×

ประเทศร่ำรวยเสี่ยงต้องจ่ายเงินชดเชยด้านสภาพอากาศสูงถึง 170 ล้านล้านดอลลาร์ จากการปล่อยคาร์บอนมหาศาล

07.06.2023
  • LOADING...

งานวิจัยล่าสุดเปิดเผยว่า บรรดาประเทศอุตสาหกรรมที่ร่ำรวยและมีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงอาจต้องจ่ายเงินค่าชดเชยความสูญเสียและความเสียหายจากสภาพอากาศ (Climate Reparations) สูงถึง 170 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2050 เพื่อให้โลกบรรลุเป้าหมายด้านการรักษาสภาพแวดล้อมจากภาวะโลกรวน

 

ผลการวิจัยซึ่งตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการ Nature Sustainability ระบุว่า เหล่าประเทศร่ำรวยอาจต้องจ่ายค่าชดเชยด้านสภาพอากาศสูงถึง 6 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี ให้กับบรรดาประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมียอดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ โดยประเทศเหล่านี้จำเป็นต้องมีเงินทุนมากพอเพื่อใช้ในการยุติการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลในอนาคต

 

โดยระบบค่าชดเชยดังกล่าวนั้นเกิดจากแนวคิดที่ว่า ‘ชั้นบรรยากาศเป็นทรัพยากรธรรมชาติของทุกคน แต่กลับไม่ได้ถูกใช้อย่างเท่าเทียม’ โดยประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศต่ำมากหากเทียบกับประเทศร่ำรวยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งโครงการนี้เป็นครั้งแรกที่เสนอให้ประเทศมหาอำนาจต้องรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างไม่ยุติธรรมดังที่กล่าวไปข้างต้น รวมถึงสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ญี่ปุ่น และรัสเซีย ที่ควรจ่ายเงินค่าชดเชยให้กับเหล่าประเทศที่มีส่วนทำให้โลกร้อนน้อยที่สุด 

 

โดยทุกประเทศไม่ว่าจะร่ำรวยหรือยากจนจำเป็นต้องลดสัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในปี 2050 เพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิทะลุ 1.5 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นจุดที่นักวิทยาศาสตร์หลายคนพูดตรงกันว่า ‘ยากที่จะแก้ไขอะไรแล้ว’

 

งานวิจัยพบว่า ปัจจุบัน 55 ประเทศทั่วโลก รวมถึงพื้นที่ส่วนมากในแอฟริกาใต้และอินเดีย จะต้องเสียสละงบประมาณคาร์บอน (Carbon Budget) หรือปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่แต่ละประเทศสามารถปล่อยออกมาได้โดยไม่กระทบต่อสภาพภูมิอากาศไปถึง 75% แต่ในทางกลับกัน สหราชอาณาจักรได้ใช้งบประมาณคาร์บอนนี้เกินสัดส่วนของตัวเองไปมากถึง 2.5 เท่า และอาจต้องจ่ายค่าชดเชยสูงถึง 7.7 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2050 สำหรับการปล่อยมลพิษ 

 

ด้านสหรัฐฯ ได้ใช้ส่วนแบ่งงบประมาณคาร์บอนเกินสัดส่วนของตัวเองไปมากถึง 4 เท่าตัว เพื่อผลักดันให้ตนเองเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลก และอาจต้องรับผิดชอบค่าชดเชยสภาพอากาศกว่า 80 ล้านล้านดอลลาร์ภายใต้โครงการนี้

 

แอนดรูว์ แฟนนิง (Andrew Fanning) ผู้นำโครงการ และนักวิจัยแห่งสถาบันวิจัยด้านความยั่งยืน มหาวิทยาลัยลีดส์ กล่าวว่า “โครงการนี้เป็นเรื่องของความยุติธรรมด้านสภาพอากาศ หากเราขอให้ประเทศต่างๆ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างรวดเร็ว พวกเขาก็ควรได้รับการชดเชยจากภาระที่ไม่ยุติธรรมนี้ เพราะพวกเขาไม่ได้มีส่วนร่วมในการทำลายชั้นบรรยากาศตั้งแต่ต้น”

 

คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ระบุว่า เพื่อรักษาอุณหภูมิของโลกไม่ให้ทะลุเพดาน 1.5 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม สัดส่วนงบประมาณคาร์บอนของทั้งโลกตั้งแต่ปี 1960 จะอยู่ที่ 1.8 ล้านล้านตัน

 

นักวิจัยหลายคนจึงตั้งคำถามว่า จาก 168 ประเทศทั่วโลก มีกี่ประเทศที่ใช้งบประมาณคาร์บอนเกินและขาด เมื่อเทียบสัดส่วนกับขนาดประชากร ตั้งแต่ปี 1960 โดยจากการคำนวณพบว่าบางประเทศมีอัตราการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ภายในสัดส่วนที่กำหนด แต่ประเทศในซีกโลกเหนืออย่างเช่นสหรัฐฯ ยุโรป แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น และอิสราเอล ได้ทำลายชั้นบรรยากาศส่วนรวมเกินกำหนดไปอย่างมาก

 

โดยเกือบ 90% ของการปล่อยมลพิษส่วนเกินมาจากประเทศมั่งคั่งในซีกโลกเหนือ และอีก 10% มาจากประเทศในซีกโลกใต้ที่ปล่อยมลพิษสูง โดยเฉพาะประเทศผลิตน้ำมัน เช่น ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

 

ส่วน 5 ประเทศที่ปล่อยมลพิษต่ำแต่มีประชากรจำนวนมาก ได้แก่ อินเดีย อินโดนีเซีย ปากีสถาน ไนจีเรีย และจีน (ซึ่งปัจจุบันเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก) จึงมีสิทธิ์ได้รับเงินชดเชย 102 ล้านล้านดอลลาร์ จากการเสียสละส่วนแบ่งงบประมาณคาร์บอน และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์

 

เจสัน ฮิกเคิล (Jason Hickel) ผู้ร่วมวิจัย และศาสตราจารย์ประจำสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในบาร์เซโลนา กล่าวว่า “ภาวะโลกรวนเป็นภาพสะท้อนของการล่าอาณานิคมในชั้นบรรยากาศ การปล่อยมลพิษส่วนเกินต้องเป็นความรับผิดชอบของชนชั้นร่ำรวยในแต่ละประเทศ ซึ่งมีการบริโภคสูง และใช้อำนาจเหนือการผลิตและนโยบายระดับชาติ พวกเขาคือผู้ที่ต้องรับภาระจ่ายค่าชดเชย”

 

หลายประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกรวนกำลังเรียกร้องให้มีการชดเชยสำหรับภัยคุกคามที่พวกเขาเผชิญ อันเป็นผลพวงจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินกำหนดของประเทศอื่นๆ

 

ในการประชุมสุดยอด COP27 ของ UN เมื่อปีที่แล้ว ประเทศต่างๆ เห็นพ้องที่จะจัดตั้งกองทุน ‘การสูญเสียและความเสียหาย’ เพื่อจัดหาเงินทุนและจ่ายชดเชยทั้งทางเศรษฐกิจและทางอ้อมให้กับประเทศยากจนที่ไม่อาจหลีกหนีจากเหตุสภาพอากาศรุนแรงอันเป็นผลพวงจากโลกรวน รวมถึง Slow onset events หรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ ซึ่งสะสมมาเรื่อยๆ จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่บรรยากาศตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อย่างเช่นการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล และการละลายของธารน้ำแข็ง

 

โดยจากงานวิจัยที่ถูกเผยแพร่เมื่อเดือนที่แล้วระบุว่า บริษัทน้ำมัน ก๊าซ และถ่านหินชั้นนำของโลกอาจต้องจ่ายเงินรับผิดชอบรวมมูลค่ากว่า 5.4 ล้านล้านดอลลาร์ สำหรับภัยแล้ง ไฟป่า ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น การละลายของธารน้ำแข็ง รวมถึงภัยพิบัติทางสภาพอากาศอื่นๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นระหว่างปี 2025-2050 ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้นับเป็นครั้งแรกที่มีการศึกษาและประเมินภาระทางเงินที่เกิดจากบริษัทต่างๆ ที่ร่ำรวยจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และสร้างภาระให้โลกอย่างต่อเนื่อง

 

แฟ้มภาพ: TR STOK via Shutterstock 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising