×

พะโล้ ไข่ดาว ข้าวหมก และกอร์ดอน แรมซีย์ หลากสิ่งหล่อหลอม ลิซ่า อลิษา รองแชมป์ MasterChef Thailand

02.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • มาสเตอร์เชฟ คือรายการแข่งขันทำอาหารลิขสิทธิ์จากสหราชอาณาจักร ออนแอร์ครั้งแรกในปี 1990 อายุรายการราว 27 ปี เป็นรายการที่เปิดโอกาสให้คนธรรมดาทั่วไปที่มีใจรักในการทำอาหารได้เข้ามาแข่งขันเพื่อชิงเงินรางวัล และที่สำคัญผู้ชนะจะได้มี cookbook หรือตำราทำอาหารเป็นของตัวเองด้วย
  • นอกจากความสามารถในการสร้างสรรค์เมนูที่เก่งกาจจนกรรมการต้องเอ่ยปากชมบ่อยๆ แล้ว ความมั่นใจ อารมณ์ขัน และรอยยิ้มตลอดรายการของ ‘ลิซ่า-อลิษา ดอว์สัน’ ก็พาเธอมาได้ไกลถึงตำแหน่งรองชนะเลิศ ทั้งๆ ที่เธอเคยตกรอบไปแล้วด้วยซ้ำ!
  • แรงบันดาลใจส่วนใหญ่ของลิซ่าในการทำอาหารคือ เธอรู้สึกว่ามันเป็นช่วงเวลาที่ผ่อนคลาย อีกประการก็เพราะเธอชื่นชอบกอร์ดอน แรมซีย์ มาก เธอชอบดูรายการทำอาหารของเขาทั้ง MasterChef และ Hell’s Kitchen และเธออยากประสบความสำเร็จแบบเขา
  • เมนูที่ลิซ่าชอบทานคือเมนูง่ายๆ อย่างข้าวไข่ดาว ที่ไข่ดาวต้องกรอบตรงขอบ เนื้อไข่ขาวแฉะๆ หรือการต้มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปง่ายๆ พร้อมใส่ผักที่เธอนำไปตุ๋นด้วยซุปให้เปื่อยก่อนนำมาปรุงรสเพิ่มเติม

     ถือว่าเป็นอีกหน้าหนึ่งของความสำเร็จในวงการโทรทัศน์ไทยที่รายการแข่งขันทำอาหารสามารถทะยานไปแตะเรตติ้งหลักสูงๆ กว่าละครได้แบบสบายๆ สาเหตุหลักๆ อาจเป็นเพราะไม่รู้ว่าตัวรายการ MasterChef Thailand ทางช่อง 7 สีนั้น มันดราม่าจนเกือบจะเป็นละครน้ำเน่าโรงใหญ่เรื่องหนึ่งหรือเปล่า? หรืออาจจะเป็นเพราะความโด่งดังของรายการที่ฮอตฮิตติดใจคนดูมาแล้วทั่วโลก?

     แต่สำหรับเราที่เป็นแฟนรายการนี้แบบเกาะชิดติดจอทุกตอน เราคงให้เหตุผลง่ายๆ ว่า มาสเตอร์เชฟ ประเทศไทย นั้นดูสนุก โปรดักชันได้มาตรฐาน โจทย์ที่หวือหวา กรรมการที่ติชมสั่งสอนกันอย่างถึงเครื่อง รวมไปถึงผู้เข้าแข่งขันคาแรกเตอร์หลากหลายน่าเชียร์

