังเกตดีๆ เราจะเห็นว่าสมาชิกของชุมชนแห่งนี้ใช้งานพื้นที่สาธารณะกันมากกว่าจะกระจุกตัวอยู่ในห้องทำงานด้วยซ้ำ ทั้งที่เป็นพื้นที่เปิดกว้าง แต่ทุกคนยังรู้สึกถึงความเป็นส่วนตัว จนกระทั่งสามารถทำกิจกรรมที่คาดไม่ถึงได้อย่างการนอนเหยียดพักผ่อนของซอดัลมี หรือการจูบจนทีมซัมซานเทคต้องอิจฉา นั่นก็เพราะการสร้างพื้นที่และสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับทุกคน เมื่อพื้นที่สร้างความสบายใจได้แล้ว ผู้ใช้งานจึงสามารถออกแบบการใช้งานพื้นที่ได้ด้วยตัวเองตามพฤติกรรมที่เป็นอยู่ โดยไม่ต้องแคร์ว่าส่วนนี้จะถูกเรียกว่าอะไร

 

03 สีสัน ส่วนสำคัญในการสร้างแรงบันดาลใจ

 

 

อีกหนึ่งจิตวิทยาของการสร้างพื้นที่เพื่อสร้างแรงบันดาลใจคือการเติมสีสันและเส้นสายเป็นองค์ประกอบให้กับพื้นที่ พื้นที่ที่ถูกโอบล้อมแทบทั้งหมดของ Sand Box ถูกประดับประดาด้วยสีสันจากวัสดุที่แตกต่างกันไป ทั้งไฟเส้น กระจกสี และแพตเทิร์นสนุกๆ แต่ก็ไม่ลืมใช้ Negative Space หรือพื้นที่ว่างเบรกสายตาอย่างการใช้วัสดุไม้สีอ่อน หรือการใช้พื้นผิวสีขาวเพื่อบาลานซ์ความตื่นเต้นของสีสันให้กลมกล่อมพอดี ไม่หวือหวาจนดึงสายตาไปเสียทุกส่วน

 

พื้นที่เอาต์ดอร์ก็เป็นส่วนสำคัญไม่น้อยไปกว่าสีสันสดใส เพราะผู้คนเกิดมาพร้อมกับธรรมชาติ และสีเขียวของต้นไม้คือเครื่องเยียวยาจิตใจของมนุษย์ได้ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นอัฒจันทร์กลางสวน หรือดาดฟ้าที่มองเห็นทั้งเมือง ทั้งหมดไม่ได้ถูกกำหนดว่าใช้ทำอะไร จะนั่ง จะนอน จะทำงานก็ได้ตามใจ แต่ทุกมุมล้วนมองเห็นสีเขียวสำหรับพักสายตาที่เหนื่อยล้าจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ตลอดทั้งวัน

 

 

เราเชื่อว่าอาคารและสถานที่ทุกมุมของ Sand Box ถูกออกแบบด้วยหลักการที่ต้องการสร้างพื้นที่แห่งแรงบันดาลใจให้กับทุกคน นอกจากโมเดลของการทำงานที่ประยุกต์ใช้ได้จริงในชีวิตแล้ว ดีไซน์ของ Sand Box ก็เป็นต้นแบบของการสร้างพื้นที่ทำงานในอุดมคติยุคใหม่ให้กับคนทำงานทั่วโลกได้เช่นกัน เหมือนกับโลโก้สาวน้อยที่บนชิงช้าที่แกว่งไกว พื้นทรายก็เป็นพื้นที่ว่างเปล่าสำหรับรองรับยามที่เธอร่วงหล่นเช่นเดียวกัน

 

ภาพ: Start-Up   

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising