×

ศุภชัยเสนอ 5 มาตรวัด ‘ปฏิรูปการศึกษา’ ชูแนวคิดหนุนเด็กไทย ปั้น ‘สตาร์ทอัพ’ ฝึกเป็นเจ้าของกิจการก่อนเรียนจบ

15.09.2020
  • LOADING...

แนวคิด ‘การปฏิรูปการศึกษาไทย’ คือสิ่งที่ผู้คนตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในหลากหลายอุตสาหกรรมต่างก็ได้แสดงทัศนะและเสนอความคิดเห็นในการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และแก้ไขไว้เป็นจำนวนมาก เพื่อที่จะสามารถผลิตบุคลากรออกมาให้ตอบโจทย์ความต้องการขององค์กรและหน่วยงานที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา

 

เมื่อเร็วๆ นี้ ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด และประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ถึงประเด็นการปฏิรูประบบการศึกษาไทย และการยกระดับแรงงานในอนาคตให้มีทักษะพร้อมรองรับความต้องการของตลาด

 

โดยได้เสนอ 5 มาตรวัดที่จะเป็นหลักเกณฑ์สำคัญในการพลิกโฉมการศึกษาไทย ประกอบด้วย

1. ความโปร่งใสในการเปิดเผยประสิทธิภาพของโรงเรียนและสถาบันการศึกษาแต่ละแห่งออกมาตามเกณฑ์การประเมินที่เกี่ยวข้องในแต่ละด้านเพื่อก่อให้เกิด ‘กลไกตลาด’ และการแข่งขัน ซึ่งสุดท้ายจะนำไปสู่การยกระดับประสิทธิภาพด้านการเรียนการสอนของโรงเรียนนั้นๆ

 

2. ความเป็นผู้นำ โดยพุ่งเป้าไปที่ผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่งศุภชัยมองว่าผู้นำในสถาบันการศึกษาแต่ละแห่งต้องมีความพร้อมที่จะ ‘ปรับปรุง’ และเปลี่ยนแปลงระบบการเรียนการสอนในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย โดยไม่คำนึงถึงผลลัพธ์ว่าจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว

 

“ผมมีโอกาสได้พบ เวนดี้ ค็อปป์ ผู้ก่อตั้งขององค์กร ‘Teach For All’ เขาบอกว่าความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลงโรงเรียนคือ ‘ผู้นำ’ และต้องเป็นผู้นำที่มีอายุยังไม่มาก เฉลี่ยประมาณ 28-32 ปี ในที่นี้ความหมายไม่ใช่ว่าผู้นำรุ่นใหม่เก่งกว่าผู้นำรุ่นเก่า แต่ผู้นำรุ่นใหม่ยินดีที่จะทุ่ม 5-10 ปีลงไปเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง โดยที่รู้ว่าแม้เขาจะล้มสักกี่ครั้ง ระหว่างทางก็ยังลุกขึ้นยืนใหม่ได้ 

 

“แต่ถ้าเป็นผู้นำที่มีอายุ กว่าจะไต่เต้าไประดับสูงได้ อายุก็ใกล้เกษียณแล้ว เขาก็จะมองการเปลี่ยนแปลงหรือความล้มเหลวในอีกรูปแบบ มองว่าจะเกษียณอย่างไรให้สวยงามที่สุด ไม่อยากเปลี่ยนแปลงอะไรมาก”

 

3. การให้เด็กเป็นศูนย์กลางของระบบการศึกษา โดยผู้ใหญ่หรือครูจะต้องเปลี่ยนตัวเองจากที่เคยเป็น ‘ผู้ออกคำสั่ง’ มาเป็น ‘ผู้สนับสนุน’ ผู้ดึงศักยภาพ ดึงเอาความสนใจของเด็กแต่ละคนออกมาให้ได้มากที่สุด

 

4. คือการทำให้เกิด ‘ความเท่าเทียม’ ในระบบการศึกษา ที่ครูและลูกศิษย์จะต้องรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกันโดยไม่เกิดอคติ

 

5. ‘เทคโนโลยี’ ทั้งในด้านเครื่องมือ การเข้าถึงอุปกรณ์ และแหล่งข้อมูลและข่าวสารที่เป็นประโยชน์ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการปรับมุมคิดของการศึกษาไทยในการให้ความสำคัญกับการเรียนรู้จากการได้ลงมือทำ ปฏิบัติจริงด้วยตัวเอง (Action Learning Base) มากกว่าการเรียนรู้ด้วยการท่องจำตำราเรียน รวมไปถึงการนำฐานข้อมูล Big Data และปัญญาประดิษฐ์ AI มาบิดมุมใช้ประโยชน์สูงสุดให้เกิดขึ้นกับระบบการศึกษา 

 

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือการที่ศุภชัยเสนอแนวคิดการสนับสนุน ‘กองทุน Angel Fund’ แบบให้เปล่ากับนักเรียนและนักศึกษาระดับอุดมศึกษา เพื่อฝึกฝนให้เด็กๆ เกิดไอเดียสร้างสรรค์นวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาเพนพอยต์ต่างๆ นำเงินทุนที่ได้รับไปปลุกปั้นสตาร์ทอัพหรือธุรกิจของตัวเองขึ้นมา 

 

เพราะประโยชน์ของโครงการรูปแบบนี้ไม่ได้เป็นไปเพื่อความคาดหวังที่จะมีสตาร์ทอัพหรือนวัตกรรมเจ๋งๆ ของไทยที่สามารถส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศได้เท่านั้น แต่ยังนับรวมถึงการปลูกฝัง ‘วิธีคิด’ การเป็นเจ้าของธุรกิจ ผู้ประกอบการ หรือนวัตกรให้กับเด็กๆ เหล่านั้นได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

 

“ถึงแม้ว่าในที่สุดแล้วจะมีเด็กๆ จำนวนไม่มากที่ผ่านเข้าไปถึงรอบชิงชนะเลิศของโครงการรูปแบบนี้ แต่สำหรับเด็กจำนวนหลายพันคนที่ได้เข้ามาในโครงการนี้ สิ่งที่เขาได้รับคือ ‘แนวคิดที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม’ เพราะเขาเสียเวลาหลายเดือนหรือเป็นปีเพื่อคิดว่าจะสร้างธุรกิจขึ้นมาอย่างไร ไปแก้ปัญหาต่างๆ บนโลกใบนี้ด้วยวิธีไหน อะไรแบบนี้เราเรียกว่าเป็นการเรียนจากการปฏิบัติ (Action Learning) แล้วเอาความคิดไปจดจ่อกับการสร้าง ‘คุณค่า’ ว่าอะไรคือส่ิงที่ตลาดต้องการ

 

“เราต้องเริ่มให้อินเซนทีฟกับเด็กในแง่ของความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม แล้วในที่สุด 10% ของเด็กๆ กลุ่มนี้ก็จะกลายเป็น ‘ต้นแบบ Role Model’ ให้กับเด็กๆ อีก 90% ที่เหลือ หรืออย่างน้อยที่สุด แม้ว่าในโครงการนี้จะมีเด็กที่เข้าไปร่วมและกลายเป็นสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จได้จริงๆ เพียง 2% แต่พวกเขาก็จะกลายเป็นแบบอย่างของเพื่อนๆ ในรุ่นราวคราวเดียวกันทันที

 

“ผมคิดว่าสถาบันการศึกษาทุกวันนี้จะต้องเป็น ‘สนามฝึกแห่งใหม่’ (Training Ground) เหมือนวันนี้เราทำโปรแกรมฝึกงานให้เด็กมีประสบการณ์จริง เราสอนให้เขาเข้าไปทำงานในองค์กร บริษัทที่ก่อตั้งขึ้นมาแล้ว แต่กลับไม่ได้สอนให้เขาเป็น ‘ผู้นำ’ มีความคิดริเริ่ม หรือเป็น ‘นักบุกเบิก’ สร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น เราต้องสอนสิ่งเหล่านี้ด้วย เพราะคนทุกคนต่างก็มีศักยภาพที่จะเป็นผู้นำในตัวเอง สอนเรื่องทีมเวิร์ก ปลูกฝังให้ทุกคนมีความเป็นผู้ร่วมก่อตั้งธุรกิจ (Co-founder) 

 

“เพราะถึงแม้ว่าวันหนึ่งเขาจะไม่ได้เป็นเจ้าของกิจการ แต่เขาก็ยังสามารถไปทำงานในบริษัท พร้อมด้วยศักยภาพการเป็นผู้นำที่มีความคิดริเริ่ม คิดทุกอย่างโดยมองไปที่ความต้องการของตลาดได้อย่างตรงจุด สิ่งเหล่านี้ถือเป็นกลไกสำคัญในการผลิต ‘แรงงานแห่งอนาคต’ (Future Workforce) หรือบุคลากรของประเทศในยุคเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) ขึ้นมา” ศุภชัยกล่าวทิ้งท้าย

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising