×

ปราโบโว ซูเบียนโต ประธานาธิบดีอินโดนีเซียคนใหม่ กับโจทย์ใหญ่คือ ดันประเทศให้เป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจโลก

16.02.2024
  • LOADING...
Prabowo Subianto

ถือเป็นหนึ่งในการเลือกตั้งที่ได้รับความสนใจจากประชาคมโลกไม่น้อย สำหรับการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของอินโดนีเซีย แม้ผลยังคงไม่สรุปอย่างเป็นทางการ แต่คะแนนเสียงที่คว้ามาได้มากกว่าครึ่ง เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า นายพลปราโบโว ซูเบียนโต ผู้นำผู้สร้างภาพลักษณ์ทหารเป็นคุณลุงใจดีวัย 72 ปี ในนามพรรค Gerinda คว้าเก้าอี้ผู้นำประเทศคนใหม่ของอินโดนีเซียต่อจาก โจโก วิโดโด เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

หากพูดถึงประเทศอินโดนีเซีย ถือเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอาเซียน มีอัตราการเติบโตรวดเร็ว GDP Growth สูงถึง 5.4% ด้วยจำนวนประชากร 272 ล้านคน เรียกได้ว่ามากที่สุดเป็นอันดับที่ 4 ของโลก  

 

น่าสนใจว่า ราว 60% อยู่ในวัยแรงงานและมีอายุเฉลี่ยเพียงแค่ 31 ปีเท่านั้น รายได้ต่อหัวบวกกับอัตราการบริโภคภายในประเทศก็มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง 

 

แม้แต่ IMF ยังคาดการณ์ว่า ภายในปี 2050 อินโดนีเซียจะเติบโตขึ้นมาเป็นหนึ่งในมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก โดยมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกรองจากจีน สหรัฐอเมริกา และอินเดีย อีกด้วย

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 


 

ปราโบโว ซูเบียนโต คือใคร

 

ก่อนที่จะมีพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในเดือนตุลาคม THE STANDARD WEALTH พาไปทำความรู้จัก ปราโบโว ซูเบียนโต และทิศทางนโยบายเศรษฐกิจ การเมืองกัน 

 

หากพูดถึงประวัติให้เข้าใจง่ายๆ ปราโบโว ซูเบียนโต เติบโตขึ้นมาจากสายทหาร และเข้าสู่เส้นทางการเมืองจากการเป็นลูกเขยของอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โต อดีตผู้นำเผด็จการ โดยเจ้าตัวเป็นอดีตนายพลผู้นำกองกำลังอินโดนีเซียบุกยึดติมอร์ตะวันออก จนโดนแบล็กลิสต์ห้ามเข้าสหรัฐฯ จนถึงปี 2020 

 

กิบรัน รากาบูมิง รากา วัย 36 ปี นายกเทศมนตรีเมืองซูราการ์ตา ว่าที่รองประธานาธิบดีคนต่อไป เขาเป็นบุตรชายคนโตของ โจโก วิโดโด ดังนั้นชัยชนะครั้งนี้อาจมีนัยว่า เขาพยายามรักษาอิทธิพลทางการเมืองของผู้เป็นพ่อเอาไว้

 

ขณะที่ตำแหน่งล่าสุดก่อนจะคว้าชัยในการเลือกตั้งครั้งนี้คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของรัฐบาลประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ทำให้ภาคส่วนธุรกิจและนักลงทุนค่อนข้างกังวลต่อแนวโน้มทิศทางนโยบายเศรษฐกิจของเศรษฐกิจนับต่อจากนี้ 

 

ผู้นำเศรษฐกิจภูมิภาคมูลค่าล้านล้านดอลลาร์

 

แต่ในช่วงหาเสียงซูเบียนโตย้ำชัดเจนว่า จะยังคงสานต่อนโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโจโกวี ซึ่งสิ่งที่ภาคธุรกิจตั้งคำถามก็คือ 

 

“ว่าที่ผู้นำคนใหม่ของอินโดนีเซียจะปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ว่าจะดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของ โจโก วิโดโด ต่อไปหรือไม่”

 

ซูเบียนโตบอกเสมอว่า แนวนโยบายเศรษฐกิจจะเดินหน้าด้วยการเป็นมิตรต่อภาคธุรกิจ และเอื้อให้เกิดการเติบโตในระบบเศรษฐกิจที่มีมูลค่าล้านล้านดอลลาร์

 

นักลงทุนกังวลว่า ซูเบียนโตจะสานต่อนโยบายเศรษฐกิจ ท่ามกลางความกดดันที่อินโดนีเซียมีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 5 ปี

 

กระตุ้น GDP อินโดนีเซียเติบโตต่อเนื่อง

 

โดยจะเห็นได้ว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจโกวีได้รับความนิยมอย่างมากจากผลงานด้านเศรษฐกิจที่ทำให้ GDP ของอินโดนีเซียเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีเสถียรภาพ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อขยับขึ้นเพียงเล็กน้อย และมีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงเวลาดังกล่าว 

 

มาร์ก ออสต์วอลด์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และนักกลยุทธ์ระดับโลกของ ADM Investor Services Int กล่าวว่า ตอนนี้ความสนใจหลักก็คือ ผู้ที่ซูเบียนโตจะแต่งตั้งเข้ามาอยู่ในคณะรัฐมนตรี ซึ่งนักลงทุนหวังว่าจะได้เห็นการแต่งตั้งบรรดาเทคโนแครตมากประสบการณ์ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ

 

ส่องมุมมองนักเศรษฐศาสตร์ 

 

ขณะที่ กาเรธ เลเธอร์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสเอเชียจาก Capital Economics กล่าวว่า อย่างน้อยที่สุดจนถึงขณะนี้ จุดยืนของซูเบียนโตที่ภาคเศรษฐกิจค่อนข้างสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติในระดับหนึ่ง 

 

แต่นอกเหนือจากการให้คำมั่นที่จะสานต่อนโยบายที่เป็นมิตรต่อธุรกิจของโจโกวีแล้ว ซูเบียนโตยังแทบไม่ได้พูดอะไรเกี่ยวกับแผนงานด้านเศรษฐกิจเลย ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจค่อนข้างรอลุ้นด้วยความคาดหวังระคนความกังวล

 

ไม่ว่าจะเป็นการอุดช่องโหว่ในการเก็บภาษี การปฏิรูปรายได้ของภาครัฐ การยกระดับผลลัพธ์ด้านสุขภาพและการศึกษา ไปจนถึงการสร้างโอกาสในการทำงานให้กับผู้หญิงและผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ ซึ่งแต่ละเรื่องล้วนต้องใช้งบประมาณในการขับเคลื่อนอย่างมหาศาล 

 

ลดเงินอุดหนุนด้านพลังงาน

 

โดยล่าสุดมีรายงานว่า ซูเบียนโตเพิ่งจะประกาศปรับลดเงินอุดหนุนด้านพลังงาน เพื่อนำมาใช้จ่ายในด้านต่างๆ ตามที่ให้คำมั่นสัญญาไว้ระหว่างการหาเสียง โดยระบุอีกว่า หลังจากที่เข้ารับตำแหน่งในเดือนตุลาคม รัฐบาลอาจปรับแก้ไขเงินอุดหนุนด้านพลังงานในช่วง 2-3 เดือนหลังจากนั้น พร้อมเสริมว่า งบประมาณจำนวน 350 ล้านล้านรูเปียห์ที่รัฐบาลจัดสรรไว้สำหรับการอุดหนุนด้านน้ำมันดีเซลและก๊าซหุงต้มนั้น 80% ของผู้ได้รับประโยชน์คือ ประชาชนชาวอินโดนีเซียผู้มีรายได้ปานกลางและรายได้สูง แทนที่จะเป็นผู้มีรายได้น้อย

 

ซูเบียนโตมักจะปรากฏตัวพร้อมกับกิบรัน รากาบูมิง ในช่วงหาเสียง เพื่อแสดงให้เห็นชัดเจนถึงภาพลักษณ์ของคุณลุงใจดีในการสื่อสารกับคนรุ่นใหม่)

 

“โดยเฉพาะการยึดภาพลักษณ์ของคุณลุงใจดี แทนที่จะเป็นชายชาติทหารรักชาติผู้แข็งแกร่ง ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากบรรดาคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่”

 

ภาพลักษณ์ของคุณลุงใจดี เอาใจคนรุ่นใหม่และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 

 

ขณะเดียวกันด้านจุดยืนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซูเบียนโตแสดงตัวให้เห็นชัดเจนในช่วงเดินสายหาเสียง

 

“โดยเฉพาะการยึดภาพลักษณ์ของคุณลุงใจดี แทนที่จะเป็นชายชาติทหารรักชาติผู้แข็งแกร่ง ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากบรรดาคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่”

 

โดยซูเบียนโตยืนยันถึงสถานะความเป็นกลางที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดของอินโดนีเซีย แต่ก็พร้อมที่จะมีบทบาทและมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาบนเวทีระดับโลก ซึ่งรวมถึงกรณีล่าสุดที่เจ้าตัวเสนอเป็นตัวกลางสร้างสันติภาพในสงครามรัสเซีย-ยูเครน 

 

แม้ว่าจะเต็มไปด้วยเจตนาที่ดี แต่นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งก็มองว่า ข้อเสนอดังกล่าวอาจทำให้ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์เป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยากมากขึ้น กระนั้นด้วยสไตล์การปกครองที่มาจากสายทหารบวกกับความตรงไปตรงมา อาจช่วยให้ซูเบียนโตพูดคุยกับ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย และ โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้ง่ายขึ้น 

 

จับตานโยบาย EV 

 

นอกจากนี้สิ่งที่ทั่วโลกจับตาในการเลือกตั้งของอินโดนีเซียครั้งนี้ต่างก็ตั้งคำถามว่า การที่อินโดนีเซียมุ่งผลักดันประเทศเป็นศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้า (EV) จะเป็นอย่างไรต่อไป

 

อุตสาหกรรมนี้จะทำให้เกิดการสร้างงานใหม่ สร้างรายได้ บรรเทาปัญหาความยากจนก็จริง แต่สิ่งที่ทุกคนกังวลก็คือ อุตสาหกรรมใหม่ที่เกิดขึ้นและการถลุงแร่อาจสร้างความเสียหายด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งวันนี้และในอนาคต

 

“อุตสาหกรรม EV จะเป็นการบ้านของรัฐบาลใหม่ที่จะสร้างสมดุลระหว่างการลงทุนกับการสร้างงานใหม่ให้ประชาชน อย่างไรก็ตาม หากยังต้องรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญสู่ความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและสร้างความเท่าเทียมในระยะยาว”

 

ส่องแนวคิดหนุ่มสาวอินโดนีเซีย 

 

เพราะหากมองในแง่ประชากร ในวันนี้คนหนุ่มสาว Gen Z และ Millennials หรือเป็นกลุ่มที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี คิดเป็นประมาณมากกว่าครึ่งถึง 56% ของประชากรที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงทั้งหมด ต่างคาดหวังเรื่องของปากท้องและเศรษฐกิจไปที่สวัสดิการสังคมและการว่างงานเป็นประเด็นอันดับต้นๆ 

 

 

สะท้อนจากศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์และการศึกษานานาชาติในกรุงจาการ์ตาสำรวจพบว่า การเลือกตั้งครั้งนี้หนุ่มสาวชาวอินโดนีเซียคาดหวังว่า ผู้นำจะเข้ามาดูแลเรื่องการว่างงานและขจัดความยากจน 

 

หลังจากนี้ต้องติดตามภารกิจผู้นำประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทุกมิติ โดยเฉพาะการผลักดันการกระตุ้นการลงทุนแบตเตอรี่และอุตสาหกรรม EV เพื่อการส่งออก ในฐานะเพื่อนบ้านและคู่แข่งของไทย ซึ่งอินโดนีเซียมีจุดแข็งที่เป็นประเทศที่มีเหมืองแร่นิกเกิล การแก้ไขปัญหาการว่างงาน รวมไปถึงการรักษาเสถียรภาพของค่าเงินและกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจท่ามกลางเศรษฐกิจโลกจะเป็นอย่างไรต่อไป  

 

ภาพ: Ulet Ifansasti / Getty Image, BamBamImages / Getty Images, Oscar Siagian / Getty Image

อ้างอิง:  

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising