×

ปตท. ปรับกลยุทธ์ใหม่ ควบรวมแบรนด์ EV ดันแผนแหล่งก๊าซพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา OCA

20.08.2024
  • LOADING...

‘คงกระพัน’ ซีอีโอ ปตท. ปรับทัพ! ประกาศแผนกลยุทธ์ใหม่ เขย่าธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ควบรวมแบรนด์ EV เน้นธุรกิจสถานีชาร์จ ผลักดันพัฒนาพื้นที่แหล่งก๊าซพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา (Overlapping Claims Area: OCA) พร้อมส่งบริษัทลูก ‘อินโนบิก’ หาพาร์ตเนอร์ร่วมทุน ลุ้นเข้า IPO

 

คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงแผนกลยุทธ์ธุรกิจใหม่ของกลุ่ม ปตท. ว่า ปัจจุบัน ปตท. มีธุรกิจ 2 ส่วนหลัก คือ ธุรกิจ Hydrocarbon และธุรกิจ Non-Hydrocarbon เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันธุรกิจ Hydrocarbon ที่เป็น Core Business ของ ปตท.

 

คงกระพันย้ำว่า “แม้ทำได้ดี แต่จะทำแบบเดิมไม่ได้ ต้องทำควบคู่ไปกับการลดก๊าซเรือนกระจก และต้องปรับตัวพร้อมรับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว”

 

โดยธุรกิจ Upstream and Power จะต้องเร่งขยายแหล่งสำรวจและผลิตร่วมกับพาร์ตเนอร์ที่มีต้นทุนที่แข่งขันได้ รวมถึงการผลักดันการพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชา (OCA) เพื่อช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

ส่วนธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้าต้องสร้างความน่าเชื่อถือและลดคาร์บอนให้กับกลุ่ม ปตท. ด้านธุรกิจ Downstream ต้องปรับตัวและสร้างความเข้มแข็งร่วมกับพาร์ตเนอร์ ขณะที่ธุรกิจน้ำมันและการค้าปลีกนั้นจะมุ่งหน้าเป็น Mobility Partner ของคนไทย รักษาการเป็นผู้นำตลาด Non-Oil ควบคู่ไปกับ Non-Hydrocarbon

 

คงกระพันฉายภาพว่า ธุรกิจ Non-Hydrocarbon จะประเมินการลงทุนใน 2 มุม คือ

 

  1. ธุรกิจต้องมีความน่าสนใจ
  2. ต้องมีจุดแข็ง (Right to Play) ต่อยอดได้ และมีพาร์ตเนอร์ที่แข็งแรง

 

โดยได้วางแนวทางการลงทุน 3 กลุ่ม ดังนี้

 

  1. ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับ EV โดย ปตท. จะมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจบรรจุกระแสไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และจะมีการควบรวมแบรนด์ต่างๆ ภายใต้กลุ่ม ปตท. (บริษัท อรุณ พลัส จำกัด, บริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด และบริษัท อีวี มี พลัส จำกัด) และนำเอา OR Ecosystem ที่เป็นจุดแข็งที่มีอยู่ทั่วประเทศมาใช้ให้เป็นประโยชน์

 

  1. ธุรกิจโลจิสติกส์ โดย ปตท. จะเน้นธุรกิจที่มีความเกี่ยวเนื่องกับ Core Business ของ ปตท. และมีความต้องการใช้

 

  1. ธุรกิจ Life Science โดย ปตท. จะต้องพึ่งพาตัวเองได้ทางการเงิน และสร้างประโยชน์ให้กับสังคม ซึ่งบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด จะหาพาร์ตเนอร์เพื่อต่อยอดธุรกิจ ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้จะเข้าตลาด (IPO) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)

 

“เนื่องจากโลกเปลี่ยน เราต้องดูธุรกิจไหนที่เป็นจุดแข็งของ ปตท. ที่สามารถแข่งขันได้ เนื่องจากการแข่งขันสูง ทั้งภูมิรัฐศาสตร์ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย การเปลี่ยนผ่านพลังงาน กฎระเบียบข้อบังคับพลังงานที่เปลี่ยนแปลงไป รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีล้นตลาด

 

“ดังนั้นปี 2024 จะเน้น Refocus จุดแข็ง มุ่งธุรกิจที่เป็น Hydrocarbon และลดสินทรัพย์ที่ไม่สร้างผลกำไร” คงกระพันกล่าว

 

นอกจากนี้ ปตท. มีแผนการสร้างสมดุล ESG ให้เหมาะสมกับองค์กร ควบคู่ไปกับการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero โดยจะผลักดันธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับไฮโดรเจน และการดำเนินโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage: CCS)

 

โดยทำงานแบบบูรณาการร่วมกันทั้งกลุ่ม ปตท. โดยต้องกำหนดบทบาทหน้าที่ชัดเจน และมีเป้าหมายร่วมกันเพื่อใช้จุดแข็งของแต่ละบริษัทในกลุ่มให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมี ปตท. ดูภาพรวม

 

“ส่วนวงเงินลงทุนตามกลยุทธ์ใหม่ในช่วง 1-5 ปี (2568-2572) จะมีการสรุปอย่างเป็นทางการในสิ้นปีนี้ โดยจะมีความชัดเจนของงบลงทุนในแต่ละธุรกิจ ขณะที่ปีนี้งบลงทุนประมาณ 25,000 ล้านบาทยังเดินตามแผน ส่วนกำไรจะถึง 100,000 ล้านบาทเท่ากับปีที่ผ่านมาหรือไม่ต้องขอติดตามอีกครั้ง” คงกระพันกล่าว

 

ครึ่งปีโกยกำไร 60,000 ล้าน

 

สำหรับผลการดำเนินงานครึ่งแรกของปี 2567 ปตท. และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 64,437 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16,475 ล้านบาท หรือ 34.4% เมื่อเทียบกับครึ่งแรกของปี 2566 จากผลการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม หลังจากผลการดำเนินงานของบริษัทย่อยจากธุรกิจการกลั่นที่มีผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่จากกำไรสต็อกน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ธุรกิจปิโตรเคมีมีผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเช่นกัน จากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมีผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจากปริมาณขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าราคาขายเฉลี่ยปรับลดลง ประกอบกับมีการรับรู้กำไรจากการขายเงินลงทุนและการจำหน่ายสินทรัพย์เพิ่มขึ้น ขณะที่มีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนและตราสารอนุพันธ์เพิ่มขึ้น

 

ทั้งนี้ กลุ่ม ปตท. มุ่งสู่การเติบโตขององค์กรระดับโลกอย่างยั่งยืน โดยเป็นกำไรจากธุรกิจ Hydrocarbon 92% และธุรกิจ Non-Hydrocarbon 8%

 

โดยคณะกรรมการบริษัทได้มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับผลการดำเนินงานครึ่งปีแรก 2567 ที่ 0.80 บาทต่อหุ้น เมื่อรวมกับภาษีเงินได้ ปตท. และบริษัทในเครือ นำเงินส่งรัฐรวม 35,684 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีส่วนร่วมบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตด้านราคาพลังงานตั้งแต่ปี 2563 ในวงเงินกว่า 24,000 ล้านบาท เพื่อลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X