×

นายกฯ แสดงวิสัยทัศน์เศรษฐกิจในการประชุม G20 ยกโมเดลความร่วมมืออาเซียนแก้ปัญหาเศรษฐกิจโลก

โดย THE STANDARD TEAM
28.06.2019
  • LOADING...

วันนี้ (28 มิ.ย.) เวลา 12.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นนครโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ณ ห้องประชุมเต็มคณะ (Plenary Room) ชั้น 1 อาคาร 6 ศูนย์ประชุมอินเท็กซ์ โอซาก้า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมผู้นำกลุ่ม G20 ช่วงแรกในหัวข้อ ‘เศรษฐกิจโลก การค้าและการลงทุน’

 

 

นายกรัฐมนตรีได้แลกเปลี่ยนมุมมองว่าภายหลังจากที่ไทยได้เป็นประธานการประชุมสุดยอดอาเซียน พบว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกประสบกับความไม่แน่นอน เหตุมาจากปัจจัยหลักคือการขาดความเชื่อมั่นต่อระบบการค้าพหุพาคี นำไปสู่ความตึงเครียดทางการค้า ทำให้ระบบเศรษฐกิจโลกมีความเปราะบางและกระทบต่อบรรยากาศของความร่วมมือระหว่างประเทศที่สร้างสรรค์ 

 

โดยนายกรัฐมนตรีเห็นว่า แนวทางการแก้ไขสอดคล้องกับหัวข้อวาระการเป็นประธานอาเซียนของไทยคือ ‘ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน’ (Advancing Partnership for Sustainability) โดยทุกประเทศควรมองผลประโยชน์ร่วมกันในระยะยาว และร่วมมือกันสร้างระบบเศรษฐกิจที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมและยั่งยืน ทั้งนี้ผู้นำอาเซียนได้รับรองเอกสารสำคัญที่ระบุถึงแนวทางความร่วมมือในอาเซียนกับหุ้นส่วนภายนอก 2 ฉบับ ได้แก่ วิสัยทัศน์ผู้นำอาเซียนว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความยั่งยืน และมุมมองอาเซียนต่ออินโดแปซิฟิก ซึ่งย้ำถึงการส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพ การพัฒนาและก้าวไปด้วยกัน โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง 

 

โดยนายกรัฐมนตรีเสนอแนวทางความร่วมมือระหว่างกันดังนี้

 

 

ประการแรก ย้ำหลักการเปิดเสรีทางการค้าและการรวมตัวทางเศรษฐกิจ เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของโลก อาเซียนมีการรวมตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ไทยมุ่งมั่นให้การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP บรรลุผลภายในปีนี้ หวังว่า RCEP จะเป็นเขตการค้าเสรีที่ประกอบด้วยทั้งสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่เจรจาที่ครอบคลุมร้อยละ 31.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของโลก 

 

ประการที่สอง เสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบการค้าพหุภาคี และพัฒนาความร่วมมือเพื่อส่งผลปฏิรูปไปยังองค์การ WTO ให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเป็นธรรม เพื่อให้สอดคล้องกับประเด็นการค้ายุคใหม่ เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

 

ประการที่สาม สร้างความสอดคล้อง (Synergy) ระหว่างประเทศ ภูมิภาค และกรอบความร่วมมือ ทั่วโลก ผ่านการส่งเสริมความเชื่อมโยงทุกระดับ โดยในระดับอาเซียน ไทยผลักดันแนวคิดความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ (Seamless ASEAN) และขยายแนวคิด ‘Connecting the Connectivities’ เพื่อเชื่อมโยงกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาคต่างๆ เช่น ACMECS ASEAN BIMSTEC ACD และ IORA เป็นต้น  

 

 

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีเสนอการสนับสนุนความร่วมมือระหว่างหุ้นส่วนต่างๆ โดยเฉพาะกับภาคธุรกิจ เพื่อผลักดันแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน อาทิ การลดความเหลื่อมล้ำ การรับมือกับเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก สังคมผู้สูงอายุ การอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางธรรมชาติ ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่อาเซียนกำลังจัดตั้งที่ประเทศไทยในปี 2562 นี้

 

ในช่วงบ่าย ซึ่งเป็นการประชุมช่วงที่ 2 ในหัวข้อเรื่องนวัตกรรม (เศรษฐกิจดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์) นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมเพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้นำ G20 ซึ่งให้ความสำคัญกับการสร้างสังคมแห่งอนาคตที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง การไหลเวียนข้อมูลอย่างเสรีด้วยความเชื่อมั่น และปัญญาประดิษฐ์ที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง

 

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

...
X
...
Close Advertising