×

ถอดรหัสสารเมาในกัญชา ทำงานอย่างไรกับร่างกาย

01.07.2022
  • LOADING...

กัญชา นำมาทำอาหารได้จริงไหม กินแค่ไหนให้พอดี ถ้าเสพติดต้องทำอย่างไร ฯลฯ สารพัดคำถามจากการบริโภคกัญชาที่หลายคนอยากรู้และอยากลอง แต่ยังไม่กล้า เพราะเกรงกลัวผลเสียมากกว่าผลดี 

 

นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดเอพิโสดนี้ ‘กัญชา 101’ เรื่องของกัญชาที่ทุกคนควรรู้ ดร.ข้าว พร้อมมาบอกเล่าข้อมูลแบบย่อยง่าย ได้สาระเน้นๆ กันเช่นเคย

 

ทำความรู้จักกัญชา

กัญชาเป็นพืชล้มลุกที่มีใบคล้ายกับสับปะรด อายุขัยของมันจะมีแค่เพียง 1 ปีเท่านั้น ส่วนประกอบของต้นกัญชาจะมีกลุ่มสารชื่อว่า Cannabinoid ซึ่งตัวที่คนมักจะพูดถึงกันก็คือ THC (Tetrahydrocannabinol) เป็นสารที่ทำให้เมา และ CBD (Cannabidiol) สารที่ไม่ทำให้เมา โดยในหนึ่งต้นจะมีทั้งสองสารนี้อยู่ด้วยกันที่บริเวณช่อดอกในสัดส่วนที่แตกต่างกันไปตามสายพันธุ์

 

กัญชามีอยู่ 3 สายพันธุ์หลักๆ ทั่วโลก ได้แก่

  1. Sativa เป็นพันธุ์ที่มีลำต้นแข็งแรง มีสารเมาในปริมาณมาก ชอบอากาศร้อนชื้น ปลูกได้ดีในเมืองไทย
  2. Indica นิยมปลูกในอินเดีย ชอบอากาศหนาวเย็น มีสารเมาน้อย
  3. Ruderalis ปลูกได้ทั้งในอากาศร้อนและเย็น มีสารเมาน้อย

 

โดยทั้ง 3 สายพันธุ์มักจะถูกนำมาผสมกัน เพื่อปรับสัดส่วนให้ปริมาณสารเมาและไม่เมาอยู่ในระดับที่เหมาะสมตามโจทย์ที่จะนำไปใช้งาน

 

THC และ CBD ออกฤทธิ์กับร่างกายอย่างไรบ้าง

จริงๆ แล้ว THC มีประโยชน์ทางการแพทย์อย่างมาก เคยมีการค้นพบว่ามันสามารถช่วยลดอาการปวด อักเสบ และอาการคลื่นไส้ในผู้ป่วยมะเร็งที่ทำคีโมหรือฉายแสง ทั้งยังกระตุ้นให้ผู้ป่วยรู้สึกอยากอาหาร กระตุ้นการสร้างโดพามีน ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความสุข ทำให้กินเข้าไปแล้วรู้สึกฟิน มีความสุข แต่ต้องระวังว่าอย่ากินในปริมาณมากเกินไป เพราะอาจทำให้เสพติดได้ 

 

แต่ข้อเสียของ THC คือมันหน้าตาคล้ายสารสื่อประสาทในสมอง ซึ่งสารตัวนั้นจะทำหน้าที่บล็อกสัญญาณความเจ็บปวดและความเครียด การกิน THC เข้าไปทำให้ร่างกายจะรู้สึกผ่อนคลายและเครียดน้อยลงก็จริง แต่มันยังเข้าไปบล็อกสัญญาณการตัดสินใจและการทรงตัวด้วย ซึ่งอาจเป็นอันตรายในการทำกิจกรรมบางประเภท เช่น การขับรถ 

 

นอกจากนี้ THC ยังหน้าตาเหมือนสารสื่อประสาทที่กระตุ้นให้เราคิดจินตนาการเยอะ เมื่อกินเข้าไปมากๆ อาจส่งผลให้หยุดคิดไม่ได้ ฟุ้งซ่าน คิดเรื่องเล็กเป็นเรื่องใหญ่ หรือถึงขั้นประสาทหลอนและมีอาการทางจิตได้

 

ส่วน CBD ซึ่งเป็นสารไม่เมา จะทำหน้าที่เป็นตัวช่วยต่อต้านอาการเคลิ้มหรือเพ้อจากการรับสาร THC เข้าไป ซึ่งข้อดีคือสามารถแก้อาการชักได้ ทำให้หลับลึก ลดน้ำตาลในเลือด ลดไขมันในเลือด ทางการแพทย์จึงมักจะนิยมนำมาใช้งาน เพราะทุกวันนี้ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าเราจะเสพติด CBD ได้

 

กัญชา เลือกกินให้เป็น แล้วจะเห็นผลดี

ถ้าลองหาข้อมูลดูจะพบว่ากัญชาถูกนำไปบริโภคในหลากหลายรูปแบบ แต่ละวิธีการก็จะทำให้กัญชาปล่อยสารเมาออกมาไม่เท่ากัน โดยถ้าเด็ดใบกัญชามาเคี้ยวสดๆ จะไม่เกิดอะไรขึ้นเลยกับร่างกาย เพราะสาร THC และ CBD จะไม่ออกฤทธิ์ตอนที่ใบยังสด แต่จะมีปฏิกิริยาต่อร่างกายเมื่อผ่านความร้อน ทำให้วิธีการบริโภคแต่ละแบบเกิดเอฟเฟ็กต์ที่แตกต่างกัน 

 

วิธีการที่รู้จักกันดีคือ การสูบ เมื่อมีควันเกิดขึ้นแล้วจมูกสูดควันนั้นเข้าไปที่ปอด สารเมาที่ออกมาจะซึมเข้าสู่กระแสเลือดในบริเวณเส้นเลือดปอดได้เลย

 

น้ำมันกัญชา ที่คนนิยมเอามาแตะใต้ลิ้นก็เช่นกัน เพราะที่บริเวณลิ้นก็มีเส้นเลือดอยู่ด้วย โดยสารเมาจะซึมเข้าสู่กระแสเลือดทางลิ้นได้รวดเร็วมาก และเอฟเฟ็กต์ของมันก็จะเกิดขึ้นรวดเร็วเช่นกันในช่วงเวลาไม่เกิน 30 นาที

 

ในทางตรงข้าม ถ้าเรา กินหรือดื่มเข้าไปโดยตรง กระบวนการก่อนออกฤทธิ์จะนานกว่า เพราะมันจะค่อยๆ วิ่งลงไปที่กระเพาะอาหาร ผ่านการย่อย แล้วเริ่มดูดซึมที่ลำไส้เล็ก รอให้วิ่งเข้าไปที่ตับ แล้วถึงจะปล่อยให้สารเมาวิ่งไปทั่วร่างกาย โดยจะใช้เวลาประมาณ 2-4 ชั่วโมง หรืออาจนานกว่านั้น

 

เพราะฉะนั้นถ้าใครเผลอกินอาหารหรือขนมที่มีส่วนผสมของกัญชาเข้าไปในช่วงแรกแล้วไม่รู้สึกอะไรเลย ให้ลองทิ้งเวลาไว้ก่อน อย่าเพิ่งรีบกินซ้ำเข้าไป ไม่เช่นนั้นจะเกิดอันตรายจากการบริโภคเกินขนาดได้

 

เรื่องพื้นฐานที่ควรรู้ ก่อนจะลองเมนูกัญชา 

  1. ต้นกัญชาสามารถนำมาบริโภคได้ทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นใบ กิ่ง ลำต้น หรือราก แต่จะยกเว้นช่อดอกและเมล็ด เพราะที่ช่อดอกมีสารเมาสูงมาก หากกินเข้าไปแล้วร่างกายจะรับไม่ไหว

 

  1. สาร THC ในกัญชาจะละลายได้ดีในไขมัน แต่ไม่ละลายในน้ำ ฉะนั้นการปรุงกัญชาด้วยการต้มหรือแกงที่ไม่มีกะทิ สารเมาจะละลายออกมาได้ในปริมาณน้อยมาก แต่ถ้าเอากัญชาไปผัดหรือไปทอด น้ำมันจะเร่งการละลายและดึงสารเมาออกมาได้เยอะกว่า 

 

เคยมีการทดลองว่าหากใช้ใบกัญชาที่เท่ากันในการทำอาหาร เมนูผัดจะได้สารเมาออกมามากกว่าเมนูต้มถึง 5 เท่า แต่ถ้าเป็นเมนูทอดจะได้สารเมามากกว่าเมนูต้มถึง 60 เท่า ฉะนั้นถ้าไปกินข้าวนอกบ้านแล้วอยากลองเมนูกัญชา วิธีคิดง่ายๆ คือไม่ควรกินของที่มีกัญชาเกิน 2 เมนู และสองเมนูนั้นไม่ควรเป็น ทอด+ทอด, ทอด+ผัด หรือ ผัด+ผัด เพราะมีโอกาสที่จะได้รับสารเมาเกินขนาด  

 

  1. น้ำกัญชา ไม่ใช่ของอันตราย เพราะมีสารเมาไม่เยอะ เนื่องจากสาร THC ในกัญชาละลายน้ำได้ไม่ดี แต่การที่จะนำมาจำหน่ายเพื่อรับประทานได้นั้น ผู้ประกอบการจะต้องนำสินค้าไปตรวจสอบกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อน เพื่อเช็กว่าไม่ได้มีสารเมาเกินกว่าปริมาณที่กำหนด ผู้บริโภคจึงสบายใจได้ในความปลอดภัย

 

  1. เนยกัญชา ที่นิยมนำไปทำขนม เช่น คุกกี้ หรือบราวนี เมื่อกินเข้าไปก็มีโอกาสที่จะทำให้เมาง่ายกว่าอาหารประเภทอื่นๆ เพราะนอกจากเนยซึ่งเป็นไขมันที่ทำให้สารเมาละลายได้ดีแล้ว ขนมเหล่านี้ยังมีวัตถุดิบอื่นๆ ที่มีไขมันเป็นส่วนประกอบด้วย ซึ่งอาจจะเพิ่มการละลายของสารเมาให้ออกมามากขึ้น หากเผลอกินจนเพลินก็อาจทำให้ภาพตัดไม่รู้ตัวได้

 

  1. การบริโภคกัญชา ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่ยังมีอายุไม่ถึง 25 ปี เพราะสารในกัญชาส่งผลต่อสมองส่วนที่มีผลต่อการเรียนรู้ การตัดสินใจ และความจำ ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญที่จำเป็นของคนในช่วงวัยนี้ หากกินกัญชาเข้าไปในปริมาณมากหรือกินต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลเสียให้สมองค่อยๆ ถูกทำลายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ 

 

  1. คุณแม่ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรไม่ควรกินเช่นกัน เพราะสารเมาในกัญชาสามารถส่งผลเสียและเป็นอันตรายต่อชีวิตของลูกได้ รวมไปถึงคนที่มีอาการทางจิตเวช ซึมเศร้า เครียด ไบโพลาร์ ฯลฯ เพราะกัญชาจะทำให้เราคิดฟุ้งซ่าน วิตกกังวล ถ้าออกฤทธิ์กับคนที่มีอาการทางจิตอยู่แล้วอาจทำให้กำเริบหนักจนยากจะแก้ไข

 

จริงๆ แล้วกัญชาก็ไม่ได้ต่างอะไรกับแอลกอฮอล์ที่อยู่ในเครื่องดื่มประเภทเหล้า เบียร์ หรือแม้กระทั่งคาเฟอีนในกาแฟ เพียงแต่ต้องรู้วิธีการบริโภคในปริมาณที่พอดี เพื่อไม่ให้ส่งผลเสียต่อร่างกาย ยิ่งตอนนี้มีการปลดล็อกกัญชาเสรีแล้ว หลายคนน่าจะได้พบเจอกัญชาแทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันมากขึ้น เพราะฉะนั้นการหาความรู้เกี่ยวกับกัญชาเอาไว้ก่อนก็ถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะถ้ารู้จักใช้ให้เป็นและเหมาะสมมันก็จะส่งผลดีต่อร่างกายเราในที่สุด

 

 

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising