ลิซ่า-อลิษา ดอว์สัน หรือ ลิซ่า MasterChef Thailand เป็นแขกรับเชิญคนหนึ่งที่ทำให้ โบ สาวิตรี ถึงกับออกปากว่า ไม่เคยได้หัวเราะระหว่างจัดรายการเยอะเท่านี้มาก่อน และขอยืนยันอีกหลายๆ เสียงว่า เราไม่เคยรู้มาก่อนเช่นกันว่า ลิซ่าเป็นคนตลกและคุยสนุกขนาดนี้!
หลังจากจบการบันทึกเทปรายการ We Need To Talk พอดแคสต์ทอล์กโชว์ภาษาอังกฤษที่ THE STANDARD คำแรกที่ลิซ่าพูดออกมาหลังจากไฟสัญญาณ Mic Live ดับลงก็คือ “เพิ่งรู้ตัวว่าที่จริงภาษาแรกของเราเป็นภาษาอังกฤษ”
จริงอยู่ที่ลิซ่ายังมีความเป็นไทยอยู่เต็มเปี่ยม ทั้งฝีมือในการทำอาหารไทยอย่างเข้าถึงรสชาติจริงๆ และการใช้ภาษาไทยอย่างคล่องแคล่วในระดับเมาท์ได้เมามัน
แต่ทันทีที่สลับมาเป็นโหมดภาษาอังกฤษ ต้องเรียกว่าองค์ลง ร่างที่แท้ทรูปรากฏออกมาทันที เพราะมันคือความเมาท์เมามันยกกำลังสิบ!
อย่างที่รู้กันว่าเรียลิตี้โชว์นั้นอัดรายการจริงสัก 10 ชั่วโมง จะถูกนำเสนอออกมาเพียงไม่ถึงชั่วโมง คือพูดออกไปสักร้อยคำ คนดูจะได้ยินจริงๆ สักแปดคำ
แต่ลิซ่าใน We Need To Talk Podcast Episode นี้ จะเป็นลิซ่าอย่างที่เธอเป็นจริงๆ เต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยไม่ต้องหารเวลากับใคร เราจะไม่ต้องสงสัยอีกเลยว่า สิ่งที่เห็นในจอเกิดจากการตัดต่อหรือเป็นตัวจริงของเธอกันแน่ เพราะสิ่งที่คุณกำลังจะได้ยิน คือลิซ่าแท้ๆ ร้อยเปอร์เซ็นต์
05.06
ลิซ่า มีหลายเชื้อชาติมาก ทั้งไทย อเมริกา แคนาดา อินโดนีเชีย
คุณพ่อเป็นคนอังกฤษ-แคนาดาที่ย้ายมาอยู่อเมริกาตั้งแต่สมัยเรียน คุณตาเป็นอินโดนีเซีย ส่วนคุณยายเป็นคนอุบล… อุดร… อุบล… (เธอสับสน) อ้อ อุบลราชธานีค่ะ เพราะฉะนั้นเราคือหลากหลายมาก เหมือนหมาพันธุ์ทาง แต่ I’m not หมานะ (ยิ้ม)
เราเกิดที่กรุงเทพฯ แล้วย้ายไปอยู่อเมริกาตอนอายุ 14 ที่ Fort Collins รัฐโคโลราโด เป็นเมืองที่อากาศดีมากเลยนะ ในหน้าหนาวมีหิมะ แต่ในหน้าร้อนก็ร้อนพอให้เราไปเล่นน้ำในสระได้ แต่ก็ไม่ร้อนเท่าเมืองไทย
07.02
เด็กไทยอายุ 14 ต้องปรับตัวมากน้อยแค่ไหนเมื่อต้องย้ายไปใช้ชีวิตที่อเมริกา
สิ่งที่ต้องปรับตัวมากที่สุดคือการที่จะไม่ได้กินอาหารไทยทุกเมื่อที่อยากกิน นอกนั้นไม่มีอะไรยาก เพราะสมัยอยู่เมืองไทยก็เรียนโรงเรียนนานาชาติ
07.28
ชีวิตหลังจากเรียนจบไฮสคูล
เข้า Beauty School ไปเรียนเสริมสวย ทำผม ทำเล็บ แต่งหน้า ก่อนจะพบว่าเราไม่ชอบจับต้องผมหรือเล็บของใครนอกจากของตัวเอง จึงได้รู้ว่าถ้าจะทำเป็นอาชีพไม่รอด ก็เลยเลิก ที่จริงชอบทำอาหารมาตั้งแต่ตอนนั้นแล้วล่ะค่ะ ตัวเลือกแรกคืออยากไปเรียนทำอาหาร แต่การเข้า Culinary School ในอเมริกาเนี่ยเหมือนไปเรียนเป็นนักบิน คือมันแพงมาก ที่สุดก็ตัดสินใจเรียนต่อด้าน Business แทน
08.23
ครั้งแรกที่พบว่าตัวเองมีแพสชันด้านการทำอาหาร
คิดว่าน่าจะเป็นช่วงอายุ 15 ตั้งแต่ปีแรกที่มาอยู่อเมริกา ตอนนั้นไปอยู่กับป้า และป้าเป็นคนที่ไม่ค่อยทำอาหาร แถมประหยัดอีกต่างหาก เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะได้กินเป็นประจำคือไข่ ไข่พะโล้นี่อันดับหนึ่ง ตอนนั้นน่าจะกินเข้าไปสัก 500 ฟองได้ กินจนเลิกกิน จนตอนนี้ยังไม่กินอีกเลย พอกันทีชาตินี้ เป็นอาหารที่ไม่ชอบที่สุด คือชอบไข่นะ แต่ไม่ชอบไข่พะโล้
09.30
ถ้ามีเพื่อนแวะมาเที่ยวโคโลราโด จะพาเขาไปเที่ยวที่ไหนบ้าง
เมืองที่เราอยู่เป็นเมืองมหาวิทยาลัย เป็น College Town มันก็จะเป็นเมืองเล็กๆ จะมีร้านอาหารแนวบ้านๆ คุณลุงคุณป้าเยอะมาก ร้านใหญ่ๆ แนวแฟรนไชส์ไม่ค่อยมี จะเป็นอารมณ์โฮมเมดโดยคนในท้องที่มากกว่า ถ้ามีคนมาเยี่ยมคงจะพาตระเวนกิน ที่แรกเลยคือ Big City Burrito นี่คือเบอร์ริโต้ที่อร่อยที่สุด! ฮอตซอสของที่นี่อร่อยที่สุด! อีกที่หนึ่งที่อร่อยมากคือ Jim’s Wings บัฟฟาโลวิงส์ของที่นี่สุดยอด! เราชอบบัฟฟาโลวิงส์มาก ทำกินเองก็บ่อย เมืองไทยเราว่าหาที่เด็ดจริงๆ ยากนะ มีอร่อยอยู่เจ้าหนึ่ง ชื่อ Fatty’s เป็นบาร์เล็กๆ แถวดินแดง-พระราม 9 ไปลองชิมกันดู
นอกจากนั้นเราคงพาไป ทัวร์โรงเบียร์ Fort Collins เป็นเมืองแห่งอุตสาหกรรมคราฟต์เบียร์เลยนะ เห็นเล็กๆ อย่างนี้มี 20 กว่าโรง
อย่างอื่นนึกไม่ออกแล้วล่ะ ชีวิตเรามีแต่อาหาร (หัวเราะ) วันๆ ก็มีแต่กิน ไม่ออกไปหาอะไรกิน ก็ทำกินเอง เท่านี้แหละ
12.47
ตอนจะกลับมาเมืองไทย วางแผนจะกลับอยู่แล้ว หรือเพราะเกิดอะไรขึ้น
ไม่ได้วางแผนอะไรเลย พอดีตอนนั้นเลิกกับแฟน แล้วพ่อก็ถามว่างั้นกลับเมืองไทยไหม ก็กลับสิ เราไม่อยากเห็นหน้ามันอีกแล้ว (หัวเราะ) วันรุ่งขึ้นแม่ส่งตั๋วเครื่องบินมาให้เลย ก็กลับเลย นี่คือประมาณ 3-4 ปีที่แล้วนี่เอง
13.27
เด็กไทยที่ไปใช้ชีวิตเมืองนอกมา 12 ปี ต้องปรับตัวอย่างไรบ้างเมื่อต้องย้ายกลับมาอยู่เมืองไทย
สิ่งที่ต้องปรับตัวมากที่สุด คือ การต้องอยู่ร่วมกับคนอื่น สมัยไปอเมริกาแรกๆ ที่อยู่กับป้านั่นคือแค่ปีแรกปีเดียวที่เราไม่ชินกับการต้องอยู่ร่วมกับคนที่อายุต่างจากเรามาก ปีต่อมาพอพี่ชายที่อายุใกล้กันย้ายมาอยู่ด้วยเราก็โอเคแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้อยู่กับพ่อแม่มานานมาก แล้วพอกลับมาก็ต้องมาเจอกับ “คืนนี้กลับบ้านกี่โมง” “วันนี้จะไปไหน” “นี่จะออกไปทำอะไร” เราไม่ได้ตอบคำถามแบบนี้มานานมากแล้ว ไม่เคยต้องบอกใครว่าจะกลับบ้านกี่โมงมา 12 ปี ตอนนี้ก็เลยเหมือนกลับมาอายุ 14 อีกครั้ง เศร้านิดๆ (หัวเราะ)
15.13
ย้อนกลับไปถึงครั้งแรกที่ลงมือทำอาหารเองจริงๆ ก็คือเมื่อทนกับไข่พะโล้ไม่ไหว จนต้องโทรกลับเมืองไทยเพื่อให้แม่สอนทำอาหาร
สมัยยังอยู่เมืองไทย แม่ทำอาหารวันละสามมื้อเลยนะ เรากินอาหารแม่ทุกวัน ยกเว้นบางมื้อที่พากันออกไปกินอาหารดีๆ ที่บ้านเราไม่กินฟาสต์ฟู้ดเลย ไม่ได้เกี่ยวกับความเฮลตี้หรือไม่เฮลตี้อะไร แต่บ้านเรากินอาหารแบบ อาหารอะ เลย์นี่ก็อย่าหวังว่าจะได้เห็น บ้านเราไม่กินเล่น บ้านเรากินจริงเท่านั้น กินอาหารเป็นมื้อๆ และกินทุกมื้อ
ทีนี้พอไปอยู่อเมริกา เราก็จะ เอาล่ะ ได้เวลาอาหารละ ไหนล่ะ (หัวเราะ) ป้าไม่ทำไง แต่เราก็จะ “เจ็ดโมงเช้าแล้ว อาหารหนูอยู่ไหน” สปอยล์มากเด็กคนนี้ (หัวเราะ) ทนไม่ได้ โทรหาแม่ จำไม่ได้แล้วว่าโทรไปให้แม่สอนทำอะไร น่าจะเป็นแกงส้ม หรือแกงอะไรสักอย่างที่เผ็ดๆ นี่แหละ เราชอบกินเผ็ด
หลังจากนั้นก็ทำอาหารบ่อยขึ้นเรื่อยๆ เราพบว่ามันเป็นอะไรที่บำบัดด้วยนะ เพราะปกติเราจะเป็นคนไฮเปอร์สุดๆ กิจกรรมโปรดคือการดูรายการทำอาหารแล้วทำตาม แรกๆ ก็ไม่ค่อยรอด ต้มข่าก็จะออกมาเหมือนน้ำล้างจาน (หัวเราะ) แต่นานๆ ไปก็ค่อยๆ เก่งขึ้นเรื่อยๆ อันนี้ก็ไม่อยากชมตัวเอง แต่เราว่าเรามีพรสวรรค์ด้านรสชาติอยู่เหมือนกัน คือลิ้นเรานี่ถูกออกแบบมาสำหรับอาหาร… เดี๋ยวนะ ไม่ว่าจะลิ้นใครก็ออกแบบมาเพื่ออาหารเหมือนกันนี่หว่า… คือเราว่าคนไทยส่วนใหญ่สามารถแยกแยะรสชาติได้ดีนะ เพราะอาหารเรามีหลายรส ไม่เหมือนอาหารอเมริกันที่เอาแต่เค็มกับมัน จบ ให้ตายสิ (ส่ายหัวเบาๆ)
19.04
ทุกบทสัมภาษณ์ของลิซ่า ต้องมีการเอ่ยถึง Gordon Ramsay ทำไมถึงโปรดปรานเชฟคนนี้นักหนา
เซ็กซี่จะตาย หมายถึงการทำอาหารของเขานะ เซ็กซี่มาก ละมุนมาก ทุกสัมผัสของเขาคือแบบ… โอย มาสัมผัสฉันอย่างนั้นบ้างสิ (หัวเราะ) เรารู้สึกเหมือนเขากำลังเต้นแทงโก้กับเนื้อสเต๊ก เราไม่สามารถบรรยายกอร์ดอน แรมซีย์ โดยไม่ใช้คำว่าเซ็กซี่จริงๆ ที่เราชอบเขามาก เพราะสำหรับเรา อาหารคือความเซ็กซี่ และนั่นคือสิ่งที่เขาเป็น
20.20
และถ้าวันหนึ่งได้มีโอกาสเจอตัวจริง
น่าจะเป็นลมนะ ไม่รู้เหมือนกัน นึกไม่ออก อาจจะเข้าไปกอด อาจจะเข่าอ่อนแล้วล้มไปเลย อาจจะพูดติดอ่าง อาจจะเริ่มถอดเสื้อผ้าออกทีละชิ้น (หัวเราะ) แล้วบอกว่า คิดซะว่าฉันเป็นไข่หรือเป็นกระทะของคุณก็แล้วกัน คือ เอาไปเลย ให้ทุกอย่าง จะทำอะไรก็ได้… หมายถึงทำอาหารนะ (หัวเราะ)
21.35
วินาทีที่ตัดสินใจลงแข่ง MasterChef Thailand
เราตามทุกสื่อทุกช่องทางเกี่ยวกับอาหารอยู่แล้ว อาหารคือชีวิต อย่างที่บอก (หัวเราะ) แรกสุดคืออยากแข่ง Hell’s Kitchen แต่รายการนั้นมันสำหรับคนที่เป็นเชฟอยู่แล้ว ตอนนั้นก็ติดตาม MasterChef อยู่ด้วย เลยตั้งใจไว้ว่า เอาล่ะ ถ้ารายการนี้มาเมืองไทยเมื่อไรฉันลงแน่นอน แล้วหลังจากนั้นไม่นาน มันมาเมืองไทยจริงๆ! เราก็ เฮ้ย นี่มันมาเพื่อฉันชัดๆ! ไม่แข่งไม่ได้แล้วสิ
ตอนแรกเอาจริงๆ คือกลัวมากนะ กลัวไม่ได้ กลัวเขาจะไม่เลือก แต่ก็มาบอกตัวเองว่า ไม่เลือกแล้วไงล่ะ สิ่งเลวร้ายที่สุดที่จะเกิดขึ้นคือเขาบอกว่า No ก็แค่นี้เอง
ต้องถ่ายรูปตัวเอง แล้วก็ ถ่ายคลิปส่งเข้าไป เราทำ Blue Cheese Burger ซึ่งเอาจริงๆ นะ ทำง่ายมาก เราไม่ได้คิดจะทำอาหารยากๆ เลย เพราะเราคิดว่า ถ้าคุณสามารถทำอาหารง่ายๆ ให้อร่อยได้ คุณสมควรได้แข่งรายการนี้ เพราะ MasterChef เป็นรายการที่จะช่วยให้คนที่เก่งอยู่แล้ว เก่งขึ้นไปอีก แต่ไม่ใช่รายการสำหรับคนระดับเชฟ ถ้าไม่อย่างนั้นก็ไป Hell’s Kitchen ไม่ก็ Iron Chef โน่นเลย อย่างเราเนี่ย เรามั่นใจว่าเป็นคนที่ถ้ามีคนเก่งๆ มาสอนให้ เราจะเก่งได้แน่ๆ เลยคิดว่า MasterChef เหมาะกับเรา และอย่างที่บอก แย่ที่สุดคือเขาปฏิเสธ ก็โอเคนะ เรารับได้ถ้าเขาจะไม่ให้ผ่าน ก็เลยตัดสินใจว่าจะทำคลิป
ซึ่งตั้งแต่จุดที่ตัดสินใจจะทำคลิป จนถึงจุดที่ลงมือถ่ายคลิปจริงๆ เนี่ย คือเดือนหนึ่ง คุยกับตัวเองอยู่เดือนหนึ่ง แล้วทำจริงเมื่อไร วันสุดท้าย เป็นคนที่ต้องไฟลนก้นถึงลงมือ (หัวเราะ) แต่นั่นอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เราผลงานดีในการแข่งนะ เพราะมันคือแบบ โอเค มีเวลาให้หนึ่งชั่วโมง ทำอะไรดีๆ อร่อยๆ ออกมาสักอย่างสิ นั่นคือแนวถนัดเราเลย ต้องมีความกดดันมันถึงจะออกมาดี ก็ถ่ายคลิปมันวันสุดท้ายนั่นแหละค่ะ ลงมือถ่าย 11 โมงเช้า ส่ง 5 ทุ่ม และเดดไลน์คือเที่ยงคืน น่าจะเป็นคนส่งคลิปเป็นคนสุดท้ายแล้วล่ะเราว่า
25.29
ประสบการณ์ถ่ายรายการเรียลิตี้เป็นอย่างไรบ้าง
ก่อนอื่น เราว่าเราโชคดีมากที่ในคลิปที่ส่งไปเราผมบลอนด์ พูดไทย และทำอาหารไทยได้ ไม่อย่างนั้นเราก็คงเป็นคนธรรมดาที่หน้าตาเกือบๆ จะดีคนหนึ่ง… พูดเล่น เรารู้ตัวว่าเราหน้าตาดี แค่พยายามพูดให้ดูไม่ชมตัวเองมากเกินไป ที่จริงแล้วไม่ใช่คนถ่อมตนใดๆ ทั้งสิ้น (หัวเราะ) เราว่ามันไม่แย่ ก็เป็นที่น่าจดจำดี ผู้หญิงผมบลอนด์พูดไทยชัดๆ มันก็ไม่ได้หาง่ายๆ ทั่วไป
แล้วตอนแรกคนอื่นก็นึกว่าเราเป็นฝรั่งนะ แต่เดี๋ยว ไม่รู้เหรอว่าถ้าจะแข่ง MasterChef Thailand คุณก็ต้องเป็นคนไทยนะ เหมือนกับถ้าจะแข่ง MasterChef Australia คุณก็ต้องเป็นออสเตรเลียนโดยสัญชาติ อันนี้เป็นกฎของรายการเขาอยู่แล้ว แล้วเป็นยังไง ตอนแรกไม่มีใครกล้าคุยด้วยเลย เพราะเขานึกว่าเราพูดไทยไม่ได้ แต่สักพักพอเราเริ่มคุย เขาก็ เอ๊า อีนี่พูดภาษาไทยได้… ได้สิ! เป็นคนไทยไง!
27.13
ไม่ว่าจะช่องทางไหนบนอินเทอร์เน็ต รวมถึงโซเชียลมีเดียของลิซ่า คนจะพูดคล้ายๆ กันหมดนั่นคือ “ตอนแรกไม่ชอบเลย แต่ยิ่งดูยิ่งชอบ” คิดว่าอะไรทำให้เขาพูดหรือรู้สึกกันอย่างนั้น
คงเพราะภาพของเราเป็นนางร้ายแหละ เป็น the bitch บุคลิกของเราเป็นแบบ ถ้าคนไม่ชอบไปเลย ก็จะเกลียดไปเลย แต่สักพักคนดูน่าจะเห็นว่าเราเป็นของเราแบบนี้จริงๆ เราไม่ได้พยายามเสแสร้ง แสดง หรือสร้างภาพอะไรที่ต่างไปจากตัวตนของเราจริงๆ เลยสักนิด เขาคงเริ่มเห็นว่าเราแค่เป็นตัวของตัวเอง และไม่ได้ไปอิจฉาหรือร้ายใส่ใคร แต่เวลาไม่ชอบอะไรเราก็พูดตรงๆ เราโตมาในสังคมที่พูดตรง และไม่ต้องพยายามพูดอะไรออกไปแค่เพื่อให้คนชอบ เพราะเราเสแสร้งได้ไม่นานหรอก แต่บางทีมันอาจจะตรงเกินไปสำหรับบางคนน่ะ
อีกอย่างที่คนดูอาจจะไม่ชอบคือเราชอบแข่งขัน และเราเอาจริงเอาจังกับการเอาชนะ บางทีคนไทยบางคนก็ไม่ชอบ เขาชอบคนที่แบบ “ทุกคนรักกัน ทุกคนเพื่อนกัน เราจะแข่งขันกันไปทำไม…” แต่เดี๋ยวนะ นี่มันการแข่งขันไง! เรามาที่นี่เพื่อชนะ เพื่อเป็นที่หนึ่งไม่ใช่เหรอ จำได้หรือเปล่าว่าที่หนึ่งมันต้องมีคนเดียว เขามีเงินให้ล้านเดียว ไม่ได้มี 16 ล้าน แจก 16 คน เอาไปคนละล้านนะ ถ้าไม่อยากชนะจะมาทำไม เวลาคนถามว่า “อยากชนะไหม” ก็อยากตอบเหมือนกันว่า “ไม่อยากเลย แต่อยากมาฆ่าเวลาเล่น โดยการทำอาหารให้ใครไม่รู้ชิม เพื่อให้เขาด่าจนร้องไห้ออกทีวี เท่านั้นเอง”
30.28
ดังนั้น ลิซ่าที่เห็นในทีวี กับลิซ่าตัวจริงนั้น…
เหมือนกันเปี๊ยบ เราเป็นได้แค่แบบที่ตัวเองเป็น เราไม่ใช่นักแสดงที่เก่งอะไร… แต่ก็ไม่รู้เหมือนกัน ก็อาจจะนะ ใครอยากให้เล่นอะไรลองติดต่อมาได้ (หัวเราะ) ประเด็นคือ เราแสดงเป็นคนอื่นนอกจากตัวเองไม่ได้หรอก
31.00
พลอย หนึ่งในผู้เข้าแข่งขันพูดไว้ว่า “เขาเก่งทางด้านรสชาติมาก ทำอะไรไม่เคยไม่อร่อย และมีความคิดสร้างสรรค์ ลิซ่าน่ากลัวตรงนี้” คิดอย่างไรกับคำพูดของพลอย และอะไรที่ทำให้เราเก่งเรื่องที่เราเก่ง
ก่อนอื่น พลอยพูดได้น่ารักมาก (หัวเราะ) แต่เราเป็นเพื่อนกันนี่ เราก็ควรต้องพูดอะไรดีๆ ให้กันแบบนี้แหละ
ส่วนที่ว่าทำไมเก่งเรื่องนี้ เราว่าลิ้นเราดี ปุ่มรับรสชาติเราดี ยังไม่ดีระดับกอร์ดอน แรมซีย์ หรอกนะ แต่ก็จัดว่าดี และที่มันเป็นอย่างนั้น เราว่าเป็นเพราะเราชอบชิม เราไม่ปฏิเสธอาหาร เราลองหมด แมลงก็กินได้ ปลาร้าก็กินได้ กะปิก็กินได้ สมมติใครบอกว่า เฮ้ย นี่อร่อย กินสิ เราหยิบใส่ปากเลย และเราคิดว่านั่นคือสิ่งที่จะทำให้เราเก่งขึ้นได้ในเรื่องรสชาติ เราค่อยๆ สั่งสมประสบการณ์ในการรับรู้รสชาติไปเรื่อยๆ จนเริ่มถอดรหัสสิ่งที่กินได้ว่า รสชาตินี้คืออะไร รสชาตินี้มันเหมือนอะไร คือถ้าเราใจแคบเรื่องอาหาร โน่นก็ไม่กิน นี่ก็ไม่กิน ประสบการณ์จะมาจากไหน เราจะแยกแยะได้อย่างไรระหว่างรสชาติของน้ำตาลทรายขาว น้ำตาลจากอ้อย น้ำตาลจากปาล์ม น้ำตาลจากมะพร้าว นี่คือสิ่งที่คนอยากเป็นเชฟระดับมิชลินต้องรู้
33.09
ชาเลนจ์ไหนในการแข่งขันที่ชอบมากที่สุด และชอบน้อยที่สุด
ชอบทุกอันเลย แต่ถ้าให้เลือก คงเป็นการแข่งหลังจากที่เราได้กลับมาจากตกรอบ เป็นชาเลนจ์ที่สถานทูตอังกฤษ และเราเป็นกัปตัน วันนั้นจัดเต็ม และการแข่งขันครั้งนั้นเป็นการพิสูจน์ตัวเองว่า เราทำได้ เราเอาอยู่ และวันนั้น เราเป็น Head Chef เราเป็นผู้นำได้ เราไม่ลน ตรงข้ามกับ ชาเลนจ์ที่เราชอบน้อยที่สุด นั่นคือตอนแข่งทำเค้กที่ทำให้เราตกรอบ ได้ร้องไห้ออกทีวีไปรอบหนึ่งยังไม่พอ ยังได้ร้องอีกรอบตอนได้มาดูเทปนั่นทางทีวีที่บ้าน (หัวเราะ)
35.48
มิตรและศัตรูจากการแข่งขันที่เห็นในทีวี เป็นมิตรและศัตรูในชีวิตจริงด้วยหรือเปล่า
มิตรนี่จริงมาก เราเป็นคนจริงใจกับเพื่อนมากๆ ส่วนศัตรู… (คิด) ก็จริงเหมือนกัน (หัวเราะ) แต่มันจริงเฉพาะในครัวนะ เพราะทุกคนต้องการเป็นที่หนึ่ง และมันควรจะเป็นอย่างนั้น แพสชันมันต้องมี ใครไม่มีแพสชันกับอาหารก็ออกจากครัวไปเสียดีกว่า
แต่ก็อย่างที่ทุกคนเห็น ที่รายการพยายามปั้นให้เป็นคู่ฟัดฟาดฟันกันเป็นพิเศษ คือเรากับนิค คิดว่าน่าจะเพราะเราสองคนมาจากอเมริกาเหมือนกัน นิคมาจากเท็กซัส เรามาจากโคโลราโด รัฐเพื่อนบ้านกันอีก เราสองคนคล้ายกันตรงแรงๆ รั้นๆ และเกลียดการแพ้ที่สุด วันแรกที่เจอกัน เราบอกกันเลยว่า ฉันจะเข้ารอบสุดท้าย ในความเป็นเพื่อนกันตั้งแต่วันแรก มันเลยมีความเป็นคู่แข่งกันตั้งแต่วันแรกด้วยเหมือนกัน เพราะมันไม่มีใครยอมใคร ฉันจะไม่แพ้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฉันจะไม่แพ้ให้กับเธอ
37.52
ส่วนกรรมการก็ช่างสุดโหด
ภายใต้ความกดดันของการแข่งขัน เราไม่ได้มองว่าสิ่งที่เขาทำคือความโหดร้ายนะ ก็เขากำลังพยายามปั้นให้เราเป็นเชฟที่เก่งกาจอยู่ใช่ไหมล่ะ อาชีพเชฟนี่กดดันมาก อย่าง Executive Chef เนี่ย ต้องคุมลูกน้อง 20 คนเพื่อทำอาหารให้คนอีก 100 คนที่กำลังรอกินอยู่ กดดันไหมล่ะ แล้วถ้าคุณไม่มีปัญญาจะทนแรงกดดันจากกรรมการแค่ 3 คนได้เนี่ย กลับบ้านไปเถอะ
แต่ที่เห็นเราร้องไห้ เราไม่ได้ร้องเพราะความกดดันนะ เราร้องเพราะความเสียใจที่เราเฟลตัวเอง เฟลกรรมการในฐานะที่เป็นครูของเรา เพราะฉะนั้น ไอ้ความจะโหดไม่โหดเนี่ย เราไม่แคร์หรอก เขาโหดให้เราเก่ง แล้วจำได้ไหมว่าสมัยเรียนเนี่ย ครูคนที่เราจำได้ดีที่สุดก็คือคนที่เคี่ยวเข็ญกับเราที่สุด โหดกับเราที่สุด เรารักกรรมการทั้งสามคน เรารักเขาในฐานะครู
39.28
ลิซ่าได้เรียนรู้อะไรจากครูเหล่านี้บ้าง
เขาสอนให้เรารู้ว่า เวลาทำอาหาร อย่าโมโห (หัวเราะ) พอโมโห เราจะเริ่มหงุดหงิดกับตัวเอง เริ่มสบถกับตัวเอง มันทำให้เราลน ทำให้เราลืม สตินี่คือไปหมด แต่หลังจากตกรอบแล้วได้กลับมา เราเริ่มมองเห็นว่า คนที่เขายังอยู่คือคนที่เวลาทำอาหารเนี่ย เขามีสติ เขา keep cool อะค่ะ
อีกอย่างคือเราเรียนรู้ที่จะมีระเบียบขึ้น และเป๊ะขึ้น อย่างชาเลนจ์ที่ทำให้เราตกรอบครั้งแรกคือเราลืมเติมนมตอนทำเค้ก การทำขนมมันต้องเป๊ะจริงๆ ต้องยึดสูตร แต่เรามาจากสาย home cook ที่จะปรุงอะไรตามใจ เราก็เรียนรู้ที่จะเป็นมืออาชีพมากขึ้น
สุดท้าย เราเรียนรู้ที่จะรู้จักถ่อมตัวและไม่ถือดีเกินไป เพราะตอนมาแรกๆ นี่ความมั่นใจเปี่ยมล้นมาก และคิดว่าตัวเองเก่งมาก ซึ่งก็เก่งล่ะนะ ก็ได้ตั้งที่ 2 อะ (หัวเราะ) แต่ในที่สุดก็ได้รู้ว่าไม่ได้เก่งเท่าที่เราคิดหรอก
41.10
‘ข้าวหมก’ กลายเป็นเหมือนอาหารซิกเนอเจอร์ของลิซ่าไปแล้ว ทำไมถึงชอบกิน และ/หรือ ชอบทำอาหารจานนี้
เอาจริงๆ เลยนะ อันนี้คงพูดได้แหละ เพราะรายการจบไปแล้ว เราไม่ได้ชอบข้าวหมกขนาดนั้น แต่มันเป็นสูตรดั้งเดิมของครอบครัวเราไง สิ่งที่เราชอบเกี่ยวกับข้าวหมกคือมันบอกเล่าเรื่องราวของบ้านเราว่าเราถูกเลี้ยงดูมาอย่างไร เติบโตมาอย่างไร มันไม่ใช่อาหารจานโปรดของเรา อาหารที่เราโปรดที่สุดคือแกงส้มถั่วงอกหัวโต เป็นอาหารอินโด อันนี้ชอบมาก แต่มันไม่ใช่อาหารที่จะทำให้คนดูว้าว เราก็เลยไม่ทำในรายการ
42.38
อาหารอะไรอีกที่ลิซ่าโปรด
ริบอายสเต๊ก มีเดียมแรร์ ซอสแจ่ว สุดยอด นี่พูดแล้วอยากกินเลย แล้วก็ส้มตำปูปลาร้านี่คือต้องสัปดาห์ละอย่างน้อย 3 ครั้งนะคะ เรามีเจ้าประจำด้วยนะ สองเจ้า คนหนึ่งอยู่รังสิต อีกคนอยู่แถวพาราไดซ์ พาร์ค ส้มตำรถเข็นนี่แหละ อร่อยมาก ต้องปูสองตัวด้วยนะ อร่อยมากกก คือเราก็ตำส้มตำกินเองได้นะ แต่น้ำปลาร้าเราคือซื้อจากท็อปส์ ในขณะที่ของพี่เขานี่ทำเองไง มันเด็ดตรงนั้น
แต่สปาเกตตีก็ชอบนะ มีตซอส อะไรแบบนี้ เอาจริงๆ คือเราชอบกินเนื้อ เนื้อกระทะนี่นั่งกินได้ทั้งวัน เนื้อย่างเกาหลีเนี่ย สุดยอด โคเรียนทาวน์นี่เรียกว่าจิตวิญญาณเราอาศัยสิงสู่อยู่ที่นั่น แล้วอาหารอินเดียก็ชอบอีก ชอบมาก เราทำ Chicken Vindaloo อร่อยอย่างนี้เลยนะ
เราว่าเราชอบกินมากพอๆ กับชอบทำอาหารเลยแหละ และถ้าเป็นเรื่องกิน เรายอมจ่าย 80% ของเงินเดือนคือไปกับอาหาร เสื้อผ้าไม่ซื้อ เอามาซื้อของกินดีกว่า ยอมจ่ายเพื่อให้ได้กินวากิว!… แต่ฟรีก็ได้นะ รับหมด มีใครร้านไหนอยากจ้างให้กินบ้างไหมคะ (หัวเราะ) รับโปรโมต และเรากินได้หมดนะ ตั้งแต่ข้างทางยันมิชลิน
เมื่อเช้า ตื่นมา โทรเรียกวิน พี่ มารับหน่อย ไปกินข้าวแกงใต้ตั้งแต่ 9 โมง อร่อยมากกก ชอบมากกก ร้านนี้คือน้ำพริกเติมได้ฟรี ผักเติมได้ฟรี เรากินแกงส้มหน่อไม้ดอง แล้วก็แกงกะทิหน่อไม้ไก่ ทุกอย่างหน่อไม้ และดอง และต้องเผ็ด แต่เช้าตรู่
47.05
วางแผนอาชีพเชฟของตัวเองไว้อย่างไรบ้าง
ที่จริงอยากทำอะไรเยอะมาก อยากเขียนตำราอาหาร อยากเป็นเชฟ Michelin อย่างน้อยที่สุดคือแค่อยากทำอาหารให้คนกินแล้วเห็นเขามีความสุข แต่การเป็นมิชลินเชฟคือความต้องการในอีกระดับหนึ่ง จะไปถึงตรงนั้นได้คงต้องเปิดร้าน ซึ่งอาจจะภายใน 2-3 ปีนี้ แต่ต้องเก่งขึ้นไปกว่านี้อีกมากๆ ก่อนด้วย
48.25
ดินเนอร์ปาร์ตี้ในฝัน ถ้าให้เชิญแขก 3 คน จะเชิญใคร และจะทำอะไรเลี้ยงพวกเขา
กอร์ดอน แรมซีย์ แน่นอนที่สุด ซึ่งที่จริงมีแค่เรากับเขาสองคนก็เพียงพอแล้วนะ (หัวเราะ) และเราไม่ทำหรอกอาหาร เขาสิต้องทำให้เรากิน! Beef Wellington จัดมา! (หัวเราะ) โอเค นอกจากกอร์ดอน แรมซีย์ ขอแม่กับยายอีก 2 คนแล้วกันค่ะ นี่เป็น 3 คนที่มีอิทธิพลต่อการทำอาหารของเรามากที่สุดในชีวิต ส่วนจะทำอาหารอะไร ยังนึกไม่ออก แต่ต้องเป็นอาหารที่เราคิดค้นขึ้นมาเอง เป็นสูตรของเราที่จะทำให้พวกเขาได้กินแล้วภูมิใจ
49.50
พูดถึงอีกอาชีพของลิซ่าที่หลายคนอาจไม่รู้ คือการเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ
เรียกอย่างนั้นดูจริงจังเกินไป ที่จริงเป็นครูฟรีแลนซ์ ใครจ้างก็ไปสอน อย่างนั้นมากกว่าค่ะ
ตอนกลับมาจากอเมริกาใหม่ๆ เราทำงานการตลาด ขายวิสกี้อยู่ 2 ปี ทีนี้มีเพื่อนชวนไปสอนเด็กในแคมป์ภาษาอังกฤษ แค่ 3 วัน เงินก็ดี งานก็ไม่หนัก แถมได้อยู่กับเด็กๆ ซึ่งสนุกมาก ทำให้รู้ว่าเราชอบสอน และเราชอบเด็ก เลยไปถามเพื่อนว่า มีแคมป์อย่างนี้กี่ครั้งต่อเดือน เพราะถ้าทำสักเดือนละ 5-6 ครั้งก็อยู่ได้แล้ว จะได้เอาเวลาที่เหลือไปตั้งใจทำอาหาร แล้วทันใดนั้นก็ตัดสินใจเปลี่ยนอาชีพเลย มาทำแคมป์ภาษาอังกฤษ แล้วก็สอนพิเศษด้วยนิดหน่อย
การดูแลเด็กๆ กับการทำอาหารคล้ายกันนะ คือเราให้บางอย่างกับเขา แล้วเขารู้สึกขอบคุณและดีใจที่เราทำให้ แถมเรายังได้เงินด้วย มันเป็นความรู้สึกที่ดีที่สุดในโลก
54.23
ขนม: เค้ก หรือ ไอศกรีม
ไม่เลือกเลยได้ไหม ไม่ชอบของหวาน แต่ถ้าให้เลือกจริงๆ เอาไอศกรีมก็ได้ แต่ต้องเป็นช็อกโกแลต และมีรสเค็มหน่อยๆ แบบ caramel salt หรือดาร์กช็อกโกแลตขมๆ
54.59
พลังวิเศษ: บินได้ หรือ ล่องหน
ล่องหน ไปไหนไม่มีใครรู้ เช่น บ้านกอร์ดอน แรมซีย์ (หัวเราะ) เราว่าเราพูดถึงกอร์ดอน แรมซีย์ เยอะเกินไปนะ
55.23
รับจ็อบ: เลี้ยงเด็ก หรือ เลี้ยงหมา
เด็ก เป็นคนรักเด็ก แต่หมาก็ชอบนะ โดยเฉพาะลูกหมา แต่หมาโตเนี่ย ยังไงล่ะ บางทีก็เหม็น… แต่บางทีเด็กก็เหม็นเหมือนกันเวลาอึ ซึ่งเราไม่เปลี่ยนผ้าอ้อมให้นะ นั่นคือเหตุผลที่เรารับสอนเฉพาะเด็กโตกว่า 4 ขวบที่ดูแลตัวเองได้แล้ว ห้ามร้องไห้ ห้ามอึ (หัวเราะ)
56.00
แฟนหนุ่มที่ดีทุกอย่าง แต่สูง 1 เมตร หรือ แฟนหนุ่มที่ดีทุกอย่าง แต่สูง 3 เมตร
3 เมตรนี่สูงมากเลยนะ แต่ถ้าต้องเลือก ขอสูงไว้ก่อนดีกว่า ไม่ชอบผู้ชายเตี้ย
56.23
อยู่บนเรือ 5 ปี ห้ามขึ้นบกเด็ดขาด หรือ อยู่บนต้นไม้ 5 ปี ห้ามลงพื้นเด็ดขาด
เรือดีกว่า ชอบอยู่ใกล้น้ำ ความฝันของเราคือมีกระท่อมเล็กๆ อยู่บนเกาะลันตา แล้วทำอาหารมิชลินทั้งวัน
57.29
ต้องจ่ายให้เดือนละเท่าไร ลิซ่าจึงจะยอมเลิกใช้มือถือและอินเทอร์เน็ตตลอดชีวิต
(สำเนียงนางงามลิ้นเปลี้ยๆ) ขอบคุณสำหรับคำถามค่ะโบ ไม่ต้องจ่ายสักบาทค่ะ เพราะว่าดิฉันอยากช่วยให้โลกของเราเขียวขึ้น และดิฉันรักสันติภาพ และดิฉันรักเด็กค่ะ ขอบคุณค่ะ (หัวเราะ) แต่เอาจริงๆ เราว่าคงต้องขอเดือนละล้านอะ
- อ่านอีกหนึ่งบทสัมภาษณ์ของลิซ่า ที่ The Standard : พะโล้ ไข่ดาว ข้าวหมก และกอร์ดอน แรมซีย์ หลากสิ่งหล่อหลอม ลิซ่า อลิษา รองแชมป์ MasterChef Thailand
- และนี่คือเรื่องราวของผู้ชนะจากเวทีเดียวกัน : “ใครก็คิดว่าคนแบบแก้วไม่มีอยู่จริง” ปอกเปลือกเมนูชื่อความอ่อนแอของ ‘แก้ว-ปวีณ์นุช’ MasterChef Thailand คนแรก
- เรารู้ว่าอีพีนี้ฟังแล้วท้องร้องและเปรี้ยวปากกันมาก เอ้า ไป! : ถูกปากถูกใจ อาหารไทยใช่เลย! 5 ร้านอาหารไทยรสอร่อยรอบกรุงที่เราคอนเฟิร์มว่าเด็ด
Credits
The Host สาวิตรี สุทธิชานนท์
The Guest อลิษา ดอว์สัน
Show Creator ภูมิชาย บุญสินสุข
Episode Producers ภูมิชาย บุญสินสุข
อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Episode Editor ภูมิชาย บุญสินสุข
Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ
Coordinator & Admin อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director กริณ ลีราภิรมย์
Graphic Designer เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล
Photo ปฏิพล รัชตอาภา
Proofreader พรนภัส ชำนาญค้า
Music Westonemusic.com