     หนึ่งในผู้เข้าแข่งขันที่มีความโดดเด่นที่สุดคงหนีไม่พ้นลูกครึ่งสาวไทย-อเมริกัน-แคนาเดียน-อินโดฯ อย่าง ‘ลิซ่า-อลิษา ดอว์สัน’ คุณครูสอนภาษาอังกฤษตาคมที่ผู้ชมติดตามเชียร์เธอตั้งแต่สัปดาห์แรก นอกจากความสามารถในการสร้างสรรค์เมนูที่เก่งกาจจนกรรมการยังต้องเอ่ยปากชมบ่อยๆ แล้ว ความมั่นใจ อารมณ์ขัน และรอยยิ้มของเธอตลอดรายการก็สร้างทั้งความน่าหมั่นไส้และความน่าหลงใหลให้กับคนดูไปได้พร้อมๆ กันอย่างน่าฉงน ซึ่งสิ่งเหล่านี้พาเธอมาได้ไกลถึงตำแหน่งรองชนะเลิศทั้งๆ ที่เธอเองก็เคยตกรอบไปแล้วด้วยซ้ำ!

     ครั้งนี้เราขอชวนเธอมาพูดคุยถึงเรื่องราวชีวิต แรงบันดาลใจ และเรื่องของกินต่างๆ ที่เธอหลงรักซึ่งต่างหล่อหลอมเป็นตัวเธอในทุกวันนี้ ช่วยทลายกำแพงอคติกับเธอลงก่อน เพราะนี่คือลิซ่าในแบบที่เรารัก และเป็นตัวของตัวเธอเองจริงๆ

 

 

     “สารภาพก่อนว่าเป็นแฟนรายการ และติดตามเชียร์คุณมาตลอด”

     ผมเริ่มบทสนทนาอย่างเรียบง่าย จริงๆ แล้วนอกจากตำแหน่งรองแชมป์ของเธอ อีกใจหนึ่งที่อยากสัมภาษณ์ลิซ่าก็เพราะความชื่นชอบส่วนตัวล้วนๆ ด้วยความเป็นผู้หญิงลูกครึ่งที่มั่นอกมั่นใจ สกิลล์การทำอาหารที่ค่อนข้างสูงกว่าผู้เข้าแข่งขันท่านอื่นๆ ซึ่งก็ไม่น่าเชื่อว่ามีแฟนรายการจำนวนหนึ่ง (ซึ่งเป็นจำนวนมาก-ล่าสุดเธอทำการถ่ายทอดสดการทำ ‘ข้าวหมกไก่’ ผ่านเฟซบุ๊กเพจของตัวเองซึ่งเป็นค่ำวันเดียวกันกับที่เราสัมภาษณ์เธอ พบว่ามีคนเข้ามาชมการทำอาหารของเธอหลักแสนคน!) ก็ต่างเป็นกองเชียร์เธออยู่เช่นกัน อย่างเช่นวันที่เธอตกรอบจากโจทย์ German Chocolate Cake ก็พบว่ากระทู้ในเว็บไซต์พันทิปก็กล่าวถึง ‘ความลุกลน’ ของเธอเป็นจำนวนมากทีเดียว

     “ขนาดเรารู้ตัวอยู่แล้วว่าเราตกรอบในเทปนั้น เรากลับมานั่งดูตอนออนแอร์อีกครั้ง เราก็ร้องไห้ (หัวเราะ) เพราะเราเป็นคนไม่กินของหวานเลย ขนมหวาน น้ำหวาน เราไม่ชอบเลย วันนั้นได้โจทย์ทำเค้กมาก็เลยรู้สึกเฟลพอสมควร แต่ถ้าให้กลับไปทำอีกครั้ง สัญญาว่าจะไม่ลืมใส่นม (หัวเราะ)”

 

 

     เสียงกึ่งห้าวกึ่งแหบอันเป็นเสน่ห์ของเธอตอบผมอย่างสบายๆ ผมมองไปในดวงตาคมคู่นั้นตลอดเวลาที่เธอพูดคุย เราพบว่าลิซ่าในจอกับลิซ่าคนตรงหน้านี้คือคนเดียวกันกับในจอแบบฉบับที่ไม่ปรุงแต่งอะไรเลยแม้แต่น้อย

     “ต้องบอกก่อนว่าวันที่ประกาศผลนั้นเราอัดเทปกันสองแบบ ทั้งแบบที่เราชนะ และน้องแก้ว (แก้ว-ปวีณ์นุช ยอดปรีชาวิจิตร-แชมป์ของรายการ) ชนะ ซึ่งนั้นก็เพื่อให้เราได้ไปลุ้นกันตอนออนแอร์ พอรายการออนแอร์และทราบผล ถามว่าเรารู้สึกยังไง เราก็ไม่ได้รู้สึกแย่ขนาดนั้น ที่เราคิดแบบนั้นเพราะว่าเราทำดีที่สุดแล้วจริงๆ และผู้ชมก็บอกว่าถ้าเป็นเราได้แชมป์ เราก็สมควรแก่ตำแหน่งเหมือนกัน เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่เหตุผลที่เราจะต้องเสียใจ เราถือว่าเราได้ทำทุกอย่างตามที่เราตั้งใจจะทำจริงๆ”

 

     “แล้วในตอนอัดเทปที่คุณชนะ คุณดีใจแค่ไหน?” ผมถาม

     “กระโดดเลยค่ะ (หัวเราะ) จริงๆ แอบคิดว่าถ้าโจทย์รอบสุดท้ายเป็นเค้ก จะโกรธมาก (หัวเราะ)”

 

“พอรายการออนแอร์และทราบผล ถามว่าเรารู้สึกยังไง เราก็ไม่ได้รู้สึกแย่ขนาดนั้น เพราะว่าเราทำดีที่สุดแล้วจริงๆ และผู้ชมก็บอกว่าถ้าเป็นเราได้แชมป์ เราก็สมควรแก่ตำแหน่งเหมือนกัน เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่เหตุผลที่เราจะต้องเสียใจ”

 

     ผมเห็นคุณพูดถึงความฝันที่อยากจะเป็นเชฟมิชลินสตาร์ในรายการอยู่เสมอ จริงๆ แล้วแรงบันดาลใจและความใฝ่ฝันจริงๆ ของคุณคืออะไร?

     “เราแค่อยากทำอาหารให้คนที่ได้กินเขามีความสุข นั่นคือความใฝ่ฝันจริงๆ ของเรา เวลาเราได้ไปกินของอร่อยๆ แล้วเรารู้สึกว่ามัน It’s a heaven มันเหมือนสวรรค์เลย นั่นแหละคือความสุขที่คนเป็นเชฟจะสามารถทำได้ จริงๆ ตอนเข้าไปออดิชัน เราไม่คิดว่าเขาจะเลือกเราด้วยซ้ำ และเหตุผลที่เลือกมารายการนี้เพราะเราชอบทำอาหารมาก และเรายังไม่มีโอกาสไปเรียน เลยคิดว่ามันคงดีถ้าเราได้เข้ามาในรายการ ได้เรียนรู้การทำอาหารอย่างจริงจัง

     “เท่าที่จำได้เราเริ่มชอบทำอาหารตอนอายุ 15 ตอนนั้นเราย้ายจากเมืองไทยไปอยู่ที่ออร์แลนโด สหรัฐอเมริกา และจุดเริ่มต้นมันง่ายนิดเดียวคือ เราคิดถึงอาหารที่แม่เราทำ คิดถึงรสมือแม่ เพราะว่าไปอยู่ที่นั่นเราอาศัยอยู่กับป้า ซึ่งป้าเขาไม่ค่อยชอบทำอาหาร เขาก็จะทำแต่พะโล้ ทำบ่อยมาก”

 

     “คงเป็นเมนูที่คุณขยาดน่าดู” ผมเอ่ยถามต่อ

     “มากกก” ลิซ่าลากเสียงยาวทำตาโตก่อนตบท้ายด้วยเสียงหัวเราะ

     “จุดเปลี่ยนของเราคือ เราคิดถึงข้าวแม่มาก ไม่อยากกินพะโล้อีกแล้ว (หัวเราะ) เลยโทรทางไกลไปถามแม่ว่า เมนูอันนี้ทำยังไง สอนหน่อย แล้วเราก็เริ่มดูรายการทำอาหาร ด้วยความที่เราเป็นคนพลังงานสูง ค่อนข้างจะบ้านิดๆ เราพบว่าเวลาทำอาหารมันรีแลกซ์ มันผ่อนคลายมาก เราก็เริ่มทำมาเรื่อยๆ”

 

“เราแค่อยากทำอาหารให้คนที่ได้กินเขามีความสุข นั่นคือความใฝ่ฝันจริงๆของเรา เวลาเราได้ไปกินของอร่อยๆ แล้วเรารู้สึกว่ามัน It’s a heaven มันเหมือนสวรรค์เลย นั่นแหละคือความสุขที่คนเป็นเชฟจะสามารถทำได้”

 

     “แรงบันดาลใจส่วนใหญ่คงเพราะเราชอบกอร์ดอน แรมซีย์ มาก เราชอบดูรายการทำอาหารของเขา ทั้ง MasterChef และ Hell’s Kitchen เราอยากเป็นแบบเขา ประสบความสำเร็จแบบเขา เราอายุ 30 แล้ว เราผ่านงานมาเยอะมาก เราเลยอยากทำงานที่เรารักและมีความสุขกับมันจริงๆ ซึ่งกอร์ดอนเขาเป็นแบบนั้น เป็นต้นแบบของเรา”

 

     ผมทราบว่าในการแข่งขันแต่ละรอบนั้น สิ่งที่คุณผู้ชมได้เห็นมันเป็นเพียงแค่ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของการแข่งขันจริง ด้วยระยะเวลาออนแอร์และการดำเนินเรื่องราวของรายการ กล้องทั้งหกตัวทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ นำเสนอการต่อสู้ที่ดุเดือด ทั้งยังรวมไปถึงการกัดจิกกันไปมาอย่างสนุกสนาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ชมให้ความสนใจไม่น้อยกว่าเมนูที่พวกเขาทำเลย

     “หนักกว่าที่เห็นในทีวีแน่นอน แต่มันหนักในเรื่องจิตใจกับร่างกายมากกว่า ในรายการถ้าคนทำอาหารเป็นก็คือเป็น คนทำไม่เป็นคือไม่เป็นจริงๆ ความยากมันอยู่ตรงที่เราต้องฟังกรรมการติชมอาหารของเราทุกอาทิตย์ และมันเป็นความกลัวว่าเราจะต้องออกจากรายการก่อนหรือเปล่า เหมือนยังเรียนรู้อะไรได้ไม่หมดเลย ต้องออกแล้ว มันเป็นความกลัว เพราะเราอยากทำให้ถึงที่สุด อยากอยู่เป็นคนสุดท้าย”

 

     “จริงๆ คุณกับนิค (นิกูล พยุงพงศ์-ผู้ร่วมเข้าแข่งขัน) ตีกันจริงๆหรือเปล่า?” ผมถามคำถามแทนใจแฟนรายการ เพราะเราพบเห็นว่าตลอดระยะเวลาที่ลิซ่าและนิคอยู่ในรายการด้วยกัน มักจะต้องมี ‘ซีน’ ที่เขาทั้งคู่กัดจิกต่อล้อต่อเถียงกันอย่างออกรส

     “มันไม่ได้ดูรุนแรงแบบที่คนทางบ้านเห็นเลยจริงๆ นะ เราเป็นเพื่อนกัน แต่ด้วยบุคลิกการพูดจาที่โผงผาง เสียงดัง มันเลยดูเป็นการตบตีกัน ซึ่งมันไม่ใช่เลยค่ะ ต้องโทษคนตัดต่อ (หัวเราะ) แต่มันก็ทำให้รายการสนุกนะ”

 

 

     หนึ่งเรื่องที่เราเห็นได้ตลอดรายการทั้งซีซันคงหนีไม่พ้นเรื่องของ ‘อาหารไทย’ และ ‘ความเป็นไทย’ ในแบบฉบับของ MasterChef Thailand คุณคิดเห็นอย่างไรกับความเป็นไทยในอาหารที่กรรมการคอยพร่ำสอนและให้ความรู้อยู่เสมอๆ

     “ในแง่อาหาร อาหารไทยมันรสชาติจัดจ้าน เผ็ด เปรี้ยว เค็ม มันมีครบทุกรส และเราชอบมาก อาหารไทยมันคือความกลมกล่อมของรสชาติทั้งหมด จริงๆ อาหารไทยเป็นอาหารที่ทำยากนะ และคนสมัยนี้คิดว่าอาหารไทยคืออาหารตามสั่งไปหมดแล้ว ข้าวผัดเขียวหวาน ข้าวผัดต้มยำ ซึ่งจริงๆ แล้วอาหารไทยมันซับซ้อนมากกว่านั้น

     “ถ้าเราจะลงมือทำ เราต้องรู้ว่าแกงนี้รสเปรี้ยวนำมาก่อน รสเผ็ดมาก่อน ถ้าเราไม่เข้าใจมันก็จะยากจริงๆ เราไม่รู้ว่าเรามีความเป็นไทยมากน้อยแค่ไหน เพราะอยู่อเมริกามาตั้งแต่อายุ 15 ปี จนอายุ 27 ปี แต่เราโคตรชอบความเป็นไทย เพราะมันมีวัฒนธรรม โดยเฉพาะในเรื่องอาหาร อย่างเช่นการเสิร์ฟอาหารในงานมงคลต้องทำเส้นแบบนี้ มันคือความจุกจิกก็จริง แต่มันคือการใส่ใจในรายละเอียด ทำให้มันมีคุณค่า”

 

“เราไม่รู้ว่าเรามีความเป็นไทยมากน้อยแค่ไหน เพราะอยู่อเมริกามาตั้งแต่อายุ 15 จนอายุ 27 แต่เราโคตรชอบความเป็นไทย เพราะมันมีวัฒนธรรม โดยเฉพาะในเรื่องอาหาร มันจุกจิกก็จริง แต่มันคือการใส่ใจในรายละเอียด”

 

     “อาชีพเชฟในทัศนคติของลิซ่าเป็นอย่างไร มีมุมมองที่เปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหนตั้งแต่ก่อนแข่งขันจนถึงตอนนี้” ผมถามเธอต่อ

     “การเป็นเชฟถ้าใจไม่รักทำไม่ได้จริงๆ ถ้าเป็นเชฟคุณต้องเคยเริ่มต้นจากการล้างจานมาก่อน เปิดร้านอาหารวันละ 12 ชั่วโมง เชฟต้องอยู่ตลอด ไหนจะต้องเตรียมของ เคลียร์ครัว เชฟเป็นอาชีพที่เรายกย่อง เป็นอาชีพที่ต้องทุ่มเท แต่สำหรับเรา เราว่าการเป็นเชฟต้องมีทัศนคติที่ดี ต้อง open mind ต้องเปิดใจรับฟังผู้อื่น แต่ก็ต้องมีความมั่นใจในตัวเองในระดับหนึ่งก่อนด้วย แค่นั้นจริงๆ นะ”

     น้ำเสียงและท่าทางที่เปี่ยมไปด้วยความมั่นใจ ทำให้เรารู้สึกหลงรักผู้หญิงคนนี้เข้าอย่างจัง และเราเองก็หวังว่าเส้นทางอาชีพของเธอจะรุ่งโรจน์ สนุกสนาน และมีความสุขอย่างที่เธอต้องการจริงๆ

 

     “ถ้าในวันหนึ่งคุณได้เป็นเชฟระดับเดียวกับกอร์ดอน แรมซีย์ ล่ะ คุณนึกภาพตัวคุณเป็นเชฟแบบไหน?” ผมทิ้งท้ายคำถามกับเธอ

     “อาจจะเหมือนกอร์ดอนก็ได้นะ อาจจะขี้โวยวาย ก็ไม่รู้สินะ (ยิ้ม)”

FYI
  • มาสเตอร์เชฟ คือรายการแข่งขันทำอาหารลิขสิทธิ์จากสหราชอาณาจักร ออนแอร์ครั้งแรกในปี 1990 อายุรายการราว 27 ปี ซึ่งเป็นรายการที่เปิดโอกาสให้คนธรรมดาทั่วไปที่มีใจรักในการทำอาหารได้เข้ามาแข่งขันเพื่อชิงเงินรางวัล และที่สำคัญผู้ชนะจะได้มี cookbook หรือตำราทำอาหารเป็นของตัวเองด้วย โดยรายการถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปสร้างใน 40 กว่าประเทศทั่วโลก
  • ไม่รู้ว่าเรียกว่าประสบความสำเร็จได้หรือไม่สำหรับ มาสเตอร์เชฟ ประเทศไทย แต่ด้วยยอดผู้ชมในยูทูปที่การันตีเกิน 1 ล้านคนในทุกๆ คลิป รวมไปถึงเรตติ้งรอบชิงชนะเลิศที่สูงถึง 5.1 ซึ่งสูงกว่าละครในช่องเดียวกันอีก ก็สามารถพิสูจน์ได้ว่า นี่เป็นการเปิดตัว มาสเตอร์เชฟ ประเทศไทย ได้อย่างสมศักดิ์ศรี
  • เมนูที่ลิซ่าชอบทานคือเมนูง่ายๆ อย่างข้าวไข่ดาว ที่ไข่ดาวต้องกรอบตรงขอบ เนื้อไข่ขาวแฉะๆ สูตรเด็ดของเธอคือราดซีอิ๊วขาวไว้ตรงข้าว และเหยาะน้ำปลาบนไข่ดาว
  • ลิซ่าบอกว่าเธอสร้างสรรค์เมนูทุกอย่างให้อร่อยได้ อย่างการต้มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปง่ายๆ เธอก็เลือกใส่ชีสพร้อมกับผักที่เธอนำไปตุ๋นด้วยซุปของเธอให้เปื่อยก่อนนำมาปรุงรสเพิ่มเติม
  • ลิซ่าชอบอาหารที่มีความมันมากๆ แต่เธอไม่ชอบของทอด อาหารมันๆ ก็อย่างเนื้อริบอายหรือฟัวกราส์ แต่ถ้าอาหารที่เธอชอบที่สุดคงเป็น ‘แกงส้มถั่วงอกหัวโต’ อาหารอินโดนีเซียที่แม่ของเธอชอบทำ มีลักษณะไม่ใช่แกงส้มบ้านเราแต่จะคล้ายๆ ต้มโคล้ง ใส่เนื้อวัว และถั่วงอกหัวโต
  • ‘ข้าวหมก’ คือเมนูที่คล้ายจะเป็นเอกลักษณ์ของเธอในการแข่งขันครั้งนี้ เธอบอกว่าข้าวหมกที่อร่อยที่สุดในกรุงเทพฯ ซึ่งเธอทานตั้งแต่เด็กๆ คือข้าวหมกในซอยคอนแวนต์ 3 สำคัญตรงที่เป็นข้าวหมกที่นำไก่เข้าไปหมกขณะหุง รสชาติจึงเข้มข้นมาก

ชมเธอถ่ายทอดสดทำอาหารได้บ่อยๆ ที่เพจ https://www.facebook.com/lisadawson.mc/ หรือติดตามชีวิตส่วนตัวของเธอได้ทางอินสตาแกรม @lisadawson.mc

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising