×

เปิดประวัติ ‘คงกระพัน อินทรแจ้ง’ ซีอีโอป้ายแดง คนที่ 11 ‘ปตท.’

25.01.2024
  • LOADING...

มติบอร์ด ปตท. เห็นชอบตั้ง ‘คงกระพัน อินทรแจ้ง’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC นั่งเก้าอี้ซีอีโอ ปตท. คนที่ 11 ต่อจาก ‘อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์’ ที่ครบวาระ 4 ปีในเดือนพฤษภาคมนี้  

 

รายงานข่าวระบุว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) วันนี้ (25 มกราคม) มีวาระการพิจารณาผลการสรรหาประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. คนที่ 11 หลังปิดรับสมัครไปเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2567

 

โดยผู้เข้ารับการสรรหาจะต้องมีสัญชาติไทย อายุไม่เกิน 58 ปี มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ วิสัยทัศน์ทางด้านธุรกิจพลังงาน ปิโตรเลียม ปิโตรเคมี รวมถึงธุรกิจเกี่ยวเนื่อง พร้อมความรอบรู้และประสบการณ์ในการบริหารองค์กรขนาดใหญ่ 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 


 

โดย ปตท. ถือเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพลังงาน ซึ่งมีกระทรวงการคลังถือหุ้น 51% ดำเนินธุรกิจเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ มีรายได้ปีที่ผ่านมากว่า 3 ล้านล้านบาท 

 

ปัจจุบัน คงกระพัน อินทรแจ้ง อายุ  55 ปี จบการศึกษาวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วิศวกรรมเคมี) (เกียรตินิยมอันดับสอง) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศึกษาต่อจนจบ Doctor of Philosophy (Ph.D.) in Chemical Engineering, University of Houston, U.S.A.

 

มีประสบการณ์มากกว่า 25 ปี ในการบริหารบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและการกลั่นปิโตรเลียมแบบครบวงจร รวมถึงมีความเชี่ยวชาญในด้านการกำหนดกลยุทธ์องค์กร การพัฒนาธุรกิจ การเงินและนักลงทุนสัมพันธ์ การวิจัยและพัฒนา (R&D) การพัฒนาโครงการลงทุนที่สำคัญ การควบรวมกิจการระหว่างประเทศ และการบริหารจัดการกิจการร่วมค้า

 

มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมธุรกิจ

 

  • มีประสบการณ์ที่หลากหลายในการบริหารจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ และเคยดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของ Emery Oleochemicals Group และกรรมการของบริษัทย่อยในต่างประเทศ ได้แก่ Emery Oleochemicals Group ในมาเลเซีย Vencorex Holding ในฝรั่งเศส และ NatureWorks LLC ในสหรัฐอเมริกา
  • ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ดำรงตำแหน่งประธานร่วม France-Thailand Business Forum โดยมีบทบาทหน้าที่ในการเป็นผู้นำและส่งเสริมในเรื่องเศรษฐกิจความร่วมมือกัน (Economic Collaboration) รวมทั้งการลงทุนและการค้าทั้งสองทาง (Two-Way Trade and Investment) ระหว่างประเทศไทยและฝรั่งเศส
  • ดำรงตำแหน่งสมาชิกของ United Nations Global Compact (UNGC) และสภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (WBCSD) รวมทั้งกรรมการขององค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) โดยได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นต้นแบบที่ดีในด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนและความรับผิดชอบในด้าน ESG เพื่อเสริมสร้างคุณค่าการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาวให้กับธุรกิจ ทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก

 

ทั้งนี้ การสมัครซีอีโอ ปตท. มีผู้ยื่นสมัครทั้งหมด 5 คน ประกอบด้วย

 

  1. คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC  
  2. บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่ และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)  
  3. ม.ล.ปีกทอง ทองใหญ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)  
  4. พงษ์พันธุ์ อมรวิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)  
  5. วรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC  

 

สานต่อธุรกิจเดิม-ธุรกิจใหม่

 

หลังจากนี้ภารกิจของซีอีโอ ปตท. คงต้องสานต่อวิสัยทัศน์การทำงานตามแผนของบอร์ด ปตท. ได้มีมติอนุมัติงบลงทุน 5 ปี (ปี 2567-2571) และเตรียมงบลงทุนในโครงการที่อยู่ระหว่างหาโอกาสลงทุนในอนาคตในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้าไว้รวมเป็นวงเงินเกือบ 2 แสนล้านบาท 

 

โดยมีงบลงทุน 5 ปีของ ปตท. และบริษัทที่ ปตท. ถือหุ้นร้อยละ 100 วงเงินรวม 89,203 ล้านบาท โดย ปตท. มีการลงทุนในธุรกิจหลัก (Core Business) ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนของงบการลงทุน 5 ปี ประมาณ 51% 

 

 ประกอบไปด้วยการลงทุนในธุรกิจใหม่ผ่านบริษัทที่ ปตท. ถือหุ้น 100% อาทิ โครงการลงทุนในธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร เช่น โครงการ EVme ซึ่งให้บริการด้านดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการใช้รถยนต์ไฟฟ้าครบวงจร และโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า Horizon Plus 

 

ธุรกิจโรงงานประกอบแบตเตอรี่โดยใช้เทคโนโลยี Cell to Pack (CTP) ล่าสุดบริษัทลูกของ ปตท. คือ ARUN PLUS ได้ต้ังบริษัท เอ ซี เอนเนอร์ยี่ โซลูชั่น เพื่อดำเนินธุรกิจโรงงานประกอบแบตเตอรี่โดยใช้เทคโนโลยี CTP เพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย และมีแผนเริ่มดำเนินการผลิตภายในปี 2567

 

นอกจากนี้ยังได้จัดเตรียมงบลงทุนในโครงการที่อยู่ระหว่างหาโอกาสลงทุนในอนาคต (Provisional Capital Expenditure) ในระยะ 5 ปีข้างหน้าอีกประมาณ 1.07 แสนล้านบาท โดยหลักเพื่อการขยายการลงทุนในช่วงการเปลี่ยนผ่านพลังงาน 

 

รวมถึงมุ่งเน้นธุรกิจพลังงานสะอาดเพื่อไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ อาทิ การลงทุนในธุรกิจชีววิทยาศาสตร์ (Life Science) ซึ่งรวมถึงธุรกิจยา ธุรกิจโภชนาการ อุปกรณ์และการวินิจฉัยทางการแพทย์ และธุรกิจ AI & Robotics เพื่อเป้าหมายในการเป็นผู้นำการให้บริการด้าน AI & Robotics ในอนาคต

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising