×

เปิดวงสนทนา #PrideMonth: คนเท่ากัน ทุกคนมีสิทธิภูมิใจที่เป็นตัวเอง

โดย THE STANDARD TEAM
10.06.2021
  • LOADING...
Pride Month

“เรามีประชากร 67 ล้านคน เป็น LGBTQ+ 7 ล้านคนหรือ 10% และส่วนใหญ่เป็นวัยทำงาน เราต้องปลดปล่อยให้คนเหล่านี้มีศักยภาพในสังคม เพราะศักยภาพของทุกคนมีผลต่อการพัฒนาประเทศทั้งสิ้น”  

 

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย ได้พูดคุยประเด็นของความเท่าเทียมทางเพศ และเฉลิมฉลองเดือนแห่งความภาคภูมิใจของ LQBTQ+ ผ่านวงสนทนา #PrideMonth: คนเท่ากัน ทุกคนมีสิทธิภูมิใจที่เป็นตัวเอง ร่วมกับ วู้ดดี้-วุฒิธร มิลินทจินดา พิธีกรจาก Woody world ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ อดีต ส.ส. พรรคก้าวไกล และ บุณยนุช มัทธุจักร จาก iLaw พร้อมเปิดให้ผู้ฟังในห้องได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นบน Clubhouse และ Facebook Page ของคุณหญิงสุดารัตน์ เมื่อเวลา 20.00 น. ของวันที่ 9 มิถุนายน 2564 

 

“ศักยภาพของคนไม่ได้อยู่ที่สูงต่ำดำขาวหรือเพศสภาพ แต่อยู่ที่หัวใจและสมอง” คุณหญิงสุดารัตน์ได้ย้ำว่าความเท่าเทียมทางเพศมีผลต่อพัฒนาการของเศรษฐกิจประเทศไทย เนื่องจากการปิดกั้นไม่ให้กลุ่ม LGBTQ+ ได้รับโอกาสในสังคมที่เท่าเทียมจะเป็นการเสียศักยภาพของคนไปโดยเปล่าประโยชน์ และยังขัดต่อรัฐธรรมนูญว่าด้วยความเท่าเทียมและสิทธิมนุษยชน 

 

“เฉดสีมันมีเยอะแยะมากมาย ไม่ได้มีแค่เกย์หรือกะเทย เป็นรุกหรือเป็นรับ แต่สังคมเรามันมีหลายมิติมาก คู่รักหญิงกับหญิงก็ยังไม่ได้โอกาสหรือพื้นที่ในสังคมหากอยากแต่งงานหรือมีลูก”

 

วู้ดดี้ มิลินทจินดา ได้ร่วมบอกเล่าประสบการณ์ของตนในฐานะ LGBTQ+ คนหนึ่งว่าตนต้องพบกับความยากลำบากจากการที่ไม่สามารถจดทะเบียนสมรสกับคู่ชีวิตได้ ทำให้ต้องเสียสิทธิ์การตัดสินใจทางการแพทย์ และยังตั้งคำถามไปถึงโอกาสที่ประเทศไทยในวันข้างหน้าจะสามารถมีความเท่าเทียมทางเพศที่ใกล้เคียงกับประเทศไต้หวัน ประเทศแรกในเอเชียที่รับรองการสมรสของ LGBTQ+ ได้หรือไม่ 

 

ขณะที่ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ อดีต ส.ส. ที่มีความหลากหลายทางเพศของไทย มีความเห็นว่าการที่สังคมไม่ยอมรับความเท่าเทียมทางเพศเท่ากับว่า LGBTQ+ กำลัง ‘ถูกโกงความเป็นมนุษย์ ถูกฆ่าตัดตอนความฝัน’ เธอกล่าวว่า การที่เราจะเป็นมนุษย์คนนึงได้ เราต้องยอมรับว่าเราไม่ได้เกิดมาเท่าเทียมกัน ทั้งหน้าตา สถานะต่างๆ แต่ที่เราพูดว่าคนเท่ากันนั้นหมายความว่าเมื่อเราเกิดมาเป็นคนแล้วเราต้องได้สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องได้ ทุกคนต้องมี “ในสังคมไทยที่เราไม่ได้มีกฎหมายรองรับในการเป็นตัวของเราเอง ทั้งยังถูกระบบการศึกษา หลักสูตร การแพทย์ วัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อ ศาสนา โกงความเป็นมนุษย์ไปเรื่อยๆ การที่ไม่เคยมีนายกรัฐมนตรีเป็นกะเทยแต่งหญิง ไม่เคยเห็น ผบ.ทบ. คุณหมอ คุณครู ที่เป็น LGBTQ+ อย่างเปิดเผย ถือเป็นการฆ่าตัดตอนความฝัน ในเมื่อเด็กคนหนึ่งฝันว่าอยากเป็นอธิบดี เป็นผู้พิพากษา แต่เมื่อคุณเป็นกระเทยแต่งหญิง อนาคตของคุณอยู่ที่ไหน LGBTQ+ มีไม่กี่อาชีพที่สามารถทำได้ ทำให้ไม่สามารถใช้ศักยภาพของตนได้อย่างเต็มที่ จึงมีผลทางเศรษฐกิจอย่างแน่นอน” และยังย้ำว่า LGBTQ+ ต้องการเพียงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่เหมือนกับทุกคนเท่านั้น

 

ในฝั่งของการขับเคลื่อนทางกฎหมาย บุณยนุช มัทธุจักร จาก iLaw ได้ให้ข้อมูลว่า ในปัจจุบันมีการผลักดันการสมรสของ LGBTQ+ อยู่ 3 รูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ตั้งแต่มติ ครม. ในปี 2561 การเสนอร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ. คู่ชีวิตจาก #สมรสเท่าเทียม ของพรรคก้าวไกลที่ให้ทุกเพศสมรสกันได้ภายใต้กฎหมายเดียวกัน หรือการเคลื่อนไหวให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากฎหมายแพ่งว่าด้วยการสมรสที่จำกัดให้เป็นการสมรสของคนต่างเพศเท่านั้นเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งในปัจจุบันประเด็นนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

 

พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising