×

ประสานเสียงค้านยุบพรรค สนับสนุนให้ประชาชนตัดสินสถาบันทางการเมืองที่มาจากประชาชน

28.03.2024
  • LOADING...

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง จัดเสวนาวิชาการ เรื่อง ‘พรรคการเมืองสร้างชาติ’ เมื่อวันพุธที่ 27 มีนาคม 2567 ณ ห้องประชุม แกรนด์ ไดมอนด์ บอลรูม ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี   อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี 

 

วิทยากร ประกอบด้วย 

 

  • ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล
  • ชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย
  • ภราดร ปริศนานันทกุล รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย
  • ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย นักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ

 

ดำเนินรายการโดย วีระ ธีระภัทรานนท์ 

 

ทั้งนี้ แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ไม่ได้เดินทางมาเป็นวิทยากรตามที่ กกต. ประชาสัมพันธ์ไปก่อนหน้านี้ 

 

วีระ ธีระภัทรานนท์ กล่าวว่า ตอนแรกการเสวนาในครั้งนี้จะเป็น 3 หัวหน้าพรรค แต่มี 2 หัวหน้าพรรคติดภารกิจไม่มา จึงเป็น 1 หัวหน้าพรรค กับ 2 รองหัวหน้าพรรค และ 1 นักวิชาการ คุยเรื่องพรรคการเมืองสร้างชาติ แต่ชาติก็สร้างมานานแล้ว จึงมองว่าตอนนี้น่าจะเป็นประเด็นว่าจะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้นได้อย่างไร 

 

วีระกล่าวว่า สำหรับการยุบพรรคการเมืองก่อนหน้านี้จะเป็นเหตุเรื่องซื้อเสียง เรื่องการพูดหาเสียง เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่ควรถูกยุบ แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กรณีที่สำคัญมากๆ ก็น่าจะเป็นการยุบพรรคไทยรักษาชาติก่อนการเลือกตั้ง 2562 อันนั้นมีการอธิบายว่าพรรคมีการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หลังจากนั้นไม่มี ต่อมาก็จะมีกรณีพรรคก้าวไกลที่เป็นคดีเรื่องปฏิปักษ์และการล้มล้าง 

 

ก้าวไกลขอบคุณ กกต. ที่เชิญมาร่วมงาน ทั้งที่ กกต. เสนอให้ยุบพรรค

 

ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า อันดับแรกขอบคุณ กกต. ที่ให้เกียรติเชิญพรรคก้าวไกล ที่ กกต. เองเห็นว่ามีพฤติกรรมล้มล้างการปกครองและเสนอให้ยุบพรรคก้าวไกล ซึ่งหมายความว่าพรรคการเมืองนี้ไม่น่ามีบทบาททำให้การเมืองดีและสร้างชาติ เราถูกมองว่าเป็นพรรคกำลังทำลายชาติและสร้างการเมืองที่ไม่ดี 

 

ชัยธวัชกล่าวว่า กฎกติกามีความสำคัญและมีผลกำหนดพฤติกรรมสถาบันทางการเมืองต่างๆ รวมถึงพรรคการเมืองด้วย ตอนร่างรัฐธรรมนูญ 2560 เขาอาจยังไม่จินตนาการถึงพรรคก้าวไกลแต่คงนึกถึงหน้าคนอื่น ดังนั้น กกต. ควรสนับสนุนการทำวิทยานิพนธ์ดูความคิดทางการเมืองผ่านการออกแบบ พ.ร.ป.พรรคการเมือง รวมถึงกฎระเบียบ กกต. ในแต่ละครั้ง

 

การเมืองดีไม่ได้ ถ้าเราออกแบบกติกาด้วยพื้นฐานการเมืองที่ไม่ไว้ใจประชาชน และพยายามควบคุมอำนาจสถาบันทางการเมืองที่ยึดโยงประชาชนให้อยู่ใต้ “คุณพ่อรู้ดี” รู้ไปหมดว่าการเมืองที่ดีเป็นอย่างไร อันนี้เป็นปัญหาใจกลางสำคัญมากๆ ของการเมืองไทย

 

ชัยธวัชกล่าวว่า ในบันทึกการประชุม พ.ร.ป.พรรคการเมืองล่าสุด มีคนถามในที่ประชุมว่า ถ้ามีคนเสนอนโยบายสังคมนิยมในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ทำได้หรือไม่ เป็นหนึ่งในสิ่งที่แสดงว่ามีเหตุผลที่พยายามจะควบคุมนโยบายพรรคการเมืองให้อยู่ในกรอบแบบที่ทำได้เท่านั้น เป็นตัวอย่างว่า โดยกรอบกติกา และมายด์เซ็ตของผู้มีอำนาจทำให้ไม่สามารถพัฒนาพรรคการเมืองไปสู่การแข่งขันในเชิงความคิดได้จริงๆ 

 

ชัยธวัชเผย เบื้องหลังธงทางการเมืองยุบพรรคอนาคตใหม่ 

 

สำหรับกรณียุบพรรค ชัยธวัชกล่าวว่า เป็นเรื่องไม่ปกติที่กลายเป็นเรื่องปกติไปแล้วในการเมืองไทย แต่ส่วนตัวไม่ได้สนับสนุนให้เป็นแบบนี้ต่อไป สำหรับการยุบพรรคอนาคตใหม่ไม่ใช่เหตุผลเรื่องนโยบาย แต่เป็นเพราะในการเมืองไทยมีธงทางการเมืองแล้วมาหาเหตุยุบพรรคอนาคตใหม่ 

 

หลังการเลือกตั้งปี 2562 ไม่นาน สภายังไม่เปิด มีคนอ้างว่าเป็นคนของผู้มีอำนาจมาบอกว่าชอบพรรคอนาคตใหม่มาก แต่ถ้าอยากให้พรรคอยู่ต่อขออย่างนั้นอย่างนี้ได้ไหม ถ้าไม่ยอมคนนั้นคนนี้จะไม่มีแผ่นดินอยู่ จะติดคุกติดตะราง เปิดสภาแล้วยังมีการพูดกันอีกอย่างไรเขาก็จะไม่ยอมให้ธนาธรเข้าสภา 

 

“ตอนนั้นผมยังคิดไม่ออกเลยว่าเขาจะใช้วิธีไหน สภาก็จะเปิดอยู่แล้ว แต่สุดท้ายเขาก็ทำจนได้ มีคดีถือหุ้นสื่อ ยุบพรรคเรื่องเงินกู้ ผมเรียนตามตรงมีคนของ กกต. บางท่านกระซิบบอกจะไปยุ่งยากอะไร หัวหน้าพรรคท่านมีเงินก็ยัดเงินให้กรรมการบริหาร ไปบริจาคคนละ 10 ล้านก็จบแล้ว สุดท้ายเราคุยกันในกรรมการบริหาร ธนาธรบอกว่าไม่ได้ เราต้องเอาทุกอย่างให้อยู่บนโต๊ะ ในเมื่อระดมทุนไม่ทันจะเลือกตั้งแล้วก็กู้สิ เพราะไปดูรายงานการเงินของทุกพรรคการเมืองที่ผ่านมา มีรายงานหมดว่ายืมเงินกรรมการบริหารพรรค รวมถึงพรรคภูมิใจไทยด้วย พรรคอนาคตใหม่คุยกันว่า การเมืองไทยยิ่งเปิดยิ่งผิด ยิ่งวางบนโต๊ะยิ่งผิด กกต. บางท่านบอกว่ามุดแบบนี้ก็ได้ แต่เราจะอยู่กันแบบนี้เหรอครับ” 

 

ชัยธวัชกล่าวด้วยว่า เรื่องยุบพรรคการเมืองมีใครเชื่อว่าเป็นเรื่องกฎหมายบ้าง ถ้าพรรคไม่ชนะเลือกตั้งเยอะ อาจยังไม่รีบยุบก็ได้ ถ้าเราอยากทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็ง ต้องยืนยันให้พรรคการเมืองเกิดง่าย ตายยาก หรือห้ามยุบ ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการยุบพรรค ส่วนกรณีก้าวไกลถูกหาว่าจะไปล้มล้างระบอบ สิ่งที่เกิดขึ้นดูจะเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานเพื่อรักษาระบอบที่ผู้มีอำนาจจำนวนหนึ่งยึดกุมเอาไว้ ขณะที่ในระบอบประชาธิปไตยคุณค่าที่สำคัญที่สุด หลักที่กฎกติกาควรมุ่งไปคือการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน 

 

เชื่อว่าการยุบพรรคไม่ใช่ทางออกในการแก้ปัญหาการเมือง ต้องมาหาคำตอบในระดับภาพใหญ่ กฎกติกาคิดเห็นไม่ตรงกันได้ แต่ต้องอยู่ร่วมกันได้และเอื้อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สามารถแข่งขันในระบอบอย่างสร้างสรรค์ได้ ไม่ใช่ออกแบบกฎกติกาเพื่อไม่ให้เอากรรมการบริหารพรรคตัวจริงมาอยู่แถวหน้า ออกแบบกฎกติกามาด้วยความคิดที่ว่าจะควบคุมพรรคเพราะคิดว่าพรรคจะทำไม่ดี สุดท้ายไม่แก้ปัญหา แถมสร้างต้นทุนทางการเมืองที่ไม่จำเป็น เพื่อที่จะหลบเลี่ยงกฎกติกาอย่างนี้เป็นต้น ซึ่งที่จริง กกต. น่าจะจัดการสัมมนาใหญ่เพื่อมาเรียนรู้สรุปบทเรียน 

 

สังคมไทยออกแบบกลไกยุบพรรคการเมืองจากประสบการณ์ที่ผ่านมาในการจัดการกับอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง โดยอาศัยใช้อำนาจจากการรัฐประหาร ยุบพรรคการเมืองด้วยประกาศคำสั่งคณะปฏิวัติ ดังนั้น เมื่อสังคมรังเกียจการยึดอำนาจโดยการใช้กำลังโดยตรงแล้ว แต่ยังต้องการกลไกนี้อยู่ ก็มาออกแบบในรัฐธรรมนูญหรือ พ.ร.ป.พรรคการเมือง เป็นการยุบที่มีอารยะในนามกฎหมาย 

 

กลไกการยุบพรรคเป็นมรดกของการเมืองแบบเผด็จการอำนาจนิยมในสังคมไทย คนละฐานคิดกับการยุบพรรคเพื่อปกป้องประชาชนแบบเยอรมนี ประชาชนไม่อยู่ในสมการการยุบพรรคสำหรับสังคมไทยซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ 

 

ถ้าเราเชื่อว่าพรรคการเมืองมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประชาธิปไตย การยุบพรรคควรต้องเลิกได้แล้ว การยุบพรรคเป็นเรื่องใหญ่ เพราะการยุบพรรคเป็นการสั่งประหารชีวิตทางการเมืองของสถาบันทางการเมืองของประชาชน

 

คำถามคือล้มล้างการปกครองและอาจเป็นปฏิปักษ์ที่ใช้อยู่ในไทยตอนนี้มีความชัดเจนหรือไม่ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มี สส. พรรคก้าวไกลเสนอร่างกฎหมาย มี สส. บางท่านไปประกันตัวผู้ถูกกล่าวหามาตรา 112 มี สส. บางท่านไปชุมนุมสนับสนุนข้อเสนอยกเลิกมาตรา 112 สส. บางท่านถูกกล่าวหาคดีมาตรา 112 มีการรวมกรณีเหล่านี้แล้วบอกว่าพรรคก้าวไกลมีพฤติการณ์ต่อเนื่องกัน ดังนั้นมีเจตนาล้มล้างการปกครองเซาะกร่อนบ่อนทำลายเป็นเรื่องยุติธรรมหรือไม่ เอาองค์ประกอบมามัดรวมเป็นผิด 

 

มองว่าเป็นปัญหาความชัดเจนแน่นอนว่า เพียงพอที่จะประหารชีวิตทางการเมืองของพรรคการเมือง ซึ่งเป็นสถาบันทางการเมืองเดียวของประชาชนที่มาจากการเลือกตั้งหรือไม่ 

 

ชัยธวัชกล่าวว่า เรื่องใหญ่ที่สังคมไทยยังไม่ตกผลึก ตั้งแต่หลังพฤษภาทมิฬ 2535 เป็นต้นมา สุดท้ายเรายอมรับว่าเราอยู่กับระบอบทหารไม่ได้ อย่างไรก็ต้องยอมรับการเลือกตั้ง แต่สุดท้ายสังคมไทยยังมีจำนวนหนึ่งที่ไม่เชื่อ หรือไม่ไว้วางใจอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง จึงพยายามออกแบบกฎกติกา ด้านหนึ่งก็ออกแบบให้มี กกต. ปัญหาคือ ถึงจุดหนึ่งเลยเส้นความพอดีในแง่ไปละเมิดหลักการสำคัญหลายอย่างในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งต้องทบทวน และแน่นอนพรรคการเมืองต้องถูกตรวจสอบ แต่กลไกองค์กรตรวจสอบเองจะต้องถูกตรวจสอบโดยใคร 

 

ชัยธวัชกล่าวด้วยว่า กองทุนพัฒนาการเมืองกำหนดว่า พรรคสามารถพิมพ์เอกสารเผยแพร่นโยบายได้ แต่จะใช้งบกองทุนพัฒนาการเมืองในการหาเสียงเลือกตั้งไม่ได้ ซึ่งเป็นกิจกรรมสำคัญของพรรคการเมือง ดังนั้น เป็นเรื่องผิดกฎหมายถ้าพิมพ์เอกสารมีรูปผู้สมัคร สส. มีนโยบาย แล้วติดเบอร์ผู้สมัครไปด้วย เป็นเรื่องผิดใช้เงินกองทุนพัฒนาการเมืองในการหาเสียงไม่ได้ ยกตัวอย่างรายละเอียดซึ่งเป็นเงื่อนไขสำหรับพรรคการเมือง 

 

พรรคเพื่อไทยกับประสบการณ์ถูกยุบมาแล้ว 2 ครั้ง

 

ชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ไม่มีพรรคการเมืองใดตั้งขึ้นเพื่อมาเป็นฝ่ายค้าน เพราะแต่ละพรรคต้องการมาบริหารชาติบ้านเมืองเพื่อประโยชน์ของประชาชน ไม่มีพรรคใดที่ขอค้านไปตลอดชีวิต 

 

สำหรับประเทศไทยเรื่องพรรคอยู่ในรัฐธรรมนูญ โดยบอกว่าต้องไม่ให้คนที่เป็นสมาชิกเข้ามาครอบงำการกระทำของพรรคการเมือง แล้วกฎหมายพรรคการเมืองก็ตราขึ้นโดยมีองค์ประกอบสำคัญล้อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ สร้างข้อจำกัดมากมายสำหรับพรรคการเมือง เช่น ห้ามบุคคลภายนอกเข้ามาครอบงำพรรคการเมือง ถ้าทำก็ยุบพรรคได้ ซึ่งเราก็วิพากษ์วิจารณ์กันในขณะนี้ 

 

แล้วเขียนเหตุยุบพรรคในมาตราต่างๆ เช่น ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งขณะนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่

 

พรรคการเมืองถูกกำกับโดยรัฐธรรมนูญ โดยกฎหมาย ถ้ากฎหมายเกิดขึ้นหลังรัฐประหาร บริบทการควบคุมกำกับพรรคจะค่อนข้างเข้มงวด ทางออกที่ดีที่สุดคือต้องแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยขึ้น 

 

กฎหมายพรรคการเมืองมีครั้งแรกเมื่อปี 2498 ตามรัฐธรรมนูญ 2475 แก้ไขเพิ่มเติม 2495 ใช้ได้ 2 ปี หลังจากนั้นรัฐประหาร แน่นอนของคู่กันของรัฐประหารคือ ยกเลิกกฎหมายพรรคการเมือง ยกเลิกพรรคการเมือง แล้วผู้สมัคร สส. ต้องสังกัดพรรคการเมืองครั้งแรก ปี 2517 หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 หลังจากนั้นก็กระท่อนกระแท่น เดี๋ยวยกเลิกเดี๋ยวบางครั้งให้ผู้สมัคร สส. สามารถลงอิสระได้ ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมืองก็มี 

 

ปัญหาอุปสรรคของพรรคการเมืองประการสำคัญคือ ขาดความต่อเนื่อง เพราะถูกยึดอำนาจ หรือไม่ก็ยุบพรรคการเมือง พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน โดนแล้ว ความต่อเนื่องไม่มี นี่เป็นเรื่องใหญ่ จึงไม่เห็นด้วยที่พรรคจะถูกยุบได้โดยง่าย 

 

นอกจากนั้นบริบทกฎหมายที่มาควบคุมกำกับพรรคการเมืองเป็นเรื่องใหญ่ เช่น นโยบายไหนใช้เงินเท่าไร และต้องวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้นโยบายนี้ กกต. จะมารู้ได้อย่างไรในรายละเอียดเหล่านี้ ดังนั้นมีกฎหมายที่จะต้องสังคายนา และถึงเวลาต้องมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ถึงเวลาที่จะทำให้กฎหมายพรรคการเมืองเป็นประชาธิปไตย และมีความมั่นคงสถาพรมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ 

 

ชูศักดิ์กล่าวว่า เรื่องยุบพรรคขึ้นอยู่กับฐานความคิด ในอดีตที่ผ่านมาผู้ใช้อำนาจปกครองประเทศในขณะนั้นมองพรรคการเมืองเป็นเรื่องความมั่นคงของรัฐ ไม่ได้มองพรรคการเมืองว่าเป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพประชาชน แล้วปล่อยให้พรรคการเมืองนั้นพัฒนาไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย 

 

ครั้งแรกพรรคไทยรักไทยถูกยุบพรรค หลังจากมีการยึดอำนาจการปกครองประเทศปี 2549 แล้วในขณะนั้นไม่มีศาลรัฐธรรมนูญเพราะมีการยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ แต่ตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นมายุบพรรคไทยรักไทย ด้วยข้อหาว่ามีคนอ้างว่าพรรคไทยรักไทยไปจ้างพรรคเล็กให้มาลงเลือกตั้ง เพื่อให้เข้าเงื่อนไขเลือกตั้งขณะนั้น ช่วงนั้นยุบสภาแล้วมีพรรคที่บอยคอตไม่ส่งผู้สมัคร ถ้ามีพรรคเดียวการเลือกตั้งอาจเป็นโมฆะ สุดท้ายศาลตัดสินยุบพรรค

 

ครั้งที่ 2 ยุบพรรคพลังประชาชน ขณะนั้นยุบเพราะมีกรรมการบริหารท่านหนึ่งไปบอกว่าพาคนจากทางเหนือลงมาเที่ยวกรุงเทพฯ ก่อนเลือกตั้ง 2-3 วัน คู่ต่อสู้ไปถ่ายรูปมาตั้งแต่สนามบิน สุดท้ายร้องให้ยุบพรรค คือกฎหมายขณะนั้นบอกว่าถ้ากรรมการบริหารทำให้ถือว่าพรรคทำ แล้วพรรคจึงโดนยุบไปด้วย ครั้งนั้นผมโดนตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี 

 

“ผมคิดว่าบริบทการยุบพรรคในความเห็นผมมันควรจะหมดไปแล้ว ถ้าผู้ใดกระทำผิดก็ให้ผู้นั้นรับผิดชอบไป จะเป็นรับผิดชอบทางอาญาหรือทางอะไร เพราะพรรคการเมืองเป็นนิติบุคคล แยกต่างหาก ที่เป็นปัญหาอยู่ขณะนี้มีเรื่องเดียวคือการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ความเห็นผมใครทำผิดก็ให้คนนั้นเขารับผิดชอบไป สรุปมุมมองของผม เรามองพรรคการเมืองแบบไหน สังเกตให้ดี ฝ่ายยึดอำนาจการปกครองประเทศ หรือรัฐบาลที่ไม่ได้มาโดยประชาธิปไตย เขามองพรรคการเมืองเป็นเรื่องความมั่นคงของรัฐ เขาจึงมีข้อจำกัดต่างๆ ไว้ แล้วส่วนใหญ่ยุบพรรคจะเกิดขึ้นหลังรัฐประหาร หลังมีรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย คือสร้างกลไกขึ้นมาแบบนี้” ชูศักดิ์กล่าว 

 

สำหรับคำถามว่าสมัยก่อนมีกองการเลือกตั้ง กระทรวงมหาดไทย สมัยนั้นมียุบพรรคหรือไม่ ชูศักดิ์กล่าวว่า เข้าใจว่าไม่มี ไม่ได้เขียนไว้ แต่ปัญหาใหญ่ของมหาดไทยขณะนั้นคือ ควบคุมการเลือกตั้ง จนเลือกตั้งใหม่แล้วยังวินิจฉัยไม่เสร็จ มันจึงเป็นที่มาของการให้มี กกต. ให้เป็นองค์กรอิสระแทนกระทรวงมหาดไทย 

 

ชูศักดิ์กล่าวว่า รัฐธรรมนูญที่บอกว่าพรรคการเมืองต้องมีมาตรการไม่ให้บุคคลซึ่งไม่ใช่สมาชิกเข้ามาครอบงำพรรคการเมือง ข้อความนี้สมัยก่อนไม่มี ตอน มีชัย ฤชุพันธุ์ ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา เขามีเจตนากันไม่ให้ผู้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทยคนหนึ่งเข้ามายุ่งกับการเมือง เป็นที่มาของประเด็นนี้ ฉะนั้น รัฐธรรมนูญ 2560 มีอะไรหลายอย่างซ่อนเงื่อน 

 

ภูมิใจไทยมองกติกาเข่นฆ่าพรรคการเมือง

 

ภราดร ปริศนานันทกุล รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาพรรคการเมืองถูกกดทับ ถูกบีบคั้น ถูกทำให้รู้สึกว่าพรรคการเมืองและนักการเมืองเป็นสิ่งชั่วร้าย เป็นสิ่งที่สังคมไม่ปรารถนา จึงออกกติกามาเหมือนพยายามเข่นฆ่านักการเมือง เข่นฆ่าพรรคการเมืองไม่ให้เติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งกติกาการยุบพรรคในรัฐธรรมนูญ 2550 และ 2560 ออกกติกาเรื่องยุบพรรค การอยู่หรือตายของพรรคการเมืองควรขึ้นอยู่กับประชาชน 

 

ภราดรกล่าวว่า อยากเห็นพรรคการเมืองแข่งกันนำเสนอเรื่องนโยบายต่างๆ แต่การเลือกตั้งปี 2562 กับ 2566 พรรคการเมืองแข่งกันว่า คุณพวกใคร เป็นฝั่งเผด็จการหรือประชาธิปไตย ทั้งที่พรรคการเมืองควรแข่งนโยบาย ไม่ควรมีการแบ่งฝ่ายว่าเป็นพรรคฝ่ายเผด็จการ เพราะทุกพรรคมาจากการเลือกตั้ง 

 

หัวใจคือแก้ไขกติกาให้เป็นธรรม เป็นสากล ถ้ารัฐธรรมนูญมาจากเสียงประชาชน ย่อมดีกว่าพรรคการเมืองที่มาจากเผด็จการทั้งรัฐธรรมนูญ 2550 และ 2560 ถ้ากติกาดี พรรคการเมืองดี บนกติกาใหม่ เราไม่ควรต่อสู้บนคำว่า ‘ฝ่ายเผด็จการกับฝ่ายประชาธิปไตย’ แต่ควรต่อสู้กันระหว่าง พรรคแบบคอนเซอร์เวทีฟ พรรคแบบลิเบอรัล พรรคแบบเสรี เราจะทำเศรษฐกิจแบบทุนเสรี ทำเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม นี่คือช่องทางการนำเสนอของพรรคการเมืองต่อประชาชน ให้เขาเลือกนโยบาย ไม่ใช่เลือกระหว่างเผด็จการหรือไม่เผด็จการ ประยุทธ์หรือไม่ประยุทธ์ หรือหาเสียงว่า ‘มีลุงไม่มีเรา’ แคมเปญอะไรแบบนี้ควรมีในการเลือกตั้งหรือไม่

 

สำหรับคำถามว่าภูมิใจไทยกลัวจะถูกยุบพรรคไหม ภราดรกล่าวว่า กติกาที่บิดเบี้ยว มีการสร้างกติกายุบพรรคมาเข่นฆ่านักการเมือง ทำให้นักการเมืองต้องปรับตัว พรรคการเมืองต้องปรับตัว ทำให้รายชื่อกรรมการบริหารพรรคมีจำนวนน้อยกว่าพรรคการเมืองสมัยรัฐธรรมนูญ 2540 อย่างไรก็ตาม ยืนยันกรรมการบริหารพรรคชุดล่าสุดคือตัวจริงทั้งหมดที่กำลังจะมาขับเคลื่อนพรรค

 

สำหรับคำถามที่ว่า หากพรรคการเมืองไม่ควรถูกควบคุมโดยองค์กรอิสระ ควรถูกตรวจสอบอย่างไร ภราดรกล่าวว่า พรรคการเมืองมีความรับผิดชอบต่อสังคม แม้ได้รับการเลือกตั้งมาแล้ว ก็ต้องคำนึงถึงอนาคตที่จะถูกตัดสินจากประชาชนในการเลือกตั้งครั้งถัดไป 

 

ฉะนั้นประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินการกระทำของพรรคการเมืองขณะดำรงตำแหน่งว่าเหมาะสมหรือไม่ ผ่านการกาบัตรเลือกตั้ง แต่อย่างไรก็ดี ไม่ได้หมายความว่านักการเมืองตรวจสอบไม่ได้ เพราะองค์กรอิสระยังมีหน้าที่ที่จะตรวจสอบนักการเมืองอยู่ดี แต่เป็นไปตามตัวบทกฎหมายที่เหมาะสม ไม่ใช่มีธงทางการเมืองที่จะกลั่นแกล้งกันทางการเมือง 

 

“ผมเชื่อว่าการยุบพรรคทุกครั้งมีธงทางการเมือง และผมเชื่อว่าสังคมก็เห็นแบบนั้นเหมือนกัน ยุบพรรคไทยรักไทย 2 ครั้ง ยุบพรรคอนาคตใหม่ ยุบพรรคชาติไทย ล้วนแล้วแต่มีธงทางการเมือง ผมไม่ได้หมายความว่าพรรคการเมืองถูกตรวจสอบโดยองค์กรอิสระไม่ได้ การตรวจสอบทำได้แต่ต้องเป็นไปตามกฎหมายอย่างเหมาะสม และการตรวจสอบที่เข้มแข็งที่สุดคือการตรวจสอบโดยประชาชน” ภราดรกล่าว 

 

ไม่เห็นด้วยทุกกรณียุบพรรค

 

วุฒิสาร ตันไชย นักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวว่า พรรคการเมืองควรมีอิสระในการจัดการบริหาร วันนี้เราออกแบบกฎหมายว่าแต่ละพรรคต้องเป็นพรรคใหญ่ มีโมเดลเหมือนกันหมด มีสาขาครบทุกภาค เรื่องนี้เป็นปัญหาการบริหารจัดการของพรรคการเมืองที่ถูกจำกัดด้วยกติกา แล้วพรรคการเมืองถูกยุบง่าย

 

มายด์เซ็ต วิธีคิด เป็นเรื่องสำคัญ ส่วนตัวไม่เห็นด้วยเรื่องยุบพรรคไม่ว่าจะกรณีใดๆ เพราะพรรคจะเป็นสถาบันต้องมีความมั่นคง แล้วเรียนรู้ไป แล้วต้องออกกฎหมายที่พรรคเติบโตด้วยตัวเอง การออกแบบกฎหมายควรออกแบบให้เห็นในระยะยาว ไม่ใช่เพียงแก้ปัญหาในอดีต

 

วุฒิสารกล่าวว่า ในไทยเหตุยุบพรรคมีเยอะ ตั้งแต่เหตุผลทางธุรการ ซื้อเสียง ระดับเหตุผลการยุบพรรควันนี้ยุบหมดตั้งแต่เหตุเล็กเหตุน้อยที่ไม่สมควรถูกยุบ จนถึงเหตุที่ในสังคมไทยถือเป็นเหตุใหญ่

 

การเมืองวันนี้พัฒนาไปไกลแล้ว เป็นการเมืองเชิงนโยบายเพื่อให้ประชาชนตัดสิน แต่กติกาวันนี้ต้องส่งนโยบายให้มีองค์กรอื่นตรวจก่อน ถามว่าคนตรวจมีความสามารถแค่ไหนที่จะตรวจทุกนโยบาย ทำไม่ได้อยู่แล้ว ฉะนั้น คนที่ควรตรวจนโยบายของพรรคการเมืองคือประชาชน

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising