×

เรารู้อะไรแล้วบ้างและอะไรจะเกิดขึ้นต่อ หลังรัสเซียเตรียมผนวก 4 ดินแดนยูเครน

30.09.2022
  • LOADING...
รัสเซียเตรียมผนวก 4 ดินแดนยูเครน

ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน เตรียมจัดพิธีลงนามผนวกรวม 4 ดินแดนของยูเครนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียอย่างเป็นทางการในวันนี้ (30 กันยายน) ซึ่งถือว่าเป็นการเดินเกมเร็วของฝ่ายรัสเซีย หลังเพิ่งเสร็จสิ้นการลงประชามติได้เพียง 3 วัน ท่ามกลางสถานการณ์ในสงครามที่รัสเซียกำลังเสียเปรียบ เนื่องจากถูกกองกำลังของยูเครนตีโต้กลับครั้งใหญ่ในรอบ 7 เดือน

 

แม้ผลนับคะแนนจากคณะกรรมการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นทั้ง 4 แคว้น (ที่รัสเซียแต่งตั้งมาเองกับมือ) จะออกมาว่า ประชาชนในยูเครนส่วนใหญ่เห็นชอบการผนวกดินแดนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียชนิดแลนด์สไลด์ แต่ยูเครนและชาติตะวันตก รวมถึงสหรัฐอเมริกา ต่างประกาศไม่ยอมรับและประณามการทำประชามติดังกล่าวว่าเป็นประชามติลวงโลก อีกทั้งยังมองว่านี่คือข้ออ้างของรัสเซียที่พยายามสร้างความชอบธรรมให้กับการยึดดินแดนยูเครน

 

แต่ปูตินก็ดูเหมือนจะไม่แคร์สื่อ ยังคงยืนยันว่าการทำประชามติครั้งนี้เป็นไปตามหลักการ ‘Self-Determination’ หรือสิทธิในการกำหนดการปกครองด้วยตนเอง ท่ามกลางความวุ่นวายที่เกิดขึ้นนี้ THE STANDARD ขอสรุปสถานการณ์ของสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นให้ทุกคนเข้าใจอย่างง่ายๆ รวมถึงสิ่งที่นักวิเคราะห์ ‘คาดว่าจะเกิดขึ้น’ หลังการผนวกรวมดินแดนครั้งนี้

 

เกิดอะไรขึ้นในตอนนี้

  • รัสเซียเตรียมที่จะผนวก 4 ดินแดนของยูเครน ซึ่งได้แก่ โดเนตสก์, ลูฮันสก์, ซาปอริซเซีย และเคอร์ซอน ในวันนี้ หลังผลการลงประชามติออกมาว่า ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ดังกล่าวสนับสนุนการผนวกดินแดนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย

 

  • โดยผลการนับคะแนนอย่างเป็นทางการจากทั้ง 4 แคว้น ออกมาว่า มีประชาชนในลูฮันสก์เห็นชอบให้ผนวกรวมดินแดนถึง 98.4% ขณะโดเนตสก์อยู่ที่ 99.2% ซาปอริซเซียอยู่ที่ 93.1% และเคอร์ซอนอยู่ที่ 87%

 

  • ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกประธานาธิบดีเผยว่า วันนี้ เวลาราว 15.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นรัสเซีย จะมีพิธีลงนามอย่างเป็นทางการ ณ เซนต์จอร์จฮอลล์ พระราชวังเครมลิน ระหว่างผู้นำรัสเซียและผู้แทนทั้ง 4 จาก 4 ดินแดน ไม่ว่าจะเป็นผู้นำกลุ่มแบ่งแยกดินแดนและโปรรัสเซียในแคว้นโดเนตสก์และแคว้นลูฮันสก์ ทางภาคตะวันออกของยูเครน รวมถึงผู้แทนของรัสเซียที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลพื้นที่ดังกล่าว ภายหลังจากที่ยึดครองพื้นที่ในซาปอริซเซียและเคอร์ซอน ทางตอนใต้ของยูเครนได้

 

  • ด้านยูเครนและชาติตะวันตกต่างออกมาประณามการลงคะแนนเสียงดังกล่าวว่าเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ โดยการผนวกดินแดนอย่างไม่ชอบธรรมครั้งนี้จะส่งผลให้รัสเซียยึดพื้นที่ของยูเครนไปถึง 15%

 

  • หลายฝ่ายมองว่า การผนวกรวมดินแดนครั้งล่าสุดเหมือนกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2014 ไม่มีผิด โดยในครั้งนั้นรัสเซียได้ประกาศผนวกรวมดินแดนไครเมียของยูเครน ซึ่งก็ไม่ได้รับการรับรองจากประชาคมโลก

 

  • โดยในวันนี้รัสเซียได้มีการจัดงานผนวกรวมดินแดนอย่างยิ่งใหญ่ ณ จัตุรัสแดง ซึ่งสื่อต่างประเทศรายงานว่าจะมีการจัดคอนเสิร์ตด้วย โดยตอนนี้เจ้าหน้าที่ได้ขึ้นป้ายเหนือเวทีอย่างยิ่งใหญ่ว่า ‘โดเนตสก์ ลูฮันสก์ ซาปอริซเซีย เคอร์ซอน-รัสเซีย!’ เพื่อเป็นการอ้าแขนรับทั้ง 4 ดินแดนสู่อ้อมอกของปูติน

 

เหตุใดรัสเซียจึงรีบประกาศการผนวกดินแดนที่ยึดครองมาจากยูเครน?

  • การผนวกรวมดินแดนของยูเครนเข้ากับรัสเซียถือเป็นการยกระดับความขัดแย้งให้รุนแรงขึ้นอย่างมาก

 

  • นักวิเคราะห์กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นเพราะรัสเซียต้องการแสดงท่าทีให้ชาติตะวันตกเห็นว่า รัสเซียจะไม่ยอมถอยออกจากยูเครนเด็ดขาด แม้ว่าจะถูกยูเครนรุกคืบตีเมืองในทางตะวันออกเฉียงเหนือคืน

 

  • ปีเตอร์ ซัลมาเยฟ ผู้อำนวยการโครงการ Eurasia Democracy Initiative เปิดเผยว่า “ปูตินต้องแสดงให้ประชาชนของเขาเห็นว่าสงครามนี้มีวัตถุประสงค์บางอย่างที่ต้องเอาชนะ” และหวังว่าการผนวกดินแดนเข้ากับแผ่นดินแม่ของรัสเซียจะเรียกคืนความเชื่อมั่นจากประชาชน และทำให้ตัวปูตินเองกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง เพราะการลงประชามติ (ที่ถึงแม้จะไม่ชอบธรรม) ก็ทำให้รัสเซียดูเป็นผู้ชนะในเชิงสัญลักษณ์

 

  • นอกจากนี้การผนวกรวม 4 แคว้นของยูเครนในครั้งนี้ยังทำให้รัสเซียอ้างได้ว่า ‘นี่เป็นดินแดนส่วนหนึ่งของรัสเซียตามกฎหมายรัสเซีย ทั้งโดยพฤตินัยและนิตินัย’ ซึ่งถ้าใครมาโจมตีดินแดนของรัสเซียต่อจากนี้ก็จะถือว่าโจมตีประเทศรัสเซียโดยตรง และต้องถูกรัสเซียโต้กลับอย่างไม่ไว้หน้า

 

มีใครยอมรับผลการลงประชามติบ้าง?

  • อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า ในสายตาของประชาคมโลก การจัดทำประชามติของรัสเซียครั้งนี้ไร้ความชอบธรรมโดยสิ้นเชิง เนื่องจากไม่มีการสังเกตการณ์จากองค์การสหประชาชาติ (UN) อีกทั้งในขณะที่ทำประชามติบนพื้นที่สู้รบนั้นก็ไม่ได้มีการหยุดยิง แถมยังมีข่าวว่าเจ้าหน้าที่ของรัสเซียใช้ปืนขู่บังคับให้คนไปลงคะแนนเสียงด้วย

 

  • จนถึงขณะนี้แม้แต่พันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดของรัสเซียอย่างจีน, อินเดีย, คาซัคสถาน และเซอร์เบีย ก็ไม่ได้แสดงท่าทียอมรับการผนวกรวมดินแดน

 

  • ด้านเจ้าหน้าที่จาก UN สหรัฐฯ และยูเครน ต่างก็ประณามว่า นี่เป็นกระบวนการลงประชามติที่น่าอัปยศที่สุดของรัสเซีย 

 

  • อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการ UN กล่าวว่า การตัดสินใจผนวก 4 ดินแดนของยูเครนนั้นไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย และสมควรต้องถูกประณาม

 

  • ด้านกลุ่ม G7 ซึ่งประกอบด้วยแคนาดา, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี, ญี่ปุ่น, สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ ออกมาประณามการลงประชามติของรัสเซียว่า เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

 

จะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้

  • ประธานาธิบดี โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ได้ออกมาเตือนรัสเซียให้เตรียมตัวเจอกับการตอบโต้อย่างรุนแรง หากรัสเซียยังดึงดันที่จะผนวกรวมดินแดนของยูเครน ทั้งยังกล่าวด้วยว่า “หากจะหยุดตอนนี้ก็ยังทัน” 

 

  • ผู้นำกลุ่ม G7 และสหรัฐฯ ประกาศว่า จะกำหนดมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมต่อรัสเซีย เพื่อช่วยกดดันรัสเซียอีกทางหนึ่ง

 

  • ด้านสหภาพยุโรปขู่ว่า รัสเซียจะต้องได้รับบทเรียนราคาแพงจากความพยายามในการยกระดับความขัดแย้งครั้งล่าสุดนี้

 

  • นักวิเคราะห์คาดการณ์กันว่า มีแนวโน้มที่ชาติตะวันตกอาจเพิ่มการจัดส่งอาวุธให้กับยูเครน และยกระดับมาตรการคว่ำบาตรทางการเงินเพิ่มเติมอีก ซึ่งในปัจจุบันนี้การคว่ำบาตรทางการเงินต่อรัสเซียถือว่าหนักหนาที่สุดแล้วสำหรับประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่บนโลกสมัยใหม่

 

  • ขณะเดียวกันสถานการณ์ที่เกิดขึ้นก็ต้องจับตากันต่อ เพราะการผนวกรวมดินแดนของยูเครนเข้ากับรัสเซียอาจเป็น ‘จุดอันตราย’ ของสงครามในครั้งนี้ และมีความเป็นไปได้ที่รัสเซียอาจใช้อาวุธที่รุนแรงกว่าเดิม หรือแม้กระทั่งอาวุธนิวเคลียร์อย่างที่เคยขู่ไว้

 

  • เหตุเพราะว่าดินแดนทั้ง 4 ของยูเครนที่กำลังจะถูกผนวกรวมเข้ากับดินแดนของรัสเซียนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของรัสเซียทั้งหมด ซึ่งหากมองในมุมของรัสเซียแล้ว เมื่อกระบวนการผนวกรวมสิ้นสุด ดินแดนเหล่านี้จะถือเป็นส่วนหนึ่งของประเทศรัสเซีย ฉะนั้นจึงอาจเกิดการสู้รบที่ดุเดือดกว่าเดิม

 

  • ประกอบกับเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (28 กันยายน) รัสเซียประกาศว่า ปฏิบัติการทางทหารพิเศษในยูเครนจะต้องดำเนินต่อไป อย่างน้อยก็จนกว่าจะสามารถยึดครองภูมิภาคโดเนตสก์ได้ทั้งหมด โดยในตอนนี้รัสเซียสามารถยึดครองโดเนตสก์ไว้ได้ราว 60% เท่านั้น

 

  • ส่วนความคิดเห็นจากนักวิชาการนั้น น.อ.อ.ดร.หัสไชยญ์ มั่งคั่ง จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความคิดเห็นเอาไว้ในการเสวนาหัวข้อ ‘Ukraine, Taiwan: Strait & Stress’ เมื่อวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา ว่า ยูเครนไม่น่าจะยอมแพ้รัสเซียไม่ว่าด้วยประการใดๆ ก็ตาม เพราะถ้ายอมแพ้ รัสเซียอาจรุกคืบจากที่ยึดครองแค่ไม่กี่เมือง กลายเป็นมาเอาทั้งประเทศได้

 

  • ส่วนหลังจากการลงประชามติครั้งนี้แล้ว เป็นไปได้ที่รัสเซียอาจส่งทหารเข้ามาตรึงกำลังอยู่ในทั้ง 4 แคว้น ซึ่งฝ่ายยูเครนเองก็คงพร้อมที่จะโต้กลับ เพื่อรักษาดินแดนของตนเองไว้ด้วย

 

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้จึงถือว่าล่อแหลมมาก ซึ่งต้องจับตาดูกันต่อไปว่าเกมนี้จะจบลงอย่างไร

 

ภาพ: Gavriil Grigorov / Sputnik / AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising