×

6 วลีประทับใจจาก 6 ซีรีส์และภาพยนตร์เฉลิมฉลอง Pride Month

26.06.2023
  • LOADING...
Pride Month ซีรีส์ ภาพยนตร์

เนื่องในโอกาส Pride Month THE STANDARD POP ถือโอกาสหยิบยก 6 วลีประทับใจจาก 6 ซีรีส์และภาพยนตร์ในดวงใจของใครหลายคน ที่แต่ละเรื่องได้นำเสนอประเด็น LGBTQIA+ เอาไว้หลากหลายแง่มุม ทั้งประเด็นความรักไม่ได้จำกัดเพศ, พื้นที่ปลอดภัยในครอบครัว, ความเหลื่อมล้ำทางเพศ, ทัศนคติต่อกลุ่มหลากหลายทางเพศ, คุณค่าของมนุษย์ และการเข้าใจความเป็นตัวตนของกันและกัน ผ่าน 6 ผลงานทั้งไทยและต่างประเทศอย่าง แปลรักฉันด้วยใจเธอ Part 1 (2020), Heartstopper (2022), คุณชาย (2022), มาตาลดา (2023), สตรีเหล็ก (2000) และ The Danish Girl (2015)

 

THE STANDARD POP ขอเป็นพื้นที่หนึ่งที่ร่วมเป็นกระบอกเสียงและเฉลิมฉลองให้แก่เดือนแห่งความภาคภูมิใจนี้ เดือนที่หลายคนได้ต่อสู้กันมาอย่างยาวนาน แม้จุดเริ่มต้นของ Pride Month จะผ่านไป แต่เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าไม่ว่าจะเดือนไหนหรือยุคสมัยใดก็จะเป็นช่วงเวลาแห่ง ‘ความเท่าเทียม’ ได้เช่นกัน

 

Pride Month ซีรีส์ ภาพยนตร์

 

แปลรักฉันด้วยใจเธอ Part 1 (2020) นับว่าเป็นซีรีส์ Coming of Age ที่เล่าเรื่องราวความหลากหลายทางเพศอย่างตรงไปตรงมา โดยบอกเล่าการเติบโตของสองตัวละครหลักอย่าง เต๋ (รับบทโดย บิวกิ้น-พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล) และ โอ้เอ๋ว (รับบทโดย พีพี-กฤษฏ์ อำนวยเดชกร) ผ่านบททดสอบชีวิตต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับชีวิตที่เกิดขึ้นจริง ทั้งจุดเริ่มต้นของเรื่องราวที่เกิดในวัยที่ทุกคนกำลังค้นหาตัวตนเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่มหาวิทยาลัย หนึ่งในช่วงเวลาสำคัญของใครหลายๆ คน รวมไปถึงการก้าวข้ามผ่านความสับสนระหว่างเรื่อง ‘เพศ’ และ ‘ความรัก’ ของตัวละครเต๋ที่จะพาทุกคนเข้าใจ ‘มนุษย์’ ในอีกแง่มุมหนึ่ง

 

หนึ่งในฉากที่ทำให้ตัวละครเต๋เข้าใจว่า ‘ความรักไม่ได้จำกัดเพศ’ คือเหตุการณ์ที่ โก๊หุ้น (รับบทโดย ณัฏฐ์ กิจจริต) เข้ามาถามไถ่เต๋เพราะเห็นว่าเขาสีหน้าไม่สู้ดีหลังจากที่เต๋รู้ว่าโอ้เอ๋วและ บาส (รับบทโดย ขุนพล-ปองพล ปัญญามิตร) กำลังเปิดใจคุยกันในฐานะมากกว่าเพื่อน เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นจุดที่ทำให้เต๋รู้ตัวเองชัดว่า ‘เขาชอบโอ้เอ๋ว’ ในรูปแบบของคนหนึ่งคนรักคนหนึ่งคน โดยโก๊หุ้นเป็นคนเดียวในตอนนั้นที่รู้เรื่องราวทุกข์ใจของเขาและทำให้เขาปลดล็อกในสิ่งที่กำลังกลัว

 

เหตุการณ์ที่หยิบยกมาข้างต้นสะท้อนให้ผู้ชมได้ตระหนักว่า ‘ความรักไม่ได้จำกัดเพศ’ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีบางคนที่ตั้งคำถามและต่อต้านความจริงที่ว่านี้ทั้งภายในสังคมและภายในครอบครัว ท่ามกลางสังคมปัจจุบันที่เปิดกว้างและสร้างความเข้าใจในเรื่อง LQBTQIA+ มากขึ้นกว่าเมื่อก่อน ถึงแม้ว่าการเปลี่ยนความคิดใครสักคนจะเป็นเรื่องยาก แต่การ ‘เคารพซึ่งกันและกัน’ คือสิ่งพื้นฐานที่ทุกคนควรมี คงจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะทำให้ทุกคนมองเห็นว่าความรักเป็นเรื่องของ ‘มนุษย์กับมนุษย์’ และเป็นสิ่งสวยงามที่ทุกคนสมควรได้รับโดยไม่มีข้อแม้

 

“มึงจะไปเปลี่ยนความคิดคนทั้งโลกได้ไง ต่อให้วันนี้มึงจับมือผู้ชายเดิน มันก็จะมีคนที่โอเคกับมึง แล้วมันก็จะมีคนที่ไม่โอเคกับมึง

 

“สุดท้ายแล้วถ้าม้ารู้ว่ามึงรักคนที่ไม่ได้รักแล้วมึงไม่มีความสุข ม้าเองก็ไม่มีความสุข มันชีวิตมึง มึงแค่ทำในสิ่งที่มึงมีความสุขก็พอแล้ว มึงจะชอบใครก็ได้ ไม่แปลกเลยเว้ย”

 


 

Pride Month ซีรีส์ ภาพยนตร์

 

Heartstopper เป็นซีรีส์ LGBTQIA+ ที่นำเสนอให้เราเห็นถึงความสำคัญของการโอบรับความแตกต่างและการสร้าง ‘พื้นที่ปลอดภัย’ พื้นที่ที่ยอมรับและโอบกอดตัวตนของเราจริงๆ เป็นพื้นที่ที่เราสามารถเป็นตัวเองได้อย่างสบายใจ โดยจุดเริ่มต้นที่ดีและใกล้ตัวที่สุดคือ ‘ครอบครัว’ 

 

หนึ่งในตัวละครที่บอกเล่าประเด็นดังกล่าวได้อย่างชัดเจน คือเหตุการณ์ที่ Nick บอกกับ Sarah ผู้เป็นแม่ว่าเขาคบกับ Charlie ในฐานะคนรักและเขาเป็นไบเซ็กชวล สิ่งที่ทำให้ใครหลายคนประทับใจและเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในซีนปิดซีซันที่เป็นที่พูดถึงอย่างมากในโลกออนไลน์คือท่าทีของ Sarah ที่ไม่ได้แสดงความตกใจหรือโกรธแม้แต่น้อย แต่กลับเปี่ยมไปด้วยพลังบวก พร้อมทั้งคำ ‘ขอบคุณ’ และ ‘ขอโทษ’ ที่ถ่ายทอดออกมาอย่างอบอุ่น

 

เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นบทพิสูจน์ว่าครอบครัวยังคงเป็นพื้นที่ที่ใครหลายคนต้องการความสบายใจและความปลอดภัยอยู่เสมอ โดยเราหวังว่าการที่หยิบยกฉากดังกล่าวมานำเสนอจะเป็นแรงบันดาลใจให้หลายๆ ครอบครัวค่อยๆ สร้าง ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ให้สมาชิกของตนเอง เพื่อให้เขากล้าที่จะพูดถึงอัตลักษณ์ของพวกเขาได้อย่างไม่รู้สึกอึดอัดหรือกลัว รวมถึงเพื่อให้พวกเขาได้ใช้ชีวิตในแบบที่ไม่ต้องสูญเสียความเป็นตัวเองเพียงเพราะต้องการเป็นที่ยอมรับของใคร 

 

“ลูกรัก ขอบคุณที่บอกแม่นะลูก แม่ขอโทษ ถ้าแม่เคยทำให้รู้สึกว่าลูกบอกแม่ไม่ได้

 


 

Pride Month ซีรีส์ ภาพยนตร์

 

คุณชาย (2022) ได้พาเราย้อนเวลากลับสู่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุคสมัยที่ ‘ชายเป็นใหญ่’ และอยู่ห่างไกลกับการยอมรับความแตกต่างในแง่มุมของเพศวิถีภายใต้บริบทครอบครัวตระกูลจีน ซึ่งทำให้เราเห็นว่า LGBTQIA+ ยังคงถูกกดทับกับชุดความคิดที่สืบทอดกันมาว่ารักเพศเดียวกันเป็นสิ่งที่ไม่ปกติ และเป็นสิ่งที่สร้างความเสียหายให้แก่ตระกูล ชุดความคิดดังกล่าวเป็นสิ่งที่ครอบงำสังคมจนทำให้กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศรวมถึงตัวละครเทียนเองต้องใช้ชีวิตด้วยความกลัว และต้องปกปิดความเป็นตัวเองเพราะภาพลักษณ์ของครอบครัว

 

หนึ่งในฉากที่ฉายภาพให้เราเห็นถึงจุดอิ่มตัวของการอดทนกับประเด็นดังกล่าวคือฉากที่เทียนพูดถึงประเด็นข้างต้นสู่การยอมรับว่า ‘เขาเป็นต้วนซิ่ว’ (คำสแลงที่หมายถึงชายรักชาย) ในวันประชุมใหญ่ของตระกูล ซึ่งนั่นหมายความว่าความหวังของเจ้าสัวซ่งและลี่ ผู้เป็นพ่อและแม่ของเขาต้องพังทลายลง เพราะไม่มีใครยอมรับได้หากต้วนซิ่วจะขึ้นมาเป็นผู้นำสมาคม 

 

เหตุการณ์ดังกล่าวฉายภาพให้เราเห็นถึง ‘ความเหลื่อมล้ำทางเพศ’ จากบริบทการแต่งตั้งผู้นำโดยมีข้อแม้เรื่องเพศ แทนที่จะพิจารณาเพียงความสามารถและศักยภาพของคนคนนั้น เสียงของตัวละครเทียนจึงเป็นเหมือนกระบอกเสียงให้แก่คนในสังคมที่ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันว่า ในยุคสมัยที่เปิดกว้างอย่างปัจจุบัน ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนจะปฏิบัติกับเพื่อนมนุษย์อย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นเพศไหนก็ตาม

 

“ผมไม่ต้องการความเห็นใจหรือต้องการความเข้าใจของทุกคนเลย ผมแค่อยากเป็นตัวของตัวเอง ได้ใช้ชีวิตอย่างที่ผมเลือก โดยที่ทุกคนให้เกียรติผมไม่ต้องมากไม่ต้องน้อย แค่เท่าเทียมกับที่คนคนหนึ่งควรจะได้รับ”

 


 

Pride Month ซีรีส์ ภาพยนตร์

 

มาตาลดา (2023) เป็นละครที่นำเสนอภาพสังคมในยุคปัจจุบันที่หลายคนอาจมองว่าเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาที่ความคิดของผู้คนน่าจะเปิดกว้างและยอมรับความแตกต่างได้ในระดับหนึ่ง แต่ละครเรื่องนี้ทำให้เห็นแล้วว่าในบางมุมของสังคมยังมีกลุ่มคนบางกลุ่มที่ยังติดกับกรอบความคิดเดิมๆ และยังหันหลังกับการยอมรับความแตกต่าง ซึ่งจุดเด่นของละครเรื่องนี้นอกจากจะตีแผ่ทัศนคติของมนุษย์ที่มีต่อ LGBTQIA+ ที่ซ่อนอยู่ในแต่ละมุมของสังคมแล้ว อีกอย่างหนึ่งที่น่าประทับใจคือการสอดแทรกข้อคิดผ่านบทพูดของตัวละครที่ถ่ายทอดออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติและตรงไปตรงมา

 

หนึ่งในฉากประทับใจที่สะท้อนให้เราเห็นถึงความสำคัญของการปลูกฝัง ‘รากฐานความคิด’ ของเด็กๆ จากผู้ปกครอง คือเหตุการณ์ที่พ่อเกรซสร้างความเข้าใจในเพศสภาพที่แตกต่างบนโลกใบนี้ให้แก่มาตาลดา หลังจากที่มาตาลดาถูกเพื่อนที่โรงเรียนล้อว่าพ่อของเธอเป็น ‘ตุ๊ด’ ในความรู้สึกเด็กวัยนั้นเธอรับรู้แค่ว่าสิ่งที่เพื่อนของเธอทำคือการล้ออะไรบางอย่างเกี่ยวกับพ่อที่รักของเธอ และด้วยความรู้สึกนั้นทำให้เธอเกิดการตั้งคำถามว่า “ตุ๊ดเป็นคนไม่ดีเหรอคะ”

 

เหตุการณ์ดังกล่าวย้ำให้เราทุกคนตระหนักว่าผู้ปกครองมีบทบาทที่สำคัญมากกว่าการเลี้ยงดู แต่ยังต้องปลูกฝังทัศนคติที่ดีและถูกต้องให้กับเด็กๆ อย่างไรก็ตาม ก่อนจะถึงขั้นตอนที่ปลูกฝัง ‘รากฐานความคิด’ ให้แก่เด็กๆ ได้ ตัวผู้ปกครองเองก็ต้องมั่นใจเช่นกันว่าตนเองมีความพร้อมพอในแง่ของทัศนคติที่พร้อมโอบรับความแตกต่างที่เกิดขึ้นในสังคม และมองทุกคนเท่าเทียมกันไม่ว่าเพศใดก็ตาม เพื่อเป็นรากฐานที่ดีต่อลูกหลานของตัวเองต่อไป

 

“ในโลกเราเนี่ยนะลูก มีคนหลากหลายเพศเต็มไปหมดเลย ไม่ใช่แค่ผู้ชายกับผู้หญิงนะลูก แต่ทุกคนเนี่ยเป็นคนธรรมดาเหมือนๆ กันหมดเลย บางวันก็หงุดหงิด บางวันก็ใจดี แต่เพศเนี่ยไม่ได้เกี่ยวกับการที่ใครคนใดคนหนึ่งจะเป็นคนดีหรือไม่ดีเลยนะลูก

 

“คำว่าตุ๊ดไม่ใช่คำหยาบ ถ้าใจเราไม่ได้เหยียด”

 


 

Pride Month ซีรีส์ ภาพยนตร์

 

แม้ว่า สตรีเหล็ก จะถูกจัดอยู่ในภาพยนตร์ประเภทคอเมดี้ที่ชวนมอบเสียงหัวเราะให้แก่คนดู แต่หากมองลึกลงไปตลอดเกือบสองชั่วโมง นอกจากเราจะเห็นถึงความตลกร้ายและความน่าเศร้าของคนบางประเภทในยุคสมัยนั้นในแง่ของทัศนคติที่มีต่อกลุ่มคนหลากหลายทางเพศแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังนำเสนอให้เราเห็นถึงสิ่งที่กลุ่ม LGBTQIA+ ต้องเผชิญมาตลอดอย่างยาวนาน ถึงแม้จะเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ทั้งข้อจำกัดในอาชีพ การเหยียดเพศ รวมถึงการคุกคามทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นทางคำพูดหรือการกระทำ 

 

หนึ่งในฉากที่สะท้อนภาพให้เราเห็นถึง ‘การกดทับความเท่าเทียม’ ของมนุษย์และ ‘ความคิดที่ปิดตาย’ กับการยอมรับความแตกต่างต่อกลุ่ม LGBTQIA+ คือเหตุการณ์ที่กรรมการการแข่งขันวอลเลย์บอลต้องการตัดสิทธิทีมสตรีเหล็กในการแข่งขันวอลเลย์บอลรอบสุดท้าย เพียงเพราะตนเองมีความคิด ‘ปิตาธิปไตย’ และต่อต้านกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ 

 

จากประเด็นดังกล่าวไม่เพียงแต่สะท้อนให้เราเห็นถึง ‘ความคิดที่ปิดตาย’ ของมนุษย์บางกลุ่มเท่านั้น แต่ยังทำให้เราเห็นถึงการไม่เคารพคุณค่าและความสามารถของแต่ละบุคคล รวมถึงเกิดการตั้งคำถามว่า ทำไมกลุ่ม LGBTQIA+ ยังคงเป็นกลุ่มที่ต้องพิสูจน์ตัวเองมากกว่าชายและหญิง ไม่ว่าจะเป็น 20 ปีที่แล้วหรือในปัจจุบัน ทั้งที่พวกเขาเป็นเพียงมนุษย์ธรรมดาทั่วไป และมี ‘คุณค่า’ ความเป็นคนไม่ต่างอะไรกับผู้หญิงและผู้ชาย

 

“ใครหรืออะไรก็ตามที่ไม่เหมือนคุณหรือไม่เหมือนกับที่คุณคิดไว้ ก็หมายความว่าเขาไม่มีคุณค่าความเป็นคนเสมอไปเหรอคะ แต่ฉันว่าลูกทีมฉันน่ะมีคุณค่าความเป็นคนมากกว่าใครบางคนแถวๆ นี้ซะอีก”

 


 

Pride Month ซีรีส์ ภาพยนตร์

 

The Danish Girl (2015) ไม่เพียงแค่หยิบยกประเด็น LGBTQIA+ มาเล่าผ่านยุค 2000 หรือผ่านตัวละครที่เป็นผู้หญิงข้ามเพศเท่านั้น แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้ผู้ชมได้ค่อยๆ เห็น ‘การค้นหาตัวตน’ ของตัวละคร Einar จากสามีอันอบอุ่นของ Gerda Wegener (รับบทโดย Alicia Vikander) สู่ ‘การค้นพบ’ ความต้องการเป็นหญิง จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ในชีวิตคู่ของพวกเขา เพราะเหตุนี้จึงนำพาให้เราเห็นถึง ‘ความรักแบบไม่มีเงื่อนไข’ ของตัวละครทั้งสอง ที่ถึงแม้ทั้งคู่ไม่ได้จบลงด้วยฐานะสามี-ภรรยากันแบบสมบูรณ์ แต่ในฐานะความรักแห่งมิตรภาพยังคงอยู่อย่างสวยงามเสมอ

 

หนึ่งในฉากประทับใจที่สะท้อนให้เห็นถึง ‘ความรัก’ และ ‘ความเข้าใจ’ ในตัวตนและการตัดสินใจของกันและกัน คือเหตุการณ์ที่ Gerda ไปหา Lili ที่โรงพยาบาล ก่อนที่ Lili จะได้รับการผ่าตัดแปลงเพศครั้งที่สอง โดยก่อนหน้านี้พวกเขาทั้งคู่มีปากเสียงกันเนื่องจาก Gerda ไม่เห็นด้วยที่ Lili จะต้องเสี่ยงชีวิตในการผ่าตัดอีกครั้ง แต่สุดท้ายการตัดสินใจครั้งใหญ่ครั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับ Lili ไม่ใช่ใครอื่น

 

ประเด็นดังกล่าวจึงสะท้อนภาพให้ผู้ชมได้เห็นความรักอันสวยงามในความสัมพันธ์ของทั้งคู่ นั่นคือการ ‘ยอมรับ’ ความเป็นตัวตน และการใช้ ‘ความเข้าใจ’ เพื่อลดทอนความรู้สึกเสียใจหรือความโกรธ เพราะนั่นคือ ‘หัวใจหลัก’ ของคนที่กำลังต้องการใครสักคนมาเข้าใจเขา ในวันที่เขารู้สึกแตกต่างและโดดเดี่ยว 

 

THE STANDARD POP หวังว่าทุกคนจะมี ‘เธอ’ คนนั้นเป็นของตัวเอง และเป็น ‘เธอ’ คนนั้นให้ผู้อื่นเช่นกัน

 

“เธอได้ยินเสียงหัวใจฉัน ในขณะที่ไม่มีใครได้ยิน”

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising