×

บอร์ดค่าจ้างคงมติค่าแรงขั้นต่ำตามเดิม เตรียมรื้อสูตรคำนวณใหม่พร้อมใช้ปีหน้า ด้าน รมว.แรงงาน ย้ำ การเมืองไม่มีสิทธิแทรกแซง

โดย THE STANDARD TEAM
21.12.2023
  • LOADING...
ค่าแรงขั้นต่ำ

วานนี้ (20 ธันวาคม) ไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 แถลงผลการประชุมคณะกรรมการครั้งที่ 10/2566 หลังจากที่มีการประชุมครั้งที่ 9/2565 เมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยึดตามมติเดิมในวันที่ 8 ธันวาคม 2566

 

ไพโรจน์กล่าวถึงข้อสังเกตจาก พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน การคำนวณอัตราการปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่มีการเอาค่าการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2563-2564 ที่มีการระบาดของโควิดมารวมอยู่ในการคำนวณค่าเฉลี่ยว่า ทางคณะกรรมการค่าจ้างเห็นชอบเรื่องนี้ โดยจะนำไปพิจารณาปรับสูตรค่าจ้างใหม่ เป็นการปรับสูตรในรอบ 6 ปี ซึ่งวันที่ 17 มกราคม 2567 ตนจะลงนามแต่งตั้งอนุกรรมการปรับสูตรคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ 

 

ส่วนการปรับค่าจ้างครั้งที่ 2 นั้นจะเป็นช่วงใดก็จะต้องดูตามเวลาดำเนินงาน พร้อมกับดูว่าจะมีไตรภาคีเสนอเรื่องนี้มาหรือไม่ด้วย

 

ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าวว่า ที่ผ่านมามีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในภาพรวมรายจังหวัด แต่การพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำในรายจังหวัดให้ถึงวันละ 400 บาท คงจะมีผลกระทบกับบางภาคธุรกิจ จึงได้ให้นโยบายผ่านปลัดกระทรวงว่า จะเป็นไปได้หรือไม่ว่า จะมีช่องทางลงไปในรายละเอียดถึงระดับอาชีพที่สามารถแยกออกไป และสามารถขึ้นค่าแรงขั้นต่ำได้สูงขึ้น ไม่ใช่การพิจารณาขึ้นรายจังหวัด แต่ให้พิจารณาเป็นรายอำเภอหรือรายเทศบาล เพราะในบางธุรกิจในบางพื้นที่อาจจะไม่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ดังนั้นการประกาศค่าจ้างภาพรวมอาจไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการ

 

“วันนี้ผมได้ให้ข้อคิดกับปลัดกระทรวงในฐานะประธานบอร์ดค่าจ้าง แต่ผมในฐานะนักการเมืองไม่มีสิทธิแทรกแซงหรือชี้นำไตรภาคี แต่สามารถแนะนำฝ่ายข้าราชการได้ว่าให้คงหลักการในอดีตไว้ แต่ให้ลงในรายละเอียด แต่ทั้งหมดนั้นก็อยู่ที่ข้อสรุปของไตรภาคี” พิพัฒน์กล่าว

 

เมื่อถามว่า เป็นการรื้อโครงสร้างของคณะกรรมการค่าจ้าง เพื่อให้มีการพิจารณาเป็นรายอาชีพหรือไม่ พิพัฒน์กล่าวว่า วันนี้เรามีเวลาน้อย ฉะนั้นอาจจะยกมาเป็นบางจังหวัด ต่อไปเราจะต้องหาข้อมูลและทำการศึกษาว่าเป็นไปได้อย่างไร ซึ่งอาจจะเป็นการประกาศปรับในกลางปีหรือปี 2568 ต่อไปได้

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising