×

เรื่องราวสำคัญของพระสันตะปาปากิตติคุณเบเนดิกต์ที่ 16 ผู้ปูทางสู่การปฏิรูปศาสนจักรของพระสันตะปาปาฟรานซิส

04.01.2023
  • LOADING...
พระสันตะปาปากิตติคุณเบเนดิกต์

ในช่วงเช้าของวันที่ผู้คนทั่วโลกต่างเตรียมเฉลิมฉลองวันสุดท้ายของปี พระสันตะปาปากิตติคุณ (อดีตสันตะปาปา) เบเนดิกต์ที่ 16 (Benedict XVI) ได้จากไปอย่างสงบ ด้วยวัย 95 ปี โดยพิธีปลงพระศพจะจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 5 มกราคม 2023 ทั้งนี้ ในระหว่างที่พระองค์ดำรงตำแหน่งเป็นพระสันตะปาปาเป็นเวลากว่า 7 ปี พระองค์ได้เปิดทางแก่ศาสนจักรคาทอลิก เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปศาสนจักรในสมัยพระสันตะปาปาฟรานซิส ผู้นำศาสนจักรคาทอลิกในปัจจุบัน

 

“ข้าพเจ้าขอประกาศสละตำแหน่งจากการเป็นบิชอปแห่งโรม ผู้สืบตำแหน่งต่อจากนักบุญเปโตร ซึ่งข้าพเจ้าได้รับมอบหมายโดยบรรดาพระคาร์ดินัลในวันที่ 19 เมษายน 2005” การประกาศลาออกของพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ต่อหน้าเหล่าพระคาร์ดินัลในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2013 สร้างความประหลาดใจให้กับคณะพระคาร์ดินัลเองและโลกตะวันตก เพราะไม่เพียงแต่จะเป็นการลาออกครั้งแรกของพระสันตะปาปาในรอบ 700 กว่าปี หลังจากสันตะปาปาเซเลสตินที่ 5 (Celestine V) แต่ยังเป็นการลาออกที่ไม่มีการส่งสัญญาณล่วงหน้ามาก่อน โดยวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2013 เป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ของวาติกัน และทุกคนต่างเข้าใจว่าพระสันตะปาปาเรียกประชุมเหล่าพระคาร์ดินัลในวันดังกล่าวเพื่อสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับการแต่งตั้งนักบุญองค์ใหม่

 

ยุวฮิตเลอร์ในวัยเด็ก สู่นักเทววิทยาแนวหน้าชาวเยอรมัน 

ก่อนที่จะดำรงตำแหน่งเป็นพระสันตะปาปาในปี 2003 พระสันตะปาปากิตติคุณเบเนดิกต์ที่ 16 เดิมชื่อ โยเซฟ อาลอยซิอุส รัตซิงเกอร์ (Joseph Aloysius Ratzinger) หรือที่รู้จักในนาม โยเซฟ รัตซิงเกอร์ เกิดเมื่อวันที่ 16 เมษายน 1927 ในแคว้นบาวาเรีย ประเทศเยอรมนี จากครอบครัวที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก และเหมือนกับเยาวชนชาวเยอรมันทุกคน พระสันตะปาปากิตติคุณเบเนดิกต์ที่ 16 เคยเข้าร่วมยุวชนฮิตเลอร์ตามข้อบังคับของรัฐในสมัยนั้น อย่างไรก็ตาม ครอบครัวรัตซิงเกอร์ไม่เห็นด้วยกับระบอบนาซีซึ่งเบียดเบียนศาสนาต่างๆ และมีความแนวคิด ‘ขัดแย้งกับความเชื่อ’ อันเห็นได้จากสมณสาสน์ มิต เบรนเนนเดอร์ ซอร์เกอ (Mit Brennender Sorge) ที่ถูกระบอบนาซีสั่งห้ามเผยแพร่ในเยอรมนี

 

ด้วยความสามารถทางวิชาการ โยเซฟ รัตซิงเกอร์ ได้รับมอบหมายให้ไปเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย เพื่อสอนเทววิทยา (วิชา [ที่ถกเถียง] ว่าด้วยพระเจ้า) และยังได้รับเลือกให้เป็นที่ปรึกษาด้านเทววิทยา (Peritus) ของพระคาร์ดินัลโจเซฟ ฟริงส์ (Joseph Frings) อาร์ชบิชอปแห่งโคโลญจน์ ในระหว่างการสังคายนาวาติกันที่ 2 (Vatican II) ปี 1962-1965 โดยการสังคายนาครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อ ‘อัปเดต’ ศาสนจักรให้ทันโลก ทันยุค และสามารถเข้ากับสังคมสมัยใหม่ (Aggiornamento) นอกจากนี้ โยเซฟ รัตซิงเกอร์ ยังมีส่วนสำคัญในการร่างธรรมนูญลูเมน เจนซีอุม (Lumen Gentium) อันเป็นแกนหลักสำคัญที่ปรับโฉมศาสนจักรคาทอลิกแบบพีระมิดให้เป็นศาสนจักรที่รับฟังและเปิดกว้าง โดยทุกคนในศาสนจักรมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นพระคาร์ดินัล บิชอป บาทหลวง หรือฆราวาส

 

โดยส่วนตัวแล้ว โยเซฟ รัตซิงเกอร์ เห็นว่าควรให้มีการกระจายอำนาจในศาสนจักรคาทอลิก การตัดสินใจต่างๆ ไม่ควรจะขึ้นอยู่กับโรม/วาติกันเพียงอย่างเดียว แต่ควรรับฟังความคิดเห็นจากบิชอปซึ่งเป็นตัวแทนจากศาสนจักรคาทอลิกในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกอีกด้วย อย่างไรก็ดี ปรากฏการณ์พฤษภาคม 1968 ซึ่งก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในโลกตะวันตกและศาสนจักร เช่น การต่อต้านฝ่ายอำนาจรัฐ และการปลดแอกจากคุณค่าทางศีลธรรมแบบสุดโต่ง ได้ส่งผลให้โยเซฟ รัตซิงเกอร์ หันไปเน้นเรื่องทางจิตวิญญาณในงานเขียนเทววิทยาของตน ซึ่งงานเขียนของโยเซฟ รัตซิงเกอร์นั้น แม้ว่าจะยึดแนวคิดทางปรัญชา/เทววิทยาของยุโรปเป็นศูนย์กลางก็ตาม จัดว่าเป็นแหล่งอ้างอิงสำคัญในแวดวงวิชาการทางเทววิทยาในยุคสมัยใหม่ 

 

ความท้าทายของศาสนจักรในสมัยของพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16: ‘เผด็จการสัมพัทธนิยม’ (Dictatorship of Relativism) 

เมื่อ โยเซฟ รัตซิงเกอร์ ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเป็นพระสันตะปาปาในปี 2005 พระองค์เลือกใช้ชื่อ เบเนดิกต์ที่ 16 เพื่อระลึกถึงพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 15 ซึ่งเป็นผู้นำศาสนจักรคาทอลิกในช่วงสงครามโลกครั้งหนึ่ง อีกทั้งระลึกถึงนักบุญเบเนดิกต์แห่งเนอร์เซีย (Benedict of Nursia) ซึ่งเป็นองค์อุปถัมภ์ของทวีปยุโรป และผู้ก่อตั้งคณะนักบวชเบเนดิกติน (Benedictines) 

 

ในระหว่างการสัมภาษณ์กับสำนักข่าว EWTN มงซินญอร์ จอร์จ แก๊งซ์ไวน์ (Georg Gänswein) เลขาส่วนตัวของพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 กล่าวว่า “ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือ แนวคิดสัมพัทธนิยม (Relativism)” ซึ่งแนวคิดสัมพัทธนิยมนั้นหมายถึง แนวคิดที่เชื่อว่าความจริงเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาและสถานที่ และความจริงต่างๆ มีค่าเท่ากัน (ความจริงในที่นี้หมายถึง ความเชื่อที่ผู้เชื่อเห็นเป็นข้อเท็จจริง)

 

โดยก่อนจะมีการเลือกตั้งพระสันตะปาปา สันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ได้กล่าวว่า “พวกเราสร้างเผด็จการสัมพัทธนิยม ซึ่งมองว่าทุกอย่างไม่ตายตัวแน่นอน โดยความคิดของตน และความต้องการของตนคือเป้าหมายสูงสุด” สำหรับพระสันตะปาปกิตติคุณเบเนดิกต์ที่ 16 แนวคิดสัมพัทธนิยมนำไปสู่สังคมแบบปัจเจกนิยม (Individualism) ยิ่งไปกว่านั้นเผด็จการสัมพัทธนิยมบังคับให้ผู้คนไม่สามารถสนับสนุน พูดถึง แบ่งปัน สิ่งที่ตนเชื่อและยึดถือซึ่งมองเป็นสิ่งที่ดีสำหรับตน (ความจริง) แก่คนอื่นๆ แนวคิดสัมพัทธนิยมมองว่า การพูดสนับสนุนสิ่งที่เชื่อว่าเป็นความจริง (ทางจิตวิญญาณและทางศีลธรรม) เป็นการไม่เคารพคนอื่นที่อาจเชื่อแตกต่างกัน เช่น ในประเทศฝรั่งเศส การพูดถึงเรื่องศาสนาหรือความเชื่อทางจิตวิญญาณที่ตนเชื่อถือเป็นเรื่องที่ทุกคนต่างหลีกเลี่ยง 

 

ความพยายามในการประสานรอยร้าวภายในและภายนอกศาสนจักรคาทอลิก

ด้วยความหวังที่จะสมานรอยร้าวที่เกิดขึ้นหลังจากการสังคายนาวาติกันที่ 2 พระสันตะปาปากิตติคุณเบเนดิกต์ที่ 16 เมื่อยังดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปาอยู่นั้น ได้ยกเลิกคำสั่งการตัดขาดจากพระศาสนจักรที่เคยประกาศให้แก่บิชอปซึ่งแต่งตั้งอย่างไม่ถูกต้องโดยกลุ่มเลอแฟบริสต์ (Lefebvrists) หรือสมาคมนักบุญปิอุสที่ 10 (Society of Saint Pius X) ซึ่งกลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มอนุรักษนิยมสุดโต่งที่ต่อต้านการสังคายนาวาติกันที่ 2 และต้องการรักษาโครงสร้างศาสนจักรแบบพีระมิด รวมทั้งคำสอนและพิธีกรรมแบบในยุคกลาง นอกจากนี้พระองค์ยังอนุญาตให้มีการจัดพิธีมิสซาแบบก่อนการสังคายนาวาติกันที่ 2* กล่าวคือ พิธีกรรมเป็นภาษาละติน และผู้ทำพิธีหันหลังให้ผู้ร่วมพิธี ทว่าความพยายามต่างๆ ในการปรองดองกับกลุ่มเลอแฟบริสต์ของพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ทั้งหมดนั้นประสบกับความล้มเหลว 

 

ในปี 2009 พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ได้ออกกฎหมาย (Anglicanorum Coetibus) เพื่อรองรับผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายแองกลิกัน (ซึ่งแยกตัวออกจากศาสนจักรในกรุงโรม ในสมัยกษัตริย์เฮนรีที่ 8) ที่รู้สึกผิดหวังจากนิกายของตน และต้องการเป็นส่วนหนึ่งของศาสนจักรโรมันคาทอลิก กฎหมายดังกล่าวอนุญาตให้ผู้ที่เคยนับถือศาสนาคริสต์นิกายแองกลิกันซึ่งย้ายนิกายมาเป็นคาทอลิกสามารถถือ ‘ประเพณีทางพิธีกรรม จิตวิญญาณ และงานอภิบาลของแองกลิกัน’ ดังนั้นเหล่าบิชอปในศาสนาคริสต์นิกายแองกลิกัน ซึ่งแต่งงานมีครอบครัวแล้ว สามารถย้ายนิกายมาเป็นคาทอลิก และเป็นบาทหลวงในศาสนจักรโรมันคาทอลิกได้ 

 

เหตุการณ์ครหาที่เกิดขึ้นในระหว่างการดำรงตำแหน่งของพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 

ในปี 2006 การบรรยายเรื่องเหตุผลและความเชื่อของพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ณ มหาวิทยาลัยราติสบอนน์ (Ratisbonne) ได้สร้างความไม่พอใจในโลกมุสลิม โดยข้อความบางส่วนในการบรรยายได้ถูกตีความอย่างไม่ถูกต้อง ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าสันตะปาปาได้ตำหนิศาสนาอิสลาม เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างวาติกันและประเทศมุสลิมไม่สู้ดีนัก โดยต่อมาพระองค์ได้แต่งตั้งคาร์ดินัล ฌอง-หลุยส์ โตรอง (Jean-Louis Tauran) ซึ่งมีประสบการณ์ในภารกิจการทูตมากมาย ให้ดำรงตำแหน่งเป็นสมณมนตรี (เทียบเท่ารัฐมนตรี) ประจำสมณกระทรวงเพื่อการเสวนาระหว่างศาสนา ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างวาติกันและประเทศมุสลิมค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับหลังจากนั้น

 

ในปี 2012 เอกสารลับจำนวนมากได้รั่วไหลออกจากวาติกัน (กรณี Vatileaks) ซึ่งเผยให้เห็นการคอร์รัปชันของบาทหลวงชั้นผู้ใหญ่ การแบ่งพรรคแบ่งพวกภายในโรมันคูเรีย (Roman Curia – เทียบได้กับรัฐบาลกลางของวาติกัน) เอกสารดังกล่าวยังเผยให้เห็นถึงข้อมูลการบริหารและการดำเนินการต่างๆ ของวาติกัน โดยพ่อบ้านของพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ได้แอบขโมยเอกสารลับไปขายต่อให้แก่นักข่าว 

 

ปูทางการปฏิรูปศาสนจักรในสมัยพระสันตะปาปาฟรานซิส

การปฏิรูปศาสนจักรภายใต้การนำของพระสันตะปาปาฟรานซิสในปัจจุบัน เป็นการสานต่องานจากพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความโปร่งใสด้านการเงิน การจัดการเรื่องการละเมิดทางเพศ หรือการเพิ่มบทบาทสตรีและฆราวาสในโรมันคูเรีย เป็นต้น 

 

สำหรับเรื่องการเงินวาติกันนั้น พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ได้จัดตั้งหน่วยงานข้อมูลทางการเงิน (Financial Information Authority: A.I.F.) เพื่อปราบปรามการฟอกเงิน และปรับกระบวนการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินของวาติกันให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล 

 

ในส่วนของการละเมิดทางเพศของสมณที่สะสมมากว่าหลายทศวรรษ พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ได้ปรับปรุงกฎหมายศาสนจักรให้สามารถรับมือกับกรณีการละเมิดทางเพศต่างๆ และอุดข้อบกพร่องทางกฎหมายที่พระองค์เคยพบในขณะที่เป็นสมณมนตรีของสมณกระทรวงเพื่อพระสัจธรรม นอกจากนี้พระองค์ยังกำหนดให้ศาสนจักรต้องร่วมมือกับศาลพลเรือนอย่างจริงจังในกรณีการละเมิดทางเพศของสมณะ โดยเรียกร้องให้สังฆราชทุกคนต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานยุติธรรมของรัฐ เนื่องจาก “การละเมิดทางเพศไม่ได้เป็นเพียงแค่ความผิดทางกฎหมายศาสนจักร แต่ยังเป็นอาชญากรรมที่ต้องเข้ากระบวนการยุติธรรมของรัฐ”

 

นอกจากนี้พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ยังเปิดโอกาสให้สตรีเข้ามามีบทบาทในการงานบริหารระดับสูง โดยในปี 2011 พระองค์แต่งตั้งนักบวชหญิง นิโคเลตตา วิตตอเรีย สเปซซาตี (Nicoletta Vittoria Spezzati) ให้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการกรรมการ (เทียบเท่ารองปลัดกระทรวง) ของสมณกระทรวงเพื่อสถาบันชีวิตผู้ถวายตัว และสมาคมแห่งชีวิตธรรมทูต และยังแต่งตั้งให้ฆราวาสหญิง ฟลามิเนีย โจวาเนลลี (Flaminia Giovanelli) เป็นรองเลขาธิการกรรมการสมณะกระทรวงเพื่อความยุติธรรมและสันติ (ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนเป็นสมณกระทรวงเพื่อรับใช้การพัฒนามนุษย์แบบองค์รวม)

 

ทั้งนี้ การสละตำแหน่งของพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 เปิดทางให้ผู้ที่มาดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปาต่อนั้นสามารถลาออกได้เมื่อรู้สึกว่าตนเองนั้น ‘ไม่สามารถบริหารงานที่ได้รับมอบหมายได้อย่างดี’ โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ทำหน้าที่พระสันตะปาปาจนกระทั่งเสียชีวิต (ไม่มีการกำหนดวาระสำหรับตำแหน่งพระสันตะปาปา) 

 

ทั้งนี้ ฟิลิปป์ เลอวิลแลง (Philippe Levillain) นักประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส ซึ่งเชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ศาสนจักรคาทอลิกและสันตะปาปา ให้ความเห็นว่า “จากนี้ต่อไป พระสันตะปาปาสามารถลาออกได้เมื่อรู้สึกว่าตนเองไม่อาจรับมือกับกระแสโลกปัจจุบัน” ซึ่งพระสันตะปาปาฟรานซิสนั้นเคยกล่าวถึงการลาออกของพระองค์ว่ามีความเป็นไปได้

 

พระสันตะปาปากิตติคุณเบเนดิกต์

 

ในความทรงจำ…

ต่างจากภาพยนตร์ The Two Popes ที่เผยให้เห็นภาพลักษณ์ของพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ว่าหยิ่ง ถือตัว และไม่ค่อยเป็นมิตร หลายคนที่เคยสัมผัสกับพระองค์ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าพระสันตะปาปาเบเนดิกต์เป็นคนที่มีอัธยาศัยดี อ่อนโยน และถ่อมตัว ซึ่งมงซินญอร์ แอนดรูว์ วิษณุ ธัญญอนันต์ อดีตรองเลขาธิการกรรมการสมณกระทรวงเพื่อการเสวนาระหว่างศาสนา** ได้แบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัวในระหว่างที่ทำงานในโรมันคูเรียว่า “พระองค์ถ่อมตนมากๆ นิ่มนวลแบบเหลือเชื่อ” อีกทั้งพระองค์เคยถ่ายรูปให้กับนักท่องเที่ยวที่มาขอให้พระองค์ถ่ายรูปให้ (โดยไม่ทราบว่าพระองค์คือใคร) 

 

สำหรับใครหลายคน พระสันตะปาปากิตติคุณเบเนดิกต์ที่ 16 เป็นเหมือนกับคุณปู่คุณตาที่ถ่ายทอดต่อวิชาความรู้ ภูมิปัญญา และประสบการณ์ชีวิต เป็นบุคคลอ้างอิงสำหรับชีวิตทางจิตวิญญาณ

 

สิ่งที่น่าติดตามดูต่อไปคือ พิธีปลงพระศพที่จะมีขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 5 มกราคม 2023 ว่าจะเป็นในรูปแบบใด เพราะไม่มีเอกสารใดที่กล่าวถึงพิธีปลงพระศพสำหรับพระสันตะปาปากิตติคุณ/อดีตพระสันตะปาปา โดยธรรมนูญ อูนิเวร์ซี โดมีนีชี เกรจิส (Universi Dominici Gregis) กำหนดเพียงแค่พิธีปลงพระศพสำหรับพระสันตะปาปาที่สิ้นพระชนม์ในขณะที่ยังดำรงตำแหน่งเท่านั้น โดยพิธีการปลงศพสำหรับพระสันตะปาปากิตติคุณจะจัดไปในรูปแบบที่ ‘เรียบง่าย’

 

ขอบคุณมงซินญอร์ แอนดรูว์ วิษณุ ธัญญอนันต์ สำหรับภาพและประสบการณ์ในโรมันคูเรีย

 

ภาพ: Marco Secchi / Getty Images

อ้างอิง:

FYI

*ในปัจจุบันพระสันตะปาปาฟรานซิสเข้ามาคุมเข้มพิธีมิสซาแบบก่อนการสังคายนาฯ เนื่องจากไม่ได้สร้างความสมานฉันท์ตามจุดประสงค์ที่ตั้งไว้ และการใช้ภาษาละตินทำให้หลายคนคิดว่าพิธีกรรมในภาษาละตินศักดิ์สิทธิ์กว่าภาษาท้องถิ่น

** คาร์ดินัล ฌอง-หลุยส์ โตรอง ดำรงตำแหน่งสมณมนตรีของสมณกระทรวงเพื่อการเสวนาระหว่างศาสนาในขณะนั้น

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising