×

ภารกิจ ‘ปตท.’ 10 ปีกับเม็ดเงิน 5.5 แสนล้านบาท เข็นไทยขึ้นเป็นศูนย์กลาง ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

23.09.2021
  • LOADING...
ปตท.

ปตท. รัฐวิสาหกิจกลุ่มพลังงานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีแผนลงทุนถึง 1.65 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราวๆ 5.5 แสนล้านบาท ในการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีพลังงานสะอาดอื่นๆ ในช่วง 10 ปีข้างหน้า เพื่อเปลี่ยนให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์ไฟฟ้าหรือ EV ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

เดิมที ปตท. เป็นบริษัทที่สกัดก๊าซธรรมชาติและปิโตรเลียม รวมถึงดูแลการกลั่นและการจำหน่ายเชื้อเพลิง โดยรายได้ส่วนใหญ่จะมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งการที่ทั่วโลกและไทยเองเริ่มเปลี่ยนไปสู่สังคมที่ปราศจากคาร์บอน ส่งผลให้ความต้องการเชื้อเพลิงฟอสซิลเริ่มลดลง และอาจส่งผลกระทบต่อรายได้ของ ปตท. แต่ทาง ปตท. ก็เล็งเห็นและสนับสนุนไปกับเทรนด์โลกที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งเดินหน้าปฏิบัติตามโครงการลดคาร์บอนของรัฐบาล

 

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปตท. กล่าวในการให้สัมภาษณ์พิเศษกับ Nikkei Asia ว่า “ปตท. จะเปลี่ยนพอร์ตธุรกิจ ให้เป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำ ตามเทรนด์โลก” โดยบริษัทจะจัดสรรทุน 32% ของการลงทุนไปให้กับธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวกับการลดคาร์บอน (Decarbonization) ตลอดจนถึงปี 2573 ซึ่งธุรกิจใหม่นี้คาดว่าจะสร้างผลกำไรรวมได้ประมาณ 30% ภายในปี 2573 เช่นเดียวกัน

 

ทั้งนี้ ปตท. ยังไม่ได้กำหนดการลงทุนที่ชัดเจนไปจนถึงสิ้นปี 2573 แต่บริษัทได้กล่าวว่าจะลงทุน 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ (8.6 แสนล้านบาท) ระหว่างปี 2564-2568 รวมทั้งบริษัทคาดว่าจะทุ่ม 1.65 หมื่นล้านดอลลาร์ (5.5 แสนล้านบาท) ในธุรกิจใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายในปี 2573 หรือภายใน 9 ปีข้างหน้าอีกด้วย 

 

โดยหนึ่งในแผนสำคัญของการขับเคลื่อนพลังงานสะอาดของ ปตท. คือการพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย รวมถึงรัฐบาลยังมีแผนที่จะเพิ่มสัดส่วนรถยนต์พลังงานสะอาดที่ผลิตในประเทศให้ได้ถึง 30% ภายในปี 2573

 

โดยแผนนี้เริ่มต้นด้วยการก่อตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อผลิตรถยนต์พลังงานสะอาดร่วมกับ Foxconn บริษัทสัญชาติไต้หวัน ที่เป็นผู้ผลิตและประกอบสินค้าให้กับเทคฯ ยักษ์ใหญ่อย่าง Apple ซึ่ง ปตท. จะเป็นเจ้าของบริษัทร่วมทุนใหม่นี้ถึง 60% และ Foxconn จะถือหุ้นอีก 40% การร่วมทุนนี้คาดว่าจะได้รับเงินลงทุนประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์ (ราวๆ 6.6 หมื่นล้านบาท)

 

โรงงานแห่งใหม่จากการร่วมทุนนี้จะถูกสร้างขึ้นในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมพิเศษ โดยจะเริ่มต้นดำเนินการประมาณปี 2566 หรือ 2567 ในช่วงเริ่มต้นนี้จะสามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้ 50,000 คันต่อปี และต่อมา ผลผลิตจะเพิ่มขึ้นได้มากถึง 150,000 คัน/ปี

 

นอกจากนั้น ปตท. และ Foxconn ยังมีแผนจัดตั้งแพลตฟอร์มเปิด (Open Platform) เพื่อให้โรงงานต่างๆ ร่วมกันผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและส่วนประกอบสำคัญร่วมกันได้อย่างลื่นไหล ซึ่งประเทศไทยเองถือเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นแหล่งรวมซัพพลายเออร์ยานยนต์จำนวนมาก ซึ่ง ปตท. กล่าวว่า จะสนับสนุนให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนต่างๆ เปลี่ยนจากการผลิตรถยนต์ที่ใช้แก๊สมาเป็นรถยนต์ EV แทน และจะเปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ให้ได้

 

นอกจากนั้นการผลักดันของรัฐบาลที่ส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้กับ ปตท. กลับส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น ที่มีส่วนแบ่งการผลิตรถยนต์ในประเทศไทยมากถึง 90% และยังโฟกัสไปที่การผลิตรถยนต์ไฮบริดเป็นหลัก ด้วยเหตุนี้เองเป็นผลให้การผลิตรถยนต์ EV ในประเทศไทยในปัจจุบันมีจำนวนน้อยเป็นอย่างมาก

 

โดยในปีที่แล้วมีการจำหน่ายรถยนต์ EV ได้เพียงแค่ 1,400 คันทั่วประเทศเท่านั้น รวมทั้งไทยเรายังไม่มีโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการชาร์จไฟที่เพียงพอ และราคาของรถยนต์ไฟฟ้าก็ค่อนข้างแพงเกินกว่าที่ผู้บริโภคจะเข้าถึงได้

 

ดังนั้นการเป็นพันธมิตรระหว่าง ปตท. กับ Foxconn นั้นอาจจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของตลาดรถยนต์ในไทย จากเดิมที่เต็มไปด้วยรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น “การแข่งขันในตลาดผู้ผลิตรถยนต์จะดุเดือดขึ้น เนื่องจากผู้เล่นรายใหม่ๆ ก็สามารถเข้ามาเล่นในตลาดนี้ได้ง่ายขึ้น” กล่าวโดย ฮาจิเมะ ยามาโมโตะ ผู้จัดการอาวุโสของสถาบันวิจัยโนมูระประเทศไทย

 

นอกจากนั้น ปตท. ยังมีแผนเปิดตัวธุรกิจเสริมพ่วงตามมาด้วย เช่น ธุรกิจผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าและสถานีชาร์จต่างๆ โดยปั๊มน้ำมันเดิมของ ปตท. ที่มีอยู่ทั่วประเทศนั้นจะทำการเพิ่มสถานีชาร์จรถยนต์ EV เข้าไป และจะพร้อมเปิดใช้งานถึง 200 แห่ง ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งในขณะนี้มีอยู่เพียงแค่ 30 แห่งเท่านั้น รวมทั้งยังมีแพลตฟอร์มสำหรับให้ลูกค้าจองคิวชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าล่วงหน้า ผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน และยังมีบริการให้เช่ารถยนต์ EV ผ่านแอปฯ นี้อีกด้วย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising