×

คับแค้น เจ็บใจ ถูกซ้ำเติม เสียงสะท้อนจากคนถูกโกงเงินสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง

08.03.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • นางอ๋อย (นามสมมติ) อายุ 51 ปี ผู้ติดเชื้อ HIV ในจังหวัดขอนแก่น เปิดใจกับ THE STANDARD ว่า “พอเห็นข่าวก็รู้สึกว่าตัวเองถูกเอาเปรียบ เหมือนเอาชื่อเราไปแอบอ้างหากิน สร้างผลประโยชน์ให้ตัวเอง ทั้งๆ ที่รู้ว่าเราเป็นผู้ป่วย ทำไมต้องทำอย่างนี้กับเราด้วย
  • นางบัวบาล อินทร์เผือก อายุ 47 ปี อาสาสมัครประจำหมู่บ้าน จากตำบลเขาน้อย อำเภอเวียงเก่า จังหวัดขอนแก่น ได้รับมอบหมายให้ทำการหารายชื่อผู้ป่วยจิตเวชที่ต้องการความช่วยเหลือ เพื่อส่งมอบให้กับศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่น โดยไม่มีใครแจ้งเลยว่าผู้ป่วยเหล่านั้นจะได้รับความช่วยเหลืออะไรบ้าง
  • จากประสบการณ์ตรงของคนที่ถูกโกงเงินสงเคราะห์ ทั้งนางอ๋อยและนางบัวบาล เรียกร้องให้รัฐบาลตรวจสอบโครงการให้รัดกุมยิ่งขึ้น เพราะถึงจำนวนเงินจะไม่เยอะ แต่ก็มีความสำคัญกับคนไร้ที่พึ่งจำนวนมาก

จะนับเป็นมหกรรมการคอร์รัปชันที่มีขนาดใหญ่มากที่สุดหนึ่งกรณีก็คงไม่ผิดนัก สำหรับการทุจริตเงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้และไร้ที่พึ่ง ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง เพราะขณะที่การตรวจสอบดำเนินครอบคลุมไปแล้วใน 37 จังหวัด คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท. พบว่ามีการทุจริตแล้วถึง 24 จังหวัด หรือคิดเป็นเกือบ 65% เรียกได้ว่า ‘จับไปตรงไหนก็เจอ’

 

แม้จำนวนเงินงบประมาณที่สูญเสียไปจะเทียบไม่ได้กับการคอร์รัปชันขนาดใหญ่ที่มีมูลค่านับพันนับหมื่นล้าน แต่ความเสียหายจริงๆ ของกระบวนการทุจริตครั้งนี้กลับตกอยู่กับประชาชนตาดำๆ ที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘รากหญ้า’ ในสังคมไทยนับหมื่นคน ที่เดิมทีก็มีชีวิตที่ยากลำบากอยู่แล้ว แต่ยังถูกซ้ำเติมจากคนบางกลุ่มที่นำชื่อของพวกเขาไปแปรเปลี่ยนเป็นเงินเข้ากระเป๋าของตัวเอง

 

THE STANDARD ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ‘คนถูกโกง’ ที่ถูกนำชื่อไปแอบอ้าง และอาสาสมัครที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการทุจริต เมื่อความเดือดร้อนของพวกเขาคือ ‘สินค้า’ ที่เจ้าหน้าที่รัฐนำไปขาย เสียงสะท้อนของพวกเขาจึงบอกได้อย่างชัดเจนถึงความคับแค้น และอัดอั้นในใจที่หลายคนไม่เคยรู้

 

จากผู้ติดเชื้อ HIV กลายเป็นสินค้ามูลค่า 3,000 บาท

นางอ๋อย (นามสมมติ) อายุ 51 ปี ผู้ติดเชื้อ HIV ในจังหวัดขอนแก่น ที่ทนทุกข์จากโรคร้ายนี้มาตั้งแต่ปี 2533 เปิดเผยกับ THE STANDARD ว่า รู้จักโครงการช่วยเหลือผู้ไร้ที่พึ่งครั้งแรกในปี 2560 จากคำบอกเล่าของ ‘พี่เลี้ยง’ ในโรงพยาบาลที่ตนเองรักษาตัวอยู่ ซึ่งขณะนั้นพี่เลี้ยงขอให้เธอรวบรวมรายชื่อเพื่อนๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือ พร้อมสำเนาบัตรประชาชน ใบรับรองแพทย์ และลายเซ็น เพื่อนำไปส่งมอบให้กับศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งในจังหวัดขอนแก่น และจะได้รับเงินช่วยเหลือคนละ 1,000 บาทเป็นการตอบแทน

 

ทั้งๆ ที่ไม่เคยได้ยินชื่อศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งมาก่อน และไม่เคยพบเจอกับเจ้าหน้าที่โดยตรง ในฐานะประธานกลุ่มผู้ติดเชื้อในพื้นที่ เธอจึงรวบรวมเอกสารตามที่ได้รับมอบหมาย โดยหวังว่าจะช่วยเหลือเพื่อนๆ จำนวน 40 คนในกลุ่มเดียวกันได้ แต่หารู้ไม่ว่ารายชื่อเหล่านั้นกำลังจะถูกแปรเปลี่ยนเป็นสินค้ามูลค่า 3,000 บาท โดยมีส่วนต่างเป็นเงิน 2,000 บาทที่อาจจะเข้าสู่กระเป๋าของเจ้าหน้าที่รัฐบางคน

 

เวลาผ่านไป 7 เดือน เงินก้อนแรกถูกส่งถึงมือกลุ่มผู้ป่วยคนละ 1,000 บาท พร้อมกับ ‘คำสั่ง’ ครั้งใหม่ ให้รวบรวมรายชื่อเพื่อนๆ อีกครั้ง แต่ครั้งนี้เจ้าหน้าที่สัญญาว่าจะได้รับเงินคนละ 2,000 บาท ซึ่งครั้งนี้เองที่นางอ๋อย รู้สึกเอะใจว่าทำไมเพื่อนๆ ถึงได้เงินไม่เท่ากัน

 

“ตอนที่กรอกเอกสาร เขาไม่ให้กรอกตัวเลขจำนวนเงิน ในกลุ่มก็ยังถามกันอยู่เลยว่า สรุปแล้วเขาให้คนละเท่าไรกันแน่ ทำไมถึงไม่ระบุจำนวนเงินให้ชัดเจนไปเลย แต่ให้เราเซ็นรับรองเอกสาร แต่พอถามไปก็ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน พอรอบสองที่เขามาขอให้รวบรวมรายชื่อ เราเลยไม่สนใจ แต่เขาก็รวบรวมเอกสารจนได้อีก 20 คน แล้วก็นำไปรวมกับเอกสารเดิมของ 40 คนที่ยื่นไปก่อนหน้านี้ เราเลยงงว่าทำไมคนเก่าได้แค่ 1,000 แล้วทำไมคนใหม่ได้ 2,000 บาท”

 

นอกจากตัวเลขที่ไม่ชัดเจนแล้ว ครั้งที่ 2 นี้เจ้าหน้าที่จากศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งยังลงมากำชับผู้ป่วยทุกคนด้วยตัวเอง โดยให้ซักซ้อมตอบคำถามหากมีคนมาสอบถามว่าได้เงินเท่าไร เพื่อให้ทุกคนตอบตรงกัน แม้ข้อเท็จจริงจะไม่เป็นไปตามนั้น ซึ่งจนถึงตอนนี้ยังไม่มีใครได้รับเงินจากการยื่นเอกสารรอบที่ 2 แม้แต่คนเดียว

 

หลังจากนั้นเธอจึงได้รับรู้ข่าวการทุจริตเงินสงเคราะห์ ซึ่งความรู้สึกแรกที่รับรู้ได้คือ เหมือนถูกเอาเปรียบ

 

“พอเห็นข่าวก็รู้สึกว่าตัวเองถูกเอาเปรียบ เหมือนเอาชื่อเราไปแอบอ้างหากิน สร้างผลประโยชน์ให้ตัวเอง ทั้งๆ ที่รู้ว่าเราเป็นผู้ป่วย ทำไมต้องทำอย่างนี้กับเราด้วย เราเป็นอย่างนี้ก็แย่อยู่แล้ว ยังเอาชื่อเราไปอ้างเพื่อที่ตัวเองจะได้สบาย บนฐานความทุกข์ และความเดือดร้อนของคนอื่น มันเป็นการละเมิดสิทธิด้วย และรู้สึกว่าไม่เท่าเทียมด้วย”

 

แม้หลายคนจะมองว่าเงินจำนวนนี้ไม่ได้มีมูลค่ามากมายนัก แต่สำหรับผู้ติดเชื้อ HIV หลายคนเงิน 3,000 บาทถือว่ามีมูลค่ามาก

 

“ผู้ติดเชื้อก็เป็นเหมือนคนทั่วไปที่บางคนต้องรับผิดชอบหาเลี้ยงครอบครัว ถึงเงินจะเล็กน้อย แต่มันก็สำคัญสำหรับเขา เพราะปีที่ผ่านมามีหลายบ้านถูกน้ำท่วม บางคนต้องเดินทางไปหาหมอเป็นประจำ ต้องเสียค่ารถ ค่าอยู่ ค่ากิน เหมารถมาหาหมอครั้งละ 400-500 บาท ถามว่ามันหนักไหม สำหรับคนที่ไม่มีก็ถือว่าหนักมาก เพื่อนๆ บางคนมาหาหมอ ไม่มีเงินกินข้าว ก็ต้องหยิบยืมเพื่อนๆ หรืออาสาสมัคร เพราะเขาไม่มีจริงๆ”

 

สำหรับบทสรุปของเรื่องนี้ นางอ๋อย อยากให้คนที่ทำผิดถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ส่วนหากจะดำเนินโครงการนี้ต่อไป ก็อยากให้รัฐบาลตรวจสอบให้รัดกุมกว่านี้ หากเป็นไปได้ควรให้ผู้เดือดร้อนไปติดต่อขอรับเงินช่วยเหลือโดยตรงที่ศูนย์ฯ ด้วยตัวเอง และควรระบุจำนวนเงินในเอกสารให้ชัดก่อนให้เซ็นชื่อรับเงิน

 

 

เปิดใจอาสาสมัครผู้กลายเป็นเครื่องมือให้คนโกง

นางบัวบาล อินทร์เผือก อายุ 47 ปี อาสาสมัครประจำหมู่บ้าน จากตำบลเขาน้อย อำเภอเวียงเก่า จังหวัดขอนแก่น เป็นอีกคนที่มีประสบการณ์ตรงจากกระบวนการทุจริตเงินสงเคราะห์ครั้งนี้ ซึ่งเธอได้รับมอบหมายให้ทำการหารายชื่อผู้ป่วยจิตเวชที่ต้องการความช่วยเหลือ เพื่อส่งมอบให้กับศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่น โดยไม่มีใครแจ้งเลยว่าผู้ป่วยเหล่านั้นจะได้รับความช่วยเหลืออะไรบ้าง

 

จากการทำงานอาสาสมัครในโครงการนี้ บัวบาลจะได้รับเงินจากการเดินทางไปอบรม และเยี่ยมเยือนผู้ป่วยเดือนละครั้ง รวม 6 เดือน เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 700 บาท โดยอาสาสมัคร 1 คนจะมีหน้าที่ดูแลผู้ป่วย 2 คน ซึ่งจะมีคุณหมอคัดเลือกผู้ป่วยที่อยู่บ้านใกล้ๆ กันให้อาสาสมัครเป็นผู้ดูแล

 

“ก่อนหน้านี้เคยเป็นอาสาสมัครให้ผู้ป่วยหูหนวก ตาบอด ซึ่งตอนนั้นก็มีหน้าที่คัดกรอง แล้วส่งรายชื่อให้ทาง อบต. จากนั้นเขาก็ได้เงินคนละ 800 บาท พวกเราก็ดีใจ และภูมิใจว่าคนเหล่านี้เขาจะได้มีรายได้เพิ่มขึ้น จนมาถึงผู้ป่วยจิตเวชในโครงการนี้ เราก็คิดนะว่าเขาอาจจะได้เงินเหมือนคนหูหนวก ตาบอด เลยทำเอกสารให้ แต่ก็ไม่ได้อย่างที่คิด เพิ่งมารู้ข่าวทีหลัง รู้สึกเจ็บช้ำมาก เพราะไม่เคยรู้เลยว่าเขาจะได้เงิน ถ้าจะมีเงินให้ผู้ป่วย 1,000-3,000 บาท เราก็ต้องบอกผู้ป่วยอยู่แล้ว”

 

สำหรับผู้ป่วยจิตเวชแล้ว เงินจำนวนนี้มีความสำคัญอย่างมาก เพราะพวกเขาต้องเดินทางไปโรงพยาบาลเป็นประจำ ขณะที่หลายคนมีฐานะยากจน และไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้

“เงินก้อนนี้มันช่วยเขาได้หลายๆ อย่างนะ อย่างแรกคือเขาจะได้มีกำลังใจ ไม่เครียด ถ้าเงินไม่พอใช้ จะได้มีเงินไว้ใช้จ่าย คนบ้านนอกน่ะคุณ 400-500 มันก็มีคุณค่า ยิ่งได้เป็นพัน มันก็ช่วยเขาได้เยอะเลย เพราะเวลาไปหาหมอ ถึงจะได้ยาฟรี แต่หมอเขาไม่ได้ออกค่าน้ำมันให้นะ ถ้าเขาได้เงินตรงนี้เขาก็คงดีใจ แล้วเขาก็คงเจ็บช้ำมากถ้ารู้ว่ามีคนเอาเอกสารของเขาไปเบิกเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง”

 

ในฐานะอาสาสมัครที่ได้รับผลตอบแทนหลักร้อยบาท บัวบาล มองว่าสิ่งที่คุ้มค่ากว่าเงินคือความภาคภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือคนอื่น เพราะถึงจะเรียนจบแค่ ป.6 แต่ก็สามารถทำงานที่เป็นประโยชน์กับคนที่ลำบากกว่าได้ ซึ่งหลังจากได้ยินข่าวการทุจริต ยอมรับว่ารู้สึกเสียกำลังใจไม่น้อย

 

“เราเสียใจตรงที่ทำไมกูโง่เอาเอกสารผู้ป่วยให้เขา โดยไม่ได้ถามเขาก่อนว่าจะเอาไปทำอะไร พวกเราก็ผิดจริงๆ ที่ไม่เคยถามว่าเขาเอาไปทำไม เซ็นยินยอมให้เขาด้วย ยังดีที่เราไม่ได้ไปบอกผู้ป่วยว่าเขาจะได้เงิน ถ้าบอกไป แล้วสุดท้ายเขาไม่ได้ เราจะยิ่งเสียใจหนักกว่าเดิม”

 

บทเรียนที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้ บัวบาลมองว่า รัฐบาลควรติดตามตรวจสอบให้มากกว่านี้ ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยจนกลายเป็นการทุจริตที่กินวงกว้างอย่างในปัจจุบัน

 

“คิดดูว่าถ้านักศึกษาคนนั้น (น้องแบม-ปณิดา ยศปัญญา) ไม่ออกมาเปิดโปง เงินเหล่านี้ก็จะสูญหายโดยที่พวกเราไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่ามีเงินก้อนนี้อยู่ ครั้งนี้ถือว่ารัฐบาลหละหลวมมากในเรื่องการตรวจสอบ”

 

นี่เป็นเสียงสะท้อนเพียงบางส่วนที่เกิดขึ้นจริงจากโครงการเงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้และไร้ที่พึ่ง แม้จะเป็นเสียงจากคนตัวเล็กๆ แต่ก็สะท้อนภาพใหญ่ของกระบวนการทุจริตครั้งนี้ได้เป็นอย่างดี หลังจากนี้คงต้องติดตามต่อไปว่าบทสรุปของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร เชื่อว่าคนไร้ที่พึ่งทั่วประเทศคงต้องการ ‘ความยุติธรรม’ แม้มันจะมาช้ากว่าที่ควรจะเป็นก็ตาม

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising