×

รู้หรือไม่? โลกรวนกระทบเงินในกระเป๋ามากกว่าที่คิด

25.02.2023
  • LOADING...
โลกรวน

HIGHLIGHTS

  • ‘เรื่องโลกรวน’ บางคนมองเป็นเรื่องไกลตัว และรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้รับผลกระทบใดๆ ซึ่งหากทุกคนเกิดความตระหนักรู้เกี่ยวกับภัยนี้ ก็จะเป็นเรื่องดีทั้งในเชิงสังคมและมุมเศรษฐกิจ 
  • เพราะโลกรวนทำให้เกิดกฎเกณฑ์ใหม่ อีกนัยหนึ่งคือเกิดการกีดกันทางการค้า หรือจากสภาพแวดล้อมที่แปรปรวนจนปรากฏการณ์ ‘เอลนีโญ-ลานีญา’ สลับกันเกิดถี่ขึ้น กระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรที่พากันสับสนและไม่ออกลูกตามฤดูกาลอย่างเคย กระเทือนไปถึงรายได้ครัวเรือนของภาคเกษตรกร 
  • ถึงเวลาสร้างจุดเริ่มต้นใหม่ด้วยการลองขยับปรับเปลี่ยนไปทีละนิด ‘ลด ละ เลิก’ เริ่มทำจากสิ่งที่ง่ายและไม่ทำให้วิถีการดำเนินชีวิตเราเดินไปข้างหน้ายาก เพราะตอนนี้โลกต่างต้องการจิ๊กซอว์เล็กๆ แต่สำคัญในการช่วยสร้างอิมแพ็ก

ความจริงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกใบนี้เข้าขั้นวิกฤตมาตั้งแต่ปลายปี 2021 ที่ประเทศไทยอาจใกล้จมน้ำจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นทุกปี และเริ่มขาดแคลนทรัพยากรที่สำคัญในชีวิตประจำวัน พร้อมกับการเผชิญมลพิษมากขึ้น 

 

หรืออีก 27 ปีข้างหน้าอาจต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่จากสาเหตุที่ทุกคน ภาคธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมไม่สามารถปรับตัวในการช่วยกันรักษาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้ดีขึ้นได้ ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นไม่ใช่เพียงคำขู่ แต่นี่คือสิ่งที่พวกเรากำลังเผชิญความท้าทายอย่างเข้มข้นมากขึ้นแทบจะทุกวินาทีไปแล้ว

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


หลายองค์กรออกโรงเตือน

ตั้งแต่คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ออกโรงเตือนเมื่อปลายปี 2021 ว่า ภาวะโลกร้อนได้เข้าสู่ภาวะฉุกเฉินแล้ว ผลกระทบเห็นชัดเจนจากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นมากมาย ทั้งคลื่นความร้อนในหลายประเทศต่างทำสถิติสูงสุด การส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรหลายอย่างก็ไม่ดีเหมือนเดิม ผลิตเพียงพอบริโภคภายในประเทศเท่านั้น ทำให้ส่งออกไม่ได้ ก็กระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และข้าวของแพง

 

ขณะที่ Arup บริษัทที่ปรึกษาด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน และ Oxford Economics บริษัทที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ คาดการณ์ว่าอีก 27 ปี หรือภายในปี 2050 ธุรกิจหรืออุตสาหกรรมสีเขียวจะมีมูลค่าถึง 10.3 ล้านล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 5% ของ GDP โลก ซึ่งจะส่งผลดีในการช่วยเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศให้ดีขึ้น แต่ในทางกลับกัน ถ้าทำไม่ได้หรือไม่ได้เกิดการช่วยกันยับยั้งการเกิดสภาวะโลกรวน ก็อาจเป็นการสร้างความเสียหายต่อ GDP ทั่วโลกประมาณ 5% ภายในปี 2050 เช่นกัน โดยประเมินจากเมื่อปี 2021 ที่พบว่าต้นทุนของการหยุดชะงักที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจนั้นสูงถึง 2.33 แสนล้านดอลลาร์

 

ล่าสุด World Economic Forum ประชุมประจำปีในธีม Cooperation in a Fragmented World ระหว่างวันที่ 16-20 มกราคม ที่ดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระบุว่า โลกกำลังเผชิญทั้งความเสี่ยงรูปแบบเก่า เช่น ภาวะเงินเฟ้อ วิกฤตค่าครองชีพ สงครามการค้า ฯลฯ รวมถึงความเสี่ยงในรูปแบบใหม่ที่เริ่มทยอยเข้ามาทดสอบ อาทิ ระดับหนี้ที่ไม่ยั่งยืน ภาวะการเติบโตทางเศรษฐกิจและการลงทุนตกต่ำครั้งใหม่ การทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (Deglobalization) และแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

รวมถึงรายงาน Global Risks Report 2023 จากผลสำรวจ Global Risks Perception Survey โดยหลักให้น้ำหนักไปเรื่องวิกฤตค่าครองชีพ แต่ประเด็นที่น่ากังวลไม่น้อย เพราะเป็นทั้งความเสี่ยงระยะสั้น 2 ปี หรือความเสี่ยงที่มีแนวโน้มรุนแรงระยะยาวใน 10 ปี พบว่าเกินครึ่งของ 10 อันดับจากผลสำรวจล้วนเป็นประเด็นความเสี่ยงจากปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งนั้น ตั้งแต่ภัยพิบัติธรรมชาติและสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว ความล้มเหลวในการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เหตุความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมขนาดใหญ่ ความล้มเหลวในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ วิกฤตด้านทรัพยากรธรรมชาติ และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและการล่มสลายของระบบนิเวศ

 

โลกรวนดันให้เกิดกฎเกณฑ์ใหม่

ถึงตอนนี้ต้องยอมรับแล้วว่า เราต่างมีส่วนทำให้ภาวะโลกรวนเกิดขึ้น และก็กำลังเผชิญกับบททดสอบที่เริ่มทยอยเข้ามา ทั้งจากการใช้ชีวิต จากวัตถุดิบในการผลิตสินค้า หรือการบริการเริ่มมีปัญหาขาดแคลน แต่เมื่อเทรนด์โลกมุ่งตระหนักเรื่องนี้มากขึ้น จึงเป็นเรื่องที่ทุกประเทศต่างพร้อมจะออกกฎเกณฑ์หรือมาตรการใหม่ๆ มาช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และแน่นอนว่าใครเริ่มขยับก่อนก็จะเป็นผู้ได้เปรียบ 

 

ทั้งนี้ กฎเกณฑ์และมาตรการใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบโลกรวนที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือ มาตรการกีดกันทางการค้า เช่น กรณีที่สหภาพยุโรป (EU) ไม่ให้มีการนำเข้าสินค้าที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่ามาจำหน่าย เนื่องจากการตัดไม้ทำลายป่านั้นเป็นการกระทำที่ส่งผลกระทบในวงกว้างมาก ดังนั้นแล้ว หากประเทศที่ทำการค้ากับ EU ไม่ว่าจะนำเข้าหรือส่งออก จะเฉยเมยกับเรื่องนี้ไม่ได้ เพราะทำให้เสียมูลค่าทางการค้า

 

ไม่รู้สึก ใช่ว่าไม่กระทบ

สำหรับบางคนมองว่าตัวเองยังไม่ได้รับผลกระทบหรือได้รับผลกระทบน้อย ในความเป็นจริงแล้ว ปัญหาโลกรวนมีความอีนุงตุงนังไม่น้อย ซึ่งล้วนเชื่อมโยงกับการดำเนินชีวิตในปัจจุบันของทุกคน โดยจากการเปิดเผยของ Earth Overshoot Day บอกว่า ปัจจุบันเราใช้ทรัพยากรของโลกไปมากกว่าจำนวนทรัพยากรที่โลกจะสร้างได้ทันในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา หรือเท่ากับทุกวันนี้เราใช้ทรัพยากรโลกเหมือนมีโลก 1.75 ใบไปแล้ว โดยเป็นการเอาทรัพยากรของคนรุ่นหลังมาใช้

 

ขณะเดียวกัน ตอนนี้พลเมืองโลก 4 พันล้านคน กำลังเผชิญกับการขาดแคลนน้ำ เรียกได้ว่าจะมีเพียง 3 ใน 10 เท่านั้นที่เข้าถึงน้ำที่สะอาด ซึ่งสำหรับคนไทยถือว่าเป็นผลกระทบมากเพราะตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน คนไทยมีชีวิตผูกพันกับสายน้ำมาตลอด ทั้งในการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การเกษตร และอุตสาหกรรม 

 

ผลกระทบที่ตามมาคือ การหารายได้ การใช้ชีวิตประจำวัน การดูแลบำรุงรักษา ซึ่งแน่นอนว่าย่อมมีผลกระทบต่อภาพใหญ่ของเศรษฐกิจไม่น้อย เพราะเมื่อการผลิต การบริโภคไม่เหมือนเดิม ต้นทุนการใช้ชีวิตหรือต้นทุนในการดำเนินกิจการก็ต้องเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

นอกจากนั้น ปัญหาที่ตามมาเมื่อฝนฟ้าไม่เหมือนเดิม หรือการไม่ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอก็ทำให้เกิดการเคลื่อนย้าย จากคนต่างจังหวัดเข้ามาหางานทำและกระจุกตัวในกรุงเทพฯ หรือหัวเมืองใหญ่ๆ ซึ่งย่อมลุกลามไปสู่ปัญหาอื่นๆ อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นการเกิดความแออัดในการอยู่อาศัย ค่าครองชีพที่แพงขึ้น ตลอดจนมลพิษที่เพิ่มขึ้น 

 

ส่วนในต่างจังหวัดเอง เมื่อกิจกรรมทางสังคมน้อยลง อาจทำให้ต้องมีการยุบโรงเรียนหรือหน่วยงานลดลงตามพื้นที่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานก็ไม่เกิดขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น ทำให้ต้องยุบกิจกรรมเศรษฐกิจลง จนตอนนี้เห็นช่องว่างระหว่างรายได้คนต่างจังหวัดกับคนเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ 

 

มาเริ่มลดโลกรวนให้อยู่ในวิถีชีวิต 

ไม่มีคำว่าสายเกินไปสำหรับการเริ่มต้น แรกๆ อาจจะดูฝืน หรือรู้สึกว่ามีรายละเอียดขั้นตอนที่ต้องทำต่อ 1 กิจกรรม แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไปในการปรับตัว หรือปรับแบบแผนการใช้ชีวิต โดยอาจเริ่มจากการค่อยๆ ลด ละ และเลิกไปในที่สุด เช่น พยายามลดการใช้พลาสติกเพียงครั้งเดียวแล้วทิ้ง ด้วยการปฏิเสธเอาหลอดจากร้านกาแฟ ทั้งที่มีฝาแบบให้ดื่มอยู่แล้ว หรือตอนนี้สถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย หลายร้านก็อนุญาตให้นำแก้วพกมาใส่เครื่องดื่มแล้ว หรือการพกถุงผ้าแทนการใส่ของด้วยพลาสติกหูหิ้ว 

 

หากยกตัวอย่างในภาพที่ใหญ่ขึ้น ทางกรุงเทพมหานครก็ได้มีนโยบายให้ช่วยรณรงค์แยกขยะ ไม่เทรวมเกิดขึ้น ซึ่งสามารถเอามาปรับใช้ได้ในทุกพื้นที่ของประเทศไทย และถ้าใครมีกำลังพอก็สามารถเลือกซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่อาจมีราคาแพงกว่าสินค้าทั่วไป 

 

การปรับหรือเปลี่ยนจากการใช้ชีวิตของแต่ละคนอาจดูเป็นเพียงสิ่งเล็กๆ ที่เกิดขึ้น แต่หากสิ่งเล็กๆ รวมกันหลายคน หลายประเทศ หลายทวีป ก็น่าจะเป็นการต่อจิ๊กซอว์และสร้างอิมแพ็กให้โลกใบนี้ไม่ต้องเหนื่อยเร็วเกินไปอย่างที่ควรจะเป็น

 

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising