THE STANDARD WEALTH - สำนักข่าวเศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน

×
THE STANDARD HOME ECONOMIC MARKET BUSINESS CRYPTOCURRENCY OPINION WEALTH MANAGEMENT WORK & LEADERSHIP LIFESTYLE & PASSION
เอสซีจี WHA และ ปตท.
EXCLUSIVE CONTENT

EXCLUSIVE: เปิดมุมมองซีอีโอ ‘เอสซีจี WHA และ ปตท.’ ทำไมประเทศไทยต้องปลดล็อก ‘กรีน แลนด์ลิงก์ โลจิสติกส์รถไฟรางคู่ แหล่งก๊าซไทย-กัมพูชา และยานยนต์ EV’

... • 9 ส.ค. 2023

ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับ WEALTH CLUB ครั้งที่ 2 ของปี 2566 กับเสวนาเศรษฐกิจสุดเข้มข้นจาก THE STANDARD WEALTH ในธีม The Power Shift: Driving Growth in Economic Transition คว้าโอกาสจากเศรษฐกิจเปลี่ยนขั้ว

 

จัดเต็มทั้ง 3 Sessions กับสปีกเกอร์ระดับแนวหน้าของประเทศไทย หนึ่งในเวทีที่ผู้ชมให้ความสนใจมากเป็นพิเศษคือเวทีเสวนาเรื่อง ‘How Business Survive in Transition: ธุรกิจเติบโต ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่าน’ ที่ได้ 3 ซีอีโอชั้นนำของประเทศจากอุตสาหกรรมหลักของเมืองไทยมาร่วมเปิดมุมมองธุรกิจการลงทุน 

 

THE STANDARD WEALTH ชวนฟังสรุปแนวคิด ข้อเสนอโจทย์ใหญ่ถึงรัฐบาลใหม่ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยละเอียด 

 

เอสซีจี WHA และ ปตท.

“กรีนไม่ใช่เรื่องสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่กำลังหมายถึงผลกระทบที่กำลังเกิดขึ้นต่อภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม และการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยในระยะยาว” ซีอีโอกลุ่มเอสซีจีย้ำ

 

ไทยต้องเร่งเครื่อง Green Economy พลังงานขยะ ไฮโดรเจน 

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า นโยบายภาครัฐที่เอสซีจีมองสิ่งแรกคือ Green หรือ Low Carbon ซึ่งทราบกันดีว่า Economic Sustainability มักจะพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง และที่ผ่านมาส่วนตัวก็ยังนึกไม่ออกว่าหน้าตาจะเป็นอย่างไร เพราะไม่มีองค์ความรู้ ไม่มีการสอนเรื่องเหล่านี้ที่มากพอ 

 

แต่วันนี้กลับเป็นเรื่องใหญ่และไม่อาจฝ่าทิศทางกระแสนี้ไปได้ ปัญหาคือทำไมเราเลือกที่จะไม่ทำอะไร เพราะเรื่องกรีนไม่ใช่เรื่องสิ่งแวดล้อมเท่านั้น มันหมายถึงผลกระทบที่กำลังเกิดขึ้นต่อภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม และการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยในระยะยาว 

 

ย้อนดูอุปสรรคจะพบว่าหน่วยงานที่รับบทบาทดูแลเกี่ยวกับกรีนมักจะเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง ทั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน หน่วยงานการจัดการน้ำ กระทรวงคมนาคม ยังไม่รวมภาคการคลังเพราะยังมีไฟแนนซิ่งด้วย 

 

“วิธีการแก้ไขไม่ควรเป็นการตั้งกระทรวงขึ้นมาใหม่ เพราะยิ่งเพิ่มขั้นตอน สิ่งที่ควรทำคือภาครัฐจะทำอย่างไรให้มีเพียงหน่วยงานหนึ่งเดียวที่ลดขั้นตอนเพื่อให้ทำงานได้เร็วขึ้น เพราะ ณ วันนี้ Green Economy แตกต่างออกไปอีกหลายส่วน คำถามที่ตามมา เมื่อโลกในยุค Low Carbon Economy เปลี่ยน วันนี้ไทยเดินช้าไปหรือไม่ วันนี้ไทยพร้อมแล้วหรือยัง”

 

นอกจากนี้ยังมีการผลักดันด้านโลจิสติกส์ที่ไทยต้องเร่งพัฒนาให้มากขึ้น เพราะสำคัญอย่างยิ่งกับต้นทุน ยกตัวอย่างธุรกิจเอสซีจีที่ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคทุกอย่าง ซึ่งปัญหาที่ซ้อนปัญหาตามมาก็คือ เราจะทำอย่างไรให้ Logistic Cost ล้อไปกับกรีน เมื่อความยากและท้าทายกำลังมาพร้อมกฎระเบียบการค้าด้วย

 

เพราะสินค้าต้องกรีน ปลอดภัย และคนสามารถเข้าถึงได้ แม้เป็นโจทย์ที่ยาก แต่รัฐบาลต้องทำและให้ความสำคัญ ซึ่งเชื่อว่าไทยมีความพร้อม โดยบริบทภาคอุตสาหกรรมของไทยเป็นลักษณะ Mix Economy ภาคอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร ท่องเที่ยว สามารถขับเคลื่อนไปได้ก็จริง แต่ธุรกิจเอสซีจีพึ่งพาพลังงานที่เกี่ยวข้องกับกรีนทั้งสิ้น จึงของฝากว่ากระทรวงที่ดูแลกรีนต้องเป็นเอกภาพให้มากที่สุด

 

นอกจากนี้ ขอให้ผลักดันนโยบายพลังงานสะอาด ไม่ว่าจะเป็นไบโอแมสที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตร และที่สำคัญคือพลังงานจากขยะ (Waste to Energy) ที่หายไปจากอุตสาหกรรมพลังงานของไทย รวมถึงผลักดันพลังงานไฮโดรเจนอย่างจริงจัง

 

“ข้อสังเกต 10 ปีที่แล้ว เรามีโซลาร์เซลล์มากที่สุดในอาเซียน แต่ปัจจุบันกลับลดลง ขณะที่พระอาทิตย์เมืองไทยยังส่องแสงเท่าเดิม ​แน่นอนว่าสาเหตุหนึ่งเกิดจากขาดการสนับสนุนจากนโยบายรัฐ ดังนั้น Renewable (พลังงานทดแทน) เป็นโอกาสที่รัฐบาลใหม่ต้องเข้ามาสนับสนุน ซึ่งไทยมีศักยภาพทำได้อีกมากพอสมควร” รุ่งโรจน์กล่าว

 

เอสซีจี WHA และ ปตท.

“ผมอยากให้รัฐบาลมองธุรกิจ EV เป็นเหมือนยุคของรถยนต์สันดาปภายใน ภาค 2 เพื่อขยับประเทศมาสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ให้ได้” อรรถพลกล่าว

 

หนุน New S-Curve EV ฟื้นเจรจาแหล่งก๊าซไทย-กัมพูชา 

ทางด้าน อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท. ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ขอมองในภาพรวมต่อนโยบายรัฐ สิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรกนั้น เห็นด้วยว่ารัฐควรปรับบทบาทการทำงานแบบ Facilitator อำนวยความสะดวกกฎระเบียบ มากกว่าการเป็นผู้คุมกฎหรือ Regulator 

 

หากรัฐบาลมีเซนส์แบบนี้ ไทยจะทำอะไรได้อีกหลายอย่าง หมายถึงว่ารัฐต้องปลดล็อกกิโยติน ตัด ลด ปรับกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้สั้น กระชับ สะดวก เพื่ออำนวยความสะดวกให้ภาคเอกชน เพื่อลดอุปสรรคการลงทุน 

 

“เพราะต้องยอมรับว่าโลกการลงทุนเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว กฎหมายต้องปรับให้ทันสมัย ยกตัวอย่าง ได้ยินมาว่าการขออนุญาตเกี่ยวกับธุรกิจยาใช้เวลานานมาก หรือการจดทะเบียนบางธุรกิจที่มาจากไอเดียของคนไทย บ่อยครั้งไทยเสียโอกาส สิ่งที่คนไทยคิดกลับต้องไปพึ่งพาต่างชาติ เนื่องจากติดปัญหาข้อกฎหมาย จะทำอย่างไรให้ดึงสิ่งเหล่านี้มาเป็นโอกาส” 

 

พร้อมทั้งเดินหน้าการลงทุนอุตสาหกรรม New S-Curve โดยเฉพาะส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยยึดจุดแข็งที่ไทยเป็นดีทรอยต์แห่งเอเชียในการผลิตรถยนต์สันดาปภายใน 

 

“เมื่ออดีตเคยถูกเรียกว่า อุตสาหกรรมนี้เหมือนเลี้ยงไม่โตเสียที แต่เมื่อรัฐเข้ามาสนับสนุนมากขึ้นก็เติบโตขึ้น เช่นเดียวกัน เมื่อการเข้ามาของยานยนต์ไฟฟ้า (EV) มากขึ้น ยิ่งสร้างโอกาสต่อระบบเศรษฐกิจอีกมหาศาล ผมอยากให้รัฐบาลมองธุรกิจ EV เป็นเหมือนยุคของรถยนต์สันดาปภายใน ภาค 2 เพื่อขยับประเทศมาสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ให้ได้”

 

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าต้องมาพร้อมกับ Pain Point ซึ่งก็คือ Charger หรือสถานีชาร์จ ซึ่ง ปตท. ร่วมกับโออาร์ โดยตั้งเป้าว่าเราจะสร้างสถานีชาร์จทำให้รถ EV ทุกคันวิ่งได้ทั่วประเทศ และวางเน็ตเวิร์กไว้พร้อม ดังนั้นไม่ต้องกังวล ขึ้นเหนือล่องใต้คุณสามารถไปได้เลย 

 

แต่อุปสรรคที่อยากขอให้รัฐปลดล็อกคือการขออนุญาตเชื่อมต่อสถานีต้องใช้เวลา ซึ่งแน่นอนว่าจะกลับมาที่ปัญหากฎระเบียบภาครัฐ หากลดเงื่อนไขนี้ได้จะสามารถยกระดับผลักดันอุตสาหกรรมประเทศได้อีกมาก

 

ขณะที่เรื่องของพลังงานทดแทนนั้น มองว่าต้องสานต่อไปให้สมดุลกับความมั่นคงด้วย เนื่องจากเรื่องพลังงานเชื้อเพลิงไม่แน่นอน และไม่สามารถพลิกได้ในข้ามคืน ตัวอย่างที่ชัดเจน เมื่อเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน แม้แต่ยุโรปยังกลับไปใช้ถ่านหิน เพราะฉะนั้นโครงสร้างพื้นฐานประเทศที่มีอยู่ก็ต้องใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

“ปตท. ใช้โอกาสของความเข้มแข็งแล้วหว่านเมล็ด ซึ่งปีที่แล้วไทยถือว่าผ่านบททดสอบจากวิกฤตราคาก๊าซธรรมชาติพุ่งสูงมากเป็นประวัติการณ์ ต้นทุนเชื้อเพลิงที่ถูกที่สุดกลายเป็นเชื้อเพลิงที่แพงที่สุด แต่โชคดีที่ประเทศไทยมีน้ำมันทดแทนที่เพียงพอก็ปรับตัวได้ทัน บริหารจัดการได้” 

 

ขณะนี้ก๊าซเริ่มราคาถูกลงก็ต้องกลับมาใช้ก๊าซ ดังนั้นเราต้องหันมาพึ่งพาตัวเองให้ได้ พึ่งพาตัวเองในที่นี้คือเราจะทำตัวอย่างไรให้พร้อมที่จะเปิดรับความหลากหลายจากพลังงานทุกรูปแบบ 

 

“โดยเฉพาะเรื่องที่สำคัญที่อยากให้พิจารณา คือการฟื้นเจรจาแหล่งพลังงานก๊าซธรรมชาติบนพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา ตรงนี้ถือเป็นออกซิเจนใหญ่ของประเทศในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งก่อนจะไปถึงอีก 10 ปีข้างหน้า ต้องอาศัยวันนี้ เพราะทุกอย่างต้องใช้เวลา กว่าจะสำรวจ ขุด เจาะ โดยการพิจารณาต้องยึดผลประโยชน์ของประเทศ อาจจะยกโมเดลไทย-มาเลเซียที่ผ่านการเจรจาพื้นที่ทับซ้อน และท้ายที่สุดก็สามารถแบ่งพื้นที่ใช้ประโยชน์ระหว่างกัน ตรงนี้ก็สามารถทำได้”

 

พัฒนาแลนด์ลิงก์โลจิสติกส์รถไฟรางคู่

อรรถพลบอกอีกว่า หัวใจสำคัญของระบบเศรษฐกิจในวันนี้ที่ไม่ควรมองข้าม คือการยกระดับโลจิสติกส์ ‘ระบบราง’ ประเทศไทยถือเป็นจุดศูนย์กลางแลนด์ลิงก์ มีเพื่อนบ้านรายล้อม เป็นศูนย์กลางที่ดี แต่เรากลับขับชิดซ้าย รอบบ้านเราชิดขวาหมด เราจึงมีอุปสรรคในการขนส่งทางถนน ดังนั้นแล้ว

 

“การแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือระบบรางที่สามารถเชื่อมได้ โดยการสร้างฮับสร้างจุดเชื่อมต่อได้ทันที ตรงนี้รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ ซึ่งไม่จำเป็นต้องไฮสปีดก็ได้ แต่รางคู่ขอให้เกิด”

 

โดยหากสำเร็จจะสร้างแลนด์ลิงก์อย่างสมบูรณ์ ซึ่งแน่นอนว่าจีนคือต้นแบบแลนด์ลิงก์ หากสามารถหารือและทำเส้นทางมาถึงแหลมฉบังได้ ส่วนแผนระยะยาวอีกทางคือจังหวัดระนอง เพราะจีนต้องการเส้นทางออกอันดามัน ซึ่งขณะนี้จีนยังไม่ตัดสินใจว่าจะผ่านเมียนมาหรือไทย แต่เท่าที่คุยกับรัฐวิสาหกิจของจีนเรื่องระบบราง เขาทำเส้นทางไปยุโรปสำเร็จแล้ว วันนี้เขาเริ่มหันมาดูอาเซียน เอเชียใต้ แน่นอนว่าเราพยายามเสนอไทย ซึ่งนี่คือโอกาสที่มาพร้อมโจทย์รัฐบาลใหม่ที่อยากให้พิจารณา

 

เอสซีจี WHA และ ปตท.

“ที่ต้องเร่งมือคือการสร้างและรักษาคอนเนกชัน กระชับความสัมพันธ์การต่างประเทศ เพราะสำคัญอย่างมากต่อการลงทุนและเศรษฐกิจไทย” จรีพรให้มุมมอง

 

คอนเนกชันและการต่างประเทศสำคัญต่อการลงทุนในประเทศ

จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (WHA) มองว่า สิ่งที่อยากเห็นจากรัฐบาลชุดถัดไปนั้น ที่ผ่านมาพูดเรื่องการลงทุนอื่นๆ มามากพอสมควรแล้ว ในวันนี้จึงอยากนำเสนอมุมมองการลงทุนอีกด้านคือด้านการต่างประเทศ นั่นคือ 

 

“จากวันนี้ไป ไทยในเวทีโลก รัฐบาลมองอย่างไร ตั้งเป้าอย่างไร เพราะตอนนี้โลกเปลี่ยน หลายอย่างเปลี่ยนแปลง คอนเนกชันย่อมสำคัญ เช่น จีนมีการเปลี่ยนแปลงอำนาจไม่เหมือนเช่นอดีต ฉะนั้นความสัมพันธ์ไทยชุดรัฐบาลเดิมกับรัฐบาลจีนชุดใหม่จะมีแนวทางอย่างไร จะสร้างคอนเนกชันนี้ต่อไปอย่างไร หรืออย่างเพื่อนบ้านเวียดนาม กัมพูชา มีการเปลี่ยนถ่ายอำนาจประธานาธิบดี จะกระชับสัมพันธ์อย่างไร”

 

ต้องบอกเลยว่ากว่าที่เราจะได้รัฐบาลใหม่ เรื่องการต่างประเทศสำคัญมาก ขอให้รัฐบาลใหม่ให้ความสำคัญกับการทูตและการต่างประเทศ สร้างมิตรเพื่อนบ้าน สร้างจุดยืน ไม่อย่างนั้นใครไปไหนมาไหนก็จะผ่านบ้านเราหมด 

 

นอกจากต้องการให้รัฐบาลเร่งลดต้นทุนในทุกด้านอุตสาหกรรมแล้ว ยังเห็นด้วยกับ ปตท. และเอสซีจีว่า ประเทศไทยยังขาดการขนส่งทางราง ซึ่งจริงๆ แล้วต้นทุนโลจิสติกส์การขนส่งทางรางถูกที่สุด 

 

“อยากเล่าให้ฟังว่า เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาช่วงเกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีนักลงทุนจากจีนมาเยอะมาก เมื่อมาถึงเห็นนิคมอุตสาหกรรม คำถามแรกที่เขาถามคือ ทำไมเมืองไทยถึงไม่มีรถไฟ เพราะประเทศจีนหากเป็นนิคมอุตสาหกรรมก็มีระบบรถไฟเข้าไปขนส่ง ขณะที่การขนส่งทางรางของไทยยังขาด เราพึ่งพารถมากเกินไป ซึ่งขณะนี้ถือว่ารัฐบาลพยายามสร้างรางรถไฟทางคู่ แต่อนาคตอยากเห็นภาพจากแลนด์ลิงก์สู่แลนด์บริดจ์ (มหาสมุทรแปซิฟิก-อินเดีย) ทำควบคู่ไปด้วย”

 

หากนโยบาย BRI จากจีนสามารถเชื่อม EEC การเชื่อมระหว่างสองฝั่งมหาสมุทรก็น่าสนใจ เพราะการขนสินค้าข้ามอย่างเดียวจะเสียเปล่า หากมองภาพถึงแหล่งผลิตก็สามารถสร้าง Product Assembly ส่งออกได้ ซึ่งส่วนตัวสนใจเรื่องนี้มาก เพราะทั้งหมดจะขยายผลไปถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ EV และ Tech, Quantum Technology 

 

ซึ่งตรงนี้ต้องไม่ลืมว่าบริษัทที่ลงทุนในไทยรายใหญ่เป็นบริษัทต่างชาติ ดังนั้น Global Transportation, Tech ต้องวางภาพให้ชัด ศึกษาให้มาก เพราะท้ายที่สุดจะให้ประโยชน์กับไทยอีกมหาศาล

 

เอสซีจี WHA และ ปตท.

3 บิ๊กธุรกิจ เอสซีจี ปตท. WHA สะท้อนแนวคิดการทำธุรกิจและพูดคุยกับผู้มาร่วมงานว่า โลกเปลี่ยนเร็ว ต้องปรับตัว เปลี่ยนแปลงตัวเอง สร้างจุดยืน เปิดรับความหลากหลาย

 

ท้ายเวทีเสวนาถาม-ตอบ ทั้ง 3 ซีอีโอมองว่า ปัจจุบันโลกเผชิญความท้าทาย เรื่องแรกที่นักธุรกิจต้องทำคือเอาตัวรอดให้ได้ก่อน นอกจากเอาตัวรอดก็ต้องเปลี่ยนตัวเอง เช่น การย้อนมาดูเรื่องพลังงาน ต้นทุนพลังงาน ลดได้หรือไม่ ธุรกิจต้องลดต้นทุน เพราะสิ่งที่คอนโทรลได้มากที่สุดคือ ‘ต้นทุน’ พร้อมทั้งสร้างจุดยืน เปิดรับความหลากหลายเพื่อลดความเสี่ยง

 

นอกจากนี้ เทรนด์กรีน (Green Economy) ควรต้องเดินหน้าต่อไป และการเป็นผู้นำธุรกิจ ถ้าเราไม่ปรับตัว เราจะไม่สามารถอยู่รอดได้ ส่วนในฐานะภาคธุรกิจ คาร์บอนเครดิตสำคัญอย่างมากทั้งในวันนี้และอนาคต ไทยต้องไม่ต่างคนต่างทำ หากทุกคนช่วยกัน ทุกคนก็ได้ประโยชน์ร่วมกัน

กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความ EXCLUSIVE CONTENT ฟรี!

... • 9 ส.ค. 2023

READ MORE



Latest Stories