×

จากเสียงสะท้อนความเจ็บปวดสู่ #กูจะเปิดมึงจะทําไม แคมเปญอารยะขัดขืน มาตรการห้ามนั่งกินในร้าน

30.06.2021
  • LOADING...
จากเสียงสะท้อนความเจ็บปวดสู่ #กูจะเปิดมึงจะทําไม แคมเปญอารยะขัดขืน มาตรการห้ามนั่งกินในร้าน

หลังจากเมื่อวันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศ ‘กึ่งล็อกดาวน์’ จังหวัดพื้นที่สีแดง ได้แก่ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล กับอีก 4 จังหวัดภาคใต้ รวม 10 จังหวัด โดยมีหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญของราชกิจจานุเบกษาดังกล่าวคือ ให้มีการปิดแคมป์การก่อสร้าง เพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายแรงงาน และไม่อนุญาตให้นั่งรับประทานอาหารในร้าน โดยมีผลเป็นระยะเวลา 1 เดือนเพื่อจำกัดการแพร่ระบาดของโควิด

 

หลังราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศฉบับดังกล่าว ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เนื่องจากเป็นการประกาศกลางดึก ทำให้ผู้ประกอบการมีระยะเวลาการเตรียมตัวไม่นานนัก ต้องทิ้งทรัพยากรทางอาหารและสินค้าจำนวนมากไป จนเป็นต้นเหตุให้เกิดการสูญเสียรายได้โดยไม่จำเป็น 

 

เสียงสะท้อนของผู้ประกอบการต่างบอกว่า ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ผู้ประกอบการร้านอาหารเองก็ต้องเผชิญหน้าการขาดทุนมาตั้งแต่การล็อกดาวน์รอบแรก ทำให้เกิดกระแสการต่อต้านคำสั่งจากนายกรัฐมนตรี โดยมีการผุดแคมเปญ #กูจะเปิดมึงจะทำไม เพื่อเป็นการแสดงความไม่เห็นด้วยต่อคำสั่งของรัฐบาล

 

ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์ข้อความกล่าวเชิญชวนผู้ประกอบการร้านอาหารและร้านค้าที่อยากแสดงอารยะขัดขืนต่อคำสั่งของรัฐบาล ให้ร่วมลงชื่อเข้าร่วมแคมเปญ #กูจะเปิดมึงจะทำไม โดยจะแบ่งให้มีการจัดงานออกเป็นสามระยะด้วยกัน 

 

  • ระยะที่หนึ่งคือการ Flash Mob ขายอาหาร เครื่องดื่มกลับบ้าน พร้อมมีการจัดงานอีเวนต์และมีเวทีปราศรัย เล่นดนตรีในร้านที่จะจัดพื้นที่ให้เข้าฟังได้ครั้งละ 20 คน แบ่งออกเป็นทีละเขต เขตละ 5-10 ร้านในวันเดียวกัน จากนั้นก็เปลี่ยนไปให้ร้านอื่นได้จัดในวันอื่นๆ ต่อไป

 

  • ระยะที่สอง เป็นระยะเปิดร้านให้นั่งและขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พร้อมเล่นดนตรีสด โดยยังรักษามาตรการเว้นระยะห่าง โดยจับกลุ่มลูกค้าประจำที่ยังมาสนับสนุน หากมีการจับกุมหรือดำเนินคดีทางกฎหมายก็จะช่วยกันรวมพลังและสู้ เนื่องจากเชื่อมั่นว่าหากดำเนินไปได้ถึงระยะที่สอง เครือข่ายก็น่าจะแข็งแรงมากแล้ว

 

  • ระยะที่สาม หากว่าสองระยะแรกไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงหรือสร้างเงื่อนไขให้รัฐบาลเปลี่ยนแปลงนโยบายใดๆ ก็จะเป็นการลงถนน เปิดลานเบียร์ ตั้งเวทีเล่นดนตรีและจัดการปราศรัยต่างๆ

 

แถลงการณ์ดังกล่าวยังระบุว่า “ตอนนี้เท่าที่ศึกษามา ถ้าฝ่าฝืน พ.ร.ก. แล้วโดนจับ อาจจะโดนค่าปรับ 40,000 บาท (เจ้าหน้าที่ปรับเองไม่ได้ ต้องขึ้นศาล) หรือให้ตำรวจช่วยก็จ่ายน้อยกว่า ร้ายแรงสุดคืออาจโดนสั่งปิดได้ อย่างไรก็ตาม เรามีทนายคอยช่วย มีทีมเจรจากับเจ้าหน้าที่ มีคนรอสนับสนุนร้านที่จะเปิด และมีคนรอร่วมด่ามากมาย เพราะฉะนั้นอย่ากลัวเลย

 

“ทั้งหมดนี้เป็นไอเดียเบื้องต้นจากการปรึกษาหลายๆ คนนะคะ ซึ่งเราเข้าใจค่ะว่ามันมีความเสี่ยงหลายอย่าง แต่จุดนี้ถ้าจะสร้างเครือข่ายและเกราะป้องกันช่วยเหลือกัน คุณต้องแสดงความกล้าหาญและประกาศตัวแล้ว”

 

ในเวลาต่อมา มีผู้แสดงความคิดเห็นต่อแคมเปญดังกล่าวหลากหลาย บ้างก็ว่าอาจเสี่ยงทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคมากกว่าเดิม และควรทำตามนโยบายที่รัฐบาลออกอย่างเคร่งครัด 

 

ขณะที่อีกส่วนหนึ่งให้การสนับสนุนแคมเปญนี้ และกล่าวว่าที่ผ่านมารัฐบาลแทบไม่เคยช่วยเยียวยากลุ่มคนเหล่านี้เลย ทั้งยังออกคำสั่งมากลางดึก ซึ่งทำให้หลายคนตั้งตัวไม่ทัน สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลไม่แยแสประชาชนและผู้ประกอบการเหล่านี้

 

มีการยกตัวอย่างประเทศอื่นๆ ที่เยียวยาร้านอาหารที่จำต้องปิดพักระหว่างล็อกดาวน์ เช่น สหรัฐอเมริกาที่เยียวยาร้านอาหารสูงสุดกว่า 300 ล้านบาท, เยอรมนีที่ออกนโยบายลดภาษีให้ร้านอาหารหนึ่งปีพร้อมเงินเยียวยา เป็นต้น และถึงแม้จะเป็นการเปิดร้านเพื่ออารยะขัดขืน แต่ก็ยังมีการรักษามาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ไม่ใช่เปิดโดยไม่มีมาตรการใดๆ

 

เว็บไซต์ไทยโพสต์ รายงานว่า พล.อ. ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) แสดงความคิดเห็นต่อแคมเปญดังกล่าวว่า ทราบเรื่องแล้ว และขอความร่วมมือไม่ให้ทำตามแคมเปญเพื่อป้องกันไม่ให้โรคแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง เนื่องจากจากการสอบสวนโรคที่ผ่านมา พบว่ามาจากลักษณะรวมกลุ่มไปรับประทานอาหารแล้วติดเชื้อ 

 

“ในสถานการณ์เช่นนี้หากใช้มาตรการทางกฎหมายในทันทีจะทำให้เกิดความตึงเครียดมากขึ้น ซึ่งเบื้องต้นต้องไปทำความเข้าใจว่าที่ผ่านมาจากการสอบสวนโรคพบว่ามาจากการรวมตัวกันรับประทานอาหารและติดโควิด ซึ่งก่อนหน้านี้ที่ผู้ประกอบการได้เข้ามาหารือก็ไม่ได้ยื่นข้อเสนอเรื่องนี้ เพียงแต่ขอให้รัฐบาลเยียวยาดูแล ซึ่งยอมรับว่าในรอบนี้ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ หรือ ศบศ. เยียวยาอยู่เยอะพอสมควร” พล.อ. ณัฐพลกล่าว

 

พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงการอารยะขัดขืนของเหล่าผู้ประกอบการนี้ว่า “รัฐบาลช่วยทุกอย่าง ช่วยทั้งร้านอาหาร ช่วยทั้งหมด ช่วยทั้งคน ทั้งกรรมการทั้งหมด คนทำงานทั้งหมด ทุกส่วน รัฐบาลออกมาช่วยไหม รัฐบาลช่วย 50% ช่วยทั้งหมดแล้ว จะเอาอะไรอีก โวะ”

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising