×

มาจับมือบรรเทาโลกรวน ส่งพลาสติกยืดได้ไปรีไซเคิลกับ ‘วน’

24.04.2023
  • LOADING...
วน

HIGHLIGHTS

  • เมื่ออุณหภูมิโลกกำลังระอุและมีแนวโน้มเกิดซูเปอร์เอลนีโญปลายปีนี้ ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนต้องช่วยมาบรรเทาโลกนี้กัน อย่างน้อย ลด-ละ-เลิก พร้อมแยกพลาสติกที่พร้อมส่งไปรีไซเคิล เพื่อลดการผลิตพลาสติกใหม่ 
  • โครงการวนคือการรับขยะพลาสติกประเภทยืดได้มาหลอมใหม่เพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์รีไซเคิล ทำให้พลาสติกถูกใช้วนในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่ทุกประเทศกำลังผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
  • Circular Economy จะเกิดผลได้ต้องขึ้นกับนโยบายประเทศที่ต้องทำให้ทุกฝ่ายร่วมมือกัน ส่วนหนึ่งคือความร่วมมือจากผู้ผลิตสินค้าที่ตอนนี้ในอาเซียนมี 3 ประเทศ มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ที่ประกาศหลักการความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิตหรือ EPR 
  • ไม่มีใครสามารถหยุดสถานการณ์โลกรวนได้ แต่ทุกคนสามารถช่วยกันบรรเทาได้ด้วยการเริ่มต้นจากตัวเองที่ไม่เป็นผู้ร้ายทำลายโลกนี้

ตอนนี้เราต่างน่าจะได้สัมผัสและรับรู้ถึงผลกระทบของเอลนีโญที่เข้ามาตั้งแต่ต้นปีเพราะอากาศร้อนระอุแทบจะทุกพื้นที่ ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าเป็นฝีมือมนุษย์ที่เป็นตัวเร่งทำให้โลกร้อนและรวนมากขึ้น และจากข้อมูลล่าสุดพบว่า ปลายปีนี้อาจต้องเผชิญกับปรากฏการณ์ ‘ซูเปอร์เอลนีโญ’ ที่อุณหภูมิในพื้นที่จะสูงกว่าค่าเฉลี่ย 2 องศาเซลเซียส จากที่ปรากฏการณ์เอลนีโญปกติจะมีอุณหภูมิผิวน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นอย่างน้อย 0.8 องศาเซลเซียสเหนือค่าเฉลี่ยในพื้นที่แถบเส้นศูนย์สูตรกลางมหาสมุทรแปซิฟิก โดยซูเปอร์เอลนีโญครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อปี 2016 และครั้งนั้นทำให้อุณหภูมิโลกพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ 

 

เลิก Linear Economy สู่ Circular Economy

แม้ไม่สามารถแก้ไขเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วนได้ แต่เชื่อว่าเริ่มต้นบรรเทาโลกรวนในชีวิตประจำวันได้ทันที นั่นคือเริ่มจากตัวเองที่ ลด-ละ-เลิก การใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เช่น การใช้ภาชนะอื่นทดแทนพลาสติก พกถุงผ้า ขวดน้ำ รวมถึงเข้าไปมีส่วนในวงจรระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่ทุกประเทศกำลังคร่ำเคร่งและผลักดันให้เกิด โดยหวังสร้างและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อช่วยบรรเทาการเกิดขยะที่ถือเป็นฐานรากของปัญหาโลกร้อน จากระบบเศรษฐกิจแบบเดิมที่เอาทรัพยากรธรรมชาติมาใช้เสร็จแล้วก็ทิ้งไป (Linear Economy) ให้หายไปจากระบบมากที่สุด ขณะที่ Circular Economy ก็สามารถเริ่มต้นจากการแยกขยะเพื่อส่งต่อพลาสติกที่ยืดได้กลับเข้ามาในวงจรของการผลิตพลาสติกเพื่อให้เกิดการใช้ซ้ำ และถ้าไม่รู้จะส่งต่อไปที่ไหน ลองมาทำความรู้จักและส่งต่อพลาสติกยืดได้ให้กับโครงการวน (Won) กัน 

 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

รู้จักโครงการ ‘วน’

‘วน’ (Won) เป็นโครงการแนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ของ บมจ.ทีพีบีไอ (TPBI) ที่มุ่งเน้นใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการของเสียให้ถูกนำกลับไปเป็นทรัพยากรหมุนเวียนอยู่ในระบบ ด้วยกระบวนการนำพลาสติกยืดได้ที่ได้จากการรับขยะพลาสติกจากผู้บริโภคทั่วไป หรือ Post Consumer Recycled (PCR) ที่ส่งมาให้กับทางบริษัทโดยตรง หรือส่งตามจุดรับทั้ง 400 จุดทั่วประเทศ รวมถึงพันธมิตรต่างๆ ที่พร้อมสนับสนุนการแยกพลาสติกที่เหมาะสม มารีไซเคิลด้วยการหลอมละลายใหม่ 

 

โดยกระบวนการหลอมแต่ละครั้งจะมีสัดส่วนพลาสติกที่รีไซเคิลเฉลี่ย 80-90% และเมล็ดพลาสติกใหม่เฉลี่ย 10-20% แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ผ่านการออกแบบผลิตภัณฑ์รีไซเคิลต่างๆ ทำให้เกิดการใช้พลาสติกหมุนเวียนให้มากที่สุด และเกิดของเสียออกสู่สิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ซึ่งปกติถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (Single-Used Plastic Bag) จะใช้เวลาย่อยสลายนานหรือมากถึง 450 ปี 

 

แยกขยะเพื่อเลือกพลาสติกยืดได้

เพราะพลาสติกเหมือนกันแต่ยืดไม่เหมือนกัน ดังนั้นทุกครั้งที่ใช้พลาสติก ถ้าไม่นำกลับมาใช้ซ้ำเองก็สามารถทดสอบว่าเป็นพลาสติกที่จะส่งเข้ามาร่วมโครงการได้ด้วยการใช้นิ้วโป้งดันที่พลาสติกดู ถ้าสามารถยืดได้ก็ส่งมาที่โครงการได้ เช่น ถุงหูหิ้ว ถุงช้อปปิ้ง ถุงขนมปัง ถุงน้ำแข็ง ถุงน้ำตาลทราย ถุงผักและผลไม้ ซองไปรษณีย์พลาสติก ถุงซิปล็อก พลาสติกกันกระแทก ซองยา ฟิล์มห่อสินค้า (ทิชชู ผ้าอนามัย และผ้าอ้อมเด็ก) ฟิล์มหุ้มขวดน้ำ และฟิล์มหุ้มกล่องนม โดยพลาสติกที่โครงการรับมาทุก 1 กิโลกรัม จะแปลงเป็นเงิน 5 บาท เพื่อนำเข้ากองทุนไปบริจาคให้กับมูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยมีข้อระวังว่าถุงพลาสติกนั้นไม่ควรเลอะ แห้ง สะอาด และไม่มีฉลากหรือสติกเกอร์ติดอยู่ เพราะจะไม่สามารถหลอมรวมกับพลาสติกได้

 

 

ทำไม ‘วน’ จึงเกิด

‘ศักดิ์สิทธิ์ บริสุทธนะกุล’ ประธานเจ้าหน้าที่การตลาด (CMO) ของ TPBI และผู้บริหารโครงการวน บอกว่า โครงการนี้เริ่มต้นกลางปี 2561 เพื่อต่อยอดให้กับบริษัทที่ต้องการทำเรื่องสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบต่อสังคม ให้เชื่อมโยงกับการทำงานของบริษัทที่ผลิตพลาสติกเพื่อบรรจุภัณฑ์ และมีการรับเศษพลาสติกแบบ Post-Industrial Recycled (PIR) หรือการนำพลาสติกที่เหลือจากกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมมารีไซเคิลและผลิตซ้ำจนกลายเป็นถุงใหม่ที่นำกลับมาใช้ได้อีกครั้ง แต่โครงการวนจะรับบริจาคขยะพลาสติกที่ยืดได้จากผู้บริโภคทั่วไป ประกอบกับช่วงนั้นมีกระแสการต่อต้านการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งมาก ที่เริ่มจากในประเทศฝั่งตะวันตกก่อนเริ่มขยายไปประเทศอื่น เพราะเริ่มเห็นผลจากที่สัตว์ทะเลต้องตายเพราะกินพลาสติกเข้าไป

 

“คิดบนฐานที่ทำได้ทั้ง 2 อย่าง ทั้ง Commercial และ CSR ด้วย เพราะพื้นฐานบริษัทเป็น B2B ที่ไม่สามารถลงโฆษณาให้อย่าง Consumer Product โดยเชื่อว่าถ้าสามารถมี Input หรือปริมาณของขยะพลาสติกที่ถูกประเภทมากพอ ก็สามารถผลิตเป็นผลิตภัณฑ์และขายได้ เพราะที่ต่างประเทศมีการรีไซเคิลมานานแล้ว เนื่องจากมีต้นทุนที่ถูกกว่าการใช้เมล็ดพลาสติกใหม่ที่เกิดจากการใช้ทรัพยากรน้ำมัน และยังต้องอิงกับราคาน้ำมันโลกต่อเนื่อง” 

 

ยังต้องอาศัยบริษัทแม่สนับสนุน

TPBI อยู่ในวงการผลิตและรีไซเคิลพลาสติกมากว่า 40 ปี ทำให้เห็นแนวโน้มกระแสของพฤติกรรมการใช้พลาสติกเปลี่ยนมาตลอด และมองว่า Circular Economy เป็นโอกาสมากกว่าอุปสรรค ภายใต้แนวคิดของบริษัท Think Circular Think Sustainable แต่โจทย์นี้ถือว่ายาก เพราะคิดแล้วมันง่าย แต่สิ่งที่ยากกว่าคือการทำให้ได้อย่างยั่งยืน ทำให้การทำธุรกิจต้องมองยาว และจำเป็นต้องเปลี่ยนแนวทางจากเดิมที่เน้นการทำกำไรและลดต้นทุนการผลิต

 

“โครงการวนเกิดบนฐานความคิดทั้งเชิงพาณิชย์และการทำ CSR แม้ปัจจุบันโครงการยังไม่สามารถยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง แต่เชื่อว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะเริ่มเห็นทั้งปัจเจกบุคคลและหน่วยงานต่างๆ ตระหนักการแยกขยะและการรีไซเคิลมากขึ้น อีกทั้งวนถือว่าได้ตอบโจทย์ความยั่งยืนของบริษัทที่ปัจจุบันทุกบริษัททุกองค์กรต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม” 

 

ต้อง ‘ง่าย-ชัดเจน’ เพื่อสื่อสารให้เข้าใจ

ด้วยชื่อและโลโก้โครงการถือว่ามีความชัดเจนมากที่สื่อความถึงการรีไซเคิล แต่เพื่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง จึงเริ่มทดลองดำเนินการจากบุคลากรภายในองค์กร ก่อนค่อยๆ ขยับไปคนรอบตัว ชุมชนใกล้เคียง จนขยายไปสู่ผู้บริโภคทั่วไปที่ตอนแรกต้องใช้ความพยายามมากที่ทำให้ผู้บริโภคต้องตระหนัก เข้าใจ และรับรู้ว่าพลาสติกสามารถบริหารจัดการได้ ซึ่งถ้าทำได้อย่างถูกวิธีก็จะไม่หลุดรอดไปสร้างมลภาวะให้กับโลกใบนี้ 

 

หากต้องใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งก็เริ่มได้ด้วยการแยกขยะ โดยแยกพลาสติกที่ยืดได้ และถ้าพลาสติกนั้นเลอะหรือไม่สะอาดก็ควรทำความสะอาดเพื่อวนกลับมาใหม่ วิธีการคือ แยก-ล้าง-ตาก-แพ็กส่งให้ ‘วน’ แล้วก็จะเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ซึ่งทุก 1 กิโลกรัมของพลาสติกที่ส่งมา บริษัทจะเก็บเข้ากองทุน 5 บาท เพื่อนำไปใช้สมทบทุนให้กับสาธารณกุศลที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม โดยตลอด 5 ปีที่ทำมามีเงินเข้ากองทุนนี้แล้ว 5 แสนบาท 

 

 

5 ปีของ ‘วน’ เกิดอะไรขึ้นบ้าง

การช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อมไม่ได้ง่ายและต้องใช้พลังใจมาก เพราะย่อมเกิดอุปสรรคระหว่างทางเสมอ ตั้งแต่ต้องพยายามสื่อสารเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจว่ามีโครงการนี้อยู่ และอธิบายรายละเอียดเพื่อให้เกิดการตระหนักว่า ถ้าแยกขยะได้ แยกประเภทพลาสติกได้ จะช่วยส่งผลบวกอย่างไรต่อกระบวนการรีไซเคิล ที่สำคัญเพราะไม่มีใครสามารถไปบังคับได้ว่าต้องแยกขยะแล้วส่งมาให้ทางโครงการได้ เพราะสิ่งนี้ต้องเกิดจากที่แต่ละคนต้องใจพร้อมและเริ่มต้นแยกขยะด้วยตัวเองก่อน

 

“ไม่ง่ายเลย แต่ถือว่าพัฒนาการโครงการวนดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยก่อนเกิดโควิดมีพลาสติกยืดได้ส่งมา 100 ตัน หรือเท่ากับ 1 แสนกิโลกรัมต่อปี แต่ทุกอย่างดรอปลงเพราะเจอโควิด กว่า 2 ปีที่สถานการณ์ไม่เอื้ออำนวยเพราะต้องระวังการแพร่เชื้อที่อาจติดมากับพลาสติก ดังนั้น ตอนนี้เหมือนโครงการต้องเริ่มรีเซ็ตใหม่อีกครั้ง แต่ถือว่ามีพัฒนาการที่ดีต่อเนื่อง เพราะมีคนรู้จักโครงการและมีพันธมิตรที่เข้ามาร่วมมือกันแยกขยะแล้วส่งขยะพลาสติกมาให้ รวมทั้งขอให้ทางโครงการไปแนะนำวิธีการคัดแยกเพื่อส่งพลาสติกรีไซเคิล ทั้งเป็นหน่วยงาน นิติบุคคลคอนโดมิเนียม มหาวิทยาลัย บริษัทเอกชน และหน่วยงานรัฐ ส่วนภาคผู้ผลิตสินค้าเชื่อว่าเริ่มมีการรับรู้และอยู่ระหว่างการปรับเพื่อเปลี่ยน ที่จะหันมาใช้พลาสติกประเภทเดียวกันในการออกแบบผลิตภัณฑ์หรือใช้บรรจุหีบห่อ (Mono Material Packaging) ทั้งนี้ เพื่อเอื้ออำนวยในการรีไซเคิลได้สมบูรณ์แบบ”

 

พลาสติกจะวนใช้ได้ดี ทุกฝ่ายต้องจริงจัง

ต้องยอมรับว่าทางประเทศพัฒนาแล้วโดยเฉพาะฝั่งตะวันตกมีความเข้าใจดีกับเรื่องการแยกขยะและการรีไซเคิล รวมทั้งผู้บริโภคพร้อมสนับสนุนสินค้าที่ผ่านการรีไซเคิลมาแล้ว ซึ่งปกติราคาสินค้าจะสูงกว่าสินค้าทั่วไป 10-25% ประกอบกับกฎหมายเขามีการบังคับชัดเจนว่าต้องตระหนักและร่วมมือกับเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่น มีการออกภาษีขวดน้ำ นอกจากนั้น เริ่มเห็นผู้ผลิตสินค้าโกลบอลแบรนด์หลายแห่ง เช่น P&G ประกาศออกมาชัดเจนตั้งแต่ปี 2020 แล้วว่าบรรจุหีบห่อต้องทำด้วยกระดาษหรือพลาสติกที่ผ่านการรีไซเคิลมาแล้ว 

 

ขณะที่กลุ่มประเทศอาเซียนมีเพียง 3 ประเทศคือ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ที่ประกาศว่าจะทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยมีหลักการความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility) หรือ EPR ซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการจัดการขยะและส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนได้เป็นอย่างดี 

 

สำหรับประเทศไทยมีหลายหน่วยงานที่เตรียมพร้อมและวางโรดแมปไว้แล้ว รอเพียงแต่กฎหมายหลักที่ต้องมีการประกาศใช้เรื่องนี้ออกมาให้ชัดเจน

 

ช่วยโลกเริ่มจากตัวเราง่ายที่สุด

ตอนนี้เราต่างกำลังเผชิญความท้าทายกับสถานการณ์โลกรวนเข้ามาทดสอบให้เห็นอยู่เสมอ แม้เราอาจไม่สามารถหยุดให้โลกร้อนได้ แต่เราก็ต่างมีส่วนช่วยบรรเทาทุกอย่างให้รุนแรงช้าลงได้ โดยเริ่มจากที่ตัวเราเอง เช่น การแยกเศษอาหารออกจากขยะทุกอย่าง เพราะปัจจุบันปัญหาเรื่องขยะจากการบริโภคอาหาร (Food Waste) คือปัญหาอันดับ 1 ส่วนพลาสติกคืออันดับ 2 เพราะถ้าเราช่วยกันบริหารจัดการ ก็จะส่งผลให้การใช้พลาสติกวนหรือหมุนเวียนในระบบได้ ซึ่งเท่ากับช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ต้องนำมาผลิตเมล็ดพลาสติกใหม่ ก็น่าจะเป็นการช่วยบรรเทาโลกร้อนได้จากมือเราเอง 

 

บางทีพลาสติกไม่ใช่ผู้ร้ายของการทำให้เกิดโลกร้อนอย่างปัจจุบัน ถึงเวลาแล้วที่ตอนนี้เราทุกคนต้องตอบคำถามตัวเองให้ดีว่า เราเองหรือไม่ที่กลายเป็นผู้ร้ายทำลายโลกใบนี้

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